ช่อง 3 เผชิญกับสถานการณ์เรตติ้งหายตลอด 3 ปีที่ผ่านมา ขาดทุนอย่างที่ไม่เคยเจอมาก่อน จนต้องลดพนักงาน แต่ปี 2564 กำไรเริ่มกลับคืนมาแล้ว
ช่อง 3 ผ่านจุดต่ำสุดมาแล้ว และหวังว่าวิกฤตินั้นจะไม่รีรันกลับมาอีก เพราะพลิกกลยุทธ์การทำธุรกิจทีวีอย่างชัดเจน หลัง “สุรินทร์ กฤตยาพงศ์พันธุ์” รีเทิร์นช่อง 3
แผนปี 2565 ต่อเนื่องจากปี 2564 ที่ช่อง 3 ลุยส่งออกละครไปต่างประเทศเพื่อเพิ่มรายได้ และปีหน้ายังเพิ่มเวลารายการข่าว หลัง “สรยุทธ สุทัศนะจินดา” กลับคืนจอ
"สุรินทร์ กฤตยาพงศ์พันธุ์" ในฐานะกรรมการผู้อำนวยการสายธุรกิจโทรทัศน์ บริษัท บีอีซีเวิลด์ จำกัด (มหาชน) บริษัทแม่ของสถานีโทรทัศน์ไทยทีวีสีช่อง 3 ให้สัมภาษณ์พิเศษกับไทยรัฐออนไลน์ หลังจากเพิ่งผ่านการรายงานผลประกอบการไตรมาสที่ 3 ปี 2564 ต่อตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ซึ่งรวม 9 เดือนแรกของปีนี้มีกำไร 466.4 ล้านบาท ตัวเลขนี้เหมือนหนังคนละม้วนกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ที่ขาดทุนถึง 481.8 ล้านบาท ทั้งที่ปีนี้วิกฤติโควิด-19 สาหัสกว่าปีที่แล้ว จนสภาพเศรษฐกิจยังย่ำแย่
สภาพวิกฤติเกิดขึ้นในภาพรวมอุตสาหกรรมทีวี ที่ช่อง 3 ก็เจอวิกฤติเหมือนทุกคนนั้น ไม่เพียงมาจากสภาพเศรษฐกิจที่ยังไม่ฟื้นตัว ธุรกิจชะลอการใช้เงิน โฆษณาลดลง แต่ยังมีเทคโนโลยี และพฤติกรรมของคนดูทีวีเปลี่ยนไป สถานการณ์ที่เกิดขึ้นนั้น ช่อง 3 เห็นภาพที่ว่า คนต้องการดูเมื่อสะดวก ทำให้คนเฝ้าดูรายการทีวีตามผังเวลาที่สถานีโทรทัศน์กำหนดผ่านหน้าจอทีวีลดลง จนสะท้อนออกมาที่ตัวเลขเรตติ้งที่วัดในระบบของนีลเส็น (บริษัทจัดทำระบบวัดเรตติ้งผู้ชมโทรทัศน์ โดยมีกลุ่มตัวอย่างกลุ่มหนึ่ง โดย 1 เรตติ้ง เท่ากับค่าเฉลี่ยผู้ชมทีวีพร้อมกันประมาณ 6 แสนคน)
...
"คนดูทีวีที่ค่อยๆ ลดลง จาก 5-6 ปีที่แล้วมีเรตติ้ง 10-11 ปัจจุบันเหลือแค่ 8 เรตติ้ง แปลว่าคนดูผ่านหน้าจอทีวีลดลงค่อนข้างเยอะ อาจยังมีคนดูอยู่หน้าจอทีวี ที่ส่วนใหญ่อยู่ในช่วงอายุ 35 ปีขึ้นไป แต่ก็มีแนวโน้มน้อยลงด้วย ขณะที่คนดูรุ่นใหม่ อายุน้อยกว่า 35 ปี ค่อยๆ ลดจำนวนลง อย่างวัยรุ่นแทบจะไม่เปิดทีวี แต่ยังดูรายการทีวีบนมือถือ และยังพูดถึงรายการทีวีอยู่ เราจึงต้องทำรายการที่ตอบโจทย์ด้วยว่าคนรุ่นใหม่เขาดูอะไรกัน”
นั่นคือความเป็นจริงที่ทำให้ช่อง 3 ต้องปรับกลยุทธ์ และไม่เป็นทีวีแบบเดิม
จากความมั่นใจที่ช่อง 3 พบคือ แม้คนอยู่หน้าจอทีวีลดลง แต่คอนเทนต์ (เนื้อหารายการ) ที่ดูยังเป็นรายการของทีวีอยู่ แต่ผ่านหน้าจออุปกรณ์ต่างๆ ในทุกที่ที่สะดวก กลยุทธ์ในการทำทีวีปัจจุบันจึงต้องตามคนดูไปทุกที่
“ถ้าใครยังยึดวิธีการทำงานแบบเดิม ผมคิดว่าไม่ได้ผลลัพธ์แบบเดิมแล้ว ผลลัพธ์จะแย่ลงแน่นอน”
ละคร ที่ไม่เหมือนเดิม หนึ่งเรื่องไปทุกแพลตฟอร์ม
หลายทศวรรษที่ผ่านมา ละคร คือ ครีมของธุรกิจทีวีในการทำรายได้ โดยเฉพาะช่วงไพรม์ไทม์หลังสองทุ่ม ที่มีคนดูสูงสุด จนขายเวลาโฆษณาได้แพงที่สุด ในหลัก 4 แสนบาทต่อนาที
แต่เมื่อผู้ชมหายไปจากหน้าจอทีวี จนเรตติ้งสูงสุดที่เคยทำได้ในยุคที่มีช่องทีวีดิจิทัลเกิดขึ้น 24 ช่อง คือเรื่องบุพเพสันนิวาส ในปี 2561 ของช่อง 3 กลายเป็นตำนานยุคดิจิทัล ด้วยเรตติ้งสูงสุดตอนจบทะลุไปกว่า 18 เรตติ้ง หรือมีผู้ชมเกือบ 12 ล้านคน หลังจากนั้นเรื่องอื่นๆ พยายามอย่างเต็มที่ เฉลี่ยทำได้อยู่ที่ 4-5 เรตติ้งเท่านั้น วิธีของช่อง 3 คือพยายามส่งละครไปถึงผู้ชมที่ย้ายไปอยู่กับแพลตฟอร์มสตรีมมิง หรือการดูผ่านออนไลน์มากขึ้น รวมไปถึงการสร้างแพลตฟอร์มสตรีมมิงของตัวเอง ภายใต้แบรนด์ Ch3 Plus ทั้งแบบดูฟรี และจ่ายค่าสมาชิก
ผลที่ได้คือ ยอดผู้ชมประจำใน Ch3 Plus ของปี 2564 ซึ่งเป็นปีแรกของการเปิดตัว มีจำนวน 12 ล้านคนต่อเดือน (Monthly Active User - MAU) และมียอดวิว 170 ล้านวิวต่อเดือน หรือในแพลตฟอร์มอื่นอย่าง Youtube พบว่ามีผู้ชม 30 ล้านคนต่อเดือน และยอดวิว 628 ล้านวิวต่อเดือน
ช่อง 3 ในปี 2564 ยังหารายได้จากการส่งออกละครไปยังแพลตฟอร์มอื่นทั้งไทย และต่างชาติ และทั้งดูฟรี และจ่ายค่าสมาชิก ได้ดูช้าหรือเร็วหลังออนแอร์ในระบบทีวีดิจิทัลต่างกัน เช่น สมาชิก WeTv และ Viu ได้ดูละครช่อง 3 หลังออนแอร์ 2 วัน สมาชิก Aisplay Trueid และ iQiyi ได้ดูละครช่อง 3 หลังออนแอร์ 30 วัน
บางเรื่องสตรีมมิงแบบ Exclusive 60 วัน ที่ Ch3 Plus และ บางแพลตฟอร์ม เช่น เรื่องกะรัตรัก ออกอากาศ Exclusive 60 วัน บน Ch3 Plus และ WeTv เรื่องให้รักพิพากษา บน Ch3 Plus และ Netflix, เรื่องรักแท้แค่เกิดก่อน บน Ch3 Plus และ iQyi เป็นต้น เมื่อพ้น 60 วันแล้ว จะไปออกอากาศบน Youtube
หากย้อนไป 3 ปี ที่ผ่านมา ช่อง 3 จำหน่ายละครไป 23 ประเทศ หรือ 25 พื้นที่แล้ว ส่วนมากอยู่ในประเทศภูมิภาคอาเซียน เช่น ประเทศจีน กัมพูชา อินโดนีเซีย มาเลเซีย บรูไน สิงคโปร์ ฟิลิปปินส์ เวียดนาม เมียนมา เกาหลีใต้ ญี่ปุ่น และติมอร์ตะวันออก โดยเรื่องที่ไปหลายพื้นที่มากที่สุดถึง 24 แห่ง คือ ทองเอก หมอยาท่าโฉลง และบุพเพสันนิวาส
...
บทสรุปของการปล่อยละครไปทุกแพลตฟอร์ม และขายต่างชาติ ทำให้รายได้ส่วนนี้ของช่อง 3 กำลังเติบโตชดเชยรายได้หลักคือ การขายเวลาโฆษณาที่กำลังลดลง โดยไตรมาส 3 ปี 2564 มีรายได้จากการส่งออกละครไปต่างประเทศ 206 ล้านบาท เติบโตขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อน 64% ขณะที่รายได้จากการขายเวลาโฆษณาอยู่ที่ 1,062 ล้านบาท ลดลงจากช่วงเดียวกันของปีก่อน 7.1% และต่อไปการทำละครของช่อง 3 จึงคิดถึงผู้ชมต่างชาติ และคนรุ่นใหม่ที่ไม่ได้อยู่หน้าจอทีวีด้วย
ตอกย้ำกับสิ่งที่ สุรินทร์ ได้บอกกับนักลงทุน ผู้ถือหุ้นบริษัท และได้รับอนุมัติจากคณะกรรมการบริษัทคือ ช่อง 3 จะไม่ใช่บริษัทที่ทำธุรกิจโทรทัศน์อีกต่อไปแล้ว แต่เป็นผู้นำในธุรกิจการผลิตเนื้อหา และรายการ ด้วยกลยุทธ์หนึ่งคอนเทนต์ไปออนแอร์ผ่านแพลตฟอร์มที่หลากหลาย (Single Content Multiplatforms) ด้วยวิธีการบริหารที่นอกจากวางแผนว่า ในปีหนึ่งต้องทำละครกี่เรื่องแล้ว ยังต้องกำหนดชัดว่าแต่ละประเภทมีกี่เรื่อง เช่น แนวตื่นเต้น แนวโรแมนติก ตลก ผี แอ็กชั่น และยังต้องมองว่าในตลาดต่างประเทศต้องการแนวไหน ต้องดูว่าดาราคนไหนมาแสดง เพราะหลายตลาดรู้จักดาราไทยอย่างดี เช่น จีน ที่ชอบคอนเทนต์ไทย ก็มีดาราไทยหลายคนที่คนจีนชื่นชม ถ้ามาเป็นนักแสดงในเรื่อง เรื่องนั้นๆ ก็จะมีโอกาสขายต่างประเทศได้ด้วย
...
“ผลิตละครขึ้นมาหนึ่งเรื่อง ไปออกในหลายแพลตฟอร์ม เพราะคนดูช่อง 3 มีความเป็นสากลมากขึ้น ไม่ใช่แค่กลุ่มคนดูหลัก ที่อายุ 30-40 ขึ้นไปเท่านั้น เราต้องไปที่โอทีที (OTT TV หรือ Over-The-Top TV สตรีมมิงผ่านอินเทอร์เน็ต) เราต้องไปต่างประเทศ ทำให้ต่อไปวิธีการทำละครกลยุทธ์ก็ต้องเปลี่ยนไปด้วย ตั้งแต่การเลือกละคร นักแสดงก็ต้องเลือกให้สามารถเข้ากับคนดูอีกกลุ่มหนึ่งที่เขาดูอีกแพลตฟอร์มได้”
เปิดแผนเพิ่มเวลารายการข่าว มั่นใจรบชนะมากกว่าแพ้
รายการข่าวของช่อง 3 คึกคักอย่างเห็นได้ชัด เมื่อกรรมกรข่าว “สรยุทธ สุทัศนะจินดา” กลับคืนจอช่อง 3 ตั้งแต่วันที่ 1 พฤษภาคม 2564 หลังจากต้องลาหน้าจอชั่วคราวไปตั้งแต่ 1 มีนาคม 2559 เพราะต้องโทษจำคุกในคดีไร่ส้ม
สรยุทธ กับรายการเรื่องเล่าเช้านี้ เป็นรายการแม่เหล็กของช่อง 3 มีจุดเด่นชัดเจนที่ตัวพิธีกรข่าว และยังมีรายการอื่นที่มีพิธีกรข่าวเป็นจุดขาย มีแฟนประจำ บวกกับการสร้างจุดเด่นของแต่ละรายการ
...
“ส่วนหนึ่งในความสำเร็จของเรา คือความสามารถในการนำออนไลน์มาเสริมธุรกิจออฟไลน์ ข่าวเป็นตัวอย่างที่เห็นชัดมาก หลังจากที่มีผู้ประกาศนำ (สรยุทธ สุทัศนะจินดา) ของเรากลับมาดำเนินรายการ ทำหน้าที่ได้เหมือนเดิม ทุกอย่างก็เริ่มคลิก เราก็เห็นได้ชัดว่าจำนวนคนดูเราเยอะขึ้น หน้าจอเราเยอะขึ้น เพราะคนดูรู้แล้วว่าจบตรงนี้ไปดูตรงนั้น แล้วไปต่อตรงไหน ซึ่งคนดูข่าวไม่เหมือนดูละคร คนดูข่าว เวลาจะดูต้องดูสด ส่วนคนดูละครแล้วแต่ว่าอยากดูละครมากแค่ไหน และละครยังดูย้อนหลังได้”
นอกเหนือจากหลักการทำรายการข่าวที่ต้องมีความสมดุล ระหว่างความรวดเร็วกับความถูกต้อง แม่นยำ ที่จะเป็นบริบททำให้รายการข่าวสมบูรณ์ รายการข่าวปีนี้จึงเป็นเหมือนฮีโร่ให้กับช่อง 3 ในการทำรายได้
"คิดว่ามาถูกทางแล้ว เมื่อเทียบกับทีวีช่องอื่น เราค่อนข้างมั่นใจว่าเรายังเป็นที่หนึ่งในแต่ละช่วงเวลาที่ออกอากาศ แม้มีบางวันเพลี่ยงพล้ำ แต่ก็รบชนะมากกว่าแพ้" ปิดท้ายด้วยความมั่นใจ ที่ทำให้ สุรินทร์ บอกว่า พร้อมเดินเครื่องเต็มที่ในการขยายเวลาชั่วโมงข่าวมากขึ้นในปี 2565 นี้