ถือเป็นภาพยนตร์ที่ถูกพูดถึงกันมากในเวลานี้ และกำลังเดินหน้าโกยรายได้อย่างต่อเนื่อง สำหรับ “4 Kings” หนังไทยย้อนยุค 90 ที่บอกเล่าถึงความขัดแย้งของกลุ่ม “นักเรียนอาชีวะ” จาก 4 สถาบัน ได้แก่ กนกเทคโนโลยี เทคนิคบุรณพนธ์ เทคโนโลยีประชาชื่น และอินทรอาชีวศึกษา
หนึ่งในฉากหลังที่นำมาบอกเล่าในหนัง ถูกถอดออกมาจากเหตุการณ์จริง ใน คอนเสิร์ตใหญ่ครั้งประวัติศาสตร์ “Short Charge Shock” มหกรรมดนตรีร็อก ที่จัดติดต่อกัน 3 ปี 2536-2538 และในคอนเสิร์ตครั้งที่ 3 ก็คือเหตุการณ์ที่จบลงด้วยเลือดของผู้ชม และน้ำตาของ “โป่ง ปฐมพงศ์ สมบัติพิบูลย์” ตำนานร็อก นักร้องนำ ดิ โอฬาร โปรเจ็คท์ หินเหล็กไฟ และวง The Sun
นักร้องเพลงร็อกเจ้าของเสียงทรงพลัง เผยว่า จุดเริ่มต้นของกระแสร็อกในขณะนั้นของ RS เริ่มมาจากศิลปินหลายคนที่ออกเทปก่อน ตั้งแต่ พี่ หรั่ง ร็อกเคสตร้า, เป้ ไฮร็อก พี่อิท (อิทธิ พลางกูล) ตอนนั้นได้เข้าไปคุยกับเฮีย (เฮียฮ้อ สุรชัย เชษฐโชติศักดิ์) และเฮียก็เปิดทางว่า หากมีเพลงใหม่ก็เข้ามาคุยได้
...
“จนกระทั่งทำเพลงเสร็จแล้วประมาณครึ่งปี แต่ทาง RS ยังไม่ปล่อย ในใจคิด “อะไรวะ อัดเสร็จตั้งนานแล้ว ไม่ยอมออก”(หัวเราะ) เราก็ได้รอ...รอๆ จนจังหวะเหมาะสม”
พี่โป่งรำลึกถึงความหลัง เล่าพลางหัวเราะตลอดการสนทนา
“พอปล่อยไปปุ๊บ เพลงมันโดน ตอนนั้นไม่มีคู่แข่งด้วย เพลงดังมาก อาทิ ยอม, นางแมว แค่อัลบั้มแรก ทำ MV ไปถึง 5-6 ตัว ซึ่งเยอะมาก เรียกว่าเกือบครึ่งอัลบั้ม กระแสเพลงร็อก พวกเราจุดติดขึ้นมาได้
ตำนานเพลงร็อก เผยเบื้องหลังคอนเสิร์ต “Short Charge Shock” ว่า หลังจากกระแสเพลงร็อกมา จึงมีการคุยถึง “คอนเสิร์ตเพลงร็อก” ที่ไม่ใช่คอนเสิร์ตหินเหล็กไฟ แต่เป็นการรวมศิลปินหลายๆ คน อยากให้เป็น “เฟสติวัล” โดยก็มีการคิดชื่อขึ้นมา เป็น “Short Charge Shock” ซึ่งก่อนจะจัดคอนเสิร์ตใหญ่ เราไปลุยเล่นกันในผับบาร์ทั่วประเทศ ก่อนจะประกาศศักดาว่า “วงร็อกกำลังมา ประสบความสำเร็จแล้วนะเว้ย!”
ยุค 90 ร็อกพันธุ์ไทย สุดยิ่งใหญ่
เรียกว่าเพลงร็อกในยุค 90 นั้น เป็นยุคที่ยิ่งใหญ่ที่สุดเลยหรือเปล่า พี่โป่ง ตอบทันทีว่า ใช่ แต่เรียกว่าเป็น “ร็อกไทย” ดีกว่า เพราะไม่ได้มีแค่ RS ทางฝั่ง แกรมมี่ เขาก็มีศิลปินหลายคน เรียกว่าช่วยๆ กันปลุกกระแสขึ้นมา ทุกคนหันมาฟังเพลงร็อกภาษาไทย สิ่งที่พวกเราทุกคนกำลังทำ คือ พยายามคิดให้แตกต่างจากสมัยก่อน เพลงร็อกรุ่นพี่ “แหลม มอริสัน” ส่วนมากเล่นแต่เพลงฝรั่งอย่างเดียว เพราะทหารอเมริกันเข้ามา (ในช่วงสงครามเวียดนาม) ทหารพวกนี้ก็นำแนวเพลงนี้เข้ามา เช่น Uriah Heep ซึ่งรุ่นพี่แหลม หรือ คาไลโดสโคป ก็เล่นแบบนี้หมด กระทั่ง ก็เข้ามาสู่ยุคดิสโก้ เรียกว่า คนไทยก็รับวัฒนธรรมจากตะวันตกมา
สำหรับคอนเสิร์ต “Short Charge Shock” ครั้งแรก (29 พ.ค.36 ที่อินดอร์ สเตเดียม หัวหมาก มีศิลปิน 3 วง หรั่ง ร็อกเคสตร้า เป้ ไฮร็อก และหินเหล็กไฟ)
“แค่เล่นครั้งแรกก็จุดกระแสติด ชื่อนี้จึงกลายเป็นชื่อกลาง ในการจัดคอนเสิร์ตร็อก ซึ่งก็จัดมาอีก 3 ครั้ง ในอีก 3 ปี พอมาครั้งที่ 2 (27 ส.ค.37 เสืออำพัน สนามกีฬากองทัพบก : เสือ ร็อกอำพัน และ อิทธิ พลางกูล) คอนเสิร์ตนี้ไม่มีหินเหล็กไฟ เพราะติดภารกิจทำอัลบั้มชุดที่ 2 อยู่ อัลบั้มแรกดังมาก จึงทัวร์คอนเสิร์ต
กระทั่งมาถึงครั้งที่ 3 (13 พ.ค.38 เหล็กคำราม สนามกีฬากองทัพบก: หินเหล็กไฟ เป้ ไฮร็อก เสือ ธนพล และเจี๊ยบ พิสุทธิ์) คอนเสิร์ตครั้งนี้เป็นคอนเสิร์ตที่คนดูมากที่สุดนับแสนคน
เบื้องหลัง คอนเสิร์ตประวัติศาสตร์ จบด้วยเลือด
“ผมรู้สึกว่ามันสวยงามมาก มองลงไปไม่เห็นพื้นเลย เพราะเต็มไปด้วยคนดู ความรู้สึกเหมือนเราดูคอนเสิร์ตต่างประเทศที่เขาเล่นที่สนามฟุตบอล หัวใจพองโตคึกคัก มีอาการ “คันลิ้น” เสี้ยนมาก อยากแหกปาก ถึงเวลาขึ้นเวทีจะไปแหกปากให้เต็มที่ ให้มันที่สุด ซึ่งตามแผน แต่ละวงจะเล่นประมาณ 1 ชั่วโมง ซึ่งมีศิลปิน 3-4 วง รวมกันก็น่าจะประมาณ 3-4 ชั่วโมง แต่วันนั้นเล่นได้เพียงชั่วโมงกว่าก็ต้องเลิก”
...
แค่เริ่มคอนเสิร์ต...กลุ่มอาชีวะก็เริ่มตีกันเลย ตอนที่พวกผมนั่งรถตู้เข้ามา ก็มีรถพยาบาลวิ่งสวนไป เราเห็นหิ้วคนหัวแตกออกไปแล้ว แต่ตอนนั้นก็ไม่มีใครคิดว่าจะคุมกันไม่อยู่ ซึ่งเมื่อเห็นการตีกัน สัญชาตญาณศิลปิน คือ ต้องห้ามอยู่แล้ว แต่ปัญหาที่เกิดขึ้น คือ มันระงับเหตุยากมาก เพราะคนแน่นมาก กว่าเจ้าหน้าที่จะเข้าไปถึงจุดที่ตีกันลำบากมาก
ยกตัวอย่าง มีการตีกันที่ปีกซ้ายของเวที กว่าเจ้าหน้าที่จะเข้าไปถึง ต้องให้คนแตกฮือ เป็นกลุ่มก่อน และส่วนมาก “ตัวจี๊ด” ก็มักจะอยู่ตรงกลาง คอนเสิร์ตนี้แตกต่างจากคอนเสิร์ตอื่นๆ ที่กว่าเจ้าหน้าที่จะเข้าไปถึงก็ลำบาก ซึ่งในเวลาต่อมาก็มีเจ้าหน้าที่ตำรวจระดับผู้ใหญ่เดินทางมาถึง เพราะมันออกข่าวไปทั่ว เพราะมีการตีกันไม่หยุด เพราะกลัวเรื่องบานปลาย
ผู้เขียนถามพี่โป่งว่า นาทีชุลมุน หลังเวทีพูดคุยอะไรกัน พี่โป่ง ยอมรับว่าทุกอย่างมันเร็วมาก มีหลายคนมากระซิบบอกเจ้าหน้าที่คอนเสิร์ตเริ่มคุมไม่อยู่ มีคนบาดเจ็บเยอะ ส่วนมากจะโดนลูกหลง เพราะคนที่มีเรื่องเขาระวังตัว นี่ขนาดตรวจอาวุธก่อนเข้าแล้ว แต่อะไรอยู่ใกล้พวกนี้ก็หยิบมาใส่กัน เช่น ฝาท่อ และบางส่วนก็แอบเอาอาวุธเข้ามา ได้ยินว่ามีการฝากผู้หญิง
...
น้ำตาลูกผู้ชาย โป่ง หินเหล็กไฟ ร่ำไห้ เสียใจ แก้ภาพลักษณ์ดนตรีร็อกไม่ได้
ผู้เขียนถาม ตำนานที่ยังมีลมหายใจอย่างพี่โป่งว่า วันนั้นเห็นว่าพี่โป่ง ร้องไห้... โป่ง ปฐมพงศ์ นิ่งไปครู่หนึ่ง น้ำเสียงเปลี่ยนไปจากเดิม ตอบอย่างจริงจัง “ผมร้องไห้เพราะรู้สึกว่าภาพลักษณ์ของดนตรีร็อกถูกมองว่าไม่ดี มีความรุนแรง มักจะทะเลาะกันเกือบทุกคอนเสิร์ต มันเริ่มกำลังจะดีขึ้น เราก็คิดว่าคนชอบเราขนาดนี้น่าจะปรามอยู่ เรามั่นใจว่าชาวร็อกด้วยกันคุยกันได้ อยากให้รัก สามัคคีกัน ซึ่งมันได้ผลระดับหนึ่งตอนเล่นคอนเสิร์ตครั้งแรก ทุกอย่างเหมือนจะดีขึ้น ภาพลักษณ์ดนตรีร็อกก็น่าจะดีขึ้น แต่พอถึงเวลาสุดท้าย ทุกอย่างมันเหนือการควบคุม เราคุมใครไม่ได้ ก็เลยรู้สึกเสียใจที่ภาพลักษณ์ของเพลงร็อกก็คงกลับไปที่เดิม เสียใจมาก ที่ภาพแบบนั้นแก้ไม่ได้เสียที...หรือเรารู้สึกรับผิดชอบมากไป เสียใจที่เราทำไม่สำเร็จ”
...
พี่โป่ง ยอมรับว่า หากวันนั้นถ้าเราทำสำเร็จ มันก็จะกลายเป็นภาพที่สวยงาม แต่ความจริง คือ เกิดเหตุทะเลาะกันทั่วสนาม ตรงนี้วงหนึ่ง ตรงนั้นวงหนึ่ง รู้จักกันหรือเปล่าไม่รู้ แต่ซัดกันนัว เป็นภาพที่น่าสลดหดหู่มาก กลับกัน ในต่างประเทศ เราไม่เห็นการตีกันแบบนี้เลย ทั้งที่ เรารับวัฒนธรรมเรื่องความรัก ดนตรี และเสรีภาพ แต่พอมาถึงบ้านเรากลับไม่ไปทางนั้น
“คอนเสิร์ต” ลานประลอง เวทีสางแค้นที่มีมาก่อน
พี่โป่งมองว่า เด็กอาชีวะเขาอาจจะมีความขัดแย้งเรื่องสถาบันกันอยู่ก่อน เจอที่ไหนก็มีเรื่องตีกัน เช่น ป้ายรถเมล์ หรือพื้นที่สาธารณะ แต่พอมีคอนเสิร์ต ก็เหมือนกลายเป็นเวทีที่ต้องมาซัดกันที่นี่ เฮ้ย...ไอ้นั่นมาแน่ เตรียมของไป เหมือนจัดเวทีให้เขามาปะทะกัน
แล้วเพลงร็อก กลายเป็นจำเลยของสังคม..? พี่โป่ง หัวเราะ บอกว่าไม่ใช่เพลงร็อกอย่างเดียว แต่เพลงเพื่อชีวิตก็มีเหมือนกัน เราก็เห็นพี่แอ๊ด ห้ามศึกมาหลายครั้ง เราเองก็ไม่รู้ว่า ที่ผ่านมามีการส่งต่อวัฒนธรรมกันหรือเปล่า...
“ปัญหาการตีกัน เราเชื่อว่าเป็นส่วนน้อย แต่เวลาปะทะกันในที่สาธารณะก็ทำให้ภาพมันเสียไปด้วย กลายเป็นข่าว กลายเป็นเรื่องใหญ่บางโรงเรียนถูกปิดไป ส่วนตัวก็รู้สึกเสียดาย เพราะอาชีวะ คืออาชีพแห่งอนาคตเลย เพราะเขาถือเป็นผู้ชำนาญการคือเรียนสุดไปด้านใดด้านหนึ่งเลย”
สู้...หวาดระแวง เพลงชาติอาชีวะ ไปเล่นมาแล้วเกือบทุกสถาบัน
พี่โป่ง ถ่ายทอดความรู้สึกว่า อาชีวะกับเพลงร็อกมีความผูกพันกัน โดยเฉพาะ “หินเหล็กไฟ” เรียกว่าผูกพันกันมาก วงเราไปเล่นสถาบันอาชีวะมาเกือบทุกแห่ง และไปเล่นทุกครั้งก็จะเต็มเหนี่ยวกันเลย
เวลาไปเล่น บางคนจะเข้าใจผิด คิดว่าผมจากสถาบันนั้นๆ แต่ที่จริงไม่ใช่ เพราะเวลาขึ้นแสดงดนตรี เขาจะนำเสื้อช็อปของสถาบันนั้นๆ มาให้ใส่ มาช่วงหลังๆ เราก็ต้องบอกน้องๆ ว่า “ขอไซต์ใหญ่หน่อยเว้ย” (พี่โป่งหัวเราะเสียงดัง)
“เพลงหวาดระแวง เวลาไปเล่นที่อื่นก็เฉยๆ แต่พอมาเล่นในสถาบันอาชีวะ โอ้โห มัน เพลงแรงๆ มาเล่นที่สถาบันอาชีวะ นี่เล่นได้เต็มที่ เรียกว่าเป็นเพลงชาติเลย ไปสถาบันอาชีวะไหนต้องเล่น โดยเฉพาะ 2 เพลง คือ สู้ กับ หวาดระแวง และเมื่อเร็วๆ นี้ไปเล่นที่สถาบันแห่งหนึ่ง เรียกว่าเด็กๆ เลย หน้าใสๆ พอเล่นเพลงนี้พวกเขาก็รู้จัก”
เพลงร็อก ไม่มีวันตาย แต่ต้องปรับตัว ทลายกำแพงภาษา
ผู้เขียนถามพี่โป่งตรงๆ ว่า เวลานี้กระแสเพลงร็อกมันเงียบเหงา มีโอกาสกลับมาไหม พี่โป่ง สวนทันที “ร็อกไม่มีวันตาย...แต่นักดนตรีตายหมด (หัวเราะ) เพลงร็อกจะกลับมาไหม ตอบยาก เพราะเพลงเหมือนกับแฟชั่น มันอาจจะมีวนกลับมา เพลง pop blue dance แดนซ์ ขณะที่บางคนยังย้อนกลับมาฟัง CD เทป ซึ่งสิ่งที่นักดนตรีรุ่นใหม่ๆ ต้องคิดคือ พยายามหาความแตกต่าง เราจะเห็นว่า ร็อกก็มีหลายแบบ rock, heavy metal, hard rock
“เดี๋ยวนี้โลกมันเล็กลง แต่ภาษาเรายังไม่ไปไหน ซึ่งนี่คืออุปสรรคอย่างหนึ่ง ต่อไป เราอาจจะไปร้องเพลงภาษาอังกฤษบ้าง เพราะวัยรุ่นยุคใหม่พูดภาษาอังกฤษได้ เดี๋ยวนี้ผมเห็นคนเขียนเพลงภาษาอังกฤษดีๆ เยอะ สิ่งที่อยากจะฝากคือ อยากให้มองเกาหลีใต้ ใช้ Soft Power ทั้งภาพยนตร์ และดนตรี สร้างชาติ เวลานี้ K-pop เกาหลีไปทั่วโลกแล้ว ขนาดประเทศเขาไม่ได้ใช้ภาษาอังกฤษมากนะ แต่เขาสามารถทำจนติดชาร์ตระดับโลกได้แล้ว”
พี่โป่งอยากฝากไปถึงหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ให้สนับสนุน Soft Power แบบที่เกาหลี ไม่คิดภาษี หรือถ้าขายให้รัฐบาลได้ รัฐก็ให้เงินสนับสนุน
“ถ้าถามผมในเรื่องศักยภาพ ทั้งการทำเพลง ดนตรี ผมเชื่อว่าไม่แพ้ใคร สู้ได้ ทำเพลงได้ เขียนเนื้อเพลงภาษาอังกฤษได้ แต่ประเทศเราขาดการสนับสนุน เราต้องการภาพใหญ่ช่วย การที่เราแข่งกันเองแต่ภายใน ไม่ก็ไม่ไปไหน”
สัมภาษณ์ - ผู้เขียน : อาสาม
กราฟิก : Anon Chantanant
อ่านสกู๊ปที่น่าสนใจ