ปรากฏการณ์ฝนถล่มกรุง ข้ามวันข้ามคืน ระหว่างวันที่ 20 ถึง เช้ามืดวันที่ 21 กรกฎาคม ที่ผ่านมา ทำให้ชาวกรุงเทพฯ เรียกว่าปวดเศียรเวียนเกล้า หรือ บางคนเรียกว่าติดแหงก กลับบ้านไม่ได้กันเลยทีเดียว โดยวานนี้ มีปริมาณฝนตกหนักทั่วกรุงเทพฯ มากถึง 176 มิลลิเมตร ซึ่ง ปกติแล้ว กทม.สามารถรองรับ ปริมาณน้ำฝน และระบายได้อย่างทันท่วงที เพียง 60 มิลลิเมตร

ทีมข่าวเฉพาะกิจไทยรัฐออนไลน์ มีโอกาสพูดคุยกับ ดร.วิศณุ ทรัพย์สมพล รองผู้ว่าฯ กทม. ที่ดูแลเรื่องการบริหารจัดการน้ำท่วม ยอมรับว่า ถึงเวลานี้ (ผ่านมา 16 ชั่วโมง ตั้งแต่เวลา 01.00 น. วันที่ 21 ก.ค.) บางจุดยังระบายไม่หมด โดยเฉพาะตามตรอก ซอก ซอย ต่างๆ ในพื้นที่ฝั่งตะวันออกของกรุงเทพฯ ในขณะที่ถนนเส้นหลัก ระบายออกหมดแล้ว

“ฝนตกหนักมากจริงๆ เรียกว่ารับเต็มแม็กซิมัมเลย เป็นฝนที่ตกหนัก ตกนาน และตกทุกพื้นที่ใน กทม. เลย มีเพียงตอนเหนือของ กทม. เท่านั้นที่โดนเบาหน่อย”

สิ่งที่เราทำในวันนี้ คือ การพยายามลดระดับน้ำในคลองหลักให้ได้มากที่สุด โดยพยายามเร่งระบายน้ำจากคลองหลักลงสู่แม่น้ำเจ้าพระยา แต่...เมื่อช่วงกลางวันเราก็ไม่สามารถทำได้ เนื่องจากระดับน้ำในเจ้าพระยา ยังมีปริมาณสูง ทำให้เราต้องปิดประตูคลองระบายน้ำ และใช้วิธีการสูบออกอย่างเดียว

จนกระทั่งถึงเวลา 16.00 น. ถึงจะเริ่มเปิดประตูระบายน้ำ ระบายลงสู่เจ้าพระยา จึงทำให้พร่องน้ำลงได้เร็วขึ้น อย่างไรก็ตาม คลองหลัก ก็ยังมีปริมาณน้ำที่สูงอยู่ ซึ่งเราก็พยายามพร่องน้ำให้ได้มากที่สุด เพื่อช่วยเหลือคลองย่อยต่างๆ ด้วย

...

ขยะเยอะ อุปสรรคใหญ่ ระบายน้ำท่วมกรุง

รองผู้ว่าฯ กทม. กล่าวยอมรับว่า สิ่งที่เป็นปัญหาอุปสรรคใหญ่ในการทำงานคือ “ขยะ” เยอะมาก ไปอุดตันตามท่อระบายน้ำ คลอง รวมไปถึงเข้าไปอุดตันเครื่องสูบน้ำ ทำให้เราต้องเสียเวลาซ่อมเครื่องสูบน้ำหลายชั่วโมง

“อยากจะขอความร่วมมือประชาชนว่า คนที่เอาขยะมากองไว้หน้าบ้าน หากยังไม่ถึงเวลาเก็บขยะ ถ้าเห็นว่าฝนตกหนัก อยากให้เก็บขยะไว้ในบ้านก่อน รอรถขยะมาเก็บค่อยเอาออกมา โดยเฉพาะ ขยะที่เอามากองไว้ เช่น ถุงกระดาษใส่ขยะ โดนน้ำขยะก็หลุดออกมา ไหลตามน้ำไปตามที่ต่างๆ เรียกว่าเจอเยอะมาก ฉะนั้น จึงอยากขอความร่วมมือประชาชน เพราะเวลาน้ำท่วม น้ำซัด ขยะเหล่านี้ก็ไหลลงไปด้วย กลายเป็นอุดตัน ท่อน้ำไม่สามารถระบายได้”

อย่างไรก็ตาม ทาง กทม. ได้ขอไปยัง ผอ.เขต ทุกเขต ให้ร่วมด้วยช่วยกันรับมือน้ำท่วม ซึ่งเวลานี้เราขอให้สแตนด์บาย เอาเจ้าหน้าที่เทศกิจ อุปกรณ์ต่างๆ สำหรับใช้ มารองรับมือน้ำท่วมในคืนนี้....

“เบื้องต้น เราได้คุยกับกรมอุตุฯ ก็บอกว่า จะมีฝนถึงวันที่ 24 ก.ค. ซึ่งไม่แน่คืนนี้ก็อาจจะมีฝนตกอีก แม้ตรงนี้จะเป็นการแก้ปัญหาที่ปลายเหตุ แต่เราก็ต้องทำงานให้เต็มที่”

ประชาชนตกค้าง ไม่สามารถกลับบ้านได้ ใช้รถเข้าช่วยเหลือ

รองผู้ว่าฯ กทม. ยังกล่าวถึง กรณีคนที่ตกค้าง กลับบ้านไม่ได้ จำนวนมากวานนี้ว่า เราได้ใช้รถของเขต และ เทศกิจ หรือ ของโยธาฯ เรียกว่า รถทุกคันที่ลุยน้ำได้ สแตนด์บายไว้แล้ว ซึ่งหากประชาชนคนไหน เจอปัญหาเรื่องนี้ กลับบ้านไม่ได้ ก็สามารถโทรมาที่สายด่วน 1555 ได้ เราก็จะประสานการช่วยเหลือ

เปิดพื้นที่สาหัส ฝนถล่ม น้ำท่วม เสียดาย อุโมงค์บึงหนองบอน ต้องซ่อม ทั้งที่ยังไม่เปิดใช้

เมื่อถามว่า มีพื้นที่ไหน สาหัสสุด วานนี้ ดร.วิศณุ เผยว่า ถนนสุขุมวิท-เพชรบุรี คลองเตย พัฒนาการ พื้นที่ย่านคลองแสนแสบ ในขณะที่ลาดพร้าวก็หนัก แต่ระบายได้เร็วกว่าพื้นที่อื่นๆ

“สาเหตุที่พื้นที่ระบายน้ำได้ช้า เพราะปริมาณฝนจำนวนมาก กอร์ปกับสถานีสูบน้ำ ในพื้นที่เหล่านี้ยังทำงานได้ไม่เต็มประสิทธิภาพ เพราะอยู่ในช่วงระหว่างการก่อสร้าง ซึ่งสิ่งที่เจอ คือ ฝนตกหนักระดับนี้ เรียกว่าเกินความคาดหมาย และจากที่คุยกับกรมอุตุฯ ก็ระบุว่า ฝนจะตกหนักในช่วง 3-4 วันนี้ จากนั้นก็จะทิ้งช่วงไป”

แบบนี้เรียกว่ารับมือไม่ทันหรือไม่ เพราะช่วงนี้กำลังขุดลอกคลองอยู่ ดร.วิษณุยอมรับว่าเป็นเช่นนั้น และยังอยู่ในช่วงปรับปรุงสถานีสูบน้ำด้วย

...

ปัญหาใหญ่ที่สุดในเวลานี้ ดร.วิศณุ กล่าวว่า การที่เจอฝนตกหนักเมื่อวาน ถือเป็นการทดสอบ “เส้นเลือดหลัก” ด้วย ถึงแม้เราจะพยายามพัฒนาเส้นเลือดฝอย แต่เส้นเลือดหลัก คือ คลองใหญ่ๆ ก็เจอปัญหาระบายไปยังแม่น้ำเจ้าพระยาได้ยาก

“สิ่งที่เป็นเรื่องน่าเสียดาย คือ อุโมงค์ระบายน้ำที่บึงหนองบอน ที่เกิดการทรุดตัว ซึ่งตามแผนจะเปิดใช้งานได้ปีนี้ แต่ปรากฏว่า ไม่สามารถทำได้ และต้องใช้เวลาซ่อมแซมยาวนาน 18 เดือนถึง 2 ปี ซึ่งจะเรียกว่าซ่อมก็ยังยาก เรียกว่า “สร้างใหม่” ก็ได้ เพราะอุโมงค์ขุดลึกถึง 30 เมตร เป็นเหมือนท่อยาวๆ แต่มาขาดที่ท่อนตรงกลาง ก็ส่งผลให้ทั้งหมดใช้งานไม่ได้...ถือเป็นเรื่องน่าเสียดาย เพราะหากใช้ได้ เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นเมื่อวานก็น่าจะบรรเทาได้เยอะ”

แผนระยะสั้น ระยะยาว

รองผู้ว่าฯ กทม. ที่ดูแลจัดการเรื่องการระบายน้ำ เผยว่า แผนระยะสั้น นอกจากการขุดลอกคูคลองแล้ว ก็มีการปรับปรุงสถานีสูบน้ำ ส่วนแผนระยะยาว ในปีงบประมาณหน้า ก็อาจจะมีการสร้างสถานีสูบน้ำเพิ่มขึ้น รวมถึงการทำท่อลอด ในพื้นที่น้ำท่วมซ้ำซาก ซึ่งการปรับปรุงแต่ละโครงการ จำเป็นต้องใช้งบประมาณและระยะเวลาพอสมควร กทม. เองก็ไม่ได้มีงบประมาณจำกัด

“เมื่อวานนี้ ขยะมีมาก จนเครื่องกรองขยะ ที่อุโมงค์ใหญ่เสีย ต้องเสียเงินอีกหลายสิบล้านเพื่อซ่อมแซม ฉะนั้น สิ่งที่อยากฝากบอกไปถึงชาว กทม. ทุกคนว่า เราสามารถช่วยกันแก้น้ำท่วมได้ โดยเฉพาะปัญหาเรื่องการจัดการขยะ เรื่องการทิ้งขยะ รวมไปถึงขยะที่ถูกกองในพื้นที่ต่างๆ ในช่วงน้ำท่วม และอีกเรื่องคือ อยากให้ทุกคนวางแผนการเดินทาง เพราะเมื่อวานฝนตกหนัก ก็ตรวจเช็กพยากรณ์อากาศก่อนการเดินทาง..”

...

กูรูเรื่องน้ำท่วม เชื่อ ค่ำนี้ ฝนอาจไม่ตก เผยฝนถล่มเมื่อวาน มาเร็วจากอีสาน

ด้าน นายชวลิต จันทรรัตน์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ทีม คอนซัลติ้ง เอนจิเนียริ่ง แอนด์ แมเนจเมนท์ จำกัด (มหาชน) “TEAMG” หรือ ทีมกรุ๊ป ผู้เชี่ยวชาญด้านบริหารจัดการน้ำ กล่าวกับทีมข่าวเฉพาะกิจไทยรัฐออนไลน์ ว่า ฝนที่ถล่มหนักเมื่อวาน มาจากความกดอากาศต่ำ พาดผ่านกรุงเทพมหานคร ซึ่งฝนลักษณะแบบนี้เป็นสิ่งที่ทำนายได้ยาก ซึ่งก็ได้ติดตามเรดาร์ตลอดทั้งวัน ไม่มีวี่แววเลย ซึ่งเค้าฝนมาเริ่มจริงๆ ในเวลา 6 โมงเย็น...เรียกว่าเป็นฝนท้องถิ่นจริงๆ ซึ่งตอนเช้าดูแล้วยังอยู่ที่ภาคอีสานและภาคกลาง แต่พอ 6 โมงเย็นเลื่อนมาถึงกรุงเทพฯ ซึ่งถือว่าเร็วมาก

“จากการเก็บข้อมูลพบว่า ปริมาณฝนสะสมสูงสุดถึง 179.5 มิลลิเมตร ซึ่งความเป็นจริงก็คือฝนปกติ แต่มาก่อตัวที่กรุงเทพฯ โดยเป็นดึงร่องความกดอากาศต่ำจากอีสาน มากรุงเทพฯ อย่างรวดเร็ว”

หากสังเกตภาพพื้นที่สีต่างๆ จะเห็นว่า สีแดง คือ เกิน 60 มิลลิเมตรไปแล้ว ส่วนที่เกินสีแดงพื้นที่ตรงนั้นก็ไม่สามารถรับน้ำไหว แถมพื้นที่ไหนเป็นที่ลุ่มต่ำ ก็จะโดนน้ำจากพื้นที่อื่นไหลมาสมทบอีก ยิ่งทำให้ท่วมสูงขึ้น ซึ่งหลายพื้นที่ยังระบายไม่หมด

...

นายชวลิต บอกว่า ฝนที่มานี้ถือว่าเร็วกว่าปกติ เพราะปกติฝนที่ตกลักษณะนี้ จะมาในช่วงเดือนสิงหาคม นี่คือเป็นเรื่องแปลกประหลาด

เมื่อถามว่า เวลานี้มีเค้าจะเป็นยังไง (15.00 น.) กูรูเรื่องน้ำ เผยว่า น่าจะคลี่คลายแล้ว โดยลมพัดไปทางทิศตะวันออก จึงเชื่อว่า วันนี้ฝนอาจจะไม่ตกในช่วงค่ำ โดยลมเคลื่อนไปทางตะวันออก น่าจะไปทางนครนายก เขาใหญ่ และก็กลับไปทางอีสานเช่นเดิม

“สิ่งหนึ่งที่ ผู้ว่าฯ กทม.ทำ คือสิ่งที่ถูก คือ การเร่งขุดลอกคูคลอง โดยเอานักโทษมาช่วย โดยเฉพาะท่อข้างถนน เพื่อให้ระบายได้เร็ว ส่วนข้อเสนอในการแก้ปัญหา คือ บางพื้นที่ต้องเพิ่ม เครื่องสูบน้ำ ที่จุดสูบน้ำชั่วคราว เพื่อสูบทอย ส่งต่อกันเป็นทอดๆ ไปลงคลองสายหลัก ได้แก่คลองบางซื่อ คลองลาดพร้าว คลองแสนแสบ และคลองตัน ที่เชื่อมต่อไปลงอุโมงค์ระบายน้ำ (เพื่อแก้ปัญหาเฉพาะหน้า โดยต้องใช้ทรัพยากรค่อนข้างมาก) ในพื้นที่โซน 2 ได้แก่

- พื้นที่รัชดาภิเษก พหลโยธิน แยกเกษตร เขตจตุจักร
- พื้นที่ดินแดง ห้วยขวาง เขตดินแดง และเขตห้วยขวาง
- ถนนเพชรบุรี เขตราชเทวี และเขตดินแดง
- ถนนทหาร ถนนพระราม 6 คลองสามเสน เขตดุสิต และเขตสามเสน
- พื้นที่สวนพลู และทุ่งมหาเมฆ เขตสาทร
- ถนนพระรามที่ 1 ปทุมวัน เขตคลองเตย และเขตวัฒนา
- ถนนสุขุมวิทฝั่งเหนือ เขตคลองเตย และเขตวัฒนา
- ถนนพัฒนาการ เขตสวนหลวง และเขตบางกะปิ
- พื้นที่ลาดพร้าว บางกะปิ นวมินทร์ เขตลาดพร้าว (เร่งระบายลงอุโมงค์พระราม 9)
- พื้นที่รามคำแหง เขตบางกะปิ และเขตห้ว

สำหรับสิ่งที่ นายชวลิต บอกตรงกันกับ รอง ผู้ว่าฯ กทม. คือ หากมีการสร้างอุโมงค์บึงหนองบอน เสร็จ ก็จะทำให้ระบายน้ำได้ดีกว่านี้ เพราะการระบายน้ำในท่อ ยังไงก็ระบายไม่ทัน ฉะนั้น บางพื้นที่จึงจำเป็นต้องใช้การสูบช่วย ทั้งนี้ การแก้ปัญหาด้วยการขยายท่อโดยการท่อของเดิมนั้น เป็นสิ่งที่ยุ่งยาก ในระยะยาวที่ทำได้คือ ต้องเพิ่มการระบายน้ำออกจากพื้นที่ให้เร็ว ควรใช้วิธีออกแบบการเพิ่มท่อใต้ผิวถนนโดยทำ pipe Jacking รับน้ำจากถนนตามแนวคิดการระบายน้ำถนนแจ้งวัฒนะที่เคยเสนอให้กับกรมทางหลวง โดยปลายท่อ pipe jacking จะเชื่อมบ่อสูบน้ำเดิมหรือเพิ่มระบบสูบน้ำใหม่ก็ได้ ซึ่ง การก่อสร้างสามารถทำเวลากลางคืน กลางวันสามารถจัดการพื้นที่การจราจรได้

ทีมข่าวเฉพาะกิจไทยรัฐออนไลน์ รายงาน

อ่านสกู๊ปที่น่าสนใจ