ภายหลังจาก ผศ.ดร.สุวิชา เป้าอารีย์ ผู้อำนวยการสำรวจความคิดเห็น สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ หรือ นิด้าโพล ได้ลองวิเคราะห์ “คำตอบ” ที่อยู่เบื้องหลังผลสำรวจศึกเลือกตั้งผู้ว่าฯ กรุงเทพมหานคร 2565 กันไปแล้ว ในวันนี้ “เรา” ลองไปรับฟัง ทัศนะจาก รศ.ดร.สุขุม เฉลยทรัพย์ ที่ปรึกษาสวนดุสิตโพล จากผลโพลศึกชิงเก้าอี้พ่อเมือง กทม. ในช่วงโค้งสุดท้ายนี้กันดูบ้าง...
อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง :
ขั้วตรงข้ามการเมือง กับ การเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม. :
...
“ส่วนตัวผมเชื่อว่า การเมืองภาพใหญ่ยังคงไม่สามารถแยกออกจากศึกเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม. ครั้งนี้ได้”
หากสังเกตดูดีๆ จะพบว่า ช่วงระยะเวลาการเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม. ใกล้เคียงกับ การเปิดศึกอภิปรายไม่ไว้วางใจ อีกทั้งหลังจากนั้นไม่นานก็จะเป็นช่วงเวลาสำหรับการตระเตรียมการเลือกตั้งใหญ่ทั่วประเทศ ด้วยเหตุนี้การเคลื่อนไหวที่อยู่เบื้องหลังจึงถูกเชื่อมโยงเข้าเป็นเนื้อเดียวกันหมด
ฉะนั้น การขับเคลื่อนในเบื้องลึกของศึกชิงผู้ว่าฯ กทม. ครั้งนี้ จึงเป็นไปในลักษณะหวังกิน 2 เด้ง คือ ได้ทั้งเก้าอี้ผู้ว่าฯ กทม. และชัยชนะในสนามเลือกตั้งใหญ่
ทำให้แม้ว่าฉากหน้าของขั้วการเมืองฝ่ายเดียวกัน จะแลดูรักใคร่กลมเกลียวกันขนาดไหน แต่สำหรับการลงทำศึกเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม. ในครั้งนี้แล้ว ทุกพรรรคการเมืองจะไม่มีทางยอมให้กันอย่างแน่นอน เพราะในเมื่อมีพื้นที่เปิดกว้างสำหรับการใช้กลยุทธ์สร้างฐานความนิยมในหมู่ประชาชน รวมถึงที่สำคัญไปกว่านั้น คือ การมองไปข้างหน้าเรื่องอำนาจการต่อรองแล้ว ไม่ว่าจะพรรคร่วมรัฐบาล หรือพันธมิตรฝ่ายค้าน ก็เล่นกันเต็มที่แน่นอน
“บรรดาหัวคะแนน หรือผู้นำชุมชนที่จะมีการใช้ในการเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม. ครั้งนี้ก็คือ คนคนเดียวกันกับที่จะถูกนำมาใช้ในสนามเลือกตั้งใหญ่ที่ใกล้จะมาถึง ฉะนั้นในความเห็นส่วนตัวผม การเมืองภาพใหญ่ยังไงๆ ก็แยกไม่ออกจากการเมืองระดับท้องถิ่น”
โค้งสุดท้ายก่อนเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม. :
“หากสังเกตให้ดีๆ ในช่วงที่เหลืออีกเพียง 1-2 สัปดาห์ก่อนการเลือกตั้ง คำถามต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับผู้สมัคร จะเริ่มดังขึ้น และดังขึ้นเรื่อยๆ”
การเมืองกับวังวนเกมการเมืองแบบน้ำเน่าเป็นเรื่องที่แยกกันไม่ออก ด้วยเหตุนี้จึงไม่ใช่เรื่องแปลกที่จะเริ่มมีการตั้งคำถามที่เกี่ยวข้องกับผู้สมัคร เช่น ที่ว่า “อิสระ อิสระจริงหรือไม่?” หรือ “ข้อกล่าวหาที่เกี่ยวข้องกับตัวบุคคลเชื่อมโยงพรรคการเมือง หรือผู้สมัครหรือไม่?” ซึ่งการฉกฉวยโอกาสในทุกรูปแบบเช่นนี้มักเกิดขึ้นอยู่แล้วบ่อยๆ ในการเลือกตั้งของประเทศไทย ทำให้ผู้สมัครทุกคนจะต้องระมัดระวังและแก้เกมของฝ่ายตรงข้ามให้ทันท่วงที เพราะการพลาดพลั้งในช่วงโค้งสุดท้ายย่อมมีผลอย่างยิ่งต่อผลการเลือกตั้งที่จะเกิดขึ้น
เกมการต่อรอง :
“ตอนนี้น่าจะมีแต่คำถามที่ว่า ใจถึงหรือใจไม่ถึง”
อีกประเด็นหนึ่งที่น่าสนใจในช่วงโค้งสุดท้ายก่อนการเลือกตั้งนี้ น่าจะเป็นเรื่องของการต่อรอง เพราะผู้ว่าฯ กทม. ว่างเว้นจากการเลือกตั้งมายาวนาน ฉะนั้นการต่อรองเรื่องข้อเสนอต่างๆ โดยเฉพาะเรื่องงบประมาณสำหรับที่จะกระจายไปยังชุมชนต่างๆ ย่อมต้องเกิดขึ้น ทำให้ ณ เวลานี้น่าจะมีแต่คำถามที่ว่า “ใครใจถึงหรือใจไม่ถึง”
...
กลุ่มคนยังไม่ตัดสินใจ คือกลุ่มไหน :
“การควบคุมคะแนนเสียงในปัจจุบันมีความเป็นระบบและมีการตรวจสอบกันมากขึ้นกว่าในอดีตมาก ด้วยเหตุนี้จึงไม่ใช่เรื่องแปลกที่จะทำให้เกิดสิ่งที่เรียกว่า ความหวาดระแวงทางการเมืองขึ้น”
สำหรับกลุ่มคนที่ตอบโพลว่า “ยังไม่ตัดสินใจว่าจะเลือกใคร” ซึ่งส่วนใหญ่จากผลสำรวจอยู่ในช่วงวัยตั้งแต่ 19-35 ปี เป็นหลักนั้น น่าจะตีความได้ 3 นัย คือ...
1. ยังตัดสินใจไม่ได้จริงๆ ว่าจะเลือกใคร ซึ่งกลุ่มนี้เป็นกลุ่มที่สร้างความหนักใจทางการเมืองมากที่สุด เพราะทำให้ผู้สมัครที่มีฐานเสียงจากพรรคการเมืองเดาใจได้ยาก
2. ตัดสินใจเลือกไปแล้ว แต่เวลาตอบโพล กลับตอบว่า ยังไม่ตัดสินใจ ด้วยเกรงว่าฝ่ายขั้วตรงกันข้ามทางการเมืองเมื่อรู้ผลไปแล้วจะสามารถไปแก้เกมการหาเสียงให้ฝ่ายตัวเองได้
3. ต้องการรักษาอำนาจการต่อรองของตัวเองเอาไว้ให้นานที่สุดจนกว่าจะใกล้ถึงวันเลือกตั้ง
โควิด-19 กับ ผลเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม. :
...
“สำนักอนามัย กทม. ควรมีการกำหนดมาตรการที่ชัดเจนได้แล้วว่า จะไปเลือกตั้งอย่างไรให้ปลอดโควิด-19 เพื่อสร้างความมั่นใจให้กับผู้ที่จะใช้สิทธิ์”
คำตอบที่ได้รับจากการลงพื้นที่ทำผลสำรวจ พบว่า หนึ่งปัจจัยสำคัญที่ผู้มีสิทธิ์เลือกตั้งจะตัดสินใจว่า จะไปใช้สิทธิ์ในวันเลือกตั้ง 22 พ.ค.นี้หรือไม่ คือ ปัญหาการแพร่ระบาดโรคโควิด-19
ด้วยเหตุนี้จึงอยากวิงวอนให้ผู้ที่เกี่ยวข้อง เร่งสร้างความชัดเจนรวมถึงหาทางอำนวยความสะดวกให้กับผู้ใช้สิทธิ์โดยเร็ว โดยเฉพาะเรื่องมาตรการต่างๆ ที่อาจจะต้องนำมาใช้ในบริเวณคูหาเลือกตั้ง ถึงแม้ว่าในช่วงนี้ ปัญหาการแพร่ระบาดจะเริ่มทุเลาลงบ้างแล้วก็ตาม เพื่อสร้างความมั่นใจให้กับผู้ที่จะออกมาใช้สิทธิ์ในวันดังกล่าว "โดยเฉพาะกลุ่มผู้สูงอายุ" ที่กังวลกับประเด็นนี้มากที่สุด เพื่อให้การเลือกตั้งในวันที่ 22 พ.ค. คนกรุงเทพฯ จะได้ออกมาใช้สิทธิ์เลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม. กันให้มากๆ.
ทีมข่าวเฉพาะกิจไทยรัฐออนไลน์ รายงาน
อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง :
...