ตอนนี้คนป่วยโควิด-19 สายพันธุ์ “โอมิครอน” BA.1 กำลังถูกแทนที่ด้วย โอมิครอน สายพันธุ์ BA.2 หลังพบว่า สามารถแพร่กระจายได้เร็วกว่า สายพันธุ์ BA.1 ที่ว่า กระจายได้เร็วแล้ว แต่ BA.2 กระจายเร็วกว่า 1.4 เท่า

ส่งผลให้เวลานี้ มีคนติดโควิด รายวันเฉลี่ยมากกว่า 40,000 คน (รวม ATK) และติดรวมระลอกใหม่เกือบ 6 แสนคนแล้ว (ข้อมูลวันที่ 25 ก.พ. 65)

นพ.ประสิทธิ์ วัฒนาภา คณบดีคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวกับ ทีมข่าวเฉพาะกิจไทยรัฐออนไลน์ ประเมินสถานการณ์ในเวลานี้ว่า ตัวเลขคนป่วยที่พุ่งสูงในขณะนี้เป็นสิ่งที่คาดการณ์ไว้ และคิดว่า ตัวเลขอาจจะพุ่งสูงไปถึง 30,000 กว่าคน (RT-PCR) แต่จะไม่ทะลุ 50,000 คน เป็นไปตามที่เคยเกิดขึ้นในสหรัฐฯ และยุโรป ซึ่งเวลานี้เขาอยู่ในช่วงขาลงแล้ว ฉะนั้น “โอมิครอน” จะยังคงระบาดหนักต่อไปอีก และเชื่อว่าสัปดาห์ที่ 2 ของเดือนมีนาคม ตัวเลขผู้ป่วยน่าจะทรงตัว และตัวเลขจะลดลงในช่วงเดือนเมษายน

“สิ่งที่น่าเป็นห่วง คือ อัตราการเสียชีวิต เนื่องจากมีคนติดเชื้อเพิ่มขึ้น และคนที่จำเป็นต้องใช้เครื่องช่วยหายใจ เพิ่มขึ้น 2 เท่า มา 2 สัปดาห์แล้ว จาก 500 กว่าคน เวลานี้เพิ่มเป็น 900 กว่าคนแล้ว คนที่ใส่ท่อหายใจ จาก 100 คน ก็เพิ่มขึ้นเป็น 200 กว่าคน ฉะนั้น 2 ข้อดังกล่าว จะเป็นตัวบ่งชี้เรื่องความรุนแรงของโรค โดยตัวเลขผู้เสียชีวิตอาจเพิ่มขึ้น แต่จะไม่ขึ้นเยอะมาก เพราะความรุนแรงของโอมิครอน น้อยกว่าเดลตา”

...

หมอประสิทธิ์ เน้นย้ำอย่างหนักแน่นว่า คนที่น่าเป็นห่วง คือ คนที่ไม่ได้ฉีดวัคซีน และฉีดวัคซีนไม่ครบ 2 เข็ม และคนที่ฉีด 2 เข็ม แต่เว้นระยะไปนานเกิน 4 เดือนแล้ว เพราะภูมิคุ้มกันอาจจะลดลงแล้ว และเวลานี้เริ่มเจอคนกลุ่มนี้ติดมากขึ้นอย่างต่อเนื่อง รูปแบบตอนนี้ไม่แตกต่างจากในยุโรป คือ ติดเชื้อเยอะ แต่อัตราการตาย จะขึ้นชันน้อยกว่าการติดเชื้อ

วัคซีนเข็ม 3 สำคัญมาก ต่อการป้องกัน “โอมิครอน”

หมอประสิทธิ์ เผยต่อว่า เนื่องด้วยสายพันธุ์ BA.2 กระจายเร็วกว่าสายพันธุ์ BA.1 ถึง 33% ฉะนั้น แม้การป้องกันตัวเอง จะตั้งการ์ดสูงเหมือนเดิม แต่โอกาสติดมีมากกว่า ยกตัวอย่าง เราอาจจะถอดแมสก์เวลากินข้าวเท่านั้น แต่โอกาสติดก็มาจากตรงนี้ ซึ่งหากพบว่าติดจริงๆ ก็ให้รีบแจ้ง เพื่อที่จะควบคุมการกระจายได้ ซึ่งหนทางหนึ่งที่ช่วยให้ลดการกระจาย คือ การเร่งฉีดวัคซีน โดยเฉพาะเข็ม 3 เป็นสิ่งที่สำคัญจริงๆ”

หลายประเทศ ลดมาตรการ ป้องกันโควิด เดินหน้าขับเคลื่อนเศรษฐกิจ คณบดีคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล มองว่า การผ่อนคลายมาตรการของต่างประเทศ น่าจะ “เร็วเกินไป” เขาก็คำนึงเรื่องเศรษฐกิจ โดยเฉพาะประเทศในยุโรป อีกทั้งคนในยุโรปไม่ค่อยชอบใส่หน้ากากอนามัยอยู่แล้ว เมื่อพื้นฐานเดิมเป็นแบบนี้ และบางประเทศติดต่อวัน 40,000 – 50,000 ราย ก็ยังจะลดมาตรการเลย จึงมองว่า “เร็วเกินไป”

นพ.ประสิทธิ์ วัฒนาภา
นพ.ประสิทธิ์ วัฒนาภา

กลับมาที่บ้านเรา...ไม่ควรทำตามเขา เราไม่จำเป็นต้องรีบ “ช้าหน่อย ปลอดภัยกว่า” เพราะเราฉีดเข็ม 3 เพียง 26-27% ส่วนประเทศที่ผ่อนคลายอย่าง “สหราชอาณาจักร” เขาฉีดเข็ม 3 เกิน 50% ไปแล้ว การประเมิน ต้องดูทุกอย่าง จะดูแต่คนติดเชื้ออย่างเดียวไม่ได้ ต้องดูจำนวนคนที่ฉีดวัคซีนด้วย และต้องดูที่เข็ม 3 ด้วยเป็นสำคัญ

จากงานวิจัยจากสหรัฐฯ และหลายแห่งทั่วโลก รวมทั้งในประเทศไทย พบว่าการฉีดวัคซีน 2 เข็ม เมื่อผ่านไป 3 เดือน ระดับภูมิคุ้มกัน “ต่ำกว่า” การป้องกัน “โอมิครอน” ฉะนั้น หากฉีดเข็ม 2 แล้ว 3 เดือน ต้องมาฉีดเข็ม 3 โดยอาจจะฉีด แอสตราเซเนกา หรือวัคซีน mRNA ก็ได้ จะไฟเซอร์ หรือ โมเดอร์นา ก็ได้

...

หลังจากฉีดเข็ม 3 ไปแล้ว ตัวเลือกเข็ม 4 นั้น อยากแนะนำคนที่มีความเสี่ยงด้านสุขภาพ แต่สำหรับคนทั่วไป เราสามารถหยุดเข็มที่ 3 ได้ เพราะอีกไม่กี่เดือนข้างหน้า จะมีวัคซีนรุ่น 2 คนที่ฉีด 3 เข็มไปแล้ว รอไปฉีดวัคซีน รุ่น 2 ก็ได้

สำหรับ วัคซีนรุ่นที่ 2 เราจะได้ประมาณเมื่อไหร่ นพ.ประสิทธิ์ ระบุว่า เท่าที่ติดตาม รัฐบาลมีการสั่งซื้อไปแล้ว 120 ล้านโดส ผู้ผลิตวัคซีนก็กำลังเร่งผลิต เพราะยี่ห้อไหนออกก่อน ก็ขายได้

“วัคซีนรุ่น 2 ที่จะเข้ามา เราก็จำเป็นต้องดูผล และประสิทธิภาพในการต่อสู้กับ “โอมิครอน” เพราะวัคซีนรุ่น 1 เจอ โอมิครอน ก็ประสิทธิภาพลดลง ฉะนั้น หากเป็นรุ่นที่ 2 ต้องประกาศได้ว่าสามารถสู้กับโอมิครอนได้ดี คาดว่าหลังเมษายนก็น่าจะมีทยอยส่งวัคซีนรุ่น 2 กันแล้ว แต่ประเด็นเรื่อง “วัคซีน” เราคาดการณ์อะไรไม่ได้มากนัก”

“โควิด-19” กับเป้าหมาย “โรคประจำถิ่น”

“ผมเชื่อว่ารัฐบาลคงยังไม่ประกาศให้ “โควิด-19” เป็นโรคประจำถิ่นในเร็ววันนี้”

นพ.ประสิทธิ์ อธิบายว่า ความหมายของ “โรคประจำถิ่น” คือ โรคที่เจออยู่เป็นประจำ คาดการณ์สถานการณ์ได้ รู้ปัจจัยเสี่ยง ควบคุมได้ ลดความรุนแรงของโรคได้ และโดยทั่วไป ความรุนแรงของโรคที่ส่งผลต่อการเสียชีวิตจะไม่สูงนัก เช่น โรคไข้เลือดออก มักระบาดตอนหน้าฝน เรารู้วิธีป้องกัน คือ แก้ปัญหาแหล่งเพาะพันธุ์ยุงลาย แบบนี้ก็จะมาในทุกๆ ปี

แต่สำหรับ โควิด-19 ยังไม่ถือเป็น “โรคประจำถิ่นแน่นอน” เพราะ ยังมี “การกลายพันธุ์” และเรารู้เรื่องเกี่ยวกับ โอมิครอน มากเพียงพอแล้วหรือ พอมีการกลายพันธุ์เป็น BA.1 เราพอจะรู้เรื่อง BA.1 แล้ว มันกลายพันธุ์เป็น BA.2 และตัวเลขคนติด BA.1 ก็แทบไม่เหลือแล้ว กลายเป็นคนติด BA.2 แทน ฉะนั้น เราเองยังสามารถคาดการณ์ได้ไม่เต็มที่นัก

...

“ความเห็นผม ผมจะไม่พูดว่ามันจะกลายเป็นโรคประจำถิ่น แต่อาจเป็นเส้นทางสู่ปลายทางการแพร่ระบาด และอาจจะควบคุมได้ เมื่อถึงตอนนั้น ค่อยมาดูเรื่องการเป็น “โรคประจำถิ่น” หรือไม่”

เด็กป่วยโควิดมากขึ้น และผลกระทบจาก “ลองโควิด” 

เมื่อทีมข่าวฯ ถามถึง สถานการณ์โควิดในเด็ก และอาการ “ลองโควิด” นพ.ประสิทธิ์ บอกว่า เด็กติดโควิดส่วนมาก อาจจะป่วยไม่หนัก แต่ก็อยากแนะนำให้ฉีดวัคซีน เพราะที่ผ่านมา มีการติดโควิดในเด็ก แล้วเกิดอาการ “อักเสบ” ในหลายๆ อวัยวะ หรือ “ลองโควิด”

ในคนทั่วไปเราพบคนป่วย “ลองโควิด” 15-30% และบางคนก็มีอาการหนัก ซึ่งเราพบว่า มีเคสคนที่เป็นนักกีฬาของสหราชอาณาจักร เป็นลองโควิด พอหายแล้ว ร่างกายกลับมาไม่เหมือนเดิม กล้ามเนื้อไม่สามารถทำงานได้เหมือนเดิม แปลว่า โอกาสที่เขาจะทำลายสถิติเดิมคงจะยาก

ที่ผ่านมา มีเคสล่าสุด มีรายงานว่าเด็กป่วย “ลองโควิด” แล้วเสียชีวิต หมอประสิทธิ์ กล่าวว่า อาการลองโควิดในเด็ก ที่ร้ายแรงถึงขั้นเสียชีวิตนั้น ส่วนมากเด็กจะมีโรคประจำตัวอยู่ก่อน เช่น ป่วยโรคหัวใจ เมื่อโดนจู่โจมด้วยไวรัส ก็มีโอกาสเสียชีวิต นี่คือ หลักการว่าทำไมเราต้องเร่งฉีดวัคซีนให้กับเด็กที่มีอาการป่วยก่อน

...

ส่วนที่บอกว่ามีอาการไข้สูง ตรงนี้เชื่อว่าอาจจะไม่ใช่ “ลองโควิด” ก็ได้ เด็กอาจจะป่วยด้วยโรคอื่น “ลองโควิด” คืออาการอะไรก็ได้ที่ผิดปกติ หลังจากตรวจโควิดไม่เจอแล้ว บางคนมีอาการอ่อนแรง มึนหัวตลอดเวลา หายใจไม่อิ่ม แต่ถ้าบอกว่า มีไข้สูง เกรงว่าจะเป็นอาการอื่นที่แฝงเข้าไปจากอาการ “ลองโควิด” ซึ่งคงต้องชันสูตรอย่างละเอียด ไม่งั้นเราจะวินิจฉัยได้สับสน

ทำไมบางคนติดโควิด บางคนไม่ติดโควิด ทั้งที่อยู่ใกล้ชิดกัน

กับคำถามที่หลายคนสงสัย ว่าทำไม บางคนติดโควิด บางคนไม่ติดโควิด ทั้งที่อยู่บ้านเดียวกัน หรือใกล้ชิดกัน หมอประสิทธิ์ บอกว่า เรื่องนี้อธิบายได้ 2 ข้อ คือ...

1. ภูมิคุ้มกันไม่เท่ากัน โดยยกตัวอย่างว่า บางคนฉีดมาแล้ว 3-4 เดือน แต่บางคนเพิ่งฉีดวัคซีนเข็ม 3 มา โอกาสติดเชื้อก็จะน้อยกว่าคนแรก

2. ปริมาณการติดเชื้อ (Viral load) ไม่เท่ากัน เนื่องจาก ปัจจุบันเราไม่ได้ตรวจ RT-PCR กันทุกคน ซึ่งถ้าตรวจแบบนี้ เราจะรู้ว่ามีไวรัสมากน้อยขนาดไหน แต่สำหรับ โอมิครอน เราพบว่า ความสัมพันธ์ อาจจะไม่เชื่อมโดยตรงกับปริมาณ จึงไม่มีการวัดผลในเรื่องนี้มากนัก อย่างไรก็ดี หากอยู่บ้านเดียวกัน แต่บางคนภูมิยังสูงอยู่ ก็อาจจะพอป้องกันได้ แต่ถ้าบางคนภูมิลดลง ใช้ของใช้ร่วมกันโดยไม่ระวัง โอกาสติดก็เยอะ ซึ่งปรากฏการณ์แบบนี้เจอมาหมดแล้ว คือ ป่วยติดทั้งครอบครัว หรือบางครอบครัวติดแค่ 1-2 คน ถ้าเจอกันแค่นี้รู้ก่อน ก็สามารถแยกกันได้

ผู้เขียน : อาสาม 

กราฟิก : Theerapong C.

อ่านสกู๊ปที่น่าสนใจ