การบินรุกล้ำน่านฟ้าคืออะไร? ลักษณะแบบไหนของการรุกล้ำน่านฟ้าที่เรียกว่ามีท่าทียั่วยุ หรือ คุกคาม แล้วขั้นตอนการเข้า INTERCEPT เครื่องบินไม่ปรากฏสัญชาติมีขั้นตอนอย่างไร และ สุดท้าย "เครื่องบินรบมิก-29" (MIG-29) ของ "กองทัพเมียนมา" บินรุกล้ำเข้าน่านฟ้าไทยรูปแบบไหน และคาดว่าน่าจะใช้เวลาเท่าไหร่บนน่านฟ้าไทย ในวันนี้ “เรา” จะลองมาสังเคราะห์กันทีละประเด็น

*** หมายเหตุ รูปที่ใช้ประกอบเป็นภาพเครื่องบินรบ MIG-29 ของกองทัพรัสเซีย ไม่เกี่ยวข้องกับเหตุการณ์รุกล้ำน่านฟ้าไทย ***
*** หมายเหตุ รูปที่ใช้ประกอบเป็นภาพเครื่องบินรบ MIG-29 ของกองทัพรัสเซีย ไม่เกี่ยวข้องกับเหตุการณ์รุกล้ำน่านฟ้าไทย ***

...

การบินรุกล้ำน่านฟ้า :

การบินล้ำน่านฟ้าของประเทศที่อยู่ใกล้ชิดติดกันถือว่าสามารถเกิดขึ้นได้ โดยเมื่อใดก็ตามที่เกิดขึ้น รัฐบาลของประเทศที่ถูกรุกล้ำน่านฟ้าก็จะทำหนังสือประท้วงไปถึงประเทศที่กระทำการดังกล่าว อย่างไรก็ดีในกรณีที่ทั้ง 2 ประเทศมีความสัมพันธ์อันดีต่อกัน โดยมากก็มักจะจบลงที่การประท้วงและการขอโทษ แต่หากเป็นในกรณีที่ทั้งสองประเทศมีความขัดแย้งต่อกันหรือถึงขั้นเป็นประเทศคู่ขัดแย้งและอยู่ในสถานะประกาศสงครามต่อกัน การบินล้ำน่านฟ้า อาจไม่จบลงเพียงการทำหนังสือประท้วง

*** หมายเหตุ โดยปกตินักบินเครื่องบินรบจะไม่บินเข้าแนวชายแดนประเทศเพื่อนบ้านเกินกว่าระยะ 5 ไมล์ ***

การบินล้ำน่านฟ้าไทย ของ เครื่องบิน MIG-29 กองทัพเมียนมา :

สิ่งแรกที่ต้องทำความเข้าใจก่อนจะไปยังประเด็นอื่นๆ ต่อคือ...สำหรับในกรณีนี้

1. เครื่องบินรบเมียนมา บินเข้ามาในน่านฟ้าไทยขณะกำลังปฏิบัติภารกิจในดินแดนของเมียนมาเอง

2. เครื่องบินรบ MIG-29 ของกองทัพเมียนมา ไม่ได้มีการแสดงท่าทีใดๆ ว่าจะเป็นภัยคุกคาม หรือพยายามยั่วยุฝ่ายไทย

อะไรคือเหตุผล :

ภูมิประเทศที่เป็นปัญหา :

พื้นที่ดังกล่าวสำหรับนักบิน ถือว่าเป็นจุดที่ 1. ทำอย่างไรก็ล้ำ 2. แม้ไม่ควรทำแต่ก็ต้องทำ

1. ทำอย่างไรก็ล้ำ : หมายความว่า ไม่ว่าจะบินท่าทางแบบไหน หรือจะบินเข้ามุมไหน เพื่อเข้าโจมตีเป้าหมายมีโอกาสมากกว่า 80% ที่จะล้ำน่านฟ้าไทย เนื่องจากพื้นที่ชายแดนดังกล่าวมีลักษณะเกือกม้ารูปตัวยูเว้าเข้าหาฝั่งไทย และเป้าหมายในการโจมตีอาจจะอยู่ในหลุมตรงช่วงโค้งตัวยูนั้นพอดี

2. แม้ไม่ควรทำแต่ก็ต้องทำ : หมายความว่า แม้ในความเป็นจริงนักบินอาจสามารถควบคุมเครื่องบินไม่ให้บินล้ำน่านฟ้าได้ หากแต่ในขณะที่กำลังปฏิบัติภารกิจ โดยเฉพาะหากเป้าหมายเกิดอยู่บริเวณแนวชายแดนพอดิบพอดีเช่นในกรณีนี้ รวมทั้งหากนักบินได้รับคำสั่งว่าต้องปฏิบัติภารกิจให้สำเร็จลุล่วงลงให้ได้

นักบินซึ่งเคลื่อนด้วยเครื่องบินรบที่มีความเร็วสูง และกำลังใช้สายตาจดจ่อมองลงไปที่พื้นเพื่อค้นหาและโจมตีเป้าหมาย รวมถึงต้องหามุมสำหรับเลี้ยวตีวงเพื่อกลับมาพุ่งปักหัวลงไปโจมตีอีกครั้ง คงให้ความสำคัญกับการควบคุมเครื่องบินไม่ให้รุกล้ำน่านฟ้าประเทศอื่นน้อยกว่าการมุ่งโฟกัสไปที่จะปฏิบัตภารกิจนี้ให้สำเร็จลงได้อย่างไรแน่นอน

*** หมายเหตุ รูปที่ใช้ประกอบเป็นภาพเครื่องบินรบ MIG-29 ของกองทัพรัสเซีย ไม่เกี่ยวข้องกับเหตุการณ์รุกล้ำน่านฟ้าไทย ***
*** หมายเหตุ รูปที่ใช้ประกอบเป็นภาพเครื่องบินรบ MIG-29 ของกองทัพรัสเซีย ไม่เกี่ยวข้องกับเหตุการณ์รุกล้ำน่านฟ้าไทย ***

...

ที่ผ่านมาทหารเมียนมา ใช้เครื่องบินเข้าโจมตีชนกลุ่มน้อยบริเวณตะเข็บสายแดนไทย-พม่ามาแล้วหลายต่อหลายครั้ง เพียงแต่โดยมากมักใช้เครื่องบิน Yak-130 และ เฮลิคอปเตอร์โจมตี ซึ่งลักษณะของเครื่องจะเล็กกว่า แต่สำหรับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นนั้น กองทัพอากาศพม่าใช้เครื่องบินรบ MIG-29 ซึ่งเครื่องใหญ่กว่ากันมากและบินในระดับต่ำขณะท้องฟ้าเปิด จึงทำให้สามารถสังเกตด้วยสายตาได้ชัดเจน

การล้ำน่านฟ้าไทยของ MIG-29 เมียนมา เป็นไปในลักษณะใด :

เนื่องด้วยเป้าหมายอาจจะอยู่บริเวณตีนเขาซึ่งมีมุมหันเข้ามาในประเทศไทย ด้วยเหตุนักบินจึงต้องพยายามค้นหาร่อง หาช่อง หามุม สำหรับทอดตัวเข้าไปโจมตีหรือทิ้งระเบิดเป้าหมาย เพราะหากเข้าไม่ถูกก็จะมองไม่เห็นเป้าหมาย ซึ่งในจังหวะ “เลี้ยวตีวงเพื่อแต่งตัว” ก่อนเข้าโจมตี (Tracking Time) นี้เองที่อาจทำให้เครื่องบิน MIG-29 เกิด “Overshoot” เข้ามาในน่านฟ้าไทย หากแต่มันคงเป็นช่วงระยะเวลาสั้นๆ ไม่น่าจะเกิน 3-5 วินาที เพราะเมื่อเข้าสู่ Tracking Time แล้ว นักบินจะมีเวลาน้อยมากสำหรับการยิงโจมตีเป้าหมายแล้วถอนตัวออก เพื่อหลบเลี่ยงการพุ่งชนพื้นดิน รวมถึงปะทะเข้ากับเศษชิ้นส่วนต่างๆ ที่ถูกยิงทำลายแล้วกระเด็นขึ้นมาใส่เครื่องบิน

เพราะหากใช้เวลามากกว่านั้น แปลว่า "เครื่องบินต้องมีเวลาทอดตัวนาน ซึ่งแสดงว่าต้องใช้ความสูงมาก" แต่ในกรณีของ MIG-29 เมียนมา จะเห็นได้ว่าใช้ความสูงไม่มากนักจนกระทั่งถูกถ่ายคลิปได้

อย่างไรก็ดีในกรณีนี้ อาจมีการการเลี้ยวตีวงเพื่อเข้าโจมตีอีก 1 ครั้ง ทำให้เมื่อรวมๆ กันแล้ว เครื่องบิน MIG-29 ของเมียนมา จึงน่าจะรุกล้ำน่านฟ้าไทยเพียงไม่น่าจะเกิน 5 วินาทีต่อเที่ยวเท่านั้น

...

เส้นทางการบินของ MIG-29 เมียนมา ที่คาดว่า รุกล้ำน่านฟ้าไทย
เส้นทางการบินของ MIG-29 เมียนมา ที่คาดว่า รุกล้ำน่านฟ้าไทย

*** หมายเหตุ Tracking Time สำหรับการโจมตีเป้าหมายในระยะต่ำ เครื่องบินรบจะใช้ความเร็วสูงและมีมุมดำประมาณ 10-15 องศา **

ในมุมกลับกัน หากนักบินเมียนมา เกิดไปบินในลักษณะตั้งฉาก 90 องศาเพื่อเข้าโจมตีเป้าหมายในพื้นที่ดังกล่าว ยังมีโอกาสสูงมากที่กระสุนจากเครื่องบินจะเข้าฝั่งไทยแบบเต็มๆ ด้วยเหตุนี้ นักบินจึงใช้วิธีเข้าทางด้านข้างแล้วเลี้ยวออกไป ซึ่งจะทำให้เกิดผลกระทบกับฝ่ายไทยน้อยกว่าแทน

เส้นทางการบินของ MIG-29 เมียนมา ในกรณีหากบินทำมุม 90 เพื่อปฏิบัติภาระกิจซึ่งอาจกระทบต่อไทย ได้มากกว่า
เส้นทางการบินของ MIG-29 เมียนมา ในกรณีหากบินทำมุม 90 เพื่อปฏิบัติภาระกิจซึ่งอาจกระทบต่อไทย ได้มากกว่า

...

การโจมตีเป้าหมายด้วยปืนกลอากาศ :

อีกหนึ่งเหตุผลที่อาจจะพอสนับสนุนได้ว่า เครื่องบิน MIG-29 ของ เมียนมา รุกล้ำน่านฟ้าไทยเพียงไม่นาน เป็นเพราะการโจมตีเป้าหมายน่าจะใช้ “ปืนกลอากาศประจำเครื่อง” เป็นหลัก เพราะหากมีการทิ้งระเบิดเพื่อโจมตีเป้าหมาย ซึ่งตามมาตรฐานมักเลือกใช้ลูกระเบิดขนาด 500 ปอนด์เป็นอย่างน้อยนั้น ฝั่งไทยน่าจะได้ยินเสียงระเบิดดังสนั่น รวมถึงคงมี เศษชิ้นส่วนความเสียหายต่างๆ ที่ปลิวไปไกลอย่างน้อย 1-2 กิโลเมตรเข้ามายังฝั่งไทยไปแล้ว

โดยการโจมตีเป้าหมายด้วย "จรวด" (ไม่เกิน 50-100 ปอนด์) และ "ปืนกลอากาศ" มักจะกินระยะเวลาเพียงเล็กน้อยเท่านั้น เนื่องจาก เครื่องบินรบ MIG-29 ใช้กระสุนขนาด 30 มิลลิเมตร ซึ่งหากบรรจุมาได้เต็มที่จะอยู่ที่ประมาณ 100 นัด ฉะนั้น การบินวนเพื่อเข้าโจมตีเป้าหมายเพียง 1-2 รอบกระสุนก็น่าจะหมดแล้ว

ส่วนในกรณีเครื่องบินรบเอฟ-16 หรือ เครื่องบินรบส่วนใหญ่ จะมีปืนกลอากาศที่ใช้กระสุนขนาด 20 มิลลิเมตร (กระสุนขนาดเล็กกว่า MIG-29) และบรรจุกระสุนได้เต็มที่ 510 นัด แต่เนื่องจากมีการยิงด้วยอัตราความเร็ว 6,000 นัดต่อนาที หากใช้ยิงเต็มที่เพียงไม่กี่นาทีกระสุนที่บรรจุมาก็หมดลงแล้วเช่นกัน

*** หมายเหตุ โดยเฉลี่ยแล้วเครื่องบินรบเกือบทุกชนิดในโลก จะมีระยะทางบินจากพื้นที่ต้นทางไปถึงบริเวณเป้าหมายและใช้เวลาสำหรับการโจมตีก่อนบินกลับที่ตั้ง ภายในระยะทางไม่เกิน 350 ไมล์ และโดยมากมักจะใช้เวลาสำหรับการปฏิบัติการเฉลี่ยประมาณไม่เกิน 1-2 นาที ต่อภารกิจ และการบินอยู่เหนือยุทธบริเวณ โดยหลักการแล้วไม่ควรอยู่เกิน 2-4 ลำ ***

*** หมายเหตุ รูปที่ใช้ประกอบเป็นภาพเครื่องบินรบ MIG-29 ของกองทัพรัสเซีย ไม่เกี่ยวข้องกับเหตุการณ์รุกล้ำน่านฟ้าไทย ***
*** หมายเหตุ รูปที่ใช้ประกอบเป็นภาพเครื่องบินรบ MIG-29 ของกองทัพรัสเซีย ไม่เกี่ยวข้องกับเหตุการณ์รุกล้ำน่านฟ้าไทย ***

F-16 ไทย MIG-29 พม่า :

เครื่องบินรบทั้งสองรุ่น ถือเป็นเครื่องบินรบที่อยู่ในเจเนเรชันเดียวกัน คือ เป็นเครื่องบินรบเจเนเรชันที่ 3

หากแต่ลำใดจะมีความทันสมัยมากกว่ากันขึ้นอยู่กับการ อัปเกรดระบบเอวิโอนิกส์ (Avionics) ซึ่งในกรณีกองทัพอากาศไทย หากเป็นเครื่องบิน F-16 ฝูงบิน 103 ที่ประจำอยู่ที่กองบิน 1 จ.นครราชสีมา ส่วนใหญ่เจเนเรชันจะใกล้เคียงกับ เครื่องบินรบ MIG-29 ของ กองทัพอากาศพม่า แต่หากเป็นฝูงบินเครื่องบิน F-16 ฝูงบิน 403 ที่ประจำอยู่ที่กองบิน 4 จ.นครสวรรค์ ซึ่งมีการอัปเกรดเป็นส่วนใหญ่แล้ว น่าจะอยู่ในเจเนเรชันที่ 4 - 4.5

การบินลาดตระเวน หรือ ส่งเครื่องบินเข้าสกัด :

สิ่งที่ต้องทำความเข้าใจ คือ ประเทศไทยมีความสัมพันธ์อันดีกับประเทศเมียนมา และปัจจุบันไม่ได้อยู่ในสถานะประเทศคู่สงคราม หรือต้องติดตามและเฝ้าระวังอย่างใกล้ชิด

ด้วยเหตุนี้...การปฏิบัติในฐานะที่เป็นมิตรประเทศที่ดีต่อกัน มันจึงมีความจำเป็นมากแค่ไหน...ที่ต้องถึงขั้นนำเครื่องบินรบออกไปบินสกัด หรือใช้ความรุนแรงจนไปกระทบต่อความสัมพันธ์อันดีระหว่างทั้งสองประเทศ ทั้งๆ ที่ มีช่องทางอื่นๆ ที่สามารถแก้ไขปัญหาเรื่องนี้ได้ โดยเฉพาะวิถีทางทางการทูต เพื่อไม่ให้เกิดปัญหาในลักษณะเช่นนี้อีกในอนาคต เพราะไทยและเมียนมา มิใช่ประเทศคู่สงครามระหว่างกัน

*** หมายเหตุ รูปที่ใช้ประกอบเป็นภาพเครื่องบินรบ MIG-29 ของกองทัพรัสเซีย ไม่เกี่ยวข้องกับเหตุการณ์รุกล้ำน่านฟ้าไทย ***
*** หมายเหตุ รูปที่ใช้ประกอบเป็นภาพเครื่องบินรบ MIG-29 ของกองทัพรัสเซีย ไม่เกี่ยวข้องกับเหตุการณ์รุกล้ำน่านฟ้าไทย ***

ขั้นตอนการ INTERCEPT :

เมื่อสัญญาณเรดาห์ตรวจพบเครื่องบินไม่ปรากฏสัญชาติพิสูจน์ฝ่ายไม่ได้ กำลังบิน Heading point มุ่งตรงเข้ามายังประเทศไทย เมื่อเข้าระยะ 100 ไมล์ จะมีการแจ้งเตือนนักบินที่มีการเข้าเวรเตรียมความพร้อมในทุกวัน (หากสถานการณ์ปกติเช่นในปัจจุบัน จะเข้าเวรตั้งแต่พระอาทิตย์ขึ้นถึงพระอาทิตย์ตกหรือประมาณ 12 ชั่วโมง แต่หากเป็นสถานการณ์ไม่ปกติ หรืออยู่ในภาวะสงครามจะเข้าเวรตลอดทั้งวัน 24 ชั่วโมง) ให้ Standby จากนั้นหากเครื่องบินไม่ปรากฏสัญชาติยังคงตรงเข้ามาในระยะ 50 ไมล์ โดยที่ยังไม่สามารถติดต่อสื่อสารได้ จะมีคำสั่งให้นักบินนำเครื่องขึ้นทันที (โดยมากมักนำขึ้นสองลำ) เพื่อให้เครื่องบินที่เข้าสกัดบินไปถึงเครื่องบินไม่ปรากฏสัญชาติได้ทันตรงแนวชายแดนพอดี

*** หมายเหตุ : โดยปกติสำหรับการเครื่องบินที่เข้าทำการสกัดกั้น สามารถ Takeoff ได้ภายใน 5 นาที หลังได้รับคำสั่งให้ Standby ส่วนเวลาสำหรับการบินเข้าไปหาเป้าหมาย ขึ้นอยู่กับระยะทางที่บินไปหาเป้าหมาย โดยหากใช้อัตราเร่ง 9-10 ไมล์ต่อนาที หากอยู่ห่างประมาณ 100 ไมล์ ก็จะใช้เวลาประมาณ 10 นาที เป็นต้น ***

จากนั้นเมื่อพบเครื่องบินไม่ปรากฏสัญชาติ นักบินที่เข้าสกัดจะดำเนินตามขั้นตอนด้วยการพยายามติดต่อสื่อสารกับเครื่องบินที่ล่วงล้ำเข้ามา รวมทั้งตรวจสอบว่าเครื่องบินไม่ปรากฏสัญชาติติดอาวุธ หรือมีท่าทีที่เป็นภัยคุกคามหรือไม่ โดยลำแรกจะทำหน้าที่ติดต่อสื่อสาร ส่วนอีกลำจะคอยประกบอยู่ด้านหลังเครื่องบินไม่ปรากฏสัญชาติ

กรณีแสดงท่าทีไม่คุกคาม :

โดยหากเป็น กรณี “เครื่องบินรบ แต่ไม่มีการแสดงท่าทีคุกคาม” นักบินที่เข้าสกัดจะพยายามติดต่อผ่านวิทยุสื่อสารเพื่อให้ฝ่ายตรงข้ามนำเครื่องลงในสนามบินที่กำหนด แต่หากไม่สามารถติดต่อผ่านวิทยุสื่อสารได้ นักบินจะวิธีบินเข้าไปประกบใกล้ๆ จากทางด้านข้าง แล้วทำสัญญาณมือด้วยการ “เอามือตบบ่า” ซึ่งเป็นภาษาสากลที่บอกให้ฝ่ายตรงข้ามรู้ว่า “ให้บินเกาะตามฉันมา” จากนั้น จึงใช้ “นิ้วชี้ไปยังสนามบินที่กำหนดไว้” เพื่อให้เครื่องบินที่ทำการรุกล้ำน่านฟ้าบินลงไปยังสนามบินดังกล่าว โดยเครื่องที่ประกบอยู่ด้านหลังจะคอยทำหน้าที่คุ้มกันตลอดเวลาในระหว่างการสื่อสาร

ส่วนหากตรวจสอบแล้วพบว่าเป็น “เครื่องบินโดยสารที่ไม่แสดงท่าท่ีคุกคาม” เครื่องบินทั้งสองลำที่เข้า Intercept จะได้เพียงบินเกาะตามไปเรื่อยๆ พร้อมกับเก็บข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับเครื่องบินโดยสารลำดังกล่าว

กรณีแสดงท่าทีคุกคาม :

ส่วนกรณีที่เป็น “เครื่องบินรบและแสดงท่าทีคุกคาม” เช่น ลดเพดานบินลง, บินพุ่งเข้ากลุ่มเมือง, มีความพยายามใช้อาวุธ หรือพยายามล็อกเป้ายิงใส่เครื่องบินที่เข้าทำการสกัดก่อน, นักบินที่เข้าทำการสกัด “สามารถใช้วิจารณญาณ” ใช้อาวุธได้ แต่หากเกิดความผิดพลาด นักบินจะต้องเป็นผู้รับผิดชอบทั้งหมด

แต่หากเป็นกรณี "เครื่องบินโดยสารแสดงท่าทีคุกคาม" นักบินที่เข้าทำการสกัดสามารถ “ยิงขู่ได้” แต่หากยิงขู่ไปแล้ว เครื่องบินโดยสารลำดังกล่าวยังไม่มีการแสดงท่าทีใดๆ ว่าจะหยุดยั้งการคุกคาม นักบินที่เข้าทำการสกัดกั้นจะขอคำสั่งใช้อาวุธ ซึ่งตามขั้นตอนปกติ อาจเป็นคำสั่งจาก ผู้บัญชาการทหารอากาศ, รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม หรืออาจต้องถึงขั้นผ่านความเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรี 

ทีมข่าวเฉพาะกิจไทยรัฐออนไลน์ รายงาน

กราฟิก : Chonticha Pinijrob

อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง :