“ติดกระดุมเม็ดแรกผิด ก็ผิดหมดทั้งแถว...”

คำๆ นี้ สามารถใช้ได้กับทุกเรื่อง และงานแทบทุกชนิด ถ้าเป็นเรื่องเล็กๆ ก็อาจจะสามารถแกะกระดุมเม็ดแรก แล้วใส่ใหม่ แต่ถ้าเป็นเรื่องใหญ่ๆ ที่ทำกันมาอย่างต่อเนื่อง ผ่านมือผู้บริหารบ้านเมืองหลายคนล่ะ...จะทำยังไง

โจทย์ใหญ่ช่วงหน้าฝน น้ำหลากปีนี้ ดูท่าจะไม่ล้อเล่น เพราะแค่ช่วงต้นหน้าฝนก็ตกจนเละเทะ ไปหลายพื้นที่ โดยเฉพาะชาวเมืองหลวง ที่มีผู้ว่าฯ กทม.ที่ นาม “ชัชชาติ สิทธิพันธุ์” ต้องเร่งเตรียมพร้อมรับมือ 

ทีมข่าวเฉพาะกิจไทยรัฐออนไลน์ อยากจะร่วมคิด ร่วมถก แก้ปัญหาน้ำท่วมที่(คาด)ว่าต้องเจอในเดือนสิงหาคม-กันยายนนี้ กับ ผศ.อาสาฬห์ สุวรรณฤทธิ์ คณบดีคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์และการผังเมือง ม.ธรรมศาสตร์ ที่มาถกรายละเอียดถึงปัญหาน้ำท่วม ผังเมือง และแนวทางการแก้ปัญหา

อย่างที่คำโควตคำพูดข้างต้น ผู้เขียนไม่ได้กล่าวเอง แต่กูรูเรื่องผังเมืองอย่าง อาจารย์อาสาฬห์ ได้กล่าวไว้ “ติดกระดุมเม็ดแรก ก็ผิดเลย”

...

ก่อนจะทำความเข้าใจเรื่องน้ำท่วม เราต้องรู้จักต้นเหตุของปัญหาของมันเสียก่อน คือ กรุงเทพมหานคร มีภูมิทัศน์ (landscape) เป็นพื้นที่ราบลุ่ม ที่มีปากแม่น้ำติดกับทะเล ซึ่งถือว่าเป็นพื้นที่ “ความเสี่ยง” น้ำท่วมขังมาตั้งแต่ต้นแล้ว

สาเหตุที่ตั้ง กรุงเทพฯ เป็นเมืองหลวง ก็เพราะสาเหตุนี้ เพราะชาวบ้านในสมัยก่อน ต้องการอยู่ใกล้ทะเล ทำนา ปลูกพืชได้ดี แต่วันนี้ การตั้งถิ่นฐานของคนกรุงเทพฯ เปลี่ยนแปลงไป จากเดิมที่เคยใช้ชีวิตอยู่กับเกษตรกรรม แต่วันนี้ เราอยู่กับอุตสาหกรรม และการพัฒนาเมืองก็ไม่สอดคล้องกับธรรมชาติ อีกทั้งสิ่งที่ทำยังเป็นการ “ฝืน” ธรรมชาติเสียด้วย

ฝืนที่ว่า....นั่นหมายความว่าอย่างไร อาสาฬห์ หัวเราะเล็กน้อย ก่อนเลคเชอร์ให้ฟังว่า ในยุคโมเดิร์นในการพัฒนาเมือง เราอาจจะมอง “น้ำฝน” เป็นศัตรู เมื่อฝนตกหนักเกิดน้ำท่วมขัง จะต้องเร่งระบายน้ำออกไปให้หมด ฝนตกมาต้องดันลงท่อ ท่อไม่พอ ก็ต่อด้วยการดันลงคลอง ต่อด้วยอุโมงค์ยักษ์ และเอาไปทิ้งทะเล นี่คือแนวคิดเก่า....

แผนที่โดย : กรมแผนที่ทหาร
แผนที่โดย : กรมแผนที่ทหาร

เปิดแผนที่ ส่องพื้นที่สูงต่ำ กรุงเทพฯ ดูเลยบ้านใครเสี่ยงจมบ้าง!

ก่อนจะไปเรื่องแผนพัฒนาเมืองแนวคิดใหม่ มาดูสิ่งที่ทำกันมาแล้วบ้างว่าเป็นอย่างไร ซึ่ง ทีมข่าวเฉพาะกิจไทยรัฐออนไลน์ ได้ชวนอาจารย์อาสาฬห์ ดูแผนที่ความสูงต่ำของ กทม. ซึ่งกูรูด้านผังเมืองได้สะท้อนความหมายจากแผนที่ออกมาดังนี้....

คณบดีคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์และการผังเมือง ม.ธรรมศาสตร์ กล่าวว่า จากภาพแผนที่กรุงเทพฯ จะเห็นระดับความสูงต่ำ จากระดับน้ำทะเลปานกลาง ว่าแต่ละที่มีความแตกต่างกัน หากดูจากแผนที่ (โดยกรมแผนที่ทหาร) จะมีคำอธิบาย 2 เรื่อง ที่ต้องทำความเข้าใจ

1.ค่าระดับความสูงของพื้นแผ่นดิน สีน้ำเงิน หมายความว่า ระดับ 0 เมตร หรือ ต่ำกว่า หากเป็น “สีน้ำตาล” หมายความว่า อยู่สูงกว่าระดับน้ำทะเลขึ้นมาถึง 3.5 เมตร

หากพิจารณาแบบเร่งด่วน จะเห็นว่า “แผนที่กรุงเทพฯ” มีแต่พื้นที่สีน้ำเงินและสีฟ้า ก็หมายถึงมีความสูง ประมาณ 0-0.5 เมตร เท่านั้น ก็ถือว่าเป็นเรื่องปกติ เพราะกรุงเทพฯ เป็นพื้นที่ราบลุ่ม

2.สิ่งที่เห็นได้จากแผนที่ คือ เส้นที่ 2 คือ เส้นประสีแดง ก็คือ “แนวคันกั้นน้ำ” ที่ผ่านมา พยายามสร้างแนวคันกั้นน้ำ เพราะกรุงเทพฯ ไม่อยากเจอน้ำท่วม แต่เนื่องจากพื้นที่ลุ่ม จึงทำคันกั้นน้ำล้อมไว้ เหมือนกับ บ้านที่อยู่อาศัย ก็จำเป็นต้องสร้างกำแพงกั้นน้ำ เพื่อป้องกันน้ำข้างนอกไหลเข้ามา (บ้านใครที่อยู่นอกแนวคันกั้นน้ำก็อาจจะเจอน้ำท่วมหนักกว่า หรือ ท่วมนานกว่า)

อาจารย์อาสาฬห์ บอกว่า ปัญหาสำคัญคือ เมื่อมีน้ำเข้ามา จะทำไร คำตอบคือ “การสูบออก” เพื่อระบายออกไป แต่สำหรับ กรุงเทพมหานคร มีพื้นที่กว้างใหญ่มาก กว่า 1,500 ตารางกิโลเมตร ระบบคันกั้นน้ำ ซึ่งในความเป็นจริง ยังมีระบบย่อย คือ porder system มาช่วย โดยออกแบบใช้แนวถนนเป็นตัวกั้น เช่น ถนนพระรามสอง หรือ สุขุมวิท ซึ่งหากดูดีๆ จะมีแนวคันกั้นน้ำอยู่

...

การออกแบบระบบป้องกันน้ำท่วมลักษณะนี้ เหมือนเป็นการแก้ปัญหาที่ปลายเหตุ ซึ่งที่ผ่านมา เวลาเราพูดถึงแนวทางการแก้ปัญหาน้ำท่วม เรามักพูดที่ “ปลายเหตุ” แต่เราลืมนึกถึง “ต้นเหตุ” ของปัญหาน้ำท่วม กทม. เนื่องจาก กทม.เป็นพื้นที่ราบลุ่ม และการแก้ปัญหาแบบเก่า ถ้าทำไม่ครอบคลุม ก็จะเจอปัญหาแบบปัจจุบัน

 ผศ.อาสาฬห์ สุวรรณฤทธิ์
ผศ.อาสาฬห์ สุวรรณฤทธิ์

สำหรับสาเหตุน้ำท่วม กรุงเทพฯ มี 2 ข้อใหญ่ๆ คือ
1.น้ำจากฝนที่ตกลงมาในพื้นที่ นับวันปริมาณฝนจะเพิ่มขึ้น
2.น้ำหลาก ที่สะสมไหลบ่าจากเหนือลงมา

นอกจากนี้ ยังมีปัจจัยเสริม “น้ำทะเลหนุนสูง” ซึ่งมีโอกาสกลายเป็นปัจจัยหลักได้ในอนาคต เพราะกรุงเทพฯ มีการทรุดตัว เช่น หากมีฝนตกลงมาไม่มาก แต่น้ำทะเลหนุนสูงก็มีโอกาสรับความเสี่ยงมากขึ้น

เปิดแนวคิดการแก้ปัญหาแบบใหม่ กับการหน่วงน้ำให้นานที่สุด

คณบดีคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์และการผังเมือง ม.ธรรมศาสตร์ กล่าวว่า แนวคิดใหม่ และต่างประเทศเริ่มทำกันมาเยอะแล้ว คือ “water-sensitive urban design” หมายถึง การออกแบบเมืองที่คำนึงถึงพลวัตของน้ำ โดยเป็นแนวคิดที่มอง “ตรงข้าม” กับของเดิม ที่เคยมองว่า “เมือง” กับ “น้ำ” ต้องแยกกัน ทำให้ไม่เกิดความยั่งยืน ส่งผลให้มีการลงทุนมหาศาลในด้านโครงสร้างพื้นฐาน นอกจากนี้ เมืองยังได้รับผลกระทบด้วย

...

“การระบายน้ำแบบเก่า เร่งเอาลงท่อจนหมด เมืองก็จะมีความชื้นน้อย นึกง่ายๆ หากฝนตกลงมา แล้วน้ำค้างอยู่บนต้นไม้ ไหลลงดิน น้ำยังอยู่ในเมืองก็จะส่งผลต่ออุณหภูมิในเมืองที่จะเย็นลง หรือ ฝุ่นน้อยลง เพราะหากปล่อยให้อากาศแห้งฝุ่นก็เยอะ

ฉะนั้น แนวคิด water sensitive urban design หมายถึง การพยายามเก็บน้ำไว้ในเมืองให้นานที่สุด (ไม่ใช่เก็บตลอด) ชะลอน้ำ เพื่อหาพื้นที่ให้อยู่ในเมือง เพื่อเป็นส่วนประกอบของเมืองให้ได้นานที่สุด แล้วค่อยๆ ปล่อยซึมลงดิน หรือ ระเหยไปชั้นบรรยากาศ

parkroyal hotel singapore
parkroyal hotel singapore

สิงคโปร์ คือ ประเทศต้นแบบ water-sensitive urban design

อาจารย์อาสาฬห์ ได้ยกตัวอย่างต้นแบบการบริหารจัดการน้ำแบบใหม่ ที่ใกล้ประเทศไทย คือ “สิงคโปร์” ซึ่งเป็นประเทศที่ฝนเยอะกว่าประเทศไทย 1 ปี ฝนตกกว่า 300 วัน ปริมาณน้ำฝนก็น่าจะเยอะกว่า

...

สิ่งที่เขาพยายามทำ คือ การชะลอน้ำ เช่น บนตึกสูงในสิงคโปร์เขาทำหลังคาในลักษณะ green roof โดยมีงานวิจัยพบว่า หลังคาสีเขียวแบบนี้ดูดซึมน้ำได้ 10% แทนที่ฝนตกลงมาแล้วจะลงท่อหมด แต่ถ้าหน่วงไว้ได้ 10% ก็จะทำให้มีเวลาระบายมากขึ้น

“ผมเคยทำโปรเจกต์ green roof ซึ่งหนึ่งในนั้นเป็นแนว Supreme Court Building โดยให้หลังคามีระบบเก็บน้ำ และบางส่วนเอามาเก็บไว้ในถัง ซึ่งก็เหมือนคอนเซปต์บ้านคนไทยสมัยก่อนที่มี ตุ่มเก็บน้ำ หน้าบ้าน ซึ่งหากวันไหนฝนไม่ตกก็เอาน้ำที่เก็บไว้มาใช้รดน้ำต้นไม้ อีกโปรเจกต์ที่เคยทำ คือที่ Parkroyal Hotel Singapore ออกแบบให้เป็นสวนลอยฟ้า ซึ่งก็ทำหน้าที่หน่วงน้ำไว้ได้ หากทุกตึกทำหน้าที่แบบนี้ได้ ก็จะช่วยลดปัญหาน้ำท่วม ระบายไม่ทันได้”

หมู่บ้าน Mikladalur หมู่เกาะแฟโร ประเทศเดนมาร์ก
หมู่บ้าน Mikladalur หมู่เกาะแฟโร ประเทศเดนมาร์ก

เชื่อ กทม. กำลังพยายามแก้ปัญหา

คณบดีคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์และการผังเมือง มธ. ให้ความเห็นว่า ส่วนตัวเชื่อว่า ผู้ว่าฯ กทม. ก็พยายามปรับแนวคิดการจัดการน้ำ โดยเห็นท่าน ผู้ว่าฯ พูดถึงแนวคิด “แก้มลิง” โดยมีพื้นที่บ่อน้ำเดิม หรือ ระบบคลอง ข้อเสียของคลองคือมีน้ำอยู่แล้ว ก็อาจจะไม่พอ ฉะนั้น สิ่งที่ต้องมองคือ “บ่อน้ำ” ไม่ว่าในที่ของรัฐบาลหรือเอกชน ต้องออกแบบให้มีการเชื่อมต่อกัน เวลาฝนตกจะได้ไหลลงไป

ในเชิงเทคนิคการก่อสร้างในปัจจุบัน มีหลายวิธีที่ทำได้ เช่น การใช้กรวด หิน เพิ่มความพรุนในชั้นใต้ดิน ทำที่สนามหญ้าขนาดใหญ่ ยกตัวอย่าง “สวนลุม” มีสนามหญ้า ซึ่งถือเป็นพื้นที่ที่น้ำสามารถซึมลงไปได้เองตามธรรมชาติ

สวนสาธารณะ กทม. ที่มี 37 แห่ง เท่าที่ทราบ มีเพียงบางแห่ง ที่ถูกออกแบบมาให้เป็นพื้นที่หน่วงน้ำ อาทิ สวนสันติภาพ, สวนเบญจสิริ ในทุกๆ สวนสาธารณะ มีพื้นที่ที่เป็นบ่อน้ำ

ยกตัวอย่าง หากสวนสาธารณะ ในพื้นที่ 2 ไร่ หรือ 3,200 ตร.ม. หากมีการดีไซน์ ขอบบ่อจะมีพื้นที่เพิ่มขึ้น 50 ซม. หมายความว่า เราสามารถเก็บน้ำได้ 1,600 ลูกบาศก์เมตร กลายเป็นพื้นที่หน่วงน้ำชั้นดี

สิ่งที่ผู้ว่าฯ ชัชชาติ ต้องทำ รับมือฝนถล่มในเดือนหน้า

ผู้เชี่ยวชาญด้านผังเมือง มองว่า การหาพื้นที่หน่วงน้ำมันเป็นสิ่งสำคัญที่สุด หากเป็นพื้นที่ของรัฐก็ทำได้ทันที หากคลองเริ่มตื้นก็น่าจะขุดเพิ่มให้ลึกขึ้น เพื่อเก็บน้ำเยอะขึ้น

บ่อน้ำ ในหน่วยงานราชการ โดยพื้นที่นอกกรุงเทพฯ นิดหนึ่ง อย่าง ธรรมศาสตร์รังสิต ก็พยายามพูดกันว่า พื้นที่มหาวิทยาลัยก็คล้ายสวนสาธารณะต้องทำหน้าที่ในการช่วยเหลือประชาชน ฉะนั้น ช่วงน้ำหลาก บางส่วนของมหาวิทยาลัย อาจจะต้องยอมให้ท่วมไปบ้าง เพราะไม่ได้ใช้งานอะไรมาก อย่างน้อยก็ช่วยลดความเดือดร้อนให้ประชาชน

“พื้นที่ราชการ หลายแห่ง มีมิติเป็นโซนห้ามเข้า จนกลายเป็นถูกแบ่งแยกออกจากสังคม ฉะนั้น ควรหาวิธีอย่างไรก็ได้ให้สามารถเชื่อมกับประชาชนได้ก็จะดี ในระยะยาว ต้องไปดูว่าคอนเซปต์ในการออกแบบบริหารจัดการน้ำท่วมคืออะไร ควรเปลี่ยนมุมมองการบริหารจัดการ เพราะหากจะทุ่มในการสร้าง ก็ต้องเสียงบประมาณในการบำรุงรักษา”

อาจารย์อาสาฬห์ กล่าวว่า สิ่งที่กล่าวมาทั้งหมด ยังไม่รวมถึงปัญหาโลกร้อน หรือ แม้แต่เรื่องน้ำเหนือหลากลงมา ถ้าเราเจอแบบปี 2554 เชื่อว่า ปัญหาจะใหญ่หลวงหนักกว่านี้ เพราะในรอบนอก จังหวัดใกล้ กทม. เมื่อปี 2554 พื้นที่จำนวนมากเป็นพื้นที่หน่วงน้ำ เป็นไร่นา ประชาชน แต่ปัจจุบัน เมืองได้ขยายไปมาก กลายเป็นพื้นที่หมู่บ้านจัดสรร หากเจอแบบนั้น ไม่แน่ว่ากรุงเทพฯ จะเอาอยู่

เมื่อถามว่า อุโมงค์ยักษ์ ในเวลานี้มีความจำเป็นไหม ช่วยได้แค่ไหน อาจารย์ด้านผังเมือง ให้ความเห็นว่า “ผิดตั้งแต่โจทย์แล้ว “ติดกระดุมเม็ดแรก” ก็ผิดเลย เพราะคิดว่าจะระบายน้ำออกไป แต่ระบบที่ออกมาผิดพลาด คือ มันไม่เชื่อมต่อกัน อุโมงค์ยักษ์ที่มีจึงใช้ได้ไม่เต็มประสิทธิภาพ ยังไม่นับรวมเรื่องการดูแลรักษา ยังไม่พูดถึงผลกระทบในอนาคต

“ถ้าเราเอาน้ำเก็บในอุโมงค์ยักษ์หมด ก็จะมีผลต่อความชื้นในเมือง มีผลต่อ heat island effect (เกาะความร้อนในเมือง) หากอุณหภูมิในเมืองสูงขึ้น ก็ส่งผลให้เมฆฝนตกผิดธรรมชาติ ซึ่งทุกอย่างล้วนเกิดจากฝีมือมนุษย์ เราต้องถอยกลับไปตั้งหลักว่าเราจะอยู่กับธรรมชาติ อย่างไร เพื่อปรับวิธีเพื่ออยู่กับธรรมชาติให้มากที่สุด ถึงแม้จะกลับไป 100% ไม่ได้ แต่เราต้องยึดหลักฝืนธรรมชาติ” อาจารย์อาสาฬห์ กล่าวทิ้งท้าย....

ทีมข่าวเฉพาะกิจไทยรัฐออนไลน์ รายงาน 

อ่านสกู๊ปที่น่าสนใจ