เป็นที่ทราบกันดีแล้วว่า ต่อไปนี้ การใช้ “กัญชา” ไม่ว่าจะสูบ หรือ ครอบครอง หรือจำหน่าย ถือเป็นเรื่อง “ไม่ผิดกฎหมาย” แล้ว แต่...ก็ยังมีข้อยกเว้น หลายๆ เรื่อง ที่ยังเป็นเรื่องผิดกฎหมายอยู่ อาทิ แม้สูบกัญชาในที่สาธารณะ จะไม่มีกฎหมายเอาผิด แต่ หากรบกวนสิทธิคนอื่น มีโทษปรับ 25,000 บาท หรือ จำคุก 3 เดือน (พ.ร.บ.สาธารณสุข 2535) แต่หากเป็นสารสกัด ไม่เกิน 0.2% ไม่ต้องขออนุญาต แต่ถ้าเกินกว่านั้น ก็ยังจำเป็นต้องมีใบอนุญาต
ในด้านคุณประโยชน์ “กัญชา” เอง อาจจะมีส่วนช่วยแก้ปัญหากับโรคต่างๆ หลายโรค แต่ ในทาง “พิษภัย” ก็ยังปฏิเสธไม่ได้...
วันนี้ ทีมข่าวเฉพาะกิจไทยรัฐออนไลน์ จึงอยากจะขอย้ำเตือนเรื่อง “โทษ” ของ “กัญชา” ที่หากใครคิดจะลอง ไม่ว่าจะเป็น “สายกิน” หรือ “สายควัน” ก็ต้องทำความเข้าใจให้ดีก่อน
สายบริโภค “กัญชา” ประกอบอาหาร ต้องระวัง!
...
รศ.พญ.รัศมน กัลยาศิริ ผู้อำนวยการศูนย์ศึกษาปัญหาการเสพติด (ศศก.) กล่าวกับทีมข่าวเฉพาะกิจไทยรัฐออนไลน์ว่า การจะนำกัญชา มาประกอบอาหาร สิ่งต้องห้าม คือ การนำส่วนช่อ และดอก มาใช้ เพราะมีสาร THC อยู่มาก เพราะอาจจะทำให้มึนเมา ได้ ฉะนั้น หากจะนำมาใช้ประกอบอาหาร ก็ให้ใช้ในส่วนของใบมาใช้ และหากยึดตามประกาศคำแนะนำ ก็ให้ใช้เพียง 1 ใบ ต่อเมนู เท่านั้น ซึ่งการใช้เพียงเท่านั้น ถือเป็นการใช้อย่างเหมาะสม และ “อาจจะ” ไม่ส่งผลอะไรกับร่างกาย
คำว่า “อาจจะ” ในที่นี้ ผอ.ศูนย์ศึกษาปัญหายาเสพติด ขยายความมว่า ร่างกายของแต่ละคนมีความแตกต่างกัน บางคนมีความ “เปราะบาง” เมื่อกินเข้าไปแล้ว อาจจะเกิดอาการมึนๆ เมาๆ เพราะคนๆ นั้นไม่เคยรับประทาน หรือ รับสารเหล่านี้มาก่อน โดยเฉพาะกลุ่มเด็กอายุต่ำกว่า 18 ปี ในบางประเทศ กำหนดไว้ อายุ 18 ปี 21 ปี หรือ 25 ปี ด้วย ถึงจะใช้กัญชาได้ หากจะให้แนะนำจริงๆ ถ้าไม่จำเป็น ก็ไม่ควรใช้ แต่ถ้าจำเป็นก็ขอให้หลังอายุ 25 ปี ดีกว่า
สาร THC ในกัญชา จะส่งผลมาก กับคนอายุน้อย...
รศ.พญ.รัศมน อธิบายว่า สาเหตุที่เป็นเช่นนั้น เพราะ ความเสี่ยงจากสาร THC จะมีผลเป็นอย่างมาก หากมีการเริ่มใช้งานตอนอายุยังน้อย...และสตรีมีครรภ์
กลุ่มสตรีมีครรภ์ จากการศึกษาในต่างประเทศ พบว่า เริ่มมีการใช้สารจากกัญชามากขึ้น ผลที่ตามมา คือ เด็กที่อยู่ในครรภ์อาจจะได้รับสารจากกัญชาไปด้วย โดยเด็กในครรภ์สมองยังไม่เติบโต และหากสาร THC ซึ่งเป็นสารที่ส่งผลต่อ จิตประสาท ก็มีความกังวลว่าอาจจะส่งไปถึงตัวเด็กด้วย
กลุ่มที่มีโรคประจำตัว : บางคนมียารักษาโรคอยู่แล้ว ฉะนั้น จึงจำเป็นต้องตรวจสอบว่า สารในกัญชา มีผลไปถึงยาที่ใช้รักษาตัวหรือไม่
สายควัน : สูบกัญชา หรือ ผสมกับบุหรี่
ผอ.ศูนย์ศึกษาปัญหาการเสพติด ระบุว่า ที่ผ่านมา มีคนนำบุหรี่กับกัญชาไปผสมกันแล้วนำมาสูบ
ฤทธิ์ของกัญชา เมื่อสูบเข้าไปแล้ว จะมีอาการเคลิ้มๆ ในขณะที่บุหรี่ จะมีฤทธิ์กระตุ้น ซึ่งบุหรี่เองก็มีสารมากมายอยู่แล้ว แล้วนำกัญชามาผสมด้วย เรียกว่า การผสมสารต่างๆ มาก ก็ยิ่งมีความเสี่ยงที่จะทำให้เกิดการติดและเกิดโรค
ผลกระทบจากการสูบกัญชา
สำหรับการสูบกัญชา จะแบ่งผลกระทบออกเป็น 2 ด้าน คือ ระยะสั้น และระยะยาว...
...
ผลกระทบระยะสั้น
- เกิดอาการมึนเมา
- ดวามดันโลหิตลดลง (ในบางคน) จนเกิดอาการเป็นลม
- ใจสั่น
- ตาแดงก่ำ
- การเคลื่อนไหว และการตัดสินใจช้าลง
ผลกระทบระยะยาว
- เกิดการเสพติด
- ป่วยเป็นจิตเภท หลอน ระแวง
- ส่งผลต่อระบบอวัยวะสืบพันธุ์ ฮอร์โมนเพศชายลดลง
จากการทำวิจัยพบว่า ผู้ที่สูบกัญชา ที่ส่งผลกระทบต่อร่างกายในระยะยาว จะมีอยู่ราว 8% อาจจะเกิดการเสพติด กลายเป็นผู้ป่วยโรคจิต หูแว่ว หลอน ระแวง ซึ่งเมื่อเป็นแล้ว ก็ยากต่อการรักษา กลายเป็นภาระของครอบครัว ซึ่งการเสพกัญชามากๆ ถือเป็นการเพิ่มความเสี่ยงเหล่านี้... นอกจากอาการทางจิตแล้ว จากการศึกษาวิจัยก็พบว่าอาจจะส่งผลต่อระบบอวัยวะสืบพันธุ์ ฮอร์โมนเพศชายลดลง
“หากเสพกัญชาตั้งแต่เด็ก ก็อาจจะส่งผลต่อสมอง และกระทบไปถึงผลการเรียน”
แสดงว่า การเสพกัญชามากๆ ก็อาจจะทำให้เป็นบ้า ตามที่ชาวบ้านพูดกันได้ รศ.พญ.รัศมน รับว่าเป็นไปได้ แต่มันอยู่ที่ประมาณ 8% เทียบง่ายๆ ก็คือ 1 ใน 10 ซึ่งที่ผ่านมา คนที่เคยใช้อาจจะไม่ค่อยเจอกัน แต่จากการศึกษาภาพรวมก็พบว่าสามารถเกิดขึ้นได้..
เมื่อถามว่า 8% ที่มีโอกาสป่วยทางจิต เกิดขึ้นจากปัจจัยใด ผอ.ศูนย์ศึกษาปัญหาการเสพติด อธิบายว่า คนที่จะป่วยหรือไม่ป่วย ขึ้นอยู่กับพันธุกรรมด้วย บางคนมี “ปัจจัยภายใน” ที่เรียกว่า “ความเปราะบาง” ซึ่งเป็นสิ่งที่เกิดกับ “เมแทบอลิซึม” หรือ การเกิดปฏิกิริยาทางเคมีในสิ่งมีชีวิต ซึ่งรวมไปถึง “สมอง” ของคนเราก็มีตัวรับสารและจิตประสาทไม่เหมือนกัน โดยรวมจึงเรียกว่าเป็น “พันธุกรรม” ความแตกต่างทางชีวภาพของแต่ละคนที่ไม่เหมือนกัน... เช่น บางคนใช้กัญชาเพียงเล็กน้อยก็เกิดอาการแล้ว แต่บางคนกลับไม่มีอาการใดๆ เป็นต้น
...
นอกจากนี้ ยังไม่รวม “ปัจจัยภายนอก” คือ ระยะเวลา และ ปริมาณที่ใช้ เช่น ใช้ปริมาณกัญชาจำนวนมาก ในระยะเวลายาวนาน รวมถึงเริ่มใช้ตั้งแต่อายุยังน้อย ทั้งหมดล้วนเป็นปัจจัยที่ทำให้เกิดอาการป่วยตามมาได้
หากกลายเป็น ผู้ป่วยทางจิต จากฤทธิ์กัญชา มีทางรักษาไหม คุณหมอรัศมน บอกว่ามี 2 ประเภท
1. หยุดใช้กัญชา อาการป่วยก็จะดีขึ้น
2. จิตเภท (Schizophrenia) คนที่เป็นโรคนี้อยู่แล้ว การเสพกัญชาจะไปเพิ่มความเสี่ยงให้เกิดอาการป่วยมากขึ้น โรคนี้เป็นโรคน่ากลัว เพราะจะมีอาการเรื้อรัง จำเป็นต้องใช้ยารักษาระยะยาว และอาการแต่ละคนแตกต่างกัน ทางเดียวที่จะช่วยได้ คือ ต้องรีบมารักษาตัวกับแพทย์ และต้องหยุดกัญชา
เมื่อถามว่า สำหรับคนที่ป่วยอาการทางสมอง เช่น แพนิก หรือ ซึมเศร้า จะมีผลอย่างไร ผู้อำนวยการศูนย์ศึกษาปัญหาการเสพติด กล่าวว่า เป็นสิ่งที่ต้องระมัดระวังมากๆ เพราะที่ผ่านมา พบว่ามีคนที่ป่วยโรคซึมเศร้า พยายามจะมาขอตัวยาจากกัญชาเพื่อรักษา ซึ่งถือเป็นเรื่องอันตราย การใช้กัญชา อาจจะทำให้เกิดอาการซึมเศร้ามากขึ้น นอกจากนี้ ยังไปสัมพันธ์กับสถิติ “การฆ่าตัวตาย” ด้วย หากมีการใช้กัญชาตั้งแต่วัยเด็ก
...
"ที่ผ่านมา “องค์กรวิชาชีพทางการแพทย์” ได้ออกมาแนะนำว่า ยังไม่ควรใช้ “กัญชา” ในการรักษาโรคทางจิตเวช ถึงแม้จากรายงานบางตัว จะระบุว่า มีการทดลองสกัดสาร CDC จากกัญชามา ใช้ รักษาอาการวิตกกังวล และซึมเศร้า แต่ผลที่ออกมา ยังไม่มีความชัดเจนว่า รักษาโรคเหล่านี้ได้ ดังนั้น ที่ผ่านมา คนจึงเข้าใจผิดว่าให้ใช้กัญชา ที่มีสาร THC สูงๆ จึงเป็นเรื่องที่ไม่แนะนำให้ทำ แม้ตอนใช้แรกๆ จะทำให้เคลิบเคลิ้มเหมือนจะดีขึ้น แต่ในระยะยาว อาจจะทำให้อาการของโรคทรุดลงได้"
สิ่งที่น่ากังวลที่สุด สำหรับคนไทย ในการใช้กัญชา
คุณหมอยอมรับว่า ห่วงเรื่องการเข้าถึง “กัญชา” ที่ทำได้ง่ายขึ้นมาก อีกทั้งยังเป็นห่วงเรื่องการควบคุม เนื่องจากไม่มีความผิดแล้ว ก็อาจจะส่งผลให้บุคคลบางกลุ่มที่อยากใช้งานอยู่แล้ว หันมาใช้มากขึ้น
นอกจากนี้ ยังกลัวเรื่องการ “เข้าใจผิด” โดยเฉพาะคนป่วยซึมเศร้า เกรงว่าจะนำมาทดลองใช้ เพราะมีการโฆษณาว่า ใช้แล้วอารมณ์ดี มีความสุข ซึ่งหากซื้อผลิตภัณฑ์ที่มีการตรวจสอบคุณภาพ ก็ยังไม่เท่าไร แต่กลัวว่าจะหามาเอง หรือ สูบกัญชา
สายบริโภคกับสายควัน ห่วงสายไหนมากกว่า กัน คุณหมอรัศมน ยอมรับว่าห่วงทั้ง 2 สาย แต่สายบริโภคจะมีการดูดซึมจะช้ากว่า ซึ่งบางคนกินเข้าไปแล้ว ไม่มีอาการอะไรก็กินเข้าไปอีกจนเยอะ ซึ่งตรงนี้ต้องระวัง
ขณะที่สายสูบ ก็ต้องระวัง โดยเฉพาะการนำสารสกัดไปทำบุหรี่ไฟฟ้า ซึ่งตอนนี้ยังเป็นสิ่งผิดกฎหมาย และการสูบด้วยวิธีการนี้อาจจะส่งผลให้เกิดการระคายเคืองปอด มีโอกาสที่จะทำให้ปอดพังได้
แต่ห่วงที่สุด คือ การนำกัญชา มาปรับใช้เอง โดยรู้เท่าไม่ถึงการณ์ ตรงนี้จะอันตราย อีกทั้งเวลานี้ ยังไม่มีการควบคุมที่ชัดเจน...
ทีมข่าวเฉพาะกิจไทยรัฐออนไลน์
อ่านสกู๊ปที่น่าสนใจ