“ต้องยอมรับความจริงว่า ไม่ว่าใคร มาเป็น ผู้ว่าฯ กทม. ก็แก้ปัญหาน้ำท่วมไม่ได้ เพราะไม่ว่าจะทำอะไร น้ำก็ท่วม!”
ผู้ที่เสียงดังหนักแน่นข้างต้น คือรศ.ดร.เสรี ศุภราทิตย์ ผอ.ศูนย์การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและภัยพิบัติ ม.รังสิต กล่าวกับทีมข่าวเฉพาะกิจไทยรัฐออนไลน์ กับแนวทางแก้ปัญหาน้ำท่วม ที่กำลังฝากไปถึง นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ว่าที่ ผู้ว่าฯ กทม. คนใหม่ ที่เพิ่งชนะคู่แข่งอย่างขาดลอย เหลือเพียงการรับรองผล จาก กกต.
ก่อนจะไปคำตอบว่าเพราะเหตุใด กทม. ถึงแก้น้ำท่วมไม่ได้ ก็ต้องรู้ถึงรากของปัญหาเสียก่อน เนื่องจาก มีน้ำ 3 ประเภท เข้าถล่มเมืองหลวง ประกอบด้วย
1. น้ำฝนที่ตกหนัก หากตกเกิน 100 มิลลิเมตร/ชั่วโมง ก็เกิดน้ำท่วมรอระบาย
2. น้ำเหนือไหลบ่าเข้ามาทางคลอง เหมือนปี 2554
3. น้ำทะเลหนุนสูง ในบางช่วงเวลา (เดือนตุลาคม และพฤศจิกายน)
เมื่อรู้เหตุผลของ 3 น้ำถล่มกรุงแล้ว ก็มาเข้าคำตอบว่า เพราะอะไร ผู้ว่าฯ กทม. ถึงแก้น้ำท่วมไม่ได้ อาจารย์เสรีพูดแบบนั้น ได้อธิบายว่า ปกติการออกแบบระบบป้องกันน้ำท่วม จะต้องตั้งเป้าการรองรับน้ำฝนก่อน ซึ่งระบบป้องกันน้ำท่วม กทม. ในสมัยก่อน กว่า 50 ปี มีการออกแบบไว้ รองรับได้ 60 มิลลิเมตร/ชั่วโมง แต่ปัจจุบัน ฝนตก 120 มิลลิเมตร/ชั่วโมง ดังนั้น คนที่จะมาเป็นผู้ว่าฯ กทม. ต้องยอมรับความจริงว่า ระบบป้องกันน้ำท่วม “ใช้ไม่ได้แล้ว”
...
ถามว่า... เราต้องแก้ปัญหาด้วยการออกแบบ ให้รองรับได้มากๆ จะดีไหม คำตอบของคำถามนี้ คือ ได้ แต่...มันแลกมากับ ค่าบำรุงรักษาที่แพงลิ่ว ยิงรองรับสูง ก็ยิ่งบำรุงรักษาแพง สมมติว่า ถ้าออกแบบไว้ 200 มิลลิเมตร/ชั่วโมง ค่าใช้จ่ายในการบำรุงรักษาต่อปี อาจจะเป็นเงิน หลายล้านล้านบาท!
คำถามคือ...เราจะเอาเงินที่ไหนมาทำขนาดนั้น แล้วถ้าทำแล้ว ไม่ค่อยได้เจอฝนแบบนั้น ถามว่าจะคุ้มไหม
ฉะนั้น สิ่งที่ต้องยอมรับคือ เราอาจจะยอมรับว่า กทม. เกิดน้ำท่วมได้ แต่จากน้ำท่วม 50 ซม. เหลือ 10-15 ซม. และระบายหมดภายใน 30 นาที หลังฝนตก เชื่อว่าทำได้ขนาดนี้คนเมืองกรุงก็แฮปปี้แล้ว...
แล้วทำยังไงล่ะ....
รศ.ดร.เสรี แนะนำว่าที่ผู้ว่าฯ กทม. คนใหม่ ว่า สิ่งที่ต้องทำประกอบด้วย
1. ปรับปรุงระบบท่อใต้ดิน โดยเฉพาะในพื้นที่เสี่ยงของ กทม. ซึ่งสำนักระบายน้ำในกรุงเทพฯ รู้ดีว่าที่ไหนบ้าง สิ่งที่ต้องทำคือ ต้องปรับระบบท่อให้ระบายได้ 120 มิลลิเมตร/ชั่วโมง จะด้วยเทคโนโลยีแบบใดก็ตาม อาทิ Pipe Jacking ก็ต้องทำ
2. สร้างบ่อพักน้ำ หรือเปิดทางน้ำเข้าระบบท่อมากขึ้น เพื่อให้น้ำลงไปในระบบท่อ ซึ่งปัจจุบันมีน้อยมาก ทำให้น้ำคาอยู่ เป็นเหตุให้น้ำท่วมสูง
“ต้นทาง คือ เปิดทางน้ำ สร้างบ่อพักน้ำ กลางทาง คือ ปรับปรุงท่อระบายให้ใหญ่ขึ้น และปลายทาง เมื่อไปถึงอุโมงค์ยักษ์ ก็ไม่ต้องทำอะไรแล้ว เพราะอุโมงค์ก็ทำหน้าที่ของมัน นี่คือเรื่องเร่งด่วนที่ผู้ว่าฯ สามารถเข้ามาทำได้ หากทำได้ ก็สามารถประกาศได้เลยว่า น้ำจะท่วมขังไม่เกิน กี่นาที (แล้วแต่ท่านผู้ว่าฯ จะไปศึกษาข้อมูลก่อนประกาศเป็นนโยบายให้ประชาชน) หลังฝนหยุด ระดับน้ำที่ล้นอยู่ จะไม่เข้าไปท่วมในระบบจอดรถใต้ดิน”
ส่วนแผนในอนาคต คือ การสร้างพื้นที่ “หน่วงน้ำ” เพราะหากฝนตกหนัก ก็เป็นไปได้ที่อาจจะรับน้ำจำนวนมากไม่พอ เพราะพื้นที่ถนนในกรุงเทพฯ มีเพียง 7% ของพื้นที่ทั้งหมดของ กทม. 1,500 ตารางกิโลเมตร การจะใช้พื้นที่ 7% มารองรับน้ำจากพื้นที่ทั้งหมด อาจจะไม่เพียงพอ
ฉะนั้น แต่ละพื้นที่ในกรุงเทพฯ จำเป็นต้องมีพื้นที่ “หน่วงน้ำ” โดยต้องออกกฎหมาย สำหรับประชาชนรายใดมีพื้นที่ครอบครองเกินกี่ไร่ (ต้องหาข้อกำหนด คาดว่าต้องเป็นเอกชนรายใหญ่) ให้มีถังเก็บน้ำใต้ดินขนาดใหญ่ เพื่อหน่วงน้ำอย่างต่ำได้ 4 ชั่วโมง
...
ตัวอย่างประเทศสิงคโปร์ ถ้าเอกชนรายใดมีพื้นที่ มากกว่า 2,000 ตร.ม. จะต้องมีระบบหน่วงน้ำ 4 ชั่วโมง หากเป็นแบบนี้ก็จะสามารถช่วยแก้ปัญหาในอนาคตได้ ซึ่งเอกชนรายใดที่ทำตรงนี้ กทม. อาจจะยื่นข้อเสนอในการลดภาษี
“แนวคิดนี้ก็เหมือนเป็น “แก้มลิง” แต่...เป็นแก้มลิงที่ภาคเอกชนลงทุน โดยได้รับการสนับสนุนจากรัฐบาล โดยเอาการทำตรงนี้ไปลดหย่อนภาษี”
เชื่อว่า ถ้าทำ 2 ขั้นตอนนี้ ภายใน 4 ปี จะช่วยแก้ปัญหาน้ำท่วมได้
“ที่ผ่านมา ผู้ว่าฯ กทม. ใช้กำลังเยอะมาก ทำงานหนักมาก แต่ผลลัพธ์ไม่ได้ เพราะต้องแก้ปัญหาด้วยใช้เครื่องสูบน้ำเยอะ แต่การแก้ปัญหาด้วยการปรับเปลี่ยน ทำให้น้ำไหลไปเองบ้าง โดยเราต้องปรับให้มันไหลสัก 80% ใช้กำลังในพื้นที่ต่ำอีก 20% ซึ่งการทำบ่อพัก มันก็ถือว่าช่วยได้ ซึ่งหากทำได้ ปัญหามันก็ทุเลาลงเป็นระบบ” ดร.เสรี กล่าว
ในเบื้องต้น อาจจะทดลองด้วยการทำจำลอง ในกรุงเทพฯ ในคอมพิวเตอร์ออกมาก่อน แบบให้เห็นจุดเสี่ยง ทุกจุด จากนั้นลองนำฝนมาใส่ลงไปในจุดเสี่ยง สัก 120 มิลลิเมตร/ชั่วโมง ซึ่งเราก็จะเห็นผลเลยว่า จะเกิดน้ำท่วมกี่เซนติเมตร
...
หากมีการทดลอง เปลี่ยนระบบท่อ บ่อพัก ดู แล้วท่านจะเห็นเลยว่าน้ำท่วมลดลงภายในกี่นาที ซึ่งการสร้างแบบจำลอง และทดลองนี้ ใช้เวลาเพียง 1 เดือนก็น่าจะทราบแล้ว
สำหรับเรื่องงบประมาณ ต้องลองคิดคำนวณในการแก้ปัญหาแต่ละจุดออกมาก่อน แต่ละจุดใช้งบเท่าไร ภายในกี่เดือนเสร็จ ค่อยๆ ไล่ไปตามจุดต่างๆ ซึ่งหากทำสำเร็จเป็นตัวอย่างเพียงจุดเดียว คนกรุงเทพฯ ก็ให้การยอมรับแล้ว
เมื่อถามว่า ระยะเวลาในการระบายน้ำ ในเหตุน้ำท่วม อาจารย์เสรี บอกว่า โดยทั่วไปเขาไม่มีระยะเวลามาตรฐาน แต่มันขึ้นอยู่กับจำนวนเครื่องสูบน้ำ และระบบตามธรรมชาติ ตามแรงโน้มถ่วง ถ้าไปตามแรงโน้มถ่วงได้ 80% น้ำที่จะค้างก็น้อยลง
“แต่หากทำได้ ใช้เวลา 30 นาที ในการระบายน้ำจนแห้งหลังฝนตก ถือว่าเก่งมาก แต่ ณ เวลานี้ ส่วนใหญ่จะใช้เวลา 2-3 ชั่วโมง สาเหตุเพราะน้ำไม่มีที่ให้ไป...จึงหวังแค่ใช้เครื่องสูบน้ำอย่างเดียว ซึ่งหากมีอุปกรณ์เยอะ ค่าบำรุงรักษาก็เยอะตาม”
ทำไมปัญหาน้ำท่วมซ้ำซาก ที่ผ่านมาถึงแก้ไม่ได้ ดร.เสรี ชี้ว่า ไม่รู้ว่าผู้ว่าฯ แต่ละคนเป็นอย่างไร แต่ที่ผ่านมา ก็หวังพึ่งแต่ปั๊มน้ำ... เลยไม่ได้แก้ปัญหาที่ราก แต่ถามว่า ผู้ว่าฯ ทุกคนรู้ไหม คำตอบคือ รู้ ว่ามีปัญหาด้านโครงสร้างการระบายน้ำ แต่...การจะทำอะไรแต่ละที เช่น การขุดถนน จะส่งผลต่อการจราจร
“แต่เดี๋ยวนี้ มีวิธีแก้ปัญหา ด้วยการทำระบบปิด ซึ่งเวลานี้ถนนบางแห่งกำลังทำอยู่ แต่เชื่อว่าหลังจากนี้ เชื่อว่าคนใหม่จะมาทำแน่ เพราะดูแล้วหลายคนมีพื้นฐานเรื่องนี้”
...
2. ปัญหาน้ำเหนือถล่มเมือง
ดร.เสรี กล่าวถึงปัญหาน้ำเหนือ ว่าเป็นปัญหาใหญ่กว่า ปัญหาฝนตกหนัก น้ำท่วมขัง เพราะปัญหาน้ำหลาก ส่วนมากจะเกิดน้ำท่วมใหญ่ทุก 10 ปี แน่นอน ว่าเกินอายุการทำงานของผู้ว่าฯ แต่มันจำเป็นต้องวางรากฐาน เพราะหากปล่อยไป ผังเมืองก็ยิ่งเปลี่ยน ยิ่งจะทำงานยากขึ้น
คำถามคือ ถ้าเจอน้ำหลากแบบปี 2554 กทม. รับได้แค่ไหน ดร.เสรี กล่าวว่า ปีนั้น รับได้ถึงคลองบางเขน และคราวนั้นก็สู้ด้วยปั๊ม แต่...ถ้าเราเจออีกครั้งแบบปี 2554 คราวนี้จะสู้ไม่ได้แล้ว และคิดว่าจะทะลุมาถึง อนุสาวรีย์ชัยฯ เพราะทุกคนมีการก่อสร้าง ทุกคนจะป้องกันพื้นที่ตนเอง น้ำก็จะถูกส่งไปในที่ต่ำ นั่นคือ “แม่น้ำ” น้ำในแม่น้ำก็ยกสูงขึ้น กลายเป็นว่าก็จะเกิดน้ำท่วมอย่างมโหฬาร
ผู้ว่าฯ ก็ต้องทำการบ้าน ประเมินว่า น้ำที่จะมาจาก ปทุมธานี นครปฐม ฉะเชิงเทรา สามารถรับได้เท่าไร ปัญหาคือว่า เมื่อเกิดน้ำหลาก สิ่งที่ กทม. ทำ คือ ปิดประตูน้ำก่อน ซึ่งการทำแบบนี้จะส่งผลให้เกิดความขัดแย้งในชุมชน ฉะนั้น สิ่งที่ผู้ว่าฯ กทม. ต้องทำ คือ ต้องเป็นผู้ประสานสิบทิศ ต้องไปคุยกับ ผู้ว่าฯ จังหวัดอื่นๆ
“เป็นไปได้ ท่านควรจะประกาศเลยว่า หากเกิดน้ำหลาก จะเปิดประตูน้ำ เท่าที่รับได้ ซึ่งท่านต้องประเมินความสามารถในการรับน้ำแต่ละคลองรับได้แค่ไหน...”
เมื่อ ดร.เสรี พูดถึงตรงนี้ ก็ตั้งคำถามย้อนศรมาว่า ท่านเคยเห็นผู้ว่าฯ กทม. ไปคุยกับ ผู้ว่าฯ ชัยนาท วางแผนน้ำท่วมไหม คำตอบ คือ ไม่เคย ฉะนั้น จึงต้องมีความร่วมมือกัน ตัดสินใจร่วมกัน
รศ.ดร.เสรี เน้นคำว่า “ตัดสินใจร่วมกัน” ก่อนจะกล่าวต่อว่า หาก ปทุมธานี นนทบุรี อยุธยา สร้างคันกั้นน้ำแบบกรุงเทพฯ ที่ยาว 77 กิโลเมตร คนกรุงเทพฯ ก็ต้องยกคันกั้นน้ำสูงขึ้นอีก 1.4 เมตร ซึ่งเวลานี้คันกั้นน้ำสูง 2.5 เมตร ต้องยกขึ้นไปเป็น 3.9 เมตร แบบนี้คนที่อยู่ริมน้ำจะยอมไหม...ทัศนียภาพ แม่น้ำเจ้าพระยาจะเป็นอย่างไร
ปัญหาคือ ผู้ว่าฯ ไม่ไปประชุมกับ ผู้ว่าราชการจังหวัด ที่อยู่เหนือน้ำหรือไม่ คนปทุมธานี นครปฐมฯ อยากได้คันกั้นน้ำไหม คำตอบ คือ อยากได้แบบ กทม. ฉะนั้น สิ่งที่ผู้ว่าฯ กทม. คนใหม่ต้องทำ คือ ต้องไปร่วมประชุมกับผู้ว่าฯ จังหวัดเหล่านี้ เพื่อร่วมตัดสินใจในการทำโครงการต่างๆ ต้องมีส่วนร่วม ไม่ควรตัดสินใจทำอะไรโดยลำพัง
“เพราะหากจังหวัดอื่นๆ สร้างคันกั้นน้ำจริง จังหวัดที่อยู่ในพื้นที่ต่ำจะลำบากที่สุด โดยเฉพาะจังหวัดสมุทรปราการ โดยกรุงเทพฯ ก็โดนด้วย”
3. ปัญหาน้ำทะเลหนุน ปัญหาหนักหน่วงที่สุด ก่อความขัดแย้ง!
เมื่อกล่าวถึง 2 ปัญหาใหญ่ น้ำฝน น้ำหลาก ไปแล้ว ก็มาถึงคิวน้ำหนุน ซึ่ง รศ.ดร.เสรี ยอมรับว่าเป็นปัญหามากที่สุด เพราะอาจต้องใช้เวลาแก้ปัญหานานที่สุด
“น้ำหนุน ถือเป็นเรื่องใหญ่ และอาจจะเกิดขึ้นในอีก 30 ปีข้างหน้า แต่สำหรับผู้ว่าฯ ที่มีอายุเพียง 4 ปี เขาอาจจะมองว่านี่ไม่ใช่ปัญหาใหญ่ของเขา แต่...คนที่จะเข้ามาแก้ปัญหา ต้องมี “วิสัยทัศน์” อย่างมาก หากมองต่างประเทศ การทำโครงการแบบนี้ ใช้ระยะเวลา 20-30 ปี อาทิ ญี่ปุ่น สิงคโปร์ หรือเกาหลีใต้ ที่เพิ่งทำเสร็จ
สมมติว่าเรากำลังสร้างคัน เป็นถนนปิดอ่าว เหมือนกับเป็นการยกถนนสุขุมวิท เพื่อป้องกันน้ำเข้ากรุงเทพฯ หากแต่เวลาฝนตกหนัก น้ำท่วมถนนสุขุมวิท หากจะให้ยกคันกั้นน้ำขึ้นอีก 1 เมตร เพื่อป้องกันน้ำดันเข้า กทม. ถามว่า คนที่อยู่นอกคันกั้นน้ำ อย่างปากน้ำ สมุทรปราการ จะยอมไหม จะเป็นอย่างไร... ซึ่งปากน้ำมีฟาร์มจระเข้เยอะเสียด้วย
การยกคันกั้นน้ำให้สูงขึ้นอีก อาจจะก่อความขัดแย้ง ฉะนั้น ด้วยเหตุนี้อีก จึงทำให้เกิดการฟ้องร้องกัน ซึ่งเรื่องแบบนี้เป็นกันทั่วโลก ฉะนั้น เขาถึงใช้เวลาก่อสร้างนานถึง 20-30 ปี
“เรื่องนี้ผู้ว่าฯ ต้องเริ่มคิด หรือจะไม่ต้องทำเองก็ได้ ให้เอกชน ทำสร้างเป็นถนนปิดอ่าว เป็นทางด่วน จากพัทยา มาชะอำ แล้วสร้างประตูน้ำปิดกั้นน้ำทะเล... การก่อสร้างใช้เวลาไม่เท่าไรหรอก แต่จะเริ่มก่อสร้าง ใช้เวลาทะเลาะกัน คนที่มีบ้านอยู่ริมทะเลจะยังไง คนที่ทำประมงชายฝั่ง จะอย่างไร
อย่างไรก็ตาม ในประเด็นนี้ รศ.ดร.เสรี มองว่า ในที่สุด กทม. ก็ต้องทำ เพราะมีผู้เชี่ยวชาญระดับโลกเตือนมาแล้วว่า ถ้าไม่ตัดสินใจตอนนี้ก็จะสายไปแล้ว คนที่มาเป็น ผู้ว่าฯ ต้องวางรากฐาน และคิดถึงอนาคต อย่างน้อยๆ ต้องศึกษาไว้เป็นแบบ แล้วผู้ว่าฯ คนถัดมาก็อาจจะต้องรับช่วงต่อไป...
ทีมข่าวเฉพาะกิจไทยรัฐออนไลน์ รายงาน
อ่านสกู๊ปที่น่าสนใจ