ต้องยอมรับว่าเวลานี้คนยุคใหม่จำนวน “ไม่น้อย” บอกว่า ตนเองไม่มี “ศาสนา” ซึ่งคนเรา “กล้า” จะบอกว่าตัวเองไม่ศาสนาอาจจะมีหลายปัจจัย ทั้งการมองเห็นความ “เสื่อมทราม” จนไม่อยากเคารพนับถือ หรือ อีกมุมหนึ่งคือ การศึกษาทำความเข้าใจหลายๆ ศาสนา จนเห็นว่าทุกศาสนาก็มีข้อดีและข้อด้อย อารมณ์เหมือนกับ “เลือกไม่ถูก” ก็มี จนกลายเป็นคนไม่มีศาสนา

ที่ว่ามาทั้งหมด คือ แนวคิดใหม่ๆ ที่เกิดขึ้นตามยุคสมัย แต่เมื่อมองมาปัจจุบัน กับศาสนาพุทธ ที่เป็นศาสนาประจำชาติ หลายๆ คนรู้สึกท้อใจ ที่เห็น “โล้น” ห่มผ้าเหลือง หลายๆ คน ไม่ทำตัวเป็น “พระ” พัวพันสีกา ญาติโยม มีสัมพันธ์ทางเพศโดยไม่ “ละอาย” นำเงินที่คนยกมือท่วมหัวถวายให้ไปใช้ในทางไม่ถูก ส่งผลให้เกิด “หมอปลา” มือปราบสัมภเวสี ต้องมาปราบ “อลัชชี” ทั้งที่มีหน่วยงานที่ดูแลความเรียบร้อยในวงการสงฆ์อยู่ แต่ทำอะไรอยู่...?

รศ.ดนัย ปรีชาเพิ่มประสิทธิ์ อาจารย์สาขาวิชาปรัชญา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ มองประเด็นที่เกิดขึ้นในสังคมว่า ในมุมมองส่วนตัว มองว่าเป็นเรื่องปกติธรรม เพราะว่าเหตุการณ์ลักษณะนี้ไม่ใช่เกิดขึ้นครั้งแรก เพียงแต่ปัจจุบัน สื่อโซเชียลมีเดียกว้างขวาง จึงทำให้ดูรุนแรง อีกทั้งใครจะขุดอะไรก็ง่าย ทุกคนเป็นสื่อ ทำให้อารมณ์ของข่าวกระพือไปไกล แต่...เดี๋ยวมันก็จะผ่านและจบไป

...

สำหรับเรื่องเงินทอง และการหยิบยืมทรัพย์สินวัด เรื่องนี้ อาจารย์ดนัย บอกว่า เคยทำงานวิจัย “พระสงฆ์กับทรัพย์สินส่วนตัว” สะท้อนให้เห็นว่า ระบบการเงินของวัดและของพระ ไม่โปร่งใส ตรวจสอบไม่ได้ เป็นที่มาของ “ลาภสักการะ” พระที่รวย มีโอกาสที่จะไปทำผิดวินัย ได้มาก และหากพระรูปไหน ไม่เคร่งธรรมวินัย และเมื่อไม่มีระบบตรวจสอบที่ดี จึงกลายเป็นที่มาของพระหนุ่มที่เป็นข่าว สามารถเอาเงินไปโปะ หรือปิดปากบุคคลบางคนได้

เมื่อถามว่า เป็นพระสงฆ์ ควรมีบัญชีส่วนตัวไหม รศ.ดนัย อธิบายว่า ตามหลักธรรมวินัยเลย พระไม่ควรมีเงินเป็นของตัวเอง เพราะการรับเงินทอง ถือว่าผิดอาบัติอยู่แล้ว แต่ในทางวินัย ก็มีหลักปฏิบัติให้ เช่น มีคนของวัด ภาษาบาลีเรียกว่า “กัปปิยการก” หรือ ภาษาไทยเรียกว่า “ไวยาวัจกร” ไปทำหน้าที่บริหารเงินให้พระ

สมมติว่ามี “เงิน” ถวายให้พระให้วัด ไวยาวัจกร ก็จะรับ แล้วนำมาบริหารโดย “เงิน” ดังกล่าว เป็นของพระรูปไหน หากพระจะใช้เงินก็มาเบิก เช่น จะใช้จ่ายไปกับการเรียน ซื้อจีวร เป็นต้น ซึ่งตรงนี้เองจะเหมือนมีฝ่ายตรวจสอบในการใช้จ่าย

ขณะที่ “เงินวัด” ก็จะมีคนดูแล 3 ส่วน เช่น เจ้าอาวาสวัด ไวยาวัจกร และ กรรมการวัด ถ้าทำตามหลักนี้ ก็เชื่อว่าการใช้จ่ายในวัดก็จะมีความรัดกุม ปัญหาคือ หลักเกณฑ์ที่วางกันเอาไว้ แต่ไม่ทำกัน ขณะที่เจ้าอาวาส บางรูป ทั้งเงินส่วนตัว เงินบัญชีวัด ปะปนกันไปหมด ทำให้เกิดปัญหาแยกแยะลำบาก...

สำนักพุทธฯ อยู่ไหน...? ทำอะไรอยู่

รศ.ดนัย ระบุว่า สิ่งที่เกิดขึ้นสะท้อนให้เห็นว่า “สำนักพุทธฯ” มีหลายมาตรฐานหรือไม่ บางเรื่องที่ควรจะจัดการ แต่กลับไม่จัดการ แต่บางเรื่องก็ตอบสนองอย่างรวดเร็ว เช่น เรื่องภาพไม่เหมาะสมบนกำแพงวัด บางเรื่องเป็นเรื่องศิลปะ แต่สำนักพุทธฯ ดูเปราะบางมาก แต่พอเป็นเรื่องศาสนาโดยตรง แต่คราวนี้กลับใส่เกียร์ว่าง...

เพราะแบบนี้หรือไม่ ถึงมี “หมอปลา” คล้ายจะมาทำหน้าที่แทน รศ.ดนัย กล่าวว่า ปรากฏการณ์ “หมอปลา” หากมองว่าเป็นตัวแทนของชาวบ้าน หรือชุมชน ก็แสดงว่า ชาวบ้านและชุมชนไม่โอเคกับหน่วยงานที่ดูแลศาสนา แต่ถามว่า มันควรจะเป็นอย่างที่ทำหรือไม่...

“มองว่าไม่ใช่หน้าที่ “หมอปลา” เช่นเดียวกัน หลายครั้งที่ “หมอปลา” เข้าไป ก็คล้ายจะเป็น “ศาลเตี้ย” เล็กๆ ผมไม่ได้บอกว่า “หมอปลา” ทำไม่ถูก เพราะหลายครั้งที่เข้าไป ทำให้เกิดการตรวจสอบ และจัดการ กลับกัน เมื่อก่อน พระมีปัญหาก็ต้องรอสื่อ หรือให้ชาวบ้านไล่ สำนักพุทธศาสนา หรือมหาเถรสมาคม (มส.) ถึงจะขยับ แต่เมื่อมีหมอปลา ได้ทำเชิงรุก ถึงแม้จะหมิ่นเหม่ต่อการละเมิดกฎหมาย แต่เมื่อไม่หวัง หมอปลา ก็กลายเป็นตัวแทนหมู่บ้าน ทั้งที่ความเป็นจริง หน้าที่จัดการสิ่งที่ไม่ถูกต้องในวงการสงฆ์เหล่านี้ เป็นของสำนักพุทธฯ และมหาเถรสมาคม”

สิ่งที่เกิดขึ้น คือตัวสะท้อนความอ่อนแอ ของระบบการปกครองหรือไม่ รศ.ดนัย มองว่า ไม่ว่าทางโลกทางธรรม ก็คล้ายกัน ในทางโลก คดีของผู้ทรงอิทธิพลบางคน จะเอาผิดในกระบวนการทางกฎหมายก็จะล่าช้า แต่ถ้าไม่ล่าช้าก็คล้ายลำเอียง ซึ่งสิ่งที่เกิดขึ้นสะท้อนปัญหาสังคมของเมืองไทย ฉะนั้น มันจึงสะท้อนออกมาในระบบการยุติธรรม ไม่ว่าทางโลกหรือทางธรรม กำลังมีปัญหา

...

วิกฤติศรัทธา และจุดเริ่มต้นที่ควรแก้ไข

ปัญหาที่เกิดขึ้น กลายเป็นภาพสะท้อนที่พัวพันกันหมด ฉะนั้น เราควรเริ่มแก้ปัญหาของสงฆ์อย่างไร อาจารย์สาขาวิชาปรัชญา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ระบุว่า ถ้ามองในมุมของศาสนา เชื่อว่าไม่กระทบกระเทือนมาก เพราะศาสนาอยู่ที่หลักการ ไม่ใช่ตัวคน แต่ปัญหาคือประเทศไทย มักจะเอาความศรัทธาไปผูกกับตัวบุคคล เมื่อตัวบุคคลเสื่อมเสีย จึงดูว่ากระทบศาสนาไปด้วย

แต่...ด้วยฟังก์ชันที่แท้จริง ศาสนา อยู่ที่หลักการ ธรรมะ ธรรมวินัย คือ หลักการ อย่าติดยึดที่ตัวบุคคล ฉะนั้น หากจะแก้ไข ก็ต้องย้อนกลับไปเรื่อง “ธรรมวินัย” เริ่มต้นกระบวนการบวช “พระอุปัชฌาย์” บวชแล้วก็ต้องดูแลลูกศิษย์ ในขณะที่บวชอย่างตัว “พระ” ก็ต้องรู้หน้าที่ คือ ศึกษาและปฏิบัติ ถึงแม้ว่า “พระ” จะยังศึกษาและปฏิบัติไม่เข้มแข็ง แต่ออกสู่สังคม กลายเป็นเซเลบ แล้วไม่เข้มแข็งเคร่งครัดในธรรมวินัย ก็มีโอกาสทำผิด...

ฉะนั้น เราต้องกลับมาเริ่มต้นคัดกรองที่การบวช ไม่ใช่ว่าใครอยากบวชก็บวช แต่พอบวชแล้ว ต้องมีกระบวนการดูแล จาก “พระอุปัชฌาย์” ซึ่งถ้า พระที่บวชให้ทิ้งขว้าง ในวงการเขาก็จะเรียกว่า พระอุปัชฌาย์เป็ด พระอุปัชฌาย์ไก่ เรียกว่า “ไข่แล้วก็ทิ้ง”

...

“เมื่อการบวชเข้มข้น พระอุปัชฌาย์ดูแลดี จากนั้นก็มาดูที่ระเบียบการเงินเป็นอย่างไร โปร่งใสแค่ไหน มีการแยกบัญชีเป็นอย่างไร หากมีการทำแบบนี้ทุกๆ วัด เชื่อว่าภาพรวมของพระสงฆ์ก็น่าจะดีขึ้น สำนักพุทธฯ ก็อย่าใส่เกียร์ว่าง ขยันตรวจตรา ลงพื้นที่บ้าง ในขณะที่การจัดการในมหาเถรสมาคม มีเส้นสายเยอะไปหรือไม่ ซึ่งทาง มหาเถรสมาคม ก็ต้องมีการตัดสินอย่างเป็นธรรม ถ้าเราจัดการตั้งแต่ล่างถึงข้างบน ก็จะดูมีความหวัง แต่หากฟังก์ชันใด ฟังก์ชันหนึ่งใส่เกียร์ว่าง หรือ ถูกตัดต่อ ก็จะเดินหน้าต่อไม่ได้”

เมื่อ รศ.ดนัย พูดถึงตรงนี้ ทำให้ผู้เขียนนึกถึงคำพูดของ พระพยอม กัลยาโณ เจ้าอาวาสวัดสวนแก้ว ที่เคยสะท้อนปัญหาของสงฆ์ว่า “บวชง่าย สึกยาก” อาจารย์สาขาวิชาปรัชญา มธ. มองว่า การบวชแบบทั่วไป ก็จะมีการบวชและสึกเป็นปกติแล้ว แต่ถ้าท่านพระพยอม พูด น่าจะหมายถึง คนที่ทำผิด เวลาจะเอาผิด แต่กลับมีระบบอุปถัมภ์อยู่ ก็ทำให้แตะต้องยาก

เมื่อพูดถึงฝ่าย “สงฆ์” ไปแล้ว ก็ต้องหันมามองฝ่ายฆราวาส ในฐานะ ชาวพุทธ ที่ดี ควรช่วยเหลือหรือสนับสนุนอย่างไร อาจารย์สาขาปรัชญา มธ. บอกว่า ฆราวาส เองก็ควรศึกษาธรรมวินัยเหมือนกัน ควรรู้ขอบเขตของตัวเองว่าจะดูแลพระสงฆ์อย่างไร

...

“เรื่องง่ายๆ แค่การใส่บาตร ขี้เกียจหาอาหาร เรื่องสิ่งของจำเป็นมาให้ ก็เลือกที่จะใส่เงินแทน ซึ่งหากฆราวาสรู้เรื่องพระวินัยหน่อย ก็จะทราบว่า การให้เงินทำให้อาบัติได้ หรือ อีกหลายเรื่อง เช่น กรณี “กาโตะ” ที่ทำผิดวินัยถึงขั้นปาราชิก แบบนี้ต้องเรียก “สมี” แต่คนทั่วไปก็ยังเรียก “ทิด” แค่นี้ไม่ถูกแล้ว แบบนี้แปลว่าฆราวาสไม่มีความรู้ ว่าพระทำผิดลักษณะนี้จะไม่เรียกทิด นอกจากนี้ คนที่ทำผิดวินัยแบบนี้ กลายเป็นไอดอลฮีโร่ ในสังคมอีก นี่ก็กลายเป็นว่า “ฆราวาส” ไม่เข้าใจเหตุและผลแล้ว ซึ่งการกล่าวเช่นนี้ ใช่ว่าจะไปทับถมหรือไม่ให้โอกาส แต่เราต้องมองด้วยหลักเหตุและผล...”

ในช่วงท้าย รศ.ดนัย ฝากบอกกับทุกคนว่า เราไม่ต้องกังวลว่าพุทธศาสนาจะเสื่อมถอย การมีพระประพฤติไม่ดี แล้วถูกแฉ นั้น ถือเป็นเรื่องที่ดี ที่ถูกต้อง เพราะจะได้ให้พระเหล่านี้ ไม่ใช้ผ้าเหลืองหากินกับศาสนา และพวกเขาเหล่านั้นจะได้ออกไปจากศาสนา และปรากฏการณ์เหล่านี้ จะได้ถือโอกาสทบทวนตัวเองว่า เราสนับสนุนผิดทางหรือไม่ ถ้ารู้ว่าผิดก็ขอให้กลับมาช่วยดูแลพุทธศาสนาให้ถูกทาง เช่น กรณี คนที่เป็นสีกา มาบอกว่าไม่รู้ว่าแตะต้องตัวพระไม่บาป สิ่งที่พูดมาฟังไม่ขึ้น ไม่ว่าพระหรือผู้หญิง ชวนออกไปไหนกลางดึก เรารู้โดยจิตสำนึกอยู่แล้วว่าจะเกิดอะไรขึ้น เป็นต้น..

ทีมข่าวเฉพาะกิจไทยรัฐออนไลน์ 

อ่านสกู๊ปที่น่าสนใจ