ความขัดแย้งที่มีจุดเริ่มต้นมาจากคดีโจรกรรมเพชรมูลค่ามหาศาล จนนำไปสู่การอุ้มฆ่านักธุรกิจและนักการทูตชาวซาอุดีอาระเบีย กระทั่งลุกลามกลายเป็นความขัดแย้งถึงขั้นตัดความสัมพันธ์ทางการทูตระหว่างไทยและซาอุดีอาระเบีย ที่กินระยะเวลามายาวนานกว่า 30 ปี

ได้เดินทางมาถึง “จุดเปลี่ยนครั้งสำคัญ” เมื่อ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เดินทางไปเยือนประเทศซาอุดีอาระเบียอย่างเป็นทางการ ระหว่างวันที่ 25-26 ม.ค.2565 ตามคำเชิญของเจ้าชายมุฮัมมัด บิน ซัลมาน บิน อับดุลอะซีซ อัลซะอูด มกุฎราชกุมาร รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมแห่งราชอาณาจักรซาอุดีอาระเบีย

อะไรคือ “รอยทาง” ก่อนมาถึง “จุดเปลี่ยนครั้งสำคัญนี้” และก้าวต่อไปในอนาคตระหว่างไทยและซาอุดีอาระเบีย จะเป็นอย่างไร ในวันนี้ ทีมข่าวเฉพาะกิจไทยรัฐออนไลน์ ได้สอบถามความเห็นและการวิเคราะห์ จาก ศ.ดร.จรัญ มะลูลีม อาจารย์คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และนักวิชาการผู้เชี่ยวชาญด้านตะวันออกกลาง และ นายกษิต ภิรมย์ อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศไทย เพื่อหา “คำตอบ” ร่วมกันในประเด็นต่างๆ สำหรับในตอนแรกนี้

เอาล่ะ...“เรา” ค่อยๆ ไปร่วมรับฟังการวิเคราะห์เหล่านั้นด้วยกันดีกว่า!

ไทย-ซาอุดีอาระเบีย EP.1 จากความขัดแย้งสู่ศักราชใหม่

...

ความขัดแย้งในอดีตก่อนการรื้อฟื้นความสัมพันธ์ 

“ในความเป็นจริงแล้ว ประเด็นปัญหาความขัดแย้งระหว่างไทยและซาอุดีอาระเบีย เท่าที่ผมได้เคยพูดคุยกับเจ้าหน้าที่ระดับสูงของซาอุดีอาระเบีย ทราบว่า ทางซาอุดีอาระเบีย ติดใจเรื่องประเด็นปัญหาการอุ้มฆ่านักการทูตและนักธุรกิจของซาอุดีอาระเบียมากกว่าประเด็นเรื่องการโจรกรรมเพชรเสียอีก”

ศ.ดร.จรัญ มะลูลีม อาจารย์คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

“ปัญหาการทำงานของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ในคดีอุ้มฆ่านักการทูตและนักธุรกิจของซาอุดีอาระเบีย ดูจะเป็นประเด็นสำคัญของเรื่องนี้”

นายกษิต ภิรมย์ อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ

ไทย-ซาอุดีอาระเบีย EP.1 จากความขัดแย้งสู่ศักราชใหม่

อะไรคือปัจจัยสำคัญที่นำไปสู่การรื้อฟื้นความสัมพันธ์ 

ศ.ดร.จรัญ มะลูลีม วิเคราะห์ประเด็นนี้ว่า :

“การบรรจบกันของแม่น้ำสองสาย ความพยายามของรัฐบาลไทย และการปรับนโยบายของซาอุดีอาระเบีย”

ปัจจัยที่หนึ่ง ตลอดระยะเวลา 30 กว่าปีที่ผ่านมารัฐบาลไทย ได้ใช้ความพยายามเพื่อปูทางไปสู่การขอรื้อฟื้นความสัมพันธ์กับทางซาอุดีอาระเบียให้กลับมาอยู่ในระดับปกติมาเนิ่นนานแล้ว ซึ่งโดยมากมักจะใช้โอกาสในระหว่างการเข้าร่วมประชุมกรอบความร่วมมือเอเชีย หรือ ACD (Asia Cooperation Dialogue) รวมถึง การประชุมองค์การความร่วมมืออิสลาม หรือ OIC (Organisation of Islamic Cooperation) ซึ่ง มีผู้แทนระดับสูงของซาอุดีอาระเบียเข้าร่วมด้วยในหลายๆ ครั้งที่ผ่านมา เพื่อหาทางผสานรอยร้าวภายใต้ความช่วยเหลือของมิตรประเทศโลกมุสลิม อย่าง อินโดนีเซีย และบาห์เรน

ปัจจัยที่สอง น่าจะเป็นเพราะความจำเป็นของซาอุดีอาระเบียที่พึ่งพาน้ำมันเป็นรายได้หลักของประเทศ เริ่มตระหนักได้ว่า ทรัพยากรอันมีค่าของพวกเขากำลังจะหมดลง จึงต้องเริ่มต้นมองหาแหล่งรายได้ใหม่ โดยเฉพาะจากการค้าขาย และการลงทุนทั้งในและนอกประเทศ เพื่อนำพาประเทศไปสู่ความเปลี่ยนแปลงตามนโยบาย Vision 2030

“ช่วง 6 ปีหลังสุดมานี้ ซาอุดีอาระเบียส่งสัญญาณการตอบรับที่ดีขึ้นมาให้กับทางฝ่ายรัฐบาลไทยโดยตลอด ด้วยเหตุนี้การเดินทางไปเยือนซาอุดีอาระเบียของนายกรัฐมนตรีจึงไม่ใช่การเดินทางไปแบบกะทันหันอย่างแน่นอน”

กษิต ภิรมย์
กษิต ภิรมย์

มุมมอง นายกษิต ภิรมย์ :

“ในความเห็นส่วนตัว ผมคิดว่าน่าจะมาจาก สามประเด็นใหญ่ๆ คือ ข้อแรกความเป็นราชอาณาจักรเหมือนกัน ข้อสอง มิตรประเทศสำคัญในโลกมุสลิมของไทยอย่าง บาห์เรน น่าจะมีบทบาทที่สำคัญมากๆ ในการทำหน้าที่เป็นตัวเชื่อมความสัมพันธ์ระหว่างไทยและซาอุดีอาระเบียในครั้งนี้ และข้อสาม เป้าหมายเรื่องการลงทุนด้านธุรกิจพลังงานร่วมกันในอนาคต โดยเฉพาะที่นิคมอุตสาหกรรมอิสเทิร์นซีบอร์ด”

...

นัยสำคัญในระหว่างการเดินทางเยือนซาอุดีอาระเบียของนายกรัฐมนตรี 

มุมมอง ศ.ดร.จรัญ มะลูลีม :

พิธีการต้อนรับในแบบรัฐพิธี :

พิธีการที่ทางการซาอุดีอาระเบีย ให้การต้อนรับ นายกรัฐมนตรี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ถือเป็นพิธีการในระดับรัฐพิธี และไม่ยิ่งหย่อนไปกว่าพิธีต้อนรับเมื่อครั้งที่ นายโดนัลด์ ทรัมป์ ประธานาธิบดีสหรัฐฯ เดินทางเยือนซาอุดีอาระเบียก่อนหน้านี้เลยก็ว่าได้

สังเกตได้จาก 1. มีพิธีรำดาบโบราณ และการใช้ไม้กำยานหอมมาใช้ในการต้อนรับ 2. มีพิธีสวนสนาม 3. มีบุคคลสำคัญๆ ของซาอุดีอาระเบียมาปรากฏตัวเพื่อให้การต้อนรับด้วยตัวเอง

ซึ่งทั้งหมดที่กล่าวมานี้ในโลกอาหรับ ถือเป็นการให้เกียรติอย่างสูง และใช้สำหรับการต้อนรับบุคคลสำคัญเท่านั้น

นายกษิต ภิรมย์ วิเคราะห์ประเด็นนี้ว่า :

ตามธรรมเนียมพิธีการทางการทูต หากเป็นการเชิญในนามรัฐบาลซาอุดีอาระเบีย ย่อมต้องถือว่าเป็นการเชิญนายกรัฐมนตรีอย่างเป็นทางการ นอกจากนี้ การที่เจ้าชายมุฮัมมัด บิน ซัลมาน บิน อับดุลอะซีซ อัลซะอูด มกุฎราชกุมาร เสด็จฯ มาให้การต้อนรับนายกรัฐมนตรี ย่อมต้องถือว่าเป็นการแสดงการให้เกียรติในระดับสูงอีกเช่นกัน

ศ.ดร.จรัญ มะลูลีม
ศ.ดร.จรัญ มะลูลีม

...

สิ่งที่รัฐบาลไทยควรทำ หลังการเริ่มศักราชใหม่ด้านความสัมพันธ์ 

ศ.ดร.จรัญ มะลูลีม :

“ผมคิดว่าหลังจากนี้ เขาน่าจะยังติดตามผลความคืบหน้าในคดีการอุ้มฆ่านักการทูตและนักธุรกิจของซาอุดีอาระเบียอยู่ แต่คงจะไม่ถึงขั้นให้มาบดบังการเปิดศักราชใหม่ของความสัมพันธ์ที่กำลังจะเริ่มต้น”

อย่างไรก็ดีรัฐบาลไทย ยังต้องแสดงออกถึงความพยายามและความจริงใจ ในกระบวนการสอบสวนคดีนี้และรายงานให้ฝ่ายซาอุดีอาระเบียได้รับทราบความคืบหน้าด้วย แม้ว่าในท้ายที่สุดเราอาจจะไม่สามารถหาจุดจบของคดีนี้ได้ เพราะผ่านเวลามาเนิ่นนานแล้วก็ตาม รวมถึงยังต้องพยายามรักษาความสัมพันธ์ที่ได้คืนกลับมานี้ให้ดำรงอยู่ตลอดไปให้ได้ด้วย

ไทย-ซาอุดีอาระเบีย EP.1 จากความขัดแย้งสู่ศักราชใหม่

นายกษิต ภิรมย์ :

“แม้ว่าจะมีการปรับความสัมพันธ์กันแล้ว แต่ไทยเรายังคงมีพันธกรณีในเรื่องการให้คำตอบเกี่ยวกับคดีอุ้มฆ่านักการทูต และนักธุรกิจของซาอุดีอาระเบียอยู่ ด้วยเหตุนี้จึงเป็นหน้าที่ของสำนักงานตำรวจแห่งชาติที่จะต้องตระหนักถึงความสำคัญในเรื่องนี้ให้มากยิ่งขึ้น”

...

อย่างไรก็ดี อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ได้ทิ้งท้ายในประเด็นนี้ไว้อย่างน่าสนใจว่า โอกาสในการฟื้นความสัมพันธ์ที่ได้รับมาในครั้งนี้จะยั่งยืนได้ยาวนานหรือไม่ มันไม่ได้ขึ้นอยู่กับรัฐบาลฝ่ายเดียว แต่มันต้องขึ้นอยู่กับทั้งภาคการเมือง และภาคราชการไทยด้วยว่า จะมองเห็นผลประโยชน์โดยรวมของประเทศเป็นที่ตั้งได้มากน้อยแค่ไหนด้วย

ติดตามการวิเคราะห์ใน EP.2 ได้ในวันพรุ่งนี้...

ทีมข่าวเฉพาะกิจไทยรัฐออนไลน์ รายงาน

อ่านสกู๊ปที่น่าสนใจ