เปิดมุมคิดกุนซือผู้กำหนดยุทธศาสตร์การหาเสียง และมันสมองที่นำไปสู่ชัยชนะแบบแลนด์สไลด์ในศึกเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม. ความศรัทธาและความเชื่อมั่น กรุงเทพฯ ที่เป็นขาวและดำ และเพราะอะไรประเทศไทยต้องมีแค่สองขั้ว ทั้งหมดนี้คือกรอบการกำหนดยุทธศาสตร์ของ ผศ.ดร.เกษรา ธัญลักษณ์ภาคย์ หรือ ดร.ยุ้ย กรรมการผู้จัดการบริษัท เสนาดีเวลลอปเม้นท์ จำกัด (มหาชน) ในฐานะทีมนโยบายที่ผลักดันให้ ชัชชาติ สิทธิพันธุ์ เดินหน้าเข้าสู่ทำเนียบเสาชิงช้าได้ในที่สุด

ผศ.ดร.เกษรา ธัญลักษณ์ภาคย์ หรือ ดร.ยุ้ย กรรมการผู้จัดการบริษัท เสนาดีเวลลอปเม้นท์ จำกัด (มหาชน)
ผศ.ดร.เกษรา ธัญลักษณ์ภาคย์ หรือ ดร.ยุ้ย กรรมการผู้จัดการบริษัท เสนาดีเวลลอปเม้นท์ จำกัด (มหาชน)

Part1 ผู้ชายชื่อชัชชาติ สิทธิพันธ์ุ ผู้ว่าฯ กทม.คนใหม่

...

การร่วมงานที่เริ่มต้นจากความศรัทธา :

“คุณชัชชาติ สิทธิพันธุ์ คือ คนที่เริ่มต้นวิ่งมาราธอน โดยไม่รู้ว่าจะเริ่มมีการแข่งขันได้เมื่อไหร่ ซึ่งสิ่งนี้ทำให้พี่รู้สึกทึ่งกับความแน่วแน่และเต็มเปี่ยมไปด้วยความมุ่งมั่นตั้งใจจริงมากๆ”

คุณชัชชาติเริ่มต้นการลงพื้นที่ทำงาน ตั้งแต่ก่อนจะมีการประกาศว่าจะมีการเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม. ร่วม 2 ปี และเป็นการทำงานทุกวัน ในแบบไม่รู้จุดหมายว่าอาจจะมี หรือ ไม่มีการเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม. ก็เป็นได้ แต่คุณชัชชาติก็ยังคงทำงานของตัวเองต่อไป ซึ่งคนที่จะทำอะไรแบบนี้ได้ ต้องมีความมุ่งมั่นและตั้งใจอย่างถึงที่สุดเท่านั้น จึงจะสามารถทำอะไรแบบนี้ได้

มิติที่เห็นปัญหาของกรุงเทพฯ คือ ความขาว และดำ :

ความเหลื่อมล้ำในกรุงเทพฯ แบ่งออกเป็น 4 ประเด็นใหญ่ๆ คือ ความเหลื่อมล้ำเชิงรายได้, ความเหลื่อมล้ำเชิงความมั่นคง, ความเหลื่อมล้ำเชิงการเข้าถึงการศึกษา และความเหลื่อมล้ำเชิงการเข้าถึงระบบบริการด้านสาธารณสุข หากแต่ 2 ประเด็นแรกคือ ความเหลื่อมล้ำเชิงรายได้ และความเหลื่อมล้ำเชิงความมั่นคง ต้นสายปลายเหตุมันมีจุดเริ่มต้นมาจาก...ความเหลื่อมล้ำเชิงการเข้าถึงการศึกษา และความเหลื่อมล้ำเชิงการเข้าถึงระบบบริการด้านสาธารณสุข

เคยมีคนพูดว่า กรุงเทพฯ คือเมืองที่ดีของคนรวยเพียงอย่างเดียว และบางทีนั่นอาจคือ ภาพสะท้อนของความเหลื่อมล้ำอันมากมายมหาศาล ซึ่งความเหลื่อมล้ำที่ว่านี้ ภาพที่ส่วนตัวมองเห็นมันไม่ได้มาจาก “ความขยัน” หรือ “ความขี้เกียจ”

แต่มันมาจาก “การเริ่มต้นออกวิ่งในจุด Start ที่ไม่เท่ากัน” บางคนยังไม่ทันเริ่มวิ่งก็อยู่ใกล้เส้นชัยแล้ว ในขณะที่บางคนตอนเริ่มวิ่งอยู่ห่างไกลจาก จุด Start หลายกิโลเมตร ซึ่งแบบนี้ต่อให้ขยันเท่ากัน สองคนนี้ก็จะใช้ระยะเวลาในการเข้าสู่เส้นชัยแตกต่างกันมากๆ

ดังนั้น การแก้ไขความเหลื่อมล้ำ จึงต้องแก้มาเสียตั้งแต่ “จุดเริ่มต้น” ด้วยการทำให้ “ทุกคน” มีโอกาสสำหรับการเข้าสู่เส้นชัยที่ใกล้เคียงกันให้ได้มากที่สุด นั่นคือ การเข้าถึง “การศึกษาและระบบบริการสาธารณสุข” เพื่อให้เกิดผลต่อเนื่องในการ “หารายได้และความมั่งคั่ง” ต่อไปในอนาคต

อำนาจผู้ว่าฯ กทม. กับ การแก้ไขปัญหา :

ต้องแยกเรื่องนี้เป็น 2 ประเด็น คือ 1.อำนาจที่ผู้ว่าฯ กทม.มีและสามารถทำได้เลย 2.ผู้ว่าฯ กทม.ต้องประสานองค์กรอื่นๆ ในการขับเคลื่อนการทำงาน

“ผู้ว่าฯ กทม. จึงไม่ควรเริ่มต้นจากวิธีคิดที่ว่า อะไรก็แล้วแต่ที่ไม่ได้อยู่ในอำนาจของผู้ว่าฯ กทม. ก็จะไม่ทำ แต่ควรเริ่มต้นวิธีคิดจากที่ว่า คนกรุงเทพฯ มีปัญหาอะไร แล้วจะทำอย่างไรเพื่อให้กรุงเทพฯ น่าอยู่สำหรับพวกเขา จากนั้นจึงค่อยๆ นำมาประมวลผลและค้นวิธีการสำหรับมาแก้ไขปัญหาต่างๆ เหล่านั้นมากกว่า”

...

ยกตัวอย่างเช่น การแก้ไขเรื่องความเหลื่อมล้ำด้านการศึกษา ในความเห็นส่วนตัวมองว่า อำนาจของผู้ว่าฯ กทม.สามารถทำได้ เพราะมีโรงเรียนในสังกัด กทม.ที่คอยโอบอุ้มให้กับชาวชุมชนแออัดอยู่แล้ว เพียงแต่...คำถามในตอนนี้ คือ แม้ว่าจะเรียนฟรี แต่สิ่งที่เรียน สามารถ “เทียบทัน” กับความเปลี่ยนแปลงของโลกได้หรือไม่?

“กรุงเทพฯ คือเมืองท่องเที่ยวอันดับหนึ่งของโลก แต่โรงเรียนในสังกัด กทม. ที่สอน 2-3 ภาษา กลับมีเพียงไม่ถึง 30% เท่านั้น”

แม้ว่าการเปลี่ยนแปลงหลักสูตรการเรียนการสอน อาจเกินกว่าอำนาจของผู้ว่าฯ กทม. สามารถทำได้ เพราะอย่างไรก็ยังมีกระทรวงศึกษาธิการครอบอยู่ แต่มันก็ไม่ใช่ว่า “จะเริ่มต้นไม่ได้” เพียงแต่มันต้องค่อยๆ เริ่มทำทีละขั้นตอนอย่างเป็นระบบ เพื่อนำไปสู่การแก้ไขปัญหาอย่างยั่งยืนต่อไป

Part2 ยุทธศาสตร์และการแข่งขันการเมือง

การแข่งขันทางการเมืองในมุมมองของ ผศ.ดร.เกษรา :

“โจทย์เราไม่ได้อยู่ที่จะชนะใคร แต่โจทย์เราอยู่ที่ทำอะไรให้กับประชาชนในแบบที่เราอยากทำ จะต้องทำอะไรบ้าง”

...

โจทย์ที่ได้รับจากคุณชัชชาติมาตั้งแต่แรก คือ จะทำอย่างไรให้กรุงเทพมหานครเป็นเมืองน่าอยู่สำหรับคนทุกคน และโจทย์นี้ไม่เคยเปลี่ยน แม้ว่าจะเริ่มปรากฏตัวคู่แข่งขันในสนามศึกเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม.ก็ตาม ดังนั้นไม่ว่าใครจะประกาศท่าที หรือนโยบายอย่างไร จึงไม่มีผลประทบต่อการเดินไปตามโจทย์ที่ได้ตั้งเอาไว้ตั้งแต่แรก

สิ่งที่คุณชัชชาติทำ โดยเฉพาะในช่วงโค้งสุดท้ายการหาเสียง คือ ไม่โต้ตอบ เพียงแต่มีหน้าที่อธิบายว่าสิ่งที่คนอื่นพูดมามันคืออะไร และโซเชียลมีเดียมีส่วนช่วยอย่างมากในแง่การนำคำอธิบายเหล่านี้ให้เข้าถึงกลุ่มคนต่างๆ ได้มากขึ้น

“คุณชัชชาติบอกพี่ว่า มันเหมือนการวิ่งมาราธอนแล้วจับเวลา ก่อนหน้านี้เราอาจเคยวิ่งได้ 2 ชั่วโมง แต่ตอนนี้เราอยากได้ 1 ชั่วโมงครึ่ง โดยที่ไม่ต้องไปพยายามเปรียบเทียบการวิ่งของคนอื่นๆ”

ทำอย่างไรให้คนอายุ 56 ปี POP สำหรับ New Voter :

“วิธีการในการทำกลยุทธ์ คือ การแยกกลุ่มเพื่อจะตอบคำถามให้ได้กับทุกคนจริงๆ”

อย่างที่บอกโจทย์ที่มาคือ การทำให้กับคนทุกคน เพียงแต่คนทุกคนที่ว่านี้เราได้มีการแยกออกเป็นกลุ่มต่างๆ เช่น กลุ่มวัยรุ่น กลุ่มวัยทำงาน หรือกลุ่มผู้สูงอายุ จากนั้นจึงค่อยกลับมาดูว่าแต่ละกลุ่มมีอะไรบ้างที่รู้สึกว่ากรุงเทพฯ ยังเป็นความท้าทาย ยังไม่ใช่คำว่าน่าอยู่สำหรับพวกเขา จากนั้นจึงค่อยๆ หาทางแก้ และเมื่อมี Solution ออกมา ทางทีมงานจึงได้มีการสื่อสารออกไป

อย่างไรก็ดีกลยุทธ์เหล่านี้จะไม่มีทางสำเร็จได้อย่างแน่นอน หากปราศจากการแสดงออกถึงความแน่วแน่และตั้งใจจริงของคุณชัชชาติ จนกระทั่งได้รับความเชื่อถือจากประชาชน เพราะทุกคนย่อมสามารถพูดได้ว่าจะทำอะไร แต่ประชาชนจะเชื่อหรือไม่ว่าจะทำได้จริง นั่นต่างหากคือสิ่งที่สำคัญยิ่งกว่า

...

กลยุทธ์สลายขั้วเพื่อรวมความเป็นหนึ่ง :

“ทำไมเราต้องคิดว่า มันมีแค่สองขั้วในโลกนี้กันล่ะ?”

ในความเห็นส่วนตัวคิดว่า คนเราส่วนใหญ่มักชอบที่จะเลือกอยู่ “ตรงกลาง” มากกว่า ซึ่งมีเรื่องหนึ่งที่อยากแชร์ และคิดว่าน่าจะใกล้เคียงกับเรื่องนี้ คือ จากประสบการณ์ในการขายคอนโดมิเนียม พบว่า ระหว่างชั้นที่ 1-8 คนส่วนใหญ่อาจคิดว่าชั้นที่ 8 น่าจะขายดีที่สุด แต่ในความเป็นจริงคือ ชั้นที่อยู่ตรงกลางๆ คือชั้นที่ 4-5 กลับได้รับความนิยมมากที่สุด นั่นเป็นเพราะคนที่ยังไม่เคยอยู่คอนโดมิเนียมมักคิดว่า การเลือกอยู่ชั้นสูงสุด หรือต่ำที่สุด อาจจะต้องพบกับปัญหาโน่นนี่นั่น จึงมักจะเลือกที่จะอยู่ตรงชั้นกลางๆ ที่คิดว่าปลอดภัยที่สุดเอาไว้ก่อน ซึ่งคนไทยส่วนใหญ่มักมีหลักคิดแบบนี้ คือเหมือนกับว่า พอไม่แน่ใจอะไรบางอย่างแล้ว ก็จะพยายามเลือกอะไรที่อยู่ตรงกลางเอาไว้ก่อน ซึ่งมันก็ไม่ใช่เรื่องที่ผิดอะไร

“จริงๆ มันก็สอดคล้องกับสิ่งที่เรากำลังเจอในเวลานี้นะ คือพอมันเป็นคนละขั้วมากๆแล้วมัน Going nowhere ทำให้พอคุณชัชชาติออกมา มันจึงกลายเป็นทางเลือกที่คนกำลังต้องการพอดี”

4 ปีสำหรับการทำงาน และ 214 นโยบายที่หาเสียงไว้ :

“หากพิจารณาดีๆ 200 กว่านโยบายบางส่วนเป็น Action Plan อยู่แล้ว”

214 นโยบายไม่ได้มากมายอะไรเลยหากเทียบกับความต้องการของชาวกรุงเทพมหานคร รวมถึงโจทย์ที่เราตั้งไว้ คือ กรุงเทพฯ คือเมืองที่น่าอยู่สำหรับคนทุกคน และเรื่องที่จะต้องลงมือทำจริงๆ มันก็ไม่ได้เยอะมากมายอะไรขนาดนั้น อีกทั้งการที่บางส่วนเป็น Action Plan ที่มีการลงรายละเอียดเอาไว้ตั้งแต่แรก มันจึงสามารถทำได้ทันทีอยู่แล้ว ส่วนที่เป็นแนวคิดก็แยกออกไปว่าจะไปลงรายละเอียดอย่างไรต่อ

“พี่ไม่ได้คิดว่านโยบายที่เราคิดไว้ทั้งหมด คือคำว่า จบภายใน 4 ปี หรือไม่จบนะ เพราะพี่คิดว่ามันคือจุดเริ่มต้นที่ต้องมีการทำอย่างต่อเนื่องและปรับปรุงให้ดีย่ิงๆ ขึ้นเรื่อยๆ แม้บางอย่างอาจจะไม่สมบูรณ์แบบ 100% แต่อย่างน้อยก็ขอให้เริ่มไปทิศทางนั้น”

ดร.ยุ้ย กับ ตำแหน่งรองผู้ว่าฯ กทม. :

“พี่ว่ามีคนที่เก่งและเหมาะสมกว่าพี่มากๆ สำหรับการทำงานในหน้าที่รองผู้ว่าฯ กทม.”

เรื่องนี้ความเห็นส่วนตัวมองว่า ตัวเองน่าจะเหมาะกับการคิดยุทธศาสตร์และผลักดันนโยบายทั้ง 214 ข้อ ที่คิดมาให้บรรลุเป้าหมายที่วางไว้มากกว่า.

ทีมข่าวเฉพาะกิจไทยรัฐออนไลน์ รายงาน

อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง :