“โมเดลเปิดประเทศเพื่อการท่องเที่ยวแบบค่อยเป็นค่อยไปของญี่ปุ่น หากพิจารณาดูดีๆ จะพบว่า เป็นวิธีการที่ดีและยังมุ่งเป้าไปที่การช่วยเหลือผู้ประกอบการท่องเที่ยวตัวเล็กตัวน้อยในประเทศเขาให้ค่อยๆลืมตาอ้าปากได้ หลังต้องประสบกับวิกฤติการแพร่ระบาดโควิด-19 มาเป็นเวลานานเกือบ 3 ปี ซึ่งแตกต่างจากโครงการกระตุ้นการท่องเที่ยวของไทย ที่บริษัททัวร์ต่างๆ โดยเฉพาะตัวเล็กตัวน้อยแทบไม่ได้รับอานิสงส์ใดๆ เลย” นายเด่น มหาวงศนันท์ ผู้ช่วยประธานสภาอุตสาหกรรมท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย และหนึ่งในผู้ประกอบการธุรกิจทัวร์ทั้งในประเทศและต่างประเทศ ที่มีประสบการณ์ยาวนานกว่า 20 ปี กล่าวกับทีมข่าวเฉพาะกิจไทยรัฐออนไลน์
...
อ่านข่าวท่ีเกี่ยวข้อง :
อะไรคือโมเดลการท่องเที่ยวแบบญี่ปุ่น :
1. การเข้าไปท่องเที่ยวในประเทศญี่ปุ่นต้องเป็นกรุ๊ปทัวร์ และต้องจองผ่านตัวแทนบริษัทท่องเที่ยวในประเทศญี่ปุ่น (แลนด์โอเปอเรเตอร์) ที่ได้รับการรับรองและเป็นสมาชิกของสมาคมผู้ประกอบการนำเที่ยวญี่ปุ่น (Japan Association of Travel Agents) หรือ JATA เท่านั้น
2. ต้องมี หัวหน้าทัวร์ (Tour Leader) ที่มีความสามารถในการประสานงานกับหน่วยงานและบุคลากรทางการแพทย์ของญี่ปุ่นได้ (พูดภาษาญี่ปุ่นได้) คอยดูแลและกำกับลูกทัวร์ให้ปฏิบัติตามมาตรการเว้นระยะห่างทางสังคมตลอดการเดินทางอย่างเคร่งครัด
3. ห้ามแยกตัวออกจากกรุ๊ปทัวร์เพื่อเดินทางเพียงลำพัง และกรุ๊ปทัวร์ต้องเดินทางตามเส้นทางการเดินทางที่ได้กำหนดไว้แล้วล่วงหน้าแล้วเท่านั้น
อะไรคือความแตกต่างระหว่าง ไทยโมเดลและญี่ปุ่นโมเดล :
“ในภาวะที่การท่องเที่ยวไม่ปกติ รูปแบบการจองทัวร์หรือท่องเที่ยวก็ควรจะไม่ปกติด้วย”
จะเห็นได้ว่า โมเดลการท่องเที่ยวของญี่ปุ่น ที่เปิดให้เฉพาะกรุ๊ปทัวร์และต้องผ่าน แลนด์โอเปอเรเตอร์ที่ได้รับการรับรองและเป็นสมาชิกของ JATA นอกจากจะช่วยบริษัททัวร์ของญี่ปุ่นได้โดยตรงแล้ว ยังเป็นการช่วยคัดกรองเส้นทางท่องเที่ยว แหล่งท่องเที่ยว สถานที่พัก โรงแรม หรือแม้กระทั่งบริษัททัวร์ที่มีมาตรฐาน เพื่อป้องกันบรรดา “เสือหิว” ที่จ้องคอยจะฉวยโอกาสเอารัดเอาเปรียบนักท่องเที่ยว โดยเฉพาะนักท่องเที่ยวต่างชาติไปในตัวด้วย
ในขณะที่มาตรการส่งเสริมการท่องเที่ยวของรัฐบาลไทย เช่น “โครงการไทยเที่ยวไทย” หรือ “โครงการเราเที่ยวด้วยกัน” กลับให้นักท่องเที่ยวติดต่อโดยตรงกับบรรดาผู้ประกอบการโรงแรม เป็นเหตุให้ผู้ประกอบการธุรกิจทัวร์ โดยเฉพาะบริษัทเล็กบริษัทน้อยต่างๆ แทบไม่ได้อานิสงส์ใดๆ จากโครงการดังกล่าวเลย ทั้งๆ ที่บริษัททัวร์ต่างๆ มีความพร้อมและความชำนาญในการเชื่อมโยงไปยังธุรกิจอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องกับการท่องเที่ยว เช่น ธุรกิจเช่ารถ ผู้ประกอบการร้านอาหาร และเส้นทางทัวร์ ได้มากกว่าธุรกิจโรงแรมที่ทั้งขาดแคลนบุคลากรและมีความชำนาญในจุดนี้น้อยกว่าบริษัททัวร์ อันเป็นผลมาจากวิกฤติการแพร่ระบาดโควิด-19 ในช่วงที่ผ่านมา
“Know how ของบุคลากรด้านภาคการบริการและการท่องเที่ยวยังคงมีอยู่ และมีความจำเป็นสำหรับการท่องเที่ยวมันยังไม่ได้อยู่ในภาวะปกติ แต่หลังจากทุกอย่างกลับเข้าสู่ภาวะปกติแล้ว สัก 1-2 ปี จะกลับไปสู่รูปแบบการท่องเที่ยวแบบเดิม มันก็น่าจะไม่มีปัญหาอะไร”
...
ธุรกิจทัวร์ไทยหลังญี่ปุ่นเริ่มเปิดประตู :
ราคาทัวร์ญี่ปุ่นในเวลานี้อยู่ที่ตั้งแต่ 45,000-70,000 บาท สำหรับ การท่องเที่ยวญี่ปุ่น 5 วัน 3 คืน และราคานี้ยังไม่รวมค่าทำวีซ่าอีกประมาณ 3,000 บาท ทั้งนี้เนื่องจากค่าตั๋วเครื่องบินมีการปรับตัวสูงขึ้นมาก โดยเฉพาะหากไปจะไปเที่ยวฮอกไกโด เพราะปัจจุบันการบินไทยยกเลิกเที่ยวบินตรงไปที่สนามบินชิโตเสะแล้ว ต้องบินไปลงที่สนามบินนาริตะ หรือสนามบินฮาเนดะ ก่อนจะขึ้นเครื่องต่อไปฮอกไกโดอีกที ซึ่งแน่นอนว่าทำให้ราคาทัวร์ย่อมต้องสูงขึ้นกว่าเดิมแน่นอน
โดยมากตอนนี้ลูกค้าจะเข้ามาถามข้อมูลและราคาทัวร์ แต่ยังไม่ได้ติดต่อเพื่อขอซื้อทัวร์อย่างจริงจังมากนัก ทำให้ลูกค้าที่จะเดินทางไปญี่ปุ่นเวลานี้ส่วนใหญ่จะเป็นกรุ๊ปบริษัทที่ยังค้างลูกค้า เรื่องให้ผลตอบแทนเป็นรางวัลการท่องเที่ยว ทำให้ในภาพรวมแล้วต้องถือว่าทัวร์ญี่ปุ่นรอบใหม่นี้ยังไม่คึกคักมากเท่าที่ควร
กระตุ้นการท่องเที่ยวไทยต้องเริ่มตั้งแต่ติดกระดุมเม็ดแรกให้ถูก :
...
“หากรัฐบาลคิดจะกระตุ้นภาคการท่องเที่ยวจริงๆ ไตรมาส 3 หรือไตรมาส 4 ปีนี้ ประกาศเลยมาตรการทัวร์คนละครึ่ง จองผ่านบริษัททัวร์เท่านั้น ครึ่งราคาทุกเส้นทาง”
แม้ว่ารัฐบาลจะประกาศว่าพร้อมให้ความช่วยเหลือบรรดาผู้ประกอบกิจการทัวร์ในประเทศ โดยเฉพาะการให้เงินกู้ดอกเบี้ยต่ำ (Soft loan) แต่เท่าที่ได้ตรวจสอบกับบรรดาสมาชิกสมาคมธุรกิจท่องเที่ยวภายในประเทศ พบว่า "ไม่มีบริษัททัวร์ใดสามารถเข้าถึง เงินกู้ดอกเบี้ยต่ำ ที่ว่านี้ได้เลยแม้แต่บริษัทเดียว" นั่นเป็นเพราะภายใต้ “มาตรการอันเข้มงวด” ของ ธนาคารแห่งประเทศไทย ที่ต้องมีการยื่นบัญชีงบดุล จะต้องไม่ติดเครดิตบูโร และอื่นๆ อีกมากมาย คำถามคือ 3 ปีที่ผ่านมา บริษัททัวร์โดยเฉพาะที่เป็นเพียง SME และแทบจะไม่มีรายได้เลยมายาวนาน บริษัทเหล่านี้จะสามารถอยู่ภายใต้เงื่อนไขดังกล่าวของแบงก์ชาติได้อย่างไร?
“ตอนนี้ดูเหมือนรัฐบาล หรือแม้กระทั่ง ททท. แทบจะไม่มีความคิดจะให้ความช่วยเหลือผู้ประกอบการท่องเที่ยวไทยอย่างจริงจังเลย คือเหมือนจะให้เราฟื้นตัวกันเอง หรือ ปล่อยให้ตายกันไปเอง ซึ่งหากเป็นแบบนั้นจริง คำถามคือแล้วต่อไปกรมการท่องเที่ยวจะทำงานกับใคร?”
ฉะนั้น หากรัฐบาลยังไม่ใส่ใจที่จะเข้ามาให้ความช่วยเหลือคนเหล่านี้อย่างจริงจัง ในยามที่มีการเปิดประเทศเพื่อต้อนรับนักท่องเที่ยวต่างชาติอย่างจริงจัง ภาคการท่องเที่ยวของไทยซึ่งในอดีตสามารถสร้างรายได้ให้กับประเทศได้อย่างมหาศาลในลำดับต้นๆ จะมีความพร้อมมากน้อยแค่ไหน “สำหรับการเปิดรับและรักษามาตรฐานการให้บริการนักท่องเที่ยวต่างชาติ”
“หากลองสังเกตดีๆ ปัจจุบันแม้จะเข้าพักในโรงแรมระดับ 4-5 ดาวของไทย คำถามคือ การบริการของพนักงานยังเป็นมาตรฐานระดับ 4-5 ดาวอยู่หรือไม่? นั่นเป็นเพราะผู้ประกอบการต่างพยายามเซฟค่าใช้จ่าย โดยการจ้างพนักงานใหม่ๆ ที่ไม่มีประสบการณ์มากนักมาให้บริการลูกค้า หรือบางแห่งที่ไม่มีสายป่านยาวมากนัก ก็ถึงกับต้องว่าจ้างพนักงานเป็นรายวัน เพื่อมารับแขกในช่วงวันหยุดยาวบ้างก็มี และยิ่งกับอาชีพมัคคุเทศก์นี่แทบไม่ต้องพูดถึง หลายคนเปลี่ยนไปทำอาชีพอื่นกันเกือบหมดแล้ว
...
ฉะนั้น หากรัฐบาลยังคงไม่พยายามรักษาการจ้างงาน แรงงานภาคการบริการ เช่นที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน เมื่อเปิดรับการท่องเที่ยวแบบเต็มรูปแบบแล้ว ประเทศไทยจะมีความพร้อมในการตั้งรับนักท่องเที่ยวต่างชาติได้มากน้อยแค่ไหน เพราะคนที่จะทำงานภาคการบริการได้นั้น ต้องอาศัยการฝึกฝนหลายปีกว่าจะมีความพร้อมมากพอ
วันนี้เราจึงควรต้องเริ่มติดกระดุมเม็ดแรกให้กับอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวไทยให้ถูกต้อง ก่อนที่จะเปิดรับการท่องเที่ยวอย่างเต็มรูปแบบอีกครั้ง ไม่ใช่ปล่อยให้ภาคเอกชนทำกันไปตามมีตามเกิดเช่นที่กำลังเป็นอยู่ในปัจจุบัน ตรงไหนที่ยังไม่ถูกต้อง ก็ควรแก้ไขข้อบังคับ หรือผ่อนคลายข้อบังคับต่างๆ ให้สมเหตุสมผลบ้าง”
ความล้มเหลวในการสื่อสารเพื่อกระตุ้นการท่องเที่ยวไทย :
ส่วนตัวอยากให้รัฐบาลเร่งปรับปรุงการสื่อสาร และควรมี Single message ที่ชัดเจนมากกว่านี้ในการสื่อสารกับภาคส่วนต่างๆ ของการท่องเที่ยวไทย เพราะก่อนหน้านี้มีความไม่ชัดเจนในหลายๆ ประเด็น จนทำให้ผู้ประกอบการเกิดความสับสนต่อมาตรการต่างๆ ของรัฐบาล
“ก่อนหน้านี้เราเจอทั้งจังหวัดนี้เปิด จังหวัดนี้ไม่เปิด จังหวัดนี้ต้องสวมหน้ากากอนามัย จังหวัดนี้ไม่ต้องสวม โรงแรมนี้ต้องตรวจ ATK ก่อน โรงแรมนี้ไม่ต้อง เจอไปแบบนี้ บริษัททัวร์ก็ทำงานลำบาก เพราะบางทีวางเส้นทางท่องเที่ยวไว้ 4-5 จังหวัด และขายลูกค้าไปแล้ว แต่พอไปถึงที่พักบางจังหวัดกลับต้องเจอมาตรการที่ไม่ตรงกับที่แจ้งลูกค้าไว้ก่อนหน้านี้ ทุกอย่างมันจึงดูสับสนอลหม่านไปหมด”
กระตุ้นภาคการท่องเที่ยวเป็นวาระแห่งชาติ :
ถึงเวลาแล้วที่รัฐบาลควรกำหนดให้ การกระตุ้นภาคการท่องเที่ยวเป็นวาระแห่งชาติ เพราะ 3 ปีที่ผ่านมาต้องยอมรับว่าบรรดาผู้ประกอบกิจการทัวร์ต่างๆ ในประเทศไทย ล้มหายตายจากกันไปมากพอสมควร โดยเท่าที่ทราบจากเดิมที่เคยมีมากกว่า 10,000 บริษัท ปัจจุบันน่าจะเหลือไม่ถึง 7,000 บริษัทแล้ว ในขณะที่บุคลากรด้านการท่องเที่ยวของไทยเองก็ต้องตกงาน และหันไปประกอบอาชีพอื่นกันเกือบหมดแล้ว
นอกจากนี้ในแง่ของ “โอกาส” ต้องถือว่า 3 ปีที่ผ่านมา สถานที่ท่องเที่ยวทางธรรมชาติหลายแห่งของไทยสามารถฟื้นฟูตัวเองจนกลับมาสวยงาม และน่าจะมีเสน่ห์เรียกนักท่องเที่ยวต่างชาติให้เข้ามาท่องเที่ยวในประเทศได้มากขึ้นด้วย
ฉะนั้น หากรัฐบาลริเริ่มพัฒนาแหล่งท่องเที่ยว และออกมาตรการสนับสนุนภาคการท่องเที่ยวไทยทั้งหมด เพื่อรองรับ BCG Economy (Bio-Circular-Green Economy) ซึ่งเป็นโมเดลเศรษฐกิจสู่การพัฒนาแบบยั่งยืนให้มีความเป็นรูปธรรม บางทีอาจเป็น “จุดเปลี่ยนสำคัญ” สำหรับการ “Jump Start” ภาคการท่องเที่ยวไทยครั้งใหม่ได้ทั้งระบบก็เป็นได้.
ทีมข่าวเฉพาะกิจไทยรัฐออนไลน์ รายงาน
อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง :