ระส่ำระสายส่งท้ายปี 2564 กับการปรากฏตัวของ "โอมิครอน" (Omicron) หรือ "โอไมครอน" สายพันธุ์ใหม่ของไวรัสโควิด-19 (Covid-19) ที่จู่ๆ ก็ถูกตรวจจับได้ ภายใต้ความกังวลถึงข้อมูลที่ยังไม่มีความแน่ชัดว่า ความสามารถของมันจะโหดร้ายเทียบเท่ากับสายพันธุ์ "เดลตา" (Delta) หรือไม่?

แน่นอนว่า ภาพผลกระทบที่จะเกิดขึ้นย่อมไม่ต่างจากสถานการณ์เวลานี้สักเท่าไรนัก แต่นั่นก็ต้องขึ้นอยู่กับว่า สายพันธุ์โอมิครอนนั้นต้องไม่รุนแรงไปกว่าสายพันธุ์เดลตา ณ ปัจจุบัน

ซึ่งจากคำแถลงขององค์การอนามัยโลก (World Health Organization: WHO) เมื่อวันจันทร์ที่ 29 พฤศจิกายน 2564 เองก็ยอมรับว่า การกลายพันธุ์ของปุ่มหนาม หรือ Spike ที่พบนั้นเป็นจำนวนที่คาดไม่ถึงมาก่อน และนั่นก็ทำให้น่ากังวลถึงผลกระทบที่จะมีศักยภาพในการเปลี่ยนแปลงวิถีการแพร่ระบาดครั้งใหญ่ อีกทั้งหากให้ประเมินความเสี่ยงโดยรวมของทั่วโลกเวลานี้ก็ยังมองว่าอยู่ในจุดที่สูงมากๆ เหมือนเช่นที่ผ่านมา

ก่อนหน้านี้ เมื่อช่วงต้นเดือนตุลาคม 2564 กองทุนการเงินระหว่างประเทศ หรือ "ไอเอ็มเอฟ" (International Monetary Fund: IMF) ได้พยากรณ์เศรษฐกิจโลกและการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจในระหว่างการแพร่ระบาดครั้งใหญ่ที่มีสายพันธุ์เดลตาครองพื้นที่อยู่ และก่อนจะพบการอุบัติของสายพันธุ์โอมิครอน โดย ณ เวลานั้น IMF ระบุไว้ว่า ทั่วโลกจะมีการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจอย่างต่อเนื่อง แต่แรงกระตุ้นหรือการเคลื่อนไหวจะยังอ่อนกำลัง อีกทั้งความไม่แน่นอนก็ยังสูง

ปี 2564 ประมาณการณ์ว่า เศรษฐกิจทั่วโลกจะเติบโตอยู่ที่ 5.9% และจะเติบโต 4.9% ในปี 2565

ทั้งนี้ ตัวเลขของปี 2564 ต่ำกว่าประมาณการณ์เมื่อเดือนกรกฎาคม 0.1 จุดเปอร์เซ็นต์ ซึ่งเป็นการปรับทบทวนจากผลสะท้อนทางเศรษฐกิจ อันมีส่วนมาจากการหยุดชะงักของอุปทาน โดยเฉพาะอย่างยิ่งบรรดาประเทศกำลังพัฒนาที่มีรายได้ต่ำ

...

ขณะเดียวกัน เมื่อวันที่ 3 พฤศจิกายน 2564 ทาง Conference Board ก็ได้พยากรณ์การเติบโตของเศรษฐกิจทั่วโลก ปี 2565 ไว้ว่าจะเติบโต 3.9% ส่วน 2 มหาอำนาจทางเศรษฐกิจ อย่างสหรัฐอเมริกาและจีนก็จะเติบโตที่ 3.8% และ 5.5% ตามลำดับ

ตัวเลขเหล่านี้คือ การพยากรณ์โดยมาจากสภาพแวดล้อมที่เกิดขึ้นก่อนจะพบสายพันธุ์โอมิครอน

แต่เมื่อเวลานี้ ณ วันที่ 5 ธันวาคม 2564 สายพันธุ์โอมิครอนกระจายตัวไปแล้วมากกว่า 30 ประเทศ รวมถึงไทย ที่ตรวจจับได้ครั้งแรกในชายไทยสัญชาติอเมริกัน ซึ่งเดินทางมาจากสเปนมาถึงกรุงเทพฯ เมื่อวันที่ 30 พฤศจิกายน ก่อนจะมีการแถลงยืนยันการพบเชื้อโอมิครอนจากกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ณ วันที่ 6 ธันวาคมที่ผ่านมา

ดังนั้น การพยากรณ์ตัวเลขทางเศรษฐกิจจึงน่าจะมีการเปลี่ยนแปลง ส่วนจะมากหรือน้อยก็คงต้องขึ้นอยู่กับรายละเอียดเชิงลึกของผู้ป่วยติดเชื้อสายพันธุ์โอมิครอนว่ามีอาการรุนแรงมากแค่ไหน รวมถึงแพร่ระบาดรวดเร็วเพียงใด

ทีมข่าวเฉพาะกิจไทยรัฐออนไลน์คุยกับ เกรเกอร์รี ดาโก หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์สหรัฐฯ ประจำ Oxford Economics มองภาพอนาคตเศรษฐกิจโลกที่มีสายพันธุ์ "โอมิครอน" (Omicron) เข้ามาเป็นตัวแปร ว่าท้ายที่สุดแล้ว...ความยุ่งเหยิงที่รออยู่ในปี 2565 จะน่าปวดหัวสักแค่ไหน?

"จากการวิจัยทั่วโลก ผมจึงขอเน้นว่า หากโอมิครอนกลายเป็นสายพันธุ์หลัก ประกอบกับผลข้างเคียงรุนแรงขึ้นและประสิทธิภาพวัคซีนลดลง เมื่อนำมาเทียบกับฉากทัศน์ทางลบเกี่ยวกับโควิด-19 ที่วางไว้ ก็มีความเป็นไปได้มากยิ่งขึ้นว่าจะจบลงในกรณีเลวร้ายที่สุด และต่ำกว่า 4.5% ซึ่งเป็นประมาณการณ์เส้นฐานเดิม โดยตัวเลขการเติบโตของผลิตภัณฑ์มวลรวม (GDP) ทั่วโลก ปี 2565 จะอยู่ที่ 2.3%"

จากฉากทัศน์ที่ "ดาโก" วางไว้มีด้วยกัน 3 โอกาสที่อาจเป็นไปได้ ตั้งแต่ฉากทัศน์แย่เล็กน้อยที่ผลกระทบอาจไม่เห็นชัดเจน, ฉากทัศน์แย่ปานกลาง (ระดับเส้นฐานใหม่) การเติบโตจีดีพีถูกดึงลงมา 0.2 จุดเปอร์เซ็นต์ และฉากทัศน์เลวร้ายที่สุด การเติบโตจีดีพีจะถูกดึงลงมามากกว่า 2 จุดเปอร์เซ็นต์

ภาพในแต่ละฉากทัศน์จะเป็นอย่างไร?

"ดาโก" จะไล่เรียงทีละภาพๆ เพื่อประเมินอนาคตความยุ่งเหยิงที่รออยู่ข้างหน้า โดยอ้างอิงจากฐานข้อมูลเชิงลึกเกี่ยวกับลักษณะพิเศษของสายพันธุ์โอมิครอนที่มีอยู่ ณ เวลานี้

ฉากทัศน์แรก: แย่เล็กน้อย

...

จากความกังวลต่างๆ ที่ห้อมล้อมสายพันธุ์ใหม่โอมิครอนพอจะพิสูจน์ได้แล้วว่าน่าจะเกินกว่าจะยอมรับได้ หมายถึงในแง่ความกลัวที่สั่งสมของประชากรทั่วโลก และจำกัดการแพร่กระจายเชื้ออย่างรวดเร็ว เพื่อหวังจะหลุดพ้นจากผลกระทบทางเศรษฐกิจที่อาจเกิดขึ้นถึงจะมองไม่เห็นชัดเจนเท่าไรนัก แต่ก็พอประมาณการได้ว่า จีดีพีของปี 2565 จะเติบโตประมาณ 4.6%

ฉากทัศน์ที่ 2: แย่ปานกลาง

ในฉากทัศน์นี้ ทาง "ดาโก" ได้วางเป็นเส้นฐานใหม่ที่กำลังจะมาถึง ซึ่งสันนิษฐานว่า จากความกลัวที่หล่อหลอมรวมกัน ผสมกับการจำกัดการแพร่กระจายเชื้อและจำกัดอุปทาน จะนำไปสู่ภาวะแช่แข็งการบริโภคและจับจ่ายของประชากรโลก โดยเฉพาะกิจกรรมภาคบริการ รวมถึงการว่างงาน, สถานบริการ และการเดินทางต่างๆ ก็จะได้รับผลกระทบรุนแรงขึ้น

มองว่า การเติบโตจีดีพีของไตรมาส 1 ปี 2565 จะถูกดึงลงมา 1 จุดเปอร์เซ็นต์ และจะมีบางกิจกรรมที่จะกลับมาชดเชยความสูญเสียได้ในช่วงเดือนมีนาคม-พฤษภาคม และช่วงเดือนมิถุนายน-สิงหาคม ซึ่งนั่นจะส่งผลช่วยดึงตัวเลขไตรมาส 2 และไตรมาส 3 เฉพาะฉากทัศน์นี้ ให้การเติบโตทางเศรษฐกิจกลับมาอยู่ที่ 4.4%

ฉากทัศน์ที่ 3: เลวร้ายที่สุด และลดลงรุนแรงที่สุด

การจะมาอยู่ ณ ฉากทัศน์นี้ได้ นั่นหมายความว่าจะต้องมีการติดเชื้อโควิด-19 เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว รวมถึงอัตราการเข้ารับรักษาในโรงพยาบาลและการเสียชีวิตก็เพิ่มขึ้น ที่นำพาไปสู่ความหวาดกลัว และการกลับมาบังคับใช้มาตรการจำกัดเข้มงวดอีกครั้ง ซึ่งอาจส่งผลต่อมาตรการกระตุ้นเชิงนโยบาย ทั้งการคลังและการเงิน รวมถึงการประกาศรัดกุมภาวะทางการเงิน แน่นอนว่าผลพวงเหล่านั้นย่อมฉุดลากเศรษฐกิจของประเทศต่างๆ ทั่วโลกให้ตกต่ำลงไปมากกว่า 2% ในปี 2565

ขณะเดียวกันก่อนหน้านี้มีการมองภาพเศรษฐกิจทั่วโลกว่าจะตกลงสู่ "ภาวะเงินเฟ้อ" ซึ่ง "ดาโก" เองก็มองว่า ไม่ว่าเศรษฐกิจของพวกเราทั้งหลายจะตกอยู่ในภาวะเงินเฟ้อหรือ "ภาวะเงินเฟ้อลดลง" ก็ตาม ในปีหน้า (2565) ก็จะยังมีความยุ่งเหยิง อลหม่าน แสนวุ่นวายรอคอยอยู่ดี

...

"ความไม่แน่นอนยังคงอยู่ในระดับสูง ห้อมล้อมด้วยการประมาณการภาวะเงินเฟ้อแสนอลหม่าน และยิ่งสายพันธุ์โอมิครอนอุบัติขึ้นมา ก็ยิ่งสุมเชื้อให้เกิดความไม่แน่นอนเพิ่มขึ้นไปอีก"

ในอีกมุมหนึ่ง สายพันธุ์เดลตาได้แสดงให้เห็นถึงวิธีการเคลื่อนที่ของภาวะเงินเฟ้อที่เป็นลักษณะการคงนโยบายการคลังกับการเติบโตทางเศรษฐกิจ หมายถึงว่า รัฐบาลต่างๆ จะกดดันราคาให้ต่ำลงในภาคธุรกิจที่ถูกแช่แข็งกิจกรรม ส่วนการจะมองว่า ปี 2565 จะเป็นภาวะเงินเฟ้อหรือภาวะเงินเฟ้อลดลง ก็ต้องประเมิน... อย่างเช่นหากความต้องการสินค้าและโภคภัณฑ์อ่อนตัวลง ก็อาจเป็นภาวะเงินเฟ้อลดลง โดยเฉพาะอย่างยิ่งหากเกิดการทรุดตัวของตลาดการเงิน แต่หากความต้องการสินค้ายังคงแข็งแรง และสายพันธุ์โอมิครอนนำไปสู่การทรุดตัวของห่วงโซ่อุปทาน (Supply Chain) รวมถึงการจำกัดอุปทานแรงงาน เหล่านี้ก็อาจพิสูจน์ได้ว่าเป็นภาวะเงินเฟ้อ

สำหรับมุมมองการกระตุ้นเชิงนโยบายอื่นๆ ที่รัฐบาลทั่วโลกจะเข็นออกมาใช้นั้น

"ดาโก" มองว่า การตัดสินใจครั้งสำคัญที่มีต่อผลกระทบทางเศรษฐกิจและภาวะเงินเฟ้อที่เกิดจากโควิด-19 สายพันธุ์ใหม่โอมิครอน อาจเป็นการตอบสนองเชิงนโยบายการรับมือทางการเงิน

...

"ยกตัวอย่างสหรัฐอเมริกา ซึ่งดูเหมือนว่า รัฐสภาปรารถนาจะกระตุ้นเพิ่มขึ้น หลังจากผ่านการให้ความช่วยเหลือผ่อนคลายวิกฤติโควิด-19 ที่ผ่านมา 5.5 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ (ประมาณ 186 ล้านล้านบาท*), แผนโครงสร้างพื้นฐาน 5.5 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ (ประมาณ 18.6 ล้านล้านบาท) และมีทีท่าว่าจะออกแพ็กเกจแผนฟื้นฟูเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่เรียกว่า Build Back Better อีก 1.8 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ (60.9 ล้านล้านบาท) ผมเชื่อว่า ผู้ออกนโยบายอาจต่อต้านการเพิ่มมาตรการกระตุ้น อย่างน้อยก็ในสถานการณ์ที่โควิด-19 เสื่อมโทรมจนนำไปสู่ระดับนัยสำคัญ"

สายพันธุ์โอมิครอนน่าจะบอกให้ทราบถึงแนวทางการปรับดอกเบี้ยต่ำเพื่อกระตุ้นการเติบโตทางเศรษฐกิจ ที่มักเรียกว่า Dovish ซึ่งมีแนวโน้มจะนำไปสู่การออกนโยบาย แต่ "ดาโก" ยังไม่ประมาณการว่าจะมีการเปลี่ยนแปลงสำคัญใดๆ ในห้วงเวลาที่การเดินเรือยังขาดทิศทางจนภูมิทัศน์ทางเศรษฐกิจทรุดโทรมอย่างรุนแรง

โอมิครอน (Omicron) สายพันธุ์ใหม่ที่ต้องเรียนรู้...

Q: ณ เวลานี้ ถูกตรวจจับได้ที่ไหนบ้าง?

A: ปัจจุบัน (5 ธ.ค. 64) สายพันธุ์โอมิครอนถูกตรวจจับพบแล้วใน 38 ประเทศ ซึ่งจนถึงตอนนี้ยังไม่มีรายงานการเสียชีวิต แต่หลายๆ ประเทศที่เคยทนทุกข์จากตัวเลขผู้ป่วยติดเชื้อรายใหม่ที่เพิ่มสูงขึ้นอย่างรวดเร็วจากสายพันธุ์เดลตา ก็กลับมาบังคับใช้มาตรการล็อกดาวน์และการจำกัดเดินทางครั้งใหม่

Q: สายพันธุ์โอมิครอนแพร่ระบาดรวดเร็วแค่ไหน?

A: ในแอฟริกาใต้ สายพันธุ์โอมิครอนมีการแพร่ระบาดอย่างรวดเร็ว จนทำให้บรรดานักวิจัยทั่วโลกถึงกับต้องขยับแว่นตื่นขึ้นมาตรวจสอบและวินิจฉัยอย่างจริงจัง หากอ้างอิงจากจำนวนการติดเชื้อรายใหม่เพื่อเทียบให้เห็นภาพ ก็คือ วันที่ 1 ธันวาคม 2564 มีจำนวนผู้ป่วยติดเชื้อรายใหม่ 8,561 ราย เทียบกับเมื่อวันที่ 26 พฤศจิกายน ที่มีเพียงแค่ 3,402 ราย ซึ่งสถาบันโรคติดต่อแห่งชาติ (National Institute for Communicable Diseases: NICD) ของแอฟริกาใต้ ยืนยันว่า โอมิครอนมีการแพร่ระบาดรวดเร็วมาก

ขณะที่ นักชีววิทยาด้านวิวัฒนาการ ประจำมหาวิทยาลัยคาธอลิก เลอเวน ในเบลเยียม ประมาณการว่า โอมิครอนสามารถทำให้ติดเชื้อได้ 3-6 เท่า เมื่อเทียบกับจำนวนของสายพันธุ์เดลตาตลอดช่วงเวลาเดียวกัน

"นั่นเป็นคุณประโยชน์ที่ยิ่งใหญ่สำหรับไวรัส แต่ไม่ใช่สำหรับเรา" - ถ้อยความที่ระบุไว้ในวารสาร Nature

หากสังเกตจากกรณีของสายพันธุ์เดลตา เมื่อครั้งแพร่ระบาดอย่างรวดเร็วในสหราชอาณาจักร ตัวเลขของผู้ป่วยติดเชื้อรายใหม่เพิ่มขึ้นกว่าเท่าตัวในทุกๆ 5 วัน ซึ่งนักวิทยาศาสตร์ทั้งหลายต่างจับตามองตัวเลขผู้ป่วยติดเชื้อรายใหม่สายพันธุ์โอมิครอนอย่างใกล้ชิดและระมัดระวัง เพื่อลงความเห็นว่า สายพันธุ์ที่แพร่ระบาดอย่างรวดเร็วนี้ส่งผลกระทบต่อประชากรอย่างไร

Q: การติดเชื้อสายพันธุ์โอมิครอนจะนำไปสู่การเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลหรือเสียชีวิตอย่างไร?

A: จนถึงตอนนี้ก็ยังคงยากที่จะตอบคำถาม เพราะสายพันธุ์โอมิครอนยังไม่ได้มีการเรียนรู้ในระยะเวลาที่นานเพียงพอ เพื่อลงความเห็นถึงความสามารถของมันในการส่งผลให้มีอาการป่วยรุนแรง แต่จากหลักฐานเริ่มแรกก็ให้เหตุผลสำหรับการมองโลกในแง่ดีได้อยู่

"ตัวเลขผู้ป่วยติดเชื้อรายใหม่สายพันธุ์โอมิครอนเหมือนว่าจะยังไม่เปลี่ยนระดับอาการไปถึงขั้นระยะเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาล เราอาจคาดการณ์จากกรณีตัวเลขผู้ป่วยติดเชื้อที่คล้ายๆ กันอย่างสายพันธุ์อัลฟาหรือสายพันธุ์อื่นๆ"

ขณะเดียวกัน แม้ว่าความเสี่ยงรุนแรงจะลดลง แต่ก็ถูกสร้างสมดุลโดยความสามารถการติดเชื้อจำนวนมากขึ้นในแต่ละครั้งของมันด้วยเช่นกัน ซึ่งนั่นก็มีความเป็นไปได้ว่า อาจจะยังมีผู้ป่วยติดเชื้อโควิด-19 ที่ต้องเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลอยู่ระดับสูงเช่นเดิม และอาจย้อนกลับไปสร้างแรงกดดันให้กับสาธารณสุขของประเทศต่างๆ ได้อีกเช่นกัน

Q: ใครคือ กลุ่มเสี่ยงที่จะได้รับผลกระทบจากสายพันธุ์โอมิครอน?

A: ผลกระทบลำดับแรกๆ คงหนีไม่พ้นกลุ่มผู้สูงอายุหรือคนที่ถูกจัดอยู่ในประเภทกลุ่มเสี่ยง อาทิ 7 โรคเรื้อรัง เป็นต้น ซึ่งนักวิทยาศาสตร์บางรายก็ส่งเสียงแห่งความกังวลออกมาว่า "นี่จะกลายเป็นเรื่องใหญ่ทันทีหากพบในกลุ่มประชากรผู้สูงอายุ"

ช่วงไม่กี่เดือนที่ผ่านมา สายพันธุ์นี้เคลื่อนไหวรอบๆ กลุ่มอายุน้อย เพราะพวกเขาค่อนข้างจะมีการป้องกันตัวน้อย แต่ท้ายที่สุด สายพันธุ์ที่ว่าก็ยกระดับประวัติตัวเองด้วยการทำให้คนสูงอายุจำนวนมากติดเชื้อ จากสายพันธุ์อื่นๆ ที่ผ่านมา เรารู้แล้วว่า กลุ่มเปราะบางเหล่านี้จะมีการติดเชื้อรุนแรง คิดง่ายๆ ว่า หากสายพันธุ์โอมิครอนสามารถหลบหลีกการตอบสนองภูมิคุ้มกันของกลุ่มอายุน้อยได้ ก็ย่อมหลบหลีกการตอบสนองภูมิคุ้มกันคนสูงอายุได้เช่นกัน นั่นจึงเป็นความน่ากังวลอย่างแท้จริงของกรณีที่ว่านี้

ท้ายที่สุด อนาคตข้างหน้าในปี 2565 จะกลายเป็นฉากทัศน์กรณีเลวร้ายที่สุดหรือไม่? แม้จะยังคาดเดาได้ยาก แต่ก็มีความน่ากังวลไม่น้อย เพราะแม้จะยังไม่พบอาการรุนแรง แต่การติดเชื้อจำนวนมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งกลุ่มสูงอายุ ก็อาจส่งผลกระทบต่อระบบสาธารณสุขของประเทศได้เช่นกัน และก็ย่อมมีผลต่อระบบเศรษฐกิจอย่างไม่อาจหลีกเลี่ยง

แน่นอนว่า หลายๆ คนคงไม่อยากย้อนกลับไปยังวังวนแห่งความยุ่งเหยิงที่เคยผ่านมาแล้วในปี 2564 นี้.

ข่าวน่าสนใจ:

อ้างอิง:

  • International Monetary Fund: IMF. Recovery During a Pandemic [ออนไลน์] Oct. 2021, แหล่งที่มา : www.imf.org [3 Dec. 2021]
  • อัตราแลกเปลี่ยน ณ 6 ธันวาคม 2564 : 33.89 บาท