ในตอนแรกแล้ว “เรา” ได้พาทุกท่านไปรับฟังทัศนะของ รศ.ดร.สมภพ มานะรังสรรค์ อธิการบดีสถาบันการจัดการปัญญาภิวัฒน์ และนักวิชาการผู้เชี่ยวชาญด้านเศรษฐศาสตร์ของไทย เกี่ยวกับสถานการณ์เศรษฐกิจโลกกันแล้ว สำหรับในตอนที่ 2 นี้ “เรา” จึงได้ให้ รศ.ดร.สมภพ ได้ Q&A ในสิ่งที่บางทีนักลงทุนไทยส่วนใหญ่อยากรู้เพื่อประกอบการตัดสินใจในอนาคต
อ่านเพิ่มเติม : เงินเฟ้อที่ไม่อาจควบคุมได้ ภัยคุกคามเศรษฐกิจโลกที่รอการปลดล็อก
ดอกเบี้ยนโยบายไทย :
“ผมมั่นใจว่าในการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ครั้งต่อไป (10 ส.ค. 65) จะมีการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายจาก 0.50% แน่นอน เพียงแต่จะมากหรือน้อยแค่นั้น”
ในความเป็นจริงแล้วการปรับอัตราดอกเบี้ยนโยบายของ กนง. ไม่ได้มีผลอะไรมากมายในแง่ของปัจจัยพื้นฐานสักเท่าไร เพียงแต่มันจะมีผลในแง่ของจิตวิทยา เพราะจะทำให้นักลงทุนทั้งไทยและต่างประเทศเริ่มรู้สึกว่า กนง. กำลังเริ่มปรับเปลี่ยนนโยบาย และอาจจะนำเงินลงทุนออกไปนอกประเทศน้อยลง
...
“หากไม่มีการบริหารนโยบายการเงินที่ชัดเจน ทันสถานการณ์ และมีความยืดหยุ่นให้มากขึ้น มันจะนำไปสู่การสร้างปัญหาตามมามากมาย ขอให้ได้ทำอะไรบ้าง แล้วก็ไปทำตัวอื่นๆ ที่มันช่วยดูแลเงินเฟ้อ ผ่อนหนักให้เป็นเบา เช่น การบริหารจัดการเรื่องปัจจัย 4 ของประชาชน รวมถึงเรื่องของพลังงาน ซึ่งเป็นที่มาของต้นตอเงินเฟ้อ เพราะการใช้ดอกเบี้ยเพียงอย่างเดียวไม่สามารถแก้ไขเรื่องนี้ได้ มันต้องใช้มาตรการที่หลากหลายมากกว่านี้”
เงินเฟ้อไทย :
“ว่ากันแบบตรงไปตรงมา ผมว่าตอนนี้ เงินเฟ้อไทยซึ่งตอนนี้อยู่ที่ 7.1% เริ่มจะเตลิดไปกันใหญ่แล้วนะ ฉะนั้นหากอัตราดอกเบี้ยนโยบายยังเป็นเช่นนี้ และทำให้เงินบาทอ่อนค่าลงมากขึ้นๆ (อัตราแลกเปลี่ยน ณ วันที่ 23มิ.ย.65 อยู่ที่ 1 ดอลลาร์สหรัฐต่อ 35.43 บาท) โอ้โห หากมันลงไปมากกว่านี้ สัก 10-20% ผมว่าเงินเฟ้อของไทยเราจะวิ่งขึ้นไปมากกว่านี้อีก”
ราคาพลังงานและวัตถุดิบต่างๆ เช่น ปุ๋ย หรือ ข้าวสาลีต่างๆ ในเวลานี้มีราคาแพงมากอยู่แล้ว จะยิ่งถูกค่าเงินบาทที่อ่อนค่าลงซ้ำเติมเข้าไปอีก และเมื่อ 2 ปัจจัยนี้มารวมกัน เงินเฟ้อ ก็ยิ่งควบคุมได้ยากขึ้นไปอีก
“หากถามผมว่า เงินเฟ้อไทยจะพุ่งไปอยู่ที่เท่าไรคงตอบได้ยาก แต่ผมเชื่อว่ามันมีแนวโน้มไปในทิศทางเดียวกับที่กำลังเกิดขึ้นทั่วโลก”
ราคาพลังงานจะปรับลดลงเมื่อไหร่ :
ประเด็นนี้ขึ้นอยู่กับท่าทีของนาโตและสหภาพยุโรป (อียู) โดยหากทั้งนาโตและอียูทำตามที่ขู่ออกมาก่อนหน้านี้จริงๆ 2 เรื่องคือ...1.ภายในปีนี้จะลดทอนการซื้อน้ำมันจากรัสเซียลงมา 90% 2.จะลดการนำเข้าและพึ่งพาก๊าซธรรมชาติจากรัสเซียลงมาอย่างน้อย 2-3 จากการนำเข้าในปัจจุบัน “ราคาพลังงานนอกจากจะไม่มีทางลดลงมาแล้ว ราคาจะพุ่งสูงขึ้นไปอีกอย่างแน่นอน”
“ประเทศในยุโรปใช้น้ำมันวันหนึ่งๆ ประมาณ 14-15 ล้านบาร์เรล หรือปริมาณมากพอๆ กับที่จีนใช้ต่อวัน โดยในจำนวนนี้ ซื้อจากรัสเซียในปริมาณมากถึง 3-4 ล้านบาร์เรลต่อวัน หรือมากถึง 1 ใน 4 ฉะนั้นในเมื่อหากจะไม่ซื้อจากรัสเซียแล้วก็ต้องไปแย่งซื้อจากแหล่งอื่น เช่น ตะวันออกกลาง เอเชียกลาง หรือ แอฟริกาตะวันตก หากเป็นเช่นนั้นแล้ว ราคาน้ำมันจะไม่พุ่งสูงขึ้นไปได้อย่างไร?”
...
หากเป็นเช่นนั้นจริงและในท้ายที่สุดยุโรปสามารถเอาชนะรัสเซียได้จากมาตรการคว่ำบาตรเหล่านั้นได้ คำถามต่อมาคือแล้วราคาน้ำมันที่พุ่งทะยานขึ้นไป "จะไม่สร้างความเดือดร้อนให้กับยุโรปและประเทศอื่นๆ ทั่วโลกหรอกหรือ?"
โดยหากอิงตามการคาดการณ์ของนักวิเคราะห์ เช่น CEO ของ เจ.พี.มอร์แกน คาดการณ์เอาไว้ว่า ราคาน้ำมันจะพุ่งขึ้นไปที่ประมาณ 150-175 ดอลลาร์สหรัฐต่อบาร์เรล, โกลด์แมนแซคส์ คาดว่า น่าจะอยู่ที่ประมาณ 140 ดอลลาร์สหรัฐต่อบาร์เรล, มูดีส์ คาดว่าจะอยู่ที่ 150 ดอลลาร์สหรัฐต่อบาร์เรล ซึ่งราคาน้ำมันที่สูงมากขนาดนี้ จะยิ่งทำให้เงินเฟ้อพุ่งสูงขึ้นไปอีกได้อีกหลายเปอร์เซ็นต์
อ่านเพิ่มเติม : ปมวิกฤติรัสเซีย-ยูเครน EP.10 หากโลกนี้ไม่มีพลังงานจากรัสเซีย
ข้อแนะนำสำหรับนักลงทุน :
...
“ข้อแนะนำสำหรับนักลงทุนในเวลานี้ คือ ดูลาดเลาไปก่อน”
ในความเห็นส่วนตัวคิดว่า สถานการณ์ที่กำลังเกิดขึ้นในเวลานี้ นักลงทุนควรเพิ่มสัดส่วนการเก็บเงินสดไว้กับตัวให้มากขึ้น แล้วค่อยหาจังหวะดีๆ สำหรับการลงทุนต่อไป เพราะโดยส่วนตัวคิดว่า ตลาดเงินตลาดทุนน่าจะเป็น “ขาลงมากกว่าขาขึ้น” โดยที่จะลงมากๆ คือ วอลสตรีท เพราะที่ผ่านมาพุ่งขึ้นไปสูงมาก ฉะนั้นเวลาลงมันก็จะลงแรงหน่อย ส่วนของไทยที่ผ่านมาขึ้นไปไม่มากนัก เวลาลงก็อาจจะลงน้อยลงหน่อย
ข้อแนะนำสำหรับการลงทุน คือ คอยมองหาว่ากลุ่มไหนที่ได้รับประโยชน์จากสถานการณ์ที่กำลังเกิดขึ้นบ้าง “โดยเฉพาะหุ้นกลุ่มไหนที่ได้ประโยชน์จากเงินเฟ้อมากที่สุด”
คริปโตเคอร์เรนซี :
“ในความเห็นส่วนตัวผมน่าเป็นห่วงมากที่สุดและอาจกลายเป็นตัวสร้างปัญหาอีกหนึ่งเรื่อง เพราะในช่วงที่ผ่านมาปล่อยให้มีการเติบโตมากเกินไป”
ก่อนหน้านี้ Market Cap. มีมูลค่าสูงถึง 3 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ แต่ในเวลานี้ลดลงมาฮวบฮาบอยู่ที่ประมาณ 7-8 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐเท่านั้น ในขณะเดียวกัน ยังไปกระทบต่อตลาดเงินตลาดทุนอื่นๆ อีกด้วย เพราะแทบจะไม่มีใครลงทุนในตลาดคริปโตเคอร์เรนซีเพียงอย่างเดียว แต่ลงทุนในตลาดทุนอื่นๆ เช่น ตลาดตราสารหนี้ ตลาดเงินตราต่างประเทศ ไขว้กันไปไขว้กันมาไปหมด ด้วยเหตุนี้มันจึงจะทำให้ คริปโตเคอร์เรนซี กลายเป็นตัวแปรที่จะต้องเผชิญกับปัญหามากกว่าตัวแปรอื่นๆ ในแง่ผลิตภัณฑ์ทางการเงินทั้งหลาย เพราะมีปัจจัยพื้นฐาน (Fundamental) ที่เปราะบางมากกว่า โดยในช่วงที่ผ่านหากสังเกตดูดีๆ การพุ่งขึ้นอย่างหวือหวาของ คริปโตเคอร์เรนซี นั้น เกิดจากการซื้อขายที่อาศัย Technical Factor ล้วนๆ โดยแทบไม่มี ปัจจัยพื้นฐานเข้ามาเกื้อหนุนเลยแม้แต่น้อย ซึ่งแตกต่างจากการลงทุนอื่นๆ ฉะนั้น “เวลาขึ้นสูงมันก็ต้องลงแรงเป็นธรรมดา”
...
“คือถ้ามันลงไปเยอะ แล้วมันเป็นเงินเย็นมันก็คงทำอะไรไม่ได้ เพราะสิ่งเดียวที่ทำได้ก็คือ ต้องรออย่างเดียว ส่วนจะรอนานแค่ไหน ก็คงขึ้นอยู่กับอายุของผู้ถือ (หัวเราะ) แต่หากถามผมว่า ในอนาคตมีโอกาสกลับมาฟื้นหรือไม่ ผมขอตอบแบบนี้แล้วกัน คือ ไม่ว่าอย่างไร คริปโตเคอร์เรนซี ก็คือ อนาคตของโลกต่อไปในภายหน้า”
ทีมข่าวเฉพาะกิจไทยรัฐออนไลน์ รายงาน
อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง :