ถึงแม้ตัวเลขผู้ป่วยโควิด-19 จะเริ่มลดลงอย่างต่อเนื่อง อาการของโรคจะไม่ร้ายแรงเหมือนปีก่อนๆ แต่โควิด-19 ก็กำลังสร้างผลกระทบใหญ่หลวงให้กับสาธารณสุขของไทย ทำไมถึงเป็นเช่นนั้น... คำตอบของคำถามนี้คือ เพราะคนไทยบริจาคเลือดน้อยลง นั่นเอง และเวลานี้อยู่ภาวะ “ขาดแคลน” ถึงเข้าขั้นวิกฤติแล้ว...

ทีมข่าวเฉพาะกิจไทยรัฐออนไลน์ มีโอกาสได้พูดคุยกับ น.ส.ปิยนันท์ คุ้มครอง ผู้ช่วย ผอ.ด้านจัดหาโลหิต และภาพลักษณ์องค์กร ศูนย์บริการโลหิต สภากาชาดไทย เปิดเผยว่า สภาวะขาดแคลนเลือดในเวลานี้ ถือเป็นภาวะเดียวกันที่เจอทั่วโลก! เพราะศูนย์บริการโลหิตเรา มีประชุมกับนานาชาติตลอดเวลา ทำให้เรารู้ว่าทั่วโลกก็อยู่ในสภาวะเดียวกัน เฉกเช่น เดียวกับประเทศสหรัฐฯ เจอวิกฤติไม่ต่างกัน

ผอ.ด้านจัดหาโลหิต สภากาชาด อธิบายว่า สภากาชาดได้รับภารกิจจากรัฐบาลให้บริหารจัดการเลือกทั่วประเทศ โดย โรงพยาบาลต่างๆ ทั่วประเทศที่ขึ้นตรงกับกระทรวงสาธารณสุข ทบวงมหาวิทยาลัย หรือ กทม. มีสิทธิ์ที่จะรับบริจาคโลหิต และใช้ในโรงพยาบาลของตนเอง โดยไม่มีสิทธิจ่ายเลือดให้โรงพยาบาลอื่น (จ่ายเลือดโดยมีค่าใช้จ่าย) แต่มีการเบิกและยืม โดยนำเลือดจากสภากาชาด แล้วนำไปใช้คืนอีกโรงพยาบาลได้

...

จากวันละ 2 แสนยูนิต เหลือ 1.6 แสนยูนิต เหตุโควิดระบาด ได้เลือดบริจาคลดลง

หากย้อนกลับไปปี 2562 จะมีการรับบริจาคเลือดได้ประมาณ 200,000 ยูนิต/เดือน แต่ ณ ปัจจุบัน ปี 2565 ได้รับบริจาคเฉลี่ย 160,000 ยูนิต/เดือน เลือดที่หายไป เดือนละ 60,000 ยูนิต ถามว่าพอใช้หรือไม่ บอกเลย “ไม่เพียงพอเลย”

นี่คือภาพรวมทั้งประเทศ...ดังนั้น เราจึงเห็นภาพโรงพยาบาลหลายๆ แห่ง ออกประกาศว่า “ขาดแคลน” และเชิญชวนให้บริจาค ถามว่า สิ่งที่เกิดขึ้นสภากาชาด...ทำอะไรได้บ้าง... น.ส.ปิยนันท์ เผยว่า กาชาดทำได้เพียงเชิญชวนประชาชนมาร่วมบริจาคที่สภากาชาดทั่วประเทศ โดยท่านสามารถบริจาคได้ ตรงจุดที่รับใกล้บ้าน โดยสามารถทำได้ 2 วิธี 1. ออกหน่วยไปยังสถานที่ต่างๆ และ 2. รับบริจาคถึงที่ ซึ่งวิธีการนี้ จะเลือกใช้เฉพาะในส่วนเลือดที่หายาก เช่น เลือด Rh-

สำหรับสาเหตุที่ได้เลือดน้อยลง เพราะเวลานี้การออกหน่วยเคลื่อนที่ทำได้ยาก จากปัญหาโควิดระบาด เมื่อไปหน่วยงานราชการ หรือเอกชน ก็ได้น้อยลง เพราะปัจจุบันมีการ Work From Home กันมากขึ้น บางบริษัทมีคนมาทำงาน 20-30% เท่านั้น

“โดยเฉพาะโรงงานอุตสาหกรรม ไม่สามารถรับบริจาคได้เลย เนื่องจากหากพบมีการติดโควิดเมื่อไหร่ เขาจำเป็นต้องหยุดการผลิต ส่งผลกระทบเสียหายมากกว่า อีกส่วนหนึ่งที่ได้คือ ประมาณ 25% ได้มาจากสถาบันการศึกษา ปัจจุบัน ไม่มีสถาบันไหนจะให้ออกไปรับบริจาคเลย เกือบทุกที่ ยังมีระบบการเรียนออนไลน์ น้อยมากที่จะเรียนออนไซต์”

นอกจากนี้ บางคนจะเคยติดโควิด ก็ยังไม่สามารถบริจาคได้ทันที หรือคนที่ฉีดวัคซีนก็ต้องเว้นวรรคเพิ่มอีก 7-14 วัน

“ยืนยันว่า โควิด ไม่ถ่ายทอดทางเลือด เพราะโควิดก็เหมือนหวัด แต่เราก็มีมาตรการ ใครที่ติดโควิด ก็ขอให้เว้นการบริจาคเลือด 28 วัน เนื่องจากเป็นโรคอุบัติใหม่ เพราะหวังว่าจะได้โรคที่ปลอดภัยสูงสุด ส่วนคนฉีดวัคซีนโควิดมา ก็ต้องงด 7-14 วัน ซึ่งเหล่านี้ล้วนเป็นข้อจำกัดที่เกิดขึ้น”

สถิติเบิกเลือด วันละ 9,000 ยูนิต แต่จ่ายได้เพียง 36%

น.ส.ปิยนันท์ กล่าวว่า สำหรับการเบิกเลือดใช้ช่วยชีวิต ปัจจุบันพบว่าการเบิกเลือดมาใช้สูงมาก โดยขอเบิกเฉลี่ยวันละ 9,000 ยูนิต แต่จ่ายได้เพียง 36% (ประมาณ 3,240 ยูนิต) เท่านั้น เรียกว่าน้อยกว่าปี 2563-2564 ซึ่งสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 รุนแรงกว่า ด้วยซ้ำ

จากเหตุปัจจัยดังกล่าว ทำให้เลือดที่ได้จากทุกมิติ...ลดลงทั้งหมด ถือเป็นสถานการณ์ที่รุนแรงที่สุดแล้ว หากเราไม่มี “เลือด” ส่งให้ทางโรงพยาบาล โรงพยาบาลก็จำเป็นต้องเลื่อนการผ่าตัด

ผอ.ด้านจัดหาโลหิต สภากาชาด อธิบายว่า ปริมาณเลือดที่ใช้ส่วนใหญ่ หมดไปกับการช่วยเหลือผู้ป่วยอุบัติเหตุ รองลงมาก็ผู้ป่วยโรคเลือดต่างๆ อาทิ ธาลัสซีเมีย, ฮีโมฟีเลีย คนกลุ่มนี้มีความจำเป็นต้องให้เลือดตลอดชีวิต ฉะนั้น การจัดสรรเลือด ของสภากาชาด จึงมีความจำเป็นต้องให้เลือดกับคนกลุ่มนี้ก่อน รองลงมาก็จะกรณีผ่าตัด ไม่เร่งด่วน

กรณี “อุบัติเหตุ” กับ “ผู้ป่วยโรคเลือด” จะขาดเลือดไม่ได้ โดยเฉพาะอุบัติเหตุ จำเป็นต้องให้เลือดไปเรื่อยๆ จนกว่าอาการจะทุเรา ความดันเลือดเป็นปกติ บางเคสใช้เลือด 20-30 ถุงก็มี ส่วนผู้ป่วยโรคเลือด บางคนใช้เดือนละ 1-3 ถุง ขึ้นอยู่กับความรุนแรงของโรค

...

“ผู้ป่วยกลุ่มโรคเลือด ถือว่าน่าเห็นใจ เพราะหากเมื่อใดที่ไม่มีเลือด เขาจะไม่มีชีวิตที่เหมือนคนปกติทั่วไป เช่น อ่อนแรง อ่อนเพลีย เหนื่อยง่าย ไม่สามารถทำงานหรือไปเรียนได้ เหมือนต้นไม้ เวลาเรารดน้ำทุกวัน ต้นไม้ ก็จะสดใส ผู้ป่วยโรคเลือดก็เช่นกัน หากได้เลือดก็จะทำให้สามารถดำเนินชีวิตได้อย่างปกติ”

ส่วนผู้ป่วยโรคอื่นๆ แม้จะรอการผ่าตัด เลื่อนผ่าตัดได้ แต่...การเลื่อนผ่าตัดจะส่งผลโดยตรงกับผู้ป่วย เนื่องจากทำให้ “คุณภาพชีวิตลดลง” จากที่เคยเจ็บน้อย ก็อาจจะเจ็บมากและเจ็บยาว

...

ขาดแคลนเลือดทุกกรุ๊ป แต่ที่มีน้อยสุดคือ AB และหมู่เลือดพิเศษ

น.ส.ปิยนันท์ เผยว่าสถิติการบริจาคเลือดคนไทย จะคล้ายกันและเป็นแบบนี้ต่อเนื่องนับ 10 ปีแล้ว คือ เลือดที่มากที่สุด คือ กรุ๊ป O แบ่งเป็น 37% กรุ๊ป B 34% กรุ๊ป A 21% กรุ๊ป AB 7% อื่นๆ อีก 1%

“ถามว่ากรุ๊ปไหนใช้มากที่สุด บอกเลยว่าทุกกรุ๊ป แต่ที่พอเหลือใช้คือ กรุ๊ป B กับ O เรามีเยอะมากที่สุด ส่วนเหลือน้อยคือ A กับ AB เรียกว่า ตามสัดส่วนประชากร ส่วนอีก 1 กรุ๊ปที่หายาก เลย เรียกว่าเป็นหมู่พิเศษ คือ ซึ่งทุกครั้งที่การบริจาคเลือด ทางกาชาดจะตรวจเลือดให้ ซึ่งเราจะดูว่าเป็นกลุ่มเลือด Positive หรือ negative ซึ่งคนไทยส่วนใหญ่จะเลือดเป็น Positive มีทั้งสิ้น 99.7% ซึ่งการจะรู้ผลได้ ต้องตรวจในห้องปฏิบัติการเท่านั้น ซึ่งคนที่มีเลือดเป็น negative ในคนไทยมีเพียง 0.03% เท่านั้น 1,000 คนมีเพียง 3 คน ไม่เหมือนชาวต่างชาติ จะมีประมาณ 15%”

น.ส.ปิยนันท์ กล่าวว่า หมู่เลือดพิเศษเหล่านี้หายากมาก เราจึงต้องมีวิธีการจัดการแบบพิเศษ คือ เราเก็บฐานข้อมูลของผู้บริจาคโลหิตของหมู่เลือดนี้ โดยเรามีข้อตกลง กับผู้บริจาคว่า หากมีความจำเป็นเร่งด่วนที่ต้องการใช้เลือด อาจจะขอโทรหา เพื่อขอให้เข้ามาบริจาค โดยเฉพาะ Rh- เรามีรถไปเจาะเลือดบริจาคถึงบ้าน หรือ ที่ทำงาน

“คนกลุ่มนี้จะมีจิตใจเป็นกุศลมาก เพราะจะถูกตามให้บริจาคเลือดเป็นประจำ”

...

เชิญชวนประชาชนมาบริจาคเลือด 

สำหรับคนที่ บริจาคเลือดครั้งแรก ทางสภากาชาด จะมอบเข็มที่ระลึก (รูปหัวใจ) หากมาบริจาคหลายๆ ครั้งก็จะเปลี่ยนแปลงไป เช่น 7, 16, 24 36 48 60 84 96 และ 108 ครั้ง หากครบ 36 และ 108 ครั้ง จะมีโอกาสได้เข้าเฝ้า สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เพื่อรับเข็มจากพระหัตถ์ หากบริจาคเลือดครบ 50 ครั้ง จะได้เหรียญกาชาด สมนาคุณ ชั้นที่ 3 บริจาค 70 ครั้ง ได้ชั้นที่ 2 และ 100 ครั้ง ได้ชั้นที่ 1 ซึ่งถือเป็นเหรียญเชิดชูเกียรติ โดยปกติ เราจะให้เฉพาะอาคันตุกะ หรือคนต่างชาติมาช่วยทำคุณประโยชน์ให้ประเทศ

“นอกจากเข็มฯ แล้ว ยังได้สุขภาพที่แข็งแรง เพราะไขกระดูกจะมีการสร้างเม็ดโลหิตใหม่ๆ ตลอด ทำให้ร่างกายรู้สึกสดชื่น แข็งแรง สุขภาพใจ ได้ทราบหมู่เลือดตนเอง เพราะหากเกิดอุบัติเหตุ แพทย์จะให้เลือดได้อย่างทันท่วงที เรียกว่ามีสิ่งดีๆ ถือเป็นการทำบุญสูงสุด เพราะได้ช่วยชีวิตคน”

น.ส.ปิยนันท์ กล่าวทิ้งท้ายว่า อยากเชิญชวนประชาชนมาร่วมบริจาคโลหิต ปัจจุบัน คนที่ป่วยโรคความดันก็สามารถบริจาคเลือดได้แล้ว เพราะสภากาชาดเพิ่งปรับเกณฑ์เมื่อ 2 ปีก่อน หากมีการกินยาตามปกติ และมีความดัน 100-160 ก็สามารถบริจาคเลือดได้

ทีมข่าวเฉพาะกิจไทยรัฐออนไลน์ รายงาน

อ่านสกู๊ปที่น่าสนใจ