การทำโพลในศึกเลือกตั้งผู้ว่ากรุงเทพมหานคร ปี 2565 สามารถบ่งบอกอะไรได้หรือไม่ว่า คนกรุงเทพมหานครกำลังมีวิธีคิดสำหรับการเลือกตั้งครั้งนี้อย่างไร แล้วอะไรคือปัจจัยสำคัญสำหรับการตัดสินใจเลือกพ่อเมือง กทม. คนใหม่ ในวันนี้ “เรา” ลองไปฟังทัศนะจาก ผศ.ดร.สุวิชา เป้าอารีย์ ผู้อำนวยการสำรวจความคิดเห็น สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ หรือ นิด้าโพล สำหรับการแสวงหา “คำตอบ” เหล่านั้นดู
1. ความถูกต้องแม่นยำในการทำโพล :
นิด้าโพล เน้นการเก็บข้อมูลผ่านการสุ่มหมายเลขโทรศัพท์มือถือในกลุ่มตัวอย่าง ที่มีการเก็บข้อมูล เพศ อายุ รายได้ ภูมิลำเนา การศึกษา อาชีพ ศาสนา สถานะ เอาไว้ก่อนหน้านี้แล้วประมาณ 340,000 เลขหมายทั่วประเทศ
...
ซึ่งวิธีการดังกล่าวทำให้ โพลของนิด้า มีความแตกต่างจากโพลสำนักอื่นๆ เนื่องจากสามารถเกลี่ยกลุ่มตัวอย่างสำหรับการทำโพลได้อย่างเหมาะสม อีกทั้งการที่จะไม่มีการระบุ “ชื่อและนามสกุลของกลุ่มตัวอย่าง” จึงทำให้ได้รับคำตอบจากกลุ่มตัวอย่างที่มีความ “คลาดเคลื่อนน้อยลง” หากเทียบกับวิธีการลงพื้นที่เก็บข้อมูลเพื่อทำโพล โดยเฉพาะ “โพลการเมือง” ที่มักพบอุปสรรคว่ากลุ่มตัวอย่างมัก “ไม่ค่อยกล้าให้คำตอบตามความเป็นจริง” เนื่องจากเกรงว่า จะเป็นการทำโพลของฝ่ายขั้วตรงกันข้ามกันทางการเมือง
อย่างไรก็ดี ผอ.นิด้าโพล ยอมรับว่า คงไม่สามารถยืนยันได้ว่าผลโพลที่ได้จากวิธีการนี้ จะมีความแม่นยำ 100% เพราะจะให้ถูกต้อง 100% มันคงเป็นไปไม่ได้ ด้วยเหตุนี้ จึงมีการตั้งค่าเบี่ยงเบนเอาไว้ที่ประมาณ บวกลบ ไม่เกิน 3% หรือ เต็มที่ 4% นั่นเป็นเพราะสิ่งที่ต้องไม่ลืม คือ โพลมันคือ ความคิดเห็น ณ ขณะที่ถูกถาม ฉะนั้น ถามวันนี้คนเราอาจตอบอย่างหนึ่ง แต่พรุ่งนี้หากถามคำถามเดียวกัน คนเราก็อาจเปลี่ยนใจไม่ตอบเหมือนเมื่อวานก็เป็นไปได้ เพราะสถานการณ์ที่เกิดขึ้น ปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้น วิธีคิดของคน ณ ขณะนั้น มันสามารถเปลี่ยนแปลงได้ตลอดเวลาโดยเฉพาะอย่างยิ่ง คนกรุงเทพที่มักเปลี่ยนใจได้ง่ายมาก แบบคิดอยากจะเปลี่ยนก็เปลี่ยน
“อดีตไม่ได้บอกว่าปัจจุบันคุณจะได้เหมือนอดีต และปัจจุบันก็ไม่ได้บอกว่าอนาคตคุณจะได้แบบนี้เสมอไป และคน กทม. มักจะมีแนวคิดที่แปรเปลี่ยนไปเรื่อยๆ ในการที่จะเลือกผู้ว่ากรุงเทพมหานครมาตลอด”
2. โพลการเมือง กับความเป็นกลาง :
“มนุษย์ทุกคนมีค่านิยมส่วนบุคคล มีความชอบส่วนตัว ความชื่นชอบทางการเมืองก็เช่นกัน”
เจ้าหน้าที่ทุกคนที่ทำการเก็บข้อมูลให้กับนิด้าโพลจะถูกเน้นย้ำเสมอว่า “จะต้องแยกงานกับความชอบส่วนตัวให้ออกจากกันและปล่อยให้ทุกอย่างเป็นไปตามธรรมชาติ” ฉะนั้น หากกลุ่มตัวอย่างตอบแบบสอบถามอย่างไร ก็ต้องบันทึกไปตามนั้น ไม่ต้องสนใจใดๆ ทั้งสิ้น ด้วยเหตุนี้ ค่านิยมทางการเมืองส่วนบุคคลจึงถูกแยกออกจากผลลัพธ์ที่ได้อย่างชัดเจน
นอกจากนี้ คำถามที่ใช้ในการทำโพลต้องปราศจากอคติหรือการชี้นำ และต้องได้กลุ่มเป้าหมายที่ถูกต้อง เพราะยิ่งหากสามารถเก็บสัดส่วนได้ใกล้เคียงกับจำนวนประชากรจริงมากเท่าไรก็จะยิ่งให้ผลลัพธ์ที่ดีทั้งในแง่ความถูกต้องและความเป็นกลางมากขึ้นเท่านั้น
“แต่เอากันจริงๆ การทำโพลว่ากันแบบตรงไปตรงมา มันก็ไม่ต่างอะไรกับการทำสื่อ เขียนยังไงก็โดนด่า ออกข่าวยังไงก็โดนด่า เพราะคนชอบเขาก็ชม คนไม่ชอบเขาก็ด่า เพราะฉะนั้นสำหรับผมมันเลยถือเป็นเรื่องปกติ (หัวเราะ)”
...
3. ความขัดแย้งและเห็นต่าง จะมีผลต่อการเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม. มากน้อยแค่ไหน :
สำหรับการเลือกตั้งผู้ว่ากรุงเทพมหานครครั้งนี้ “มีผลบ้างแต่อาจไม่มาก” เพราะเท่าที่ได้สำรวจความเห็นคนกรุงเทพฯมา พบว่า มีคนกลุ่มใหญ่พอสมควรได้แยกการเมืองระดับชาติออกจากการเมืองท้องถิ่น และไม่ตั้งข้อรังเกียจกับผู้สมัครที่แม้จะไม่ได้อยู่ในขั้วการเมืองในแบบที่ตัวเองชื่นชอบก็ตาม โดยมองไปที่ “คุณลักษณะส่วนบุคคลที่เหมาะสม” สำหรับตำแหน่งพ่อเมือง กทม. เป็นสำคัญ
เพราะต้องยอมรับว่าคนจำนวนหนึ่งกำลังมองเรื่องของกรุงเทพมหานคร มากกว่า ความขัดแย้งทางการเมือง เพราะปัญหาการจราจร น้ำท่วม ขยะ และความปลอดภัย คือ สิ่งที่คน กทม. กำลังต้องการให้คนมาแก้ไขมากที่สุด ซึ่งประเด็นเหล่านี้น่าจะเป็นเครื่องสะท้อนได้ค่อนข้างชัดเจนว่า คนกำลังมองว่าการเลือกตั้งครั้งนี้เป็นเรื่องในระดับท้องถิ่นจริงๆ มากขึ้น
“ผมว่าตอนนี้ คนกรุงเทพฯส่วนใหญ่น่าจะกำลังมีวิธีคิดว่า ฉันกำลังจะเลือกผู้ว่าฯ กรุงเทพมหานคร ไม่ใช่ นายกรัฐมนตรี”
...
4. นโยบายหาเสียงสำคัญต่อการตัดสินใจแค่ไหน :
“นโยบายดีแต่คุณลักษณะส่วนบุคคลมีปัญหาคนเขาอาจจะไม่เลือก หรือ คุณลักษณะส่วนบุคคลดีแต่นโยบายไม่ปัง คนเขาก็อาจจะไม่เอา”
2 เรื่องนี้มีความผสมปนเปกันอยู่ในที เพราะเท่าที่ได้ทำโพลมา นโยบายคืออันดับหนึ่ง คุณลักษณะส่วนบุคคลคืออันดับที่สอง เป็นปัจจัยสำคัญที่สุดที่จะทำให้คนเลือกหรือไม่เลือกผู้ว่าฯ กทม.คนใหม่ ฉะนั้นทั้งสองเรื่องนี้ต้องผสมกันให้ลงตัวในผู้สมัคร มันถึงจะมีผลมากพอให้คนกรุงเทพฯ ตัดสินใจ
“แต่เอาเข้าจริงๆ ในความเห็นส่วนตัวผมคนเดียวนะ ผมว่า ชอบหรือไม่ชอบในตัวบุคคล น่าจะมีน้ำหนักมากกว่านโยบาย เพราะคำว่าชื่นชอบนโยบาย มันอาจจะเป็นเพราะต้องการหาเหตุผลในการสนับสนุน ชอบหรือไม่ชอบมากกว่า เพราะจะว่าไปนโยบายที่ใช้หาเสียงน่าจะไม่มีความแตกต่างกันมากนัก”
5. คำถามจากคน กทม. ถึงผู้สมัครทุกคน :
มี 2 คำถามที่น่าจะเป็นคำถามสำคัญซึ่งกลุ่มตัวอย่างในนิด้าโพล อยากฝากถามถึงผู้สมัครผู้ว่าฯ กทม. ทุกคน คือ...
1. คุณจะแก้ไขปัญหาการจราจรให้กับกรุงเทพมหานครอย่างไร?
2. นโยบายที่ใช้หาเสียง คุณสามารถทำได้จริงหรือไม่?
เรื่องจราจรเป็นที่ทราบกันดีอยู่แล้วว่า เป็นเรื่องปัญหาสำคัญที่อยู่คู่มากับ กทม. มายาวนาน ฉะนั้น คำถามที่ 2 ที่ว่า “นโยบายที่ใช้หาเสียง คุณสามารถทำได้จริงหรือไม่?” จึงน่าจะเป็นโจทย์สำคัญที่ผู้สมัครทุกคน ควรตระหนักและให้ความสนใจ เพราะนั่นแปลว่า ชาว กทม. เริ่มรู้สึกแล้วว่า สิ่งที่กำลังหาเสียงอยู่นั้น “คุณ” ไม่น่าจะทำได้จริง เพราะเป็นที่ทราบกันดีอยู่แล้วว่า อำนาจของผู้ว่าฯ กทม. มีจำกัด และบางเรื่องต้องอาศัยการประสานงานกับส่วนกลางในการแก้ไขปัญหา
...
“การหาเสียงแบบเกินอำนาจหน้าที่อันแท้จริงของ ผู้ว่าฯ กทม. นั้น หากถามว่า มีผลหรือไม่? คำตอบคือ มีสำหรับคนสองประเภท ประเภทแรกคือ คนที่ชอบอะไรเว่อร์ๆ ทำนอง แบบนี้ก็ดีนะ อยากได้ๆ ส่วนประเภทที่สอง คือ คนที่คิดตามก่อนตัดสินใจ คิดว่าที่เขาพูดมานี่จะเป็นจริงได้หรือไม่ หากเขาคิดว่าเป็นจริงได้เขาจะเลือก แต่หากเขาคิดว่าไม่น่าจะเป็นจริงได้ เขาก็จะไม่เลือก”
6. ยังไม่ตัดสินใจว่าจะเลือกใคร :
ผลจากการทำโพลล่าสุด พบว่า แม้จะใกล้ถึงช่วงโค้งสุดท้ายของการเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม. แล้ว แต่ก็ยังคงมีคนกลุ่มใหญ่ที่ยังไม่ตัดสินใจว่าจะเลือกผู้สมัครคนไหน แต่ในความเห็นส่วนตัวเชื่อว่า คนที่ตอบว่า “ยังไม่ตัดสินใจ” เอาเข้าจริงๆ ส่วนใหญ่น่าจะตัดสินใจแล้วว่าจะเลือกใคร เพียงแต่เวลาตอบคำถามในโพล ที่เขาเลือกที่จะตอบว่ายังไม่ตัดสินใจ เพราะเขายังไม่มั่นใจว่าคนที่เขาเลือกไว้ในใจแล้วนั้น เมื่อถึงเวลาเขาจะเลือกคนนี้จริงๆ หรือเปล่า เดี๋ยวใกล้ๆ วันเลือกตั้งว่ากันอีกทีว่า “ตกลงจะเอาคนนี้ไหม” ซึ่งหากไม่มีเหตุการณ์อะไรมากระทบต่อการตัดสินใจในช่วงนี้ เขาก็คงเลือกคนที่เขาเลือกเอาไว้แล้วนั่นเอง
“แต่หากถามว่า กลุ่มคนที่ตอบว่ายังไม่ตัดสินใจนี้ จะมีผลต่อการเลือกตั้งมากหรือน้อยอย่างไรหรือไม่นั้น ในความเห็นส่วนตัวจากประสบการณ์ที่ทำโพลมา ส่วนใหญ่คนกลุ่มนี้คะแนนมักจะกระจายออกไปยังผู้สมัครหลายๆ คน มากกว่าที่จะไปเทให้กับผู้สมัครเพียงคนใดคนหนึ่ง นอกจากคนนั้นจะเป็นแบบ ซุปเปอร์แมนมาเกิด ทุกคนชอบหมดเลยอะไรแบบนี้ (หัวเราะ)”
จำนวนคนกรุงเทพฯ ที่จะไปใช้สิทธิครั้งนี้ :
ที่ผ่านมาคนกรุงเทพฯ ออกไปใช้สิทธิเลือกผู้ว่าฯ กทม. เฉลี่ยประมาณ 60% ซึ่งการเลือกตั้งครั้งนี้ก็ไม่น่าจะมีสัดส่วนที่แตกต่างกันมากนัก ฉะนั้นจึงอยากฝากถึงชาวกรุงเทพฯ ทุกคนว่า ในวันที่ 22 พฤษภาคม ที่จะถึงนี้อยากขอให้ทุกคนร่วมใจกันออกไปใช้สิทธิเลือกตั้งกันให้มากๆ
ทีมข่าวเฉพาะกิจไทยรัฐออนไลน์ รายงาน
อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง :