ทำให้ชาวเหนือ โดยเฉพาะ เชียงราย โกลาหล เล็กน้อย กับเหตุการณ์แผ่นดินไหว ชนาด 6.4 ลึก 3 กิโลเมตร ศูนย์กลางอยู่ทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือของ อ.แม่สาย จ.เชียงราย ห่างไป 80 กว่ากิโลเมตร โดยแรงสั่นไหวทำให้คนไทยที่อาศัยในภาคเหนือรับรู้ถึงแรงสั่นสะเทือน

นอกจาก แผ่นดินไหวที่มีความรุนแรงดังกล่าว ยังเกิดอาฟเตอร์ช็อกตามมา ซึ่งจากรายงานเบื้องต้น พบว่ามีมากกว่า 40 ครั้งเลยทีเดียว

แผ่นดินไหว...ใกล้ประเทศไทย ส่งสัญญาณอะไรถึงเราบ้าง ทีมข่าวเฉพาะกิจไทยรัฐออนไลน์ ได้พูดคุยกับ ศ.ดร.เป็นหนึ่ง วานิชชัย อาจารย์สถาบันเทคโนโลยีแห่งเอเชีย (AIT) และผู้เชี่ยวชาญด้านแผ่นดินไหว ระบุว่า แผ่นดินไหวที่เกิดขึ้นในครั้งนี้ ถือเป็นเรื่องปกติ โดยเฉพาะในพื้นที่ที่มีโอกาสเกิดแผ่นดินไหวชุกชุม และที่ผ่านมา พื้นที่ดังกล่าวก็เคยเกิดแผ่นดินไหวที่สูงกว่า หรือต่ำกว่าครั้งนี้อยู่เป็นประจำ

“เพียงแต่ครั้งนี้ ถือว่าเป็นแผ่นดินไหวค่อนข้างรุนแรง และนานๆ จะเกิดขึ้นสักครั้ง เพราะโอกาสที่จะเกิดขึ้นต่ำ”

...

สำหรับประเทศไทย ถือว่าอยู่ห่างจากจุดศูนย์กลางแผ่นดินไหวพอสมควร ห่างจากพรมแดนราว 60 กว่ากิโลเมตร หรือในอำเภอที่ใกล้ที่สุดอย่าง อ.แม่สาย ก็ราว 80 กว่ากิโลเมตร เราจึงรับรู้ถึงแรงสั่นไหวได้ ทำให้ตื่นเต้น ตกใจ

แต่...สำหรับพื้นที่ที่ห่างจากศูนย์กลางราว 10-20 กิโลเมตรนั้น จะมีแรงสั่นสะเทือนรุนแรงมาก ถ้ามีอาคารบ้านเรือน ในบริเวณนั้นก็จะทำให้บ้านเรือนพัง หรือถึงขั้นเสียชีวิตได้ แต่ที่โชคดีคือบริเวณนั้นไม่ใช่เมืองใหญ่ ความเสียหายจึงไม่มาก สำหรับประเทศไทยก็ถือว่าไม่เป็นอันตรายใดๆ

รอยเลื่อนในเมียนมา อยู่ในแนวเดียวกับประเทศไทย

ผู้เชี่ยวชาญด้านแผ่นดินไหว เผยว่า สาเหตุแผ่นดินไหวในเมียนมาครั้งนี้ มาจากรอยเลื่อน Wan Ha ซึ่งถือเป็นแนวเดียวกับประเทศไทย สภาพทางธรณีวิทยา ถือเป็นพื้นที่เดียวกัน เพียงแต่ว่ามีการแบ่งพื้นที่ออกว่าตรงไหนเป็นพื้นที่ของเมียนมา ไทย หรือ ลาว

“การเกิดแผ่นดินไหวในเมียนมา ขนาด 6 กว่านี้ได้ ประเทศไทยในตอนเหนือก็สามารถเกิดขึ้นได้เช่นกัน โดยเฉพาะในพื้นที่ เชียงใหม่ แม่ฮ่องสอน เชียงราย แพร่ น่าน ซึ่งประเทศไทยมีรอยเลื่อนหลายแนว กระจายในพื้นที่ภาคเหนือ ซึ่งเราต้องระมัดระวังทุกๆ รอยเลื่อน แต่จากข้อมูลเราพบว่ามีอัตราการเคลื่อนตัวของแผ่นเปลือกโลกต่ำ ดังนั้น โอกาสที่จะเกิดแผ่นดินไหว จึงใช้เวลาค่อนข้างนานในการสะสมพลังงาน” ศ.ดร.เป็นหนึ่ง กล่าว และว่า

ในขณะเดียวกัน ในประเทศเมียนมา โดยเฉพาะใน เนปิดอว์ มัณฑะเลย์ บริเวณนี้มีรอยเลื่อนที่ใหญ่และมีอัตราในการเลื่อนสูงมาก จะมีการเกิดแผ่นดินไหวถี่มากกว่าในประเทศไทย แต่...ในประเทศไทย มีโอกาสเกิดแผ่นดินไหวที่ส่งผลให้เกิดอันตราย

แผ่นดินไหวในเมียนมา เมื่อหลายปีก่อน ทำให้วัตถุโบราณได้รับความเสียหาย
แผ่นดินไหวในเมียนมา เมื่อหลายปีก่อน ทำให้วัตถุโบราณได้รับความเสียหาย

แผ่นดินไหวในเมียนมา กระทบรอบเลื่อนในไทย?

เมื่อถามว่า การเกิดแผ่นดินไหวในเมียนมา ส่งผลต่อรอยเลื่อนในไทยหรือไม่ กูรูด้านแผ่นดินไหว อธิบายว่า การเกิดแผ่นดินไหวแต่ละครั้ง คือ การขยับเคลื่อนตัวของรอยเลื่อน ซึ่งเป็นการคลายเครียดหรือพลังสะสมในเนื้อหิน หากมีรอยเลื่อนอยู่ใกล้ๆ ก็อาจจะไปกระตุ้นทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลง ซึ่งจะส่งผลอย่างไร ขึ้นอยู่กับแนวและมุมของรอยเลื่อนนั้นๆ รอยเลื่อนบางแห่งอาจจะเพิ่มความเครียดให้แนวเลื่อนนั้น หรือบางแนวก็ลดความเครียดนั้น หากเป็นการเพิ่มความเครียดให้กับแนวรอยเลื่อน ก็จะส่งผลกระตุ้นให้เกิดแผ่นดินไหวเร็วขึ้น ซึ่งเราเองก็ไม่รู้ว่ารอยเลื่อนแต่ละรอยมีการสะสมพลังไปถึงขั้นไหนแล้ว ถ้ามีการสะสมพลังมากอยู่แล้ว รับเพิ่มอีกก็อาจจะทำให้ระเบิด เกิดแผ่นดินไหวต่อ เช่น แต่เดิมควรจะเกิดในอีก 50 ปี อาจจะย่นมาเหลือ 10 ปีก็ได้

ศ.ดร.เป็นหนึ่ง วานิชชัย
ศ.ดร.เป็นหนึ่ง วานิชชัย

...

มาตรฐานการสร้างอาคารในพื้นที่รอยเลื่อนของไทยส่วนมาก ยังไม่พร้อมรับ

ผู้เชี่ยวชาญด้านแผ่นดินไหว กล่าวว่า ในประเทศไทย แม้จะเกิดแผ่นดินไหวไม่บ่อย แต่เมื่อมีการสะสมพลังงานไว้มากๆ และเกิดระเบิด คือ เกิดแผ่นดินไหว อย่างเช่นที่เคยเกิดเมื่อหลายปีก่อน ที่ จ.เชียงราย ขนาด 6.2 ซึ่งใกล้เคียงกับที่เกิดขึ้นวานนี้ ตอนนั้นมีอาคารบ้านเรือนเสียหายเยอะ รัศมี 20 กิโลเมตร จากจุดศูนย์กลาง ซึ่งถือเป็นตัวอย่างที่เกิดขึ้นได้

หากเกิดแผ่นดินไหวในขนาดเท่าๆ กันนี้ แต่ย้ายจุดศูนย์กลางไปที่กลางเมือง ความเสียหายจะทวีคูณมากกว่าหลายสิบเท่า โดยเฉพาะที่ตัวเมืองเชียงใหม่ ความเสียหายร้ายแรงจะมากมายมหาศาล

“การรับมือกับแผ่นดินไหว จำเป็นต้องมีการออกแบบอาคารเพื่อรองรับด้วย ซึ่งที่ผ่านมา เรามีกฎกระทรวงว่าด้วยการออกแบบอาคารรองรับแผ่นดินไหว อยู่ภายใต้ พ.ร.บ.ควบคุมอาคาร ซึ่งกฎหมายออกตั้งแต่ 2540 และบังคับใช้มาถึงปัจจุบัน แต่ปัญหาคือการบังคับใช้ไม่ได้เข้มงวดมาก ซึ่งตามกฎดังกล่าว ต้องเป็นอาคารสูงมากกว่า 15 เมตรขึ้นไป หรือเป็นอาคารโรงพยาบาล หรือโรงเรียน ซึ่งในความจริงอาคารที่สูงกว่า 15 เมตร มีไม่มาก”

กระทั่งปีที่ผ่านมา มีการเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญ คือ มีการเปลี่ยนแปลงกฎดังกล่าว คือ อาคารตั้งแต่ 3 ชั้นขึ้นไป ต้องออกแบบรองรับแผ่นดินไหว... ซึ่งหมายความว่า อาคารที่สร้างไปแล้วจำนวนมาก ไม่มีการรองรับแผ่นดินไหว ถ้าโชคดีไม่มีอะไรเกิดขึ้นในรอบหลายสิบปี ก็ไม่เป็นไร เพราะก็จะมีการก่อสร้างเปลี่ยนแปลงตามกาลเวลา แต่ถ้าเกิดขึ้นในเร็ววัน ช่วง 10 ปีข้างหน้า อาคารเหล่านี้อาจจะยังไม่พร้อม... และถ้าเป็นอาคารเก่าที่มีความจำเป็นต้องอนุรักษ์ ก็ควรปรับปรุงเสริมกำลังให้รองรับได้

ภาพเหตุการณ์แผ่นดินไหว ที่ จ.เชียงราย เมื่อปี 2557
ภาพเหตุการณ์แผ่นดินไหว ที่ จ.เชียงราย เมื่อปี 2557

...

อาคารโรงเรียนหลายร้อยแห่ง ใกล้รอยเลื่อนแม่จัน ไม่รองรับแผ่นดินไหว

ศ.ดร.เป็นหนึ่ง ยังเผยว่า ที่ผ่านมา ได้ลงพื้นที่สำรวจพื้นที่ภาคเหนือในพื้นที่รอยเลื่อน พบว่า อาคารโรงเรียนจำนวนมาก มีสภาพอ่อนแอ ยกตัวอย่างในรอบ 10 กิโลเมตร บนเส้นทางรอยเลื่อนแม่จัน ซึ่งถือเป็นรอยเลื่อนสำคัญและใหญ่มาก รอบๆ นั้นมีโรงเรียนมากมาย และมีตึกในสภาพอ่อนแอ รวมๆ หลายร้อยอาคาร โดยสังเกตได้ง่ายคือ อาคารเรียน 2-3 ชั้น ที่มีลักษณะอาคารในชั้นล่างเปิดโล่ง อาคารแบบนี้มีสภาพค่อนข้างอ่อนแอ สิ่งที่ทำได้คือ การเสริมกำลังให้กับอาคารเหล่านี้ ซึ่งในความเป็นจริงเราพบอาคารอ่อนแอจำนวนมากในภาคเหนือ และในพื้นที่รอยเลื่อนดังกล่าว มีโอกาสที่จะเกิดแผ่นดินไหว ขนาด 6.0 ได้ เช่น แม่ฮ่องสอน เชียงใหม่ น่าน ลำปาง

“หากอาคารไหนอยู่ใกล้รอยเลื่อนมาก ก็อาจจะได้รับผลกระทบเต็มๆ เพราะการมีรอยเลื่อนในพื้นที่ หมายความว่ามีโอกาสเกิดแผ่นดินไหว ขนาด 6.5 ขึ้นไปได้ นอกจากนี้ ในพื้นที่ดังกล่าว ส่วนมากจะเป็นรอยเลื่อนที่เกิดแผ่นดินไหวในลักษณะตื้น คือลึกลงไป 3-20 กิโลเมตร หมายความว่า จุดศูนย์กลางยิ่งตื้น ยิ่งอันตราย ในขณะที่บางโซนที่มีแผ่นดินไหวลึกๆ แบบนี้อันตรายจะน้อยกว่า”

...

นักวิจัยไทย ลุยหาแบบจำลองแผ่นดินไหว เชียงใหม่ เชียงราย

อาจารย์สถาบันเทคโนโลยีแห่งเอเชีย กล่าวทิ้งท้ายว่า เวลานี้มีนักวิจัยกำลังทำงานวิจัยเกี่ยวกับแผ่นดินไหวค่อนข้างเยอะ โดยบางส่วนได้รับทุนจาก สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) โดยมีถึง 11 โครงการ และมี 4-5 โครงการที่กำลังเดินหน้าทำเกี่ยวกับแบบจำลองแผ่นดินไหว ในพื้นที่เชียงใหม่และเชียงราย หากทำการวิจัยสำเร็จ ก็จะทำให้เราทราบว่าพื้นที่ไหนมีความอันตราย เสียหายมากเป็นพิเศษ มีโอกาสได้รับความเสียหายร้ายแรงสูงสุด ในรอบ 50 ปี หรือ 200 ปี ซึ่งจะสามารถประเมินได้ คาดว่าใน 1-2 ปีข้างหน้าก็จะสมบูรณ์


ทีมข่าวเฉพาะกิจไทยรัฐออนไลน์ รายงาน

อ่านสกู๊ปที่น่าสนใจ