เป็นอีกเรื่องราวดีๆ ที่ ทีมข่าวเฉพาะกิจไทยรัฐออนไลน์ ได้พานพบ กับ ชายหนุ่มที่ชื่อ “ไผ่ ภาณุวัฒน์ มหาดไทย” เกษตรกรหนุ่ม วัย 42 ปี ที่หันหลังให้กับความวุ่นวายในเมืองหลวง กลับบ้านเกิดมา จ.สระบุรี ใช้ที่ทางของครอบครัว มาสร้าง “เกษตรอินทรีย์” ปลูกเมลอน และ ราชินีผัก “เคล” ปลอดสารพิษ

ด้วยความตั้งใจแต่ไร้เงินทุน “ไผ่” ถูกมองว่าเป็นคน “เหยียบขี้ไก่ไม่ฝ่อ” และถูกปรามาสว่าจะไปไม่รอด จากคำถามที่คล้ายกับคำดูแคลน เกษตรกรหนุ่ม อดีตช่างซ่อม และเซลล์ บริษัท เครื่องถ่ายเอกสาร จึงคิดในใจว่า “กูจะทำให้มึงดู”

ไผ่ ภาณุวัฒน์ เจ้าของ “ไร่ปรารถนา” บอกว่า ชีวิตทำงานในกรุงเทพฯ มากว่า 20 ปี แทบไม่มีเงินเหลือเก็บเลย เงินเดือนที่มีหมดไปกับค่าใช้จ่ายในชีวิตประจำวัน เงินเดือนสูงแค่ไหน ก็ไม่เหลือ เงินที่มีเหลืออยู่ในบัญชี ประมาณเกือบ 4 หมื่นบาท จึงตัดสินใจกลับบ้าน มาทำเกษตร ซึ่งความโชคดี คือเราเกิดในครอบครัวเกษตรอยู่แล้ว แม่มีที่ดินจำนวนหนึ่ง จึงแบ่งพื้นที่ให้ 3 ไร่ ไว้ปลูกสิ่งที่เราอยากทำ

...

อดีตช่าง บริษัทเครื่องถ่ายเอกสาร กล่าวว่า ตอนที่เริ่มทำใหม่ๆ เมื่อ 3 ปีที่แล้ว ก็มีคำถามว่า

“จะปลูกอะไร...จะขายให้ใคร จะทำได้เหรอ”

ด้วยที่บ้านอยู่ไกลชุมชน แหล่งน้ำก็ไม่มากนัก คนเขาก็มองว่าเราไม่เคยทำอาชีพนี้มาก่อน เติบโตอยู่โคราช ทำงานอยู่กรุงเทพฯ ฟังแล้วรู้สึกเจ็บช้ำในใจมาก เหมือนกลายเป็นคนเหยียบขี้ไก่ไม่ฝ่อ ได้แต่คิดในใจ “กูจะทำให้มึงดู”

ไผ่ ภาณุวัฒน์ บอกว่า ก่อนที่จะทำจริงๆ จังๆ เคยทดลองปลูก “เมลอน” มาก่อน ซึ่งตอนนั้นก็ได้ผลผลิตดี แต่...มีเหตุให้ต้องกลับไปทำงานที่กรุงเทพฯ กระทั่ง เมื่อ 3 ปีก่อน ตัดสินใจเด็ดขาดว่าจะปลูกพืช ก็ลาออกทันทีแบบไร้แบบแผน และค่อยเริ่มลงมือทำ

“ผมเลือกปลูก “เมลอน” สายพันธุ์คิโมจิ เพราะเป็นสายพันธุ์ขึ้นชื่อของคันไซ และสามารถปลูกในประเทศไทยได้ ส่วนพืชผักที่เลือกอีกชนิดก็คือ “ผักเคล” เพราะเป็นผักที่มีราคาดี”

การที่เลือกปลูกเมลอน กับ ผักเคล เพราะเป็นพืชที่ใช้น้ำไม่มาก เพราะที่ดินที่เราปลูกน้ำไม่เยอะเท่าไร อีกทั้งน้ำก็มีราคา ดังนั้น เราจึงคิดว่าปลูกอะไรก็ได้เพื่อให้ได้ผลผลิตตอบแทนที่ดีต่ออัตราการใช้น้ำ

เช่น หากปลูก “ฟักทอง” ใช้น้ำเท่ากับ “เมลอน” แต่อัตราราคาที่ขายจะสู้เมลอนไม่ได้ ฉะนั้น เราจึงต้องคิดถึงการใช้ประโยชน์ของน้ำที่คุ้มค่าที่สุด

เมลอน เราขายลูกละ 180 บาท เราส่งให้กับลูกค้าถึงที่ โดยใช้เวลาประมาณ 1 วัน ค่าส่งลูกค้าจะเป็นผู้ออกค่าใช้จ่าย “เมลอน” ของเรา จะต้องสั่งจอง ลูกค้าคนไหน อยากให้สลักชื่อให้

“สิ่งที่เราทำ คือ อยากบอกให้รู้ว่า “เมลอน” ลูกนี้เป็นของคุณและมีลูกเดียวในโลก และเราจะให้ความใส่ใจและดูแลเป็นพิเศษ”

ส่วนผักเคล ก็เป็นผักที่มีราคาค่อนข้างสูง กิโลกรัมละ 400 บาท เราเลือกที่จะขายเป็นขีด ขีดละ 40 บาท ซึ่งก็มีลูกค้าสั่งจองเข้ามาตลอด 

เคล็ดไม่ลับ ปลูก “ผักเคล” และ “เมลอน”

สำหรับการปลูกผักเคล นั้น “ไผ่” ได้เผยเคล็ดลับว่า จุดเด่นของผักเคล ในไร่เรา จะมีรสชาติไม่ขม เพราะเราปลูกแบบไร้สารพิษ ใช้ปุ๋ยหมักจากมูลวัว ที่พิเศษไปกว่านั้น จะใช้นมวัวมาเป็นส่วนผสมด้วย จากนั้นก็นำมาฉีดในช่วงเย็น เพื่อเพิ่มความกรอบ หากเติบโตพร้อมขาย เราก็จะมาตัดผักในตอน 7 โมงเช้า

...

ที่มาการตัดผักเคลก่อน 7 โมงเพราะ ผักที่จะมีรสชาติดี จะต้องตัดในช่วง 07.30-08.00 น. เนื่องจากผักจะสังเคราะห์แสงช่วง 8 โมงเช้าเป็นต้นไป โดยจะดึงธาตุอาหารต่างๆ ในดินขึ้นไปบำรุงต้น บำรุงใบต่างๆ ดังนั้น หากเราตัดผักหลัง 8 โมงเช้า เมื่อธาตุอาหารถูกเลี้ยงขึ้นไป จนถึงใบ มีการสร้างคลอโรฟิลล์ สังเคราะห์แสง เมื่อกินเข้าไปจะทำให้มีกลิ่นหืนของปุ๋ย ธาตุอาหารต่างๆ แต่ถ้าเราตัดก่อน ก็จะไม่ขม ไม่เหม็นเขียว

ส่วนเมลอนเป็นพืชกินผล ดูแลยาก บางแห่งไม่ได้ปลูกในโรงเรือนก็ต้องโหมใช้ยาฆ่าแมลงอย่างหนัก แต่ไร่เราปลอดยา โดยเฉพาะอย่างยิ่งในยุคนี้ คนหันมาดูแลสุขภาพมากยิ่งขึ้น เน้นออร์แกนิก ถ้ายังใช้ของเหล่านั้นอยู่ยังไงเราก็สู้ที่อื่นไม่ได้แน่นอน

“เราคิดว่าทำน้อยให้ได้มาก แล้วทำให้ลูกค้ากลับมาหาเราซ้ำๆ ไม่ใช่ว่าเราทำมากแล้วขายได้น้อย ขายครั้งเดียวแล้วลูกค้าหาย เราจะไม่ทำ”

เริ่มต้นไม่ง่าย พอยืนได้ ชีวิต “สโลว์ไลฟ์” ทำงานวันละ 4 ชั่วโมง

เกษตรกรหัวก้าวหน้า ยอมรับว่า การเริ่มต้นเป็นเกษตรกรนั้นไม่ง่าย สิ่งที่ต้องมีคือ “ความรู้” ซึ่งเราก็ศึกษาจากสื่อต่างๆ เช่น ยูทูบ นอกจากนี้ ต้องเป้าหมายให้ชัดเจน พร้อมที่จะทนความลำบาก อย่าเอาเงินเป็นที่ตั้ง

...

“ผมปลูกเมลอน ได้ 2 โรงเรือน ได้โรงเรือนละประมาณ 240 ลูก ขายลูกละ 180 จะได้เป็นเงิน 4 หมื่นกว่าบาท เมลอน จะออกผลทุก 3 เดือน ฉะนั้นแปลว่า ผมยังไม่ได้เงินทุกเดือน ดังนั้น เป้าหมายของผม คือการเพิ่มผลผลิตอีก 1 โรงเรือน เราก็จะได้เงิน จากการขายเมลอน ทุกเดือน”

แต่การทำงานทุกอย่าง เราไม่ควรมองแต่ความสำเร็จ อย่าคิดแต่สักจะทุ่มเงินลงไป เพราะมีอัตราความเสี่ยง ความเสียหายที่อาจจะเกิดขึ้น แม้จะมีใจมีความรู้ แต่...เราก็เห็นหลายคนที่คิดอยากทำ สุดท้ายไม่สำเร็จก็มี บางคนท้อกลับกรุงเทพฯ บางคนใช้เงิน เอาความสบายเป็นที่ตั้ง แต่ไม่วางแผนมันก็อาจจะอยู่ไม่ได้

เกษตรกรหนุ่ม บอกเคล็ดลับว่า เวลาคิดจะทำเกษตร เราต้องคิดแผนไว้ล่วงหน้า คือ เราจะปลูกอะไร ปลูกเพื่อขายใคร แปรรูปได้หรือไม่ แผนการตลาดเป็นอย่างไร

“ผมใช้เวลา 3 ปี (ก่อนโควิด) มาทำ ตอนนี้แผนผมอยู่ที่ประมาณ 30% เท่านั้น รายได้เราก็ไม่ได้เยอะมาก เรียกว่า “พออยู่ได้” รวมจากการขาย ผักเคล เมลอน และไม้ด่าง ก็ประมาณเดือนละ 3 หมื่นกว่าบาท แต่สิ่งที่ได้กลับมาคือ เวลา และความสุข ทุกวันนี้ผมทำงานแค่วันละ 3-4 ชั่วโมง ตื่นเช้ามาดูแลผลผลิต จากนั้นก็มีเวลาว่าง รายได้ไม่มาก แต่ไม่มีค่าใช้จ่ายอะไร กลับกัน เมื่อก่อนทำงานที่กรุงเทพฯ เงินเดือน 2 หมื่นกว่าบาท แทบไม่เหลือเก็บเลย ผมทำงานมา 20 ปี มีเงินไม่ถึง 40,000 บาท มาเริ่มต้นทำอาชีพเกษตร”

...

อาชีพเกษตร สอนให้เติบโต รับผิดชอบมากขึ้น

การเป็น “เกษตรกร” ในวันนี้ ทำให้ “ไผ่ ภาณุวัฒน์” เติบโตมากขึ้น เมื่อก่อนเป็นลูกจ้างเขา โดนเจ้านายด่า ก็เถลไถล ไปนู้นนี่บ้าง ยังไงเงินเดือนก็ออก แต่เมื่อมาทำตรงนี้ เราเป็นเจ้าของกิจการ เราต้องรับผิดชอบชีวิตตัวเองเต็มๆ ทำให้เราเติบโตขึ้น จริงจังกับชีวิตมากขึ้น เป้าหมายก็เติบโตขึ้นด้วย

“ตอนที่ลงมือทำ “ความล้มเหลว” ไม่อยู่ในหัวผมเลย เราคิดเพียงอย่างเดียวจะปลูกพืชผลให้มันขึ้น จะผสมเกสรอย่างไรให้มันติด โจทย์เรามีแค่นี้ ไม่เคยมีอยู่ในสมองเลยว่าปลูกแล้วจะขายไม่ได้ ด้วยความโชคดี คือมีเพื่อนคอยซัพพอร์ต เริ่มต้นก็หาเมล็ดพันธุ์มาให้ปลูก

โชคดีมีเพื่อนสมัยบวชเรียนด้วยกันคอยซัพพอร์ตในหลายๆ เรื่อง มันก็เลยทำให้มองข้ามกับคำว่า “ทำไม่ได้”

หมดปัญหากับเมนูไข่ กินได้ทุกวัน จนเหลือแจก
หมดปัญหากับเมนูไข่ กินได้ทุกวัน จนเหลือแจก

โซเชียลฯ ทำให้มีตัวตน “ความประทับใจ” ทำให้ขายได้

เกษตรกรหนุ่ม เผยว่า เวลานี้ เราขายผลผลิตทางออนไลน์ และโซเชียลมีเดีย เป็นหลัก เริ่มแรกอาจจะขายให้เพื่อน แล้วเพื่อนบอกต่อ ตอนแรก เมลอนออกผล 200 ลูก แต่ขายจริงๆ 130 ลูก ที่เหลือแจกหมด เพราะมั่นใจว่าของเราดี ปลอดยาฆ่าแมลง 100% ถ้าในกรุงเทพฯ ก็เหมือนกับการปลอกให้ชิมในตลาดในห้างนั่นแหละ เราไม่เสียดายของเลย คล้ายๆ ว่าเปิดตลาด พอกินครั้งแรกเขาชอบกันก็บอกปากต่อปาก จนทุกวันนี้ไม่พอขาย มีจองข้ามรุ่นไปแล้ว”

ทุกวันนี้ขายออนไลน์ ไม่ได้วางขาย เราโพสต์ขายในเพจเฟซบุ๊ก และโชคดีที่โซเชียลเห็นกันแพร่หลาย ยิ่งเราทำอะไรแล้วมีตัวตน คนก็จะเชื่อถือ ไม่ใช่จู่ๆ เอาไปวางขาย แล้วคนอื่นไม่รู้ที่มาที่ไปมันก็ขายยาก อีกทั้ง เราเคยเป็นช่างและเซลล์มาก่อนสมัยทำงานอยู่ที่กรุงเทพฯ พอลาออกจากงานมา เราก็ตั้งโจทย์ว่า ต้องการความปลอดภัยในการบริโภคต้องการความประทับใจ เราก็ใส่ตรงนั้นเข้าไปเพื่อให้ลูกค้าพอใจกับสิ่งที่เราทำให้เขา

ผักสวนครัวปลูกไว้กิน และแจกเพื่อนบ้าน
ผักสวนครัวปลูกไว้กิน และแจกเพื่อนบ้าน

คำแนะนำ สำหรับคนรุ่นใหม่ เป้าหมายต้องชัด ทำอะไรต้องวางแผน

สำหรับคนรุ่นใหม่ ที่อยากเป็นเกษตรกร นายภาณุวัฒน์ แนะนำว่า ก่อนที่จะออกจากงานประจำต้องมีการวางแผนให้ดีเสียก่อน อย่าทำแบบเรา ที่ออกแบบไม่มีแผน ฉะนั้น หากอยากทำเกษตรจริงๆ ต้องศึกษาข้อมูลให้ดีก่อน ว่าอยากทำอะไร ตั้งเป้าจะปลูกพืชชนิดไหน หาความตั้งใจที่แน่วแน่ก่อน อย่าทำโดยเห็นแบบอย่างคนอื่นทำแล้วดี ถ้าคิดแบบนี้อาจจะล้มได้

อีกเรื่องหนึ่งคือ การเป็นเกษตร ใช่ว่าจะอยู่สบาย โดยมองความสำเร็จจากคนอื่น ซึ่งความจริง กว่าจะเริ่มมาขนาดนี้ เราต้องรู้จักดินทุกก้อน การขุดดินแต่ละก้อน ใช้กำลังกายเยอะ และการทำเกษตรก็มีโอกาสเสี่ยงเรื่องผลผลิตด้วย อย่าคิดตรงๆ ว่า ปลูกโรงเรือนละ 40,000 จะได้ 40,000 ทุกเดือน.

ทีมข่าวเฉพาะกิจไทยรัฐออนไลน์ รายงาน 

อ่านสกู๊ปที่น่าสนใจ