เป็นเรื่องที่กำลังถูกจับตามอง สำหรับ กรณี “แรมโบ้อีสาน” หรือ นายเสกสกล อัตถาวงศ์ ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ในฐานะประธานคณะอนุกรรมการขับเคลื่อนการแก้ไขปัญหาสลากกินแบ่งรัฐบาลเกินราคา ควงคู่กับ พล.ต.ท.สุรเชษฐ์ หักพาล ผู้ช่วย ผบ.ตร. ในฐานะ รองประธานฯ และ พ.ท.หนุน ศันสนาคม ผอ.สำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาล นำกำลังและเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง เข้าตรวจค้นตามหมายค้นศาลอาญา ที่บริษัท มังกรฟ้า ล็อตเตอรี่ จำกัด สำนักงานใหญ่ ต.อ้อมเกร็ด อ.ปากเกร็ด จ.นนทบุรี ภายหลังสืบทราบว่า มีการกว้านซื้อสลากฯ จากผู้ได้รับโควตารายย่อยไปมากกว่า 2 ล้านฉบับ แล้วนำไปเสนอขาย คล้ายเป็นการแทรกแซงกลไกตลาด ส่งผลให้สลากฯ มีราคาแพงกว่าที่กฎหมายกำหนด ซึ่งในเบื้องต้น ยังอยู่ในขั้นตอนการตรวจสอบ...

ในต่อมา ทางมังกรฟ้าฯ ได้ชี้แจง ประเด็นว่าเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้ สลากฯ ราคาแพงว่า ข้อเท็จจริงไม่เป็นเช่นนั้น เนื่องจากราคาสลากฯ ในปัจจุบันได้สูงเกินควรจากสาเหตุหลายปัจจัย มังกรฟ้าเป็นเพียงแพลตฟอร์มตัวกลางในการให้ผู้ค้ารายย่อยนำสลากเข้าร่วมสแกน และจำหน่ายในรูปแบบออนไลน์ ลอตเตอรี่ทุกใบยังเป็นกรรมสิทธิ์ของผู้ค้าสลากฯ รายย่อย ทุกท่านที่นำเข้ามาสแกน และเป็นกรรมสิทธิ์โดยสมบูรณ์ของลูกค้าผู้ที่ซื้อโดยชัดเจน ทางการมิสามารถยึดโควตาสลากไว้ได้ และยืนยันว่ามีสลากใบจริงทุกใบ

...

ในประเด็นนี้ ทีมข่าวเฉพาะกิจไทยรัฐออนไลน์ ได้ต่อสายพูดคุยกับ นายธนวรรธน์ พลวิชัย กรรมการและโฆษกคณะกรรมการสลากกินแบ่งรัฐบาล กล่าวว่า สลากกินแบ่งรัฐบาลฯ เรามีหน้าที่คัดกรองคนขายจริง และเรากำลังจะทำสลากฯ ดิจิทัล เขาไปขายในแพลตฟอร์มออนไลน์

ในขณะเดียวกัน ทีมของรัฐบาล ที่ตั้งโดย นายอนุชา นาคาศัย รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี และ ดร.เสกสกล (แรมโบ้อีสาน) จะมีการแบ่งสายออกเป็นหลายชุด เช่น ฝ่ายประชาสัมพันธ์ ปราบปราม เขาก็คงไปติดตาม แพลตฟอร์ม ที่นำสลากฯ มาขาย ที่ลงท้ายด้วย “.com” ว่ามีการขายเกินราคาหรือไม่ ซึ่งการไปตรวจสอบที่มังกรฟ้า วานนี้ก็เพื่อไปตรวจสอบและป้องปรามการขายสลากเกินราคา ซึ่งถือว่าอยู่ในแผนแก้ปัญหา “สลากฯ” ราคาแพง ไม่เกิน 80 บาท ในชุดทำงานของรัฐบาล แต่ “ไม่ใช่” ชุดกับทีมงานของ “สลากกินแบ่งรัฐบาล”

กองสลาก เดินหน้า 3 เรื่อง แก้ “สลากฯ” แพง

โฆษกกองสลาก บอกกับทีมข่าวเฉพาะกิจไทยรัฐออนไลน์ว่า สิ่งที่กองสลากฯ ทำในการแก้ปัญหา ประกอบด้วย 3 เรื่อง คือ....

1. จัดโควตา สลาก 80 บาท ให้คนขาย ขายได้ 25 เล่ม คือ 2,500 ใบ ผ่าน แอปฯ เป๋าตัง โดยมี 1,000 จุด ทั่วประเทศ โดยคัดเลือกในกรุงเทพฯ และภาคกลาง 228 จุด ใน 18 จังหวัด ก็จะขายแน่นอน คือ 2 พ.ค. โดยจะขยายให้ได้ 1,000 แห่ง โดยจะให้มีขายแผงละ 250 ใบ

2. การคัดกรองคนขายใหม่ ที่เป็นคนขายจริง เวลานี้อยู่ในขั้นตอน พิสูจน์ทราบ โดยแยกเป็น 2 กอง คือ 1. คนที่ลงทะเบียนไว้ก่อนปี 2558 มีจำนวน 130,000 คน เราจะพิสูจน์ทราบโดยมีการขอความร่วมมือไปยังผู้ว่าราชการจังหวัด และเจ้าหน้าที่ตำรวจไปตรวจสอบ ว่าเขามีสถานที่ขายจริงใช่หรือไม่

“เขาอาจจะต้องร่วมมือด้วยการแสดง คิวอาร์โค้ด ไปวางหน้าร้าน เพื่อประชาชนที่ไปซื้อไปสแกน โดยต้องมีประชาชนมาสแกน 100 คน เนื่องจากมี 500 ใบ ต้องแสดงให้เห็นว่ามีคนมาซื้อจริงๆ หมายความว่า เป็นการขายให้กับรายย่อย ไม่ใช่เป็นการขายช่วง หรือ ยกเล่ม หรือ ถ้าไม่มี คิวอาร์โค้ด ก็ใช้วิธีการจ่ายเงินผ่านเป๋าตัง จำนวน 200 คน หรือจะใช้ทั้ง 2 วิธี ผสมกัน อย่างละครึ่ง เช่น คิวอาร์โค้ด 50 คน จ่ายเงินผ่านเป๋าตัง 100 คน โดยจะมีการเริ่มตรวจเช็ก ตั้งแต่วันที่ 1 พ.ค. เป็นต้นไป โดยจะมีการตรวจสอบ 3 งวด คือพฤษภาคม-มิถุนายน”

นายธนวรรธน์ กล่าวว่า ที่ผ่านมา ผู้ขายสลากฯ รู้สึกว่า เขายังไม่พร้อมให้ประชาชนมาสแกนได้ ในงวด 16 มีนาคม จึงมีเหตุการณ์ประท้วงเกิดขึ้น (วันที่ 24 มี.ค.) ที่สำนักงานสลากฯ เขาเองกลัวว่าจะให้ประชาชนมาสแกนคิวอาร์โค้ดไม่ทัน ผู้ขายกลัวว่าจะตกสิทธิ์ ทางกองสลากฯ จึงขยายเวลาให้

2. คนที่ลงทะเบียนหลังปี 2558 หรือคนที่อยากจะขาย จำนวน 8.7 แสนคน ตอนนี้อยู่ในช่วงคัดกรอง โดยไม่มีคุณสมบัติต้องห้าม เช่น ไม่เป็นข้าราชการ ไม่เป็นพนักงานมนุษย์เงินเดือน หรือไม่อยู่ในมาตรา 33 เราต้องคัดกรอง คาดว่าจะมี 7 หมื่นคน เบื้องต้นคาดว่าการคัดกรองดังกล่าวอาจจะต้องใช้เวลา ซึ่งคาดว่าเร็วสุด น่าจะเสร็จ 1 กรกฎาคม

...

“สลากดิจิทัล” แผนพลิกเกมกองสลาก คนขาย ขายได้ทั่วประเทศ คนซื้อเลือกได้ไม่จำกัด

โฆษกกองสลาก กล่าวต่อว่า ข้อ 3 คือ สลากดิจิทัล อธิบายง่ายๆ คือ คล้ายกับที่เหล่า .com ที่นำสลากฯ ไปขายทำ วิธีการซื้อขาย ก็เหมือนกับการดูตามเว็บไซต์ทั่วไป สมมติว่าต้องการซื้อสลากฯ จากร้านนาย ก. ก็เสิร์ช ข้อมูลว่าร้านนาย ก. มีเลขอะไรขายบ้าง ฉะนั้น ในฐานะคนขายอย่างนาย ก. ก็สามารถขายเป็นใบก็ได้ ขายบนแพลตฟอร์มก็ได้ ยกตัวอย่างว่ามีโควตา 5 เล่ม เราอาจจะใส่ในแพลตฟอร์มทั้ง 5 เล่มก็ได้ หรือจะแบ่งเป็นขายในแพลตฟอร์ม 3 เล่ม ขายเป็นใบ 2 เล่มก็สามารถทำได้ ถ้าขายแบบนี้เท่ากับว่า นาย ก. ขายให้กับคนที่เดินผ่านไปมาหน้าร้านได้ นอกจากนี้ ยังขายให้คนทั้งประเทศได้ด้วย หรือสามารถเลือกเลขก็ได้...นี่คือ ข้อดีของคนขาย

ในฐานะคนซื้อ ก็สามารถเลือกเลขที่อยากได้ เช่น อยากได้ เลข 123456 ในระบบพบ 10 ใบ คุณอยากได้กี่ใบ ถ้าอยากได้ 10 ใบ กวาดหมดเลยก็ได้ จ่ายในราคา 80 บาท 10 ใบ 800 บาท แก้ปัญหาราคาสลากฯ ชุดแพง หากซื้อไปแล้ว ระบบก็จะบันทึกเลย ว่า นายคนนี้ เลขบัตรประชาชนนี้ได้ซื้อไปแล้ว มันจึงเข้าลักษณะ “เปลี่ยนมือไม่ได้” โดยสำนักงาน สลากฯ เป็นผู้การันตีให้ว่ามีการซื้อขายกันจริง

“เราจะนำเรื่องไปปรึกษากับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เบื้องต้นเชื่อว่า สามารถทำได้ทันที เพราะเป็นผลิตภัณฑ์เดิม คาดว่าจะออกมาได้ภายในวันที่ 2 พ.ค. นี้แน่นอน ซึ่งเราก็จะต้องประสานหน่วยงานที่เกี่ยวข้องและมีการสอบถามข้อมูลเพิ่มเติม”

...

ปัญหาของ แพลตฟอร์ม .com สลากฯ แพง สนับสนุนทำผิด เคยพบปัญหา เวียนเทียน “ลอตเตอรี่”

กองสลากฯ ใช้วิธีการนี้ ซึ่งเป็นวิธีการเดียวกับ แพลตฟอร์ม .com ? นายธนวรรธน์ อธิบายว่า สลากกินแบ่งรัฐบาลไม่ใช่คู่แข่งใคร เพราะไม่เคยสนับสนุนการซื้อขายในลักษณะนี้ สืบเนื่องจากกฎหมาย ระบุไว้ว่า “ห้ามขายเกินราคาที่กำหนด” ซึ่งกฎหมายระบุแค่นี้ ไม่เคยบอกด้วยว่า ใครเป็นยี่ปั๊ว ซาปั๊ว แต่ในระเบียบระบุไว้ว่า “คนรับสลากฯ” ต้องขายเอง ห้ามขายช่วง และอย่าเป็นต้นเหตุให้มีการขายเกินราคา ดังนั้น แพลตฟอร์ม .com จะเป็นการส่งเสริมให้คนขายผิดระเบียบ อีกทั้งเกือบทุกแพลตฟอร์มที่มีในขณะนี้ ส่งเสริมให้มีการขายเกินราคา

“ไม่มีของเอาไปขาย แล้วไปกว้านซื้อของในราคาที่แพง ก็ยิ่งทำให้สลากฯ ขายเกินราคา ซึ่งถือเป็นเรื่องที่ไม่ควรทำ ทำผิดเจตนารมณ์ แต่...มันไม่ได้ผิดกฎหมาย แต่เป็นสิ่งที่ไม่ควรทำในฐานของ จรรยาบรรณในการทำธุรกิจ คล้ายกับการส่งเสริมการกระทำผิด สำนักงานกินแบ่งรัฐบาล เราไม่ได้ตั้งใจทำแข่งกับใคร แต่ต้องการทำสิ่งที่ถูกต้องและถูกกฎหมาย เพราะสิ่งที่เราควบคุมไม่ได้เลย คือ “พฤติกรรม” ของคนขาย”

คำถามคือ ถ้าคนขาย ขายเอง รับไป 70.40 บาท ขายไป 80 บาท จะขายเกินราคาได้อย่างไร..? นอกจากคุณขายทำกำไรเอง กลับกัน เมื่อสลากกินแบ่งรัฐบาลบอกว่า งั้นไม่เป็นไร เราจะมาขายออนไลน์เอง ไม่จำเป็นต้องพึ่งพาคนขายก็ได้ เขาจะมองว่า เรากำลังทำร้ายพวกเขา... ฉะนั้น เราเองจึงพยายามทำให้เป็นประโยชน์กับประชาชนที่สุด ในระบบแพลตฟอร์ม เราเปิดให้คนขายมาฝากขาย เราไม่ได้ทำลายอาชีพเขา

“การคัดกรองคนขายจริงๆ เพื่อประโยชน์กับประชาชน แต่สำหรับคนขายช่วง คุณออกไปจากระบบได้ไหม เพราะประชาชนเดือดร้อน”

...

แนะประชาชน อย่าซื้อสลากฯ แพง หากซื้อแพงตามแพลตฟอร์ม แจ้งความ ได้รางวัลนำจับ

กองสลากฯ ในฐานะผู้ดูแลสลากฯ จะทำอย่างไรกับแพลตฟอร์มเหล่านี้... นายธนวรรธน์ กล่าวว่า เราเองไปทำหน้าที่ “กล่าวโทษ” และ “กล่าวหา” ประเด็นขายเกินราคาถูกทุกงวด สิ่งที่เป็นห่วงคือ 1. เขาใช้วิธีการสแกนสลากฯ เราไม่แน่ใจว่า เอกชนเหล่านี้มีสลากฯ อยู่ในมือหรือไม่ และขายให้คนกี่คน สมมติว่า เลข 123456 เขามีอยู่ 1 ใบ แต่เขาขายไปให้กับ 10 คน ถ้าสมมติ เลขนั้นกลายเป็นเลขรางวัลที่ 1 พอดี คนที่ซื้อเลขนั้นบางคนก็อาจจะไม่ได้เงินรางวัล ด้วยเหตุนี้ สำนักงานสลากฯ จึงดำเนินการ 2 กรณี คือ 1. กล่าวโทษ ว่าขายสลากฯ เกินราคา เป็นเรื่องที่ผิดกฎหมาย จะถูกลงโทษด้วยการปรับ ซึ่งบางแห่งเขายอมโดนปรับ เพราะเปรียบเทียบปรับเป็นเงินหลักหมื่นบาท แต่ได้เงินเป็นหลักแสนหลักล้าน

“ยืนยันว่า สิ่งที่ทำอยู่ ไม่ได้ผิดกฎหมาย ในเรื่องการนำสลากฯ ไปขาย เพราะถ้าผิดกฎหมาย ทางราชการไม่สามารถออกโดเมนให้ แต่สิ่งที่ผิด คือ การขายเกินราคา คือ เป็นความผิดในเชิงแพ่ง แต่ไม่ผิดอาญา และการจับปรับ เจ้าทุกข์ไม่ได้แจ้งความ ว่าเขาซื้อเกินราคา ถ้าสมมติว่าคนซื้อรักษาสิทธิ์ และอยากได้สลากฯ ในราคา 80 บาท ถ้ามีการซื้อเกินราคา และแจ้งความทุกกรณี คนที่แจ้งความจะได้เงินรางวัลนำจับ ยกตัวอย่างง่าย ถ้าเขาถูกปรับ 10,000 ได้รางวัลนำจับ 2,000 บาท ทุกคน ยังไง .com เหล่านี้ก็อยู่ไม่ได้ แต่สิ่งที่กองสลากฯ ทำได้ คือ แจ้งความจับก็ผิดแค่วาระเดียว แต่ถ้าคนซื้อรู้สึกว่าเกินราคา มีการแจ้งความ ก็เหมือนถูกเลขท้าย 2 ตัวเลย เพราะได้รางวัลนำจับ 2,000 บาท สมมติว่าเขาขายไป 1 ล้านคน เขาอาจจะเสียค่าปรับเป็นหมื่นล้าน แต่ประเด็นคือ เวลานี้ผู้ที่ซื้อสลากฯ มีความสุขกับเลขที่ได้ซื้อ และอาจจะมองว่าการซื้อสลากฯ เกินกว่า 80 บาท ไม่ได้เป็นสิ่งที่ทำร้ายอะไรมากมาย ซึ่งความเป็นจริง คือ เป็นการส่งเสริมการกระทำผิดกฎหมาย

สุ่มเสี่ยงต่อคดีอาญา และความฉ้อฉล

โฆษกกองสลาก กล่าวว่า ที่ผ่านมา เราพบว่ามีบางแพลตฟอร์ม มีความสุ่มเสี่ยงในความผิดคดีอาญา และฉ้อฉล โดยมีการจับกุมไปแล้ว กับผู้ให้บริการ แพลตฟอร์ม .com บางแห่ง เพราะพบว่า “ไม่มีสลากฯ” ในมือจริงๆ และมีการขายเวียนเทียนขายสลากฯ แบบนี้เรียกว่า “ฉ้อฉล”

เอาไหม..กองสลากฯ ขายออนไลน์

นายธนวรรธน์ กล่าวช่วงท้ายการสัมภาษณ์ว่า สิ่งที่เราทำในเวลานี้ เชื่อว่า ไม่สามารถแก้ปัญหาการขายเกินราคาได้ 100% เพราะตราบใด ที่ยังมีคนอยู่ในระบบ มันมีกลไกในการทำสลากฯ ไปขายช่วงได้อยู่แล้ว ฉะนั้น สิ่งที่แก้ปัญหาให้สะเด็ดน้ำ คือ เราต้องออกผลิตภัณฑ์ใหม่... โดยมีการซื้อขายผ่านระบบออนไลน์ หากสถานการณ์โควิด-19 ดีขึ้น หรือทางภาครัฐปรับให้โควิด กลายเป็นโรคประจำถิ่น ก็อาจจะเดินหน้ารับฟังความคิดเห็นจากประชาชน โดยเราหวังว่าจะมีการออกผลิตภัณฑ์ใหม่ เพื่อทำให้สลากฯ ขายได้ในราคา 80 บาท หากเรามีสลากฯ ขายในราคา 80 บาทได้ คนซื้อก็จะไม่ซื้อสลากฯ ที่เกินราคา หากสลากฯ ใบ ขายไม่ออก ราคาก็จะลดลง ซึ่งเราเองยังต้องรักษา “สลากฯ” เป็นใบอยู่ เพราะรักษาอาชีพของคนขาย แต่จะเอาสลากฯ ออนไลน์มาเป็นทางเลือก โดยเราจะรับฟังความคิดเห็นของประชาชน คาดว่าน่าจะเป็นปีหน้า ถ้าประชาชนเห็นด้วย เราก็อาจจะเสนอ รมว.คลัง ในการดำเนินการต่อไป และคาดว่าน่าจะได้ใช้จริงในปี 2566

“เวลานี้ แพลตฟอร์ม .com ที่มีการซื้อขายสลากฯ เหล่านี้ มีประมาณ 10 กว่าราย แต่จะมีมากน้อยเท่าใดไม่สำคัญ แต่มันเป็นการส่งเสริมการกระทำผิดกฎหมาย แม้ว่ากฎหมายนี้เป็นกฎหมายทางแพ่ง เพียงแต่การบังคับใช้กฎหมายนั้น จำเป็นต้องมีเจ้าทุกข์ หลักฐาน จะต้องมีกฎเกณฑ์ ดังนั้น กระบวนการลงโทษ การปรับ จึงไม่ค่อยเกิดขึ้น”

ถามว่า ควรจะมีหน่วยงานใดหน่วยงานหนึ่งมาช่วยดูแล หรือรับเรื่องร้องเรียนไหม โฆษกกองสลากฯ กล่าวติดตลกว่า “ถ้ามีตำรวจลอตเตอรี่ก็น่าจะดี (หัวเราะ) ซึ่งเรื่องแบบนี้จะว่าไปก็ถือว่าทำได้ยาก ยกตัวอย่างให้เห็นภาพ ตำรวจมีหน่วยที่เกี่ยวข้องกับยาเสพติด มีเงินในการล่อซื้อ และรางวัลนำจับ ถามว่า ยาเสพติดหายไปจากเมืองไทยไหม

ฉะนั้น การป้องปราม ต่อให้มีบทลงโทษประหารชีวิต ก็ทำได้ยาก แต่การแก้ปัญหาอย่างยั่งยืน เราต้องแก้ที่จุดตั้งต้น ถามว่ารู้วิธีไหม เชื่อว่าทุกคนก็รู้ ถามว่าทำยังไง ก็ให้คอมพิวเตอร์เป็นคนขาย ถามว่า คอมฯ จะขายสลากฯ เกิน 80 บาทไหม...เพราะคอมฯ ไม่รู้ว่าเลขไหนเป็นเลขเด็ดเลขดัง แต่เราทำแบบนั้นไม่ได้ เพราะกฎหมายไม่อนุญาต เราถึงต้องรับฟังความคิดเห็นก่อน... ถามว่า ถ้าผ่าน คิดว่าน่าจะมีประท้วงไหม...? ถามว่า ทำไมไม่จับ...แล้วจับทุกงวดได้ไหม จับทั้งประเทศได้หรือไม่ ฉะนั้น สำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาล จึงพยายามร่วมมือกับทุกหน่วยงานเพื่อทำให้ดีที่สุด

ทีมข่าวเฉพาะกิจไทยรัฐออนไลน์ รายงาน 

อ่านสกู๊ปที่น่าสนใจ