“อยากให้ทำความเข้าใจกันก่อนว่า ออทิซึม สเปกตรัม ดิสออร์เดอร์ (Autism Spectrum Disorder) หรือ ASD ซึ่งเป็นโรคที่เกิดจากการทำงานที่ผิดปกติของสมอง จนทำให้มีพฤติกรรมการแสดงออกที่แตกต่างจากคนทั่วๆ ไป เช่นเดียวกับ ทนายอูยองอู ในซีรีส์เกาหลี Extraordinary Attorney Woo ที่รับบทโดย นักแสดงสาวพักอึนบิน (Park Eun-bin) นั้น มีระดับว่าเป็นน้อยหรือเป็นมาก เพราะฉะนั้น คนที่เป็นในระดับน้อยๆ บางทีประชาชนทั่วๆ ไปคุยด้วย อาจจะดูไม่ออกด้วยซ้ำไปว่า บุคคลที่กำลังสนทนาด้วยเป็น ASD โดยอาจจะรู้สึกเพียงว่าเอ๊ะ! ทำไมคนนี้ เขาถึงพูดอะไรแปลกๆ อยู่บ้าง แต่ก็ยังสามารถทำอะไรได้เป็นปกติ ซึ่งโดยมากคนกลุ่มนี้มักจะไม่เข้ารับการรักษาและสามารถประกอบอาชีพได้ตามปกติ แต่สำหรับกรณีคนที่เป็นในระดับรุนแรงนั้น โดยมากคนทั่วไปเพียงแค่เห็นก็จะทราบได้ทันทีอยู่แล้ว” พญ.วิมลรัตน์ วันเพ็ญ ผู้อำนวยการสถาบันสุขภาพจิตเด็กและวัยรุ่นราชนครินทร์ กรมสุขภาพจิต กล่าวกับทีมข่าวเฉพาะกิจไทยรัฐออนไลน์

พญ.วิมลรัตน์ วันเพ็ญ ผู้อำนวยการสถาบันสุขภาพจิตเด็กและวัยรุ่นราชนครินทร์ กรมสุขภาพจิต
พญ.วิมลรัตน์ วันเพ็ญ ผู้อำนวยการสถาบันสุขภาพจิตเด็กและวัยรุ่นราชนครินทร์ กรมสุขภาพจิต

...

เช่นนี้แล้ว “เรา” จะรู้ได้อย่างไรว่า “ใคร” ที่มีแนวโน้มว่าจะเป็น ASD ในระดับที่มากหรือน้อย มีอะไรเป็นจุดสังเกตได้บ้าง และ หากพบว่ามีคนในครอบครัวมีแนวโน้มว่าจะเป็น ASD เราควรทำอย่างไร? “เรา” ไปรับฟังจากปาก ผู้อำนวยการสถาบันสุขภาพจิตเด็กและวัยรุ่นราชนครินทร์ ในบรรทัดต่อไปกันดีกว่า

พักอึนบิน (Park Eun-bin) รับบท ทนายอูยองอู ในซีรีย์เกาหลี Extraordinary Attorney Woo
พักอึนบิน (Park Eun-bin) รับบท ทนายอูยองอู ในซีรีย์เกาหลี Extraordinary Attorney Woo

วิธีสังเกต สังคม สื่อสาร ซ้ำซาก :

พญ.วิมลรัตน์ กล่าวต่อว่า วิธีการง่ายๆ ที่สามารถสังเกตได้ว่า เด็กคนไหนมีแนวโน้มว่าจะเป็น ASD มีหลักการง่ายๆ 3 ข้อในการสังเกตพฤติกรรม คือ สังคม สื่อสาร และ ซ้ำซาก

1.การเข้าสังคม : ไม่มีโปรแกรมที่จะเข้าใจเรื่องการอยู่ร่วมกับผู้คนในสังคม

“เด็กกลุ่มนี้มักมีความเข้าใจสังคมแบบเฉพาะตัว หรือ พูดง่ายๆ คือจะมีความคิดเป็นของตัวเอง ยกตัวอย่างเช่น บางทีเขาจะเดินเข้าไปคุยกับเพื่อนตรงๆ โดยที่เขาอาจจะไม่เข้าใจว่า การพูดอะไรแบบตรงๆ มากเกินไปเช่นนั้น บางครั้งมันเป็นการเสียมารยาท เพราะเขาจะไม่เข้าใจว่า การแสดงสีหน้า อากัปกิริยาของเพื่อนที่กำลังแสดงอาการว่ารู้สึกไม่ดีจากคำพูดเหล่านั้น มันมีความหมายว่าอะไร หรือไม่ก็เช่น หากกลุ่มที่กำลังสนทนาคุยถึงภาพยนตร์เรื่องหนึ่งอยู่ แต่คนที่เป็น ASD กำลังคิดถึงเรื่องแมวอยู่ เขาก็จะพูดเรื่องแมวออกมาโดยไม่สนใจเลยว่าคนในวงสนทนากำลังพูดเรื่องภาพยนตร์กันอยู่ เพราะเขาจะไม่เข้าใจว่าสิ่งที่ทำลงไปเป็นการผิดกาลเทศะ หรือไม่ควรทำ เป็นต้น

นอกจากนี้อาการทางกายภาพที่สามารถสังเกตได้ง่ายๆ เวลาที่คนกลุ่มนี้เข้าสังคมคือ จะไม่มองหน้าสบตา, จะไม่สนทนากับใคร และจะไม่ชี้นิ้วเพื่อแสดงความต้องการว่าตัวเองกำลังต้องการอะไร”

2.การสื่อสาร : พูดช้า ไม่พูดเลย หรือ พูดจาแปลกๆ

“ในช่วงวัยเด็กจะเห็นได้ชัดๆ เลยสำหรับผู้ที่เป็น ASD คือ พูดช้า ไม่พูดเลย หรือ พูดได้แต่คำพูดจะเป็นไปในลักษณะกลับไปกลับมา ใช้รูปประโยคแปลกๆ ใช้คำศัพท์แปลกๆ เช่น หากถามว่าวันนี้มาทำอะไรคะ หากเป็นเด็กปกติก็จะตอบว่า มาหาหมอ แต่หากเป็นเด็กกลุ่มนี้ก็อาจจะตอบว่า มาตรวจสุขภาพตามที่คุณหมอชื่อนี้่นัดไว้ เป็นต้น”

...

3.การทำอะไรซ้ำซาก : ชอบความเป๊ะในแบบเดิมๆ

“คนที่เป็น ASD มักจะชอบทำอะไรซ้ำซาก เช่น หากเขาเดินทางมาทำงานด้วยรถโดยสารแล้วต่อด้วยเรือ เขาก็จะเดินทางด้วยวิธีนั้นทุกครั้ง เขาจะไม่ชอบอ้อม เพราะเขาไม่ชอบการเปลี่ยนแปลงในชีวิต ซึ่งกรณีเด็กที่เป็นในระดับค่อนข้างสูง หากเขาชอบกินข้าวไข่เจียว เขาก็จะกินข้าวไข่เจียวทุกวัน หากไม่ใช่ข้าวไข่เจียวเขาก็จะไม่กิน หรือ บางคนหากเขานั่งเก้าอี้ตัวนี้ทำงานทุกวัน เขาก็ต้องนั่งเก้าอี้ตัวนี้เท่านั้น หากใครมานั่งเขาก็อาจจะไปยืนจ้องหน้าจนกว่าคนๆ นั้นจะลุกก็มีเช่นกัน”

อย่างไรก็ดี พฤติกรรมดังกล่าวทั้งหมด พญ.วิมลรัตน์ ยืนยันว่า ผู้ที่เป็น ASD ไม่ได้มีเจตนาที่ไม่ดีกับใคร เพียงแต่คนพวกนี้ทักษะทางสังคมในความคิดของพวกเขา คือ “ก็ฉันนั่งเก้าอี้ตัวนี้ของฉันมาทุกวัน เธอมาแย่งฉันทำไมเท่านั้นเอง”

...

ASD กับ ภาวะบกพร่องทางสติปัญญา :

สิ่งที่คนทั่วๆ ไปควรต้องทำความเข้าใจในเรื่องนี้ให้ชัดเจน คือ คนที่เป็น ASD แตกต่างจากผู้ที่มีภาวะบกพร่องทางสติปัญญา เพราะคนที่เป็น ASD บางคนมีระดับไอคิวสูงถึง 130 และเรียนหนังสือได้ดี เพียงแต่โดยทั่วๆ ไป คนที่เป็น ASD เกินกว่า 50% มักจะมีปัญหาเรื่องระดับสติปัญญาร่วมด้วย มันจึงทำให้คนส่วนใหญ่เกิดเข้าใจผิดว่าเป็นคนกลุ่มเดียวกัน

ASD แก้ไขได้หรือไม่ :

ASD คือ โรคที่เกี่ยวข้องกับพัฒนาการ เพราะฉะนั้นในกลุ่มคนที่เป็นไม่มากนักหากได้รับการฝึกสอนมาเป็นอย่างดีๆ ย่อมสามารถบรรเทาความผิดปกติที่เกิดขึ้นได้บ้าง ด้วยเหตุนี้ปัจจัยสำคัญที่สุดในการรักษาคนกลุ่มนี้ คือ “ครอบครัว”

“พ่อและแม่จะต้องทำใจและยอมรับให้ได้ก่อนว่า ลูกเป็น ASD จนทำให้มีปัญหาเรื่องพัฒนาการช้า ฉะนั้น การเลี้ยงดูจึงต้องมีความสุขร่วมไปกับพัฒนาการที่ช้าของลูกด้วย เพื่อให้ลูกรู้สึกว่ามีศักยภาพมากเพียงพอในการพัฒนาสามารถทำโน่นนี่นั่นได้ แต่กลับกันหากเลี้ยงไปกับความทุกข์ที่ว่าลูกฉันป่วย ลูกเขาก็จะรับรู้ถึงความป่วย รับรู้ถึงความหมดกำลังใจว่าชีวิตนี้ทำอะไรไม่ได้หรอก ซึ่งหากเป็นแบบนั้นก็จบกัน ฉะนั้นการดูแลเด็กกลุ่มนี้พ่อและแม่สำคัญมากที่สุด”

ส่วนการพาคนที่เป็น ASD สัมผัสกับผู้คนในโลกภายนอก นั้น ในความเห็นของ พญ.วิมลรัตน์ มองว่า ขึ้นอยู่กับระดับของผู้ที่เป็นด้วยว่า "อยู่ในระดับที่เป็นมากหรือน้อย" เพราะหากเป็นในระดับน้อยๆ การพาออกสู่โลกภายนอกในช่วงที่ยังเป็นเด็กเล็กจะสามารถช่วยเรื่องพัฒนาการได้ส่วนหนึ่ง แต่หากเมื่อถึงช่วงวัยรุ่นแล้วพบว่า สามารถพัฒนาได้ประมาณหนึ่งรวมถึงยังพบว่าเมื่อไปสัมผัสกับโลกภายนอกแล้วมีความทุกข์มากกว่าจากการที่สังคมไม่เอื้ออำนวย แบบนั้นการอยู่บ้านอยู่กับคนที่รู้จักก็อาจจะดีกว่า

...

ASD กับ การประกอบอาชีพ :

สำหรับคนที่เป็น ASD ที่มีระดับไอคิวสูงแม้อาจจะเรียนเก่ง แต่ปัญหาสำหรับคนกลุ่มนี้ คือ มักจะไม่สามารถนำความรู้ที่เรียนมาไปประยุกต์ใช้ในการทำงาน หรือ สิ่งที่เขาไม่เคยพบเจอมาก่อนได้ ยกตัวอย่างเช่น แม้ว่าเขาจะรู้ว่าคำตอบของ 1+1 คือ 2 แต่หากเปลี่ยนโจทย์เป็น 1.5+0.5 เขาจะไม่เข้าใจว่า มันจะเท่ากับ 2 ไปได้อย่างไร?

ซึ่งนั่นรวมถึง การแก้ปัญหาในการเข้าสังคมด้วย ยกตัวอย่างเช่น หากถูกเพื่อนกลั่นแกล้งและต่อมาถูกสอนว่า หากเพื่อนแกล้งแบบนี้ควรจะต้องทำอย่างไรเพื่อตอบโต้ หากถูกเพื่อนแกล้งเหมือนเดิมอีกครั้งก็จะสามารถแก้ไขได้ แต่หากถูกเพื่อนแกล้งด้วยวิธีอื่น ก็จะไม่รู้ว่าควรจะประยุกต์ใช้วิธีการเดิมเพื่อแก้ไขปัญหาใหม่นี้ได้อย่างไร?

ด้วยเหตุนี้ คนที่เป็น ASD “จึงมักมีปัญหาเรื่องการตัดสินใจ ด้วยเหตุนี้จึงอาจจะไม่สามารถประกอบอาชีพบางอย่างได้ แม้ว่าอาจจะเรียนหนังสือได้เก่งมากก็ตาม”

“ฮาเลย์ มอส” (Haley Moss) ทนายอูยองอูในโลกของความจริง
“ฮาเลย์ มอส” (Haley Moss) ทนายอูยองอูในโลกของความจริง

แล้วอะไรคืออาชีพที่เหมาะสม :

“ต้องขึ้นอยู่กับว่าเป็นน้อยหรือมากด้วย แต่ที่แน่ๆ เลย คือ อาชีพที่ต้องเข้าไปมีส่วนร่วมกับคนจำนวนมากแบบนี้ไม่น่าจะเหมาะ แต่กลับกันหากเป็นงานที่สามารถทำได้ด้วยตัวคนเดียว รวมถึงงานประจำที่ไม่ต้องใช้การตัดสินใจมากนัก แบบนี้น่าจะเป็นอาชีพที่เหมาะสมมากกว่า

อย่างไรก็ดี สิ่งหนึ่งที่อยากฝากไว้ให้คิดคือ แม้ว่า ASD อาจไม่สามารถรักษาให้หายขาดได้โดยเฉพาะในกลุ่มที่เป็นมากๆ แต่การรักษาจะช่วยให้คนที่เป็นมีความสุขได้ และคนที่มีความสุขไม่จำเป็นต้องเป็นคนที่ประสบความสำเร็จในการทำงาน เพราะคนที่มีความสุข อาจจะเป็นเพียงแค่คนที่ทำหน้าที่ช่วยดูแลที่บ้านก็เป็นได้”

ASD และสถิติ :

รายงานผลการศึกษาระหว่างปี 2000 - 2018 ของศูนย์ควบคุมและป้องกันโรคของสหรัฐฯ หรือ CDC ระบุว่า สัดส่วนประชากรเด็กในสหรัฐฯ ประมาณ 1 ใน 44 คน (2.3%) ถูกวินิจฉัยว่าเป็น ASD โดยเด็กที่ตรวจพบว่าเป็น ASD นั้น 40% ไม่สามารถพูดหรือสื่อสารได้ 44% มีความสามารถทางสติปัญญาอยู่ในเกณฑ์ค่าเฉลี่ยหรือสูงกว่าค่าเฉลี่ย ในขณะที่อีก 31% มีความบกพร่องทางสติปัญญา และกลุ่มเด็กผู้ชายจะถูกพบได้บ่อยกว่ากลุ่มเด็กผู้หญิงถึง 4 เท่า

ทีมข่าวเฉพาะกิจไทยรัฐออนไลน์ รายงาน

อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง :