แม้ทุกหน่วยงานจะประสานเสียง ยืนยันว่าปีนี้ “น้ำท่วม” หรือ “อุทกภัย” จะไม่หนักเทียบเท่าปี 2554 ด้วยปัจจัยหลายๆ อย่าง แต่จากภาพที่เห็น ในพื้นที่ภาคเหนือ อีสาน กลาง รวมถึงเมื่อ 2 วันนี้ ที่ชาวกรุงเทพฯ โดนไป ก็ชักหวั่นๆ ใจไม่น้อย
วันนี้ (4 ต.ค.) ทีมข่าวเฉพาะกิจไทยรัฐออนไลน์ ได้พูดคุยกับ นายณัฐพล ณัฏฐสมบูรณ์ อธิบดีกรมอุตุนิยมวิทยา ซึ่งถือเป็นหัวใจหลักของการแจ้งเตือนประชาชน เพราะเป็นหน่วยงานที่รู้ก่อนเพื่อน และต้องประสานไปยังหน่วยงานต่างๆ เพื่อประเมิน และคลี่คลายสถานการณ์
ก่อนที่จะไปเรื่องอื่น ก็ขอเข้าเรื่องที่ประชาชนคาใจเสียก่อน กับคำครหา “แจ้งเตือนช้า” กรณี “พายุเตี้ยนหมู่” ที่เข้าถล่มเมื่อสัปดาห์ก่อนว่า
เสียงติงจากประชาชน “อุตุฯ” แจ้งเตือนช้า ขนของไม่ทัน
นายณัฐพล กล่าวว่า การพัฒนาตัวของพายุ และการเคลื่อนตัวของพายุ มีความไม่แน่นอน เราไม่สามารถพยากรณ์ได้ล่วงหน้านาน อย่างรอบที่แล้ว เรามีเวลาแค่เพียง 3 วันเท่านั้น
...
“เตี้ยนหมู่เข้าไทยเร็วมาก ก่อตัวปุ๊บ ก็เข้ามาในไทยเลย สิ่งที่เกิดขึ้นคือ เข้ามาแล้วมาบวกกับแนวร่องมรสุม ทำให้ฝนตกหนัก ส่วนการแจ้งเตือนประชาชนนั้น ไม่ได้ขึ้นกับกรมอุตุฯ เพียงอย่างเดียว แต่จะขึ้นอยู่กับขั้นตอนการระบายน้ำด้วย”
นายณัฐพล อธิบายว่า การระบายน้ำแต่ละพื้นที่ใช้เวลาต่างกัน ทางกรมฯ ต้องประสานกับ กรมชลประทานเพื่อเร่งแจ้งเตือนประชาชน ซึ่งทางกรมเองก็ไม่ทราบว่าการระบายน้ำจะใช้เวลาขนาดไหน อย่างไรก็ตาม ตอนนี้เราเองก็พยายามบอกพี่น้องประชาชน ที่อาศัยใกล้แม่น้ำเจ้าพระยา ว่า หากด้านบนท่วมแล้ว อีกไม่นานก็มาถึง ฉะนั้น คนที่อยู่ริมน้ำก็ควรขนของขึ้นชั้น 2 ไว้ก่อน ซึ่งระยะเวลาจะช้าหรือเร็ว ก็ขึ้นอยู่กับทางกรมชลฯ จะปล่อยน้ำในทิศทางไหน จำนวนเท่าไหร่
ลุ้น 12 ตุลาคมนี้ พายุลูกแรก มาทางอีสานตอนบน
อธิบดีกรมอุตุนิยมวิทยา เผยว่า เวลานี้ทางตะวันตกของประเทศฟิลิปปินส์ ได้เกิดความกดอากาศต่ำ และมีโอกาสจะพัฒนาตัวเป็นพายุ ที่บริเวณทะเลจีนใต้ ในวันที่ 6 ตุลาคมนี้แน่นอน สำหรับทิศทางการเคลื่อนตัวของพายุลูกนี้ จะไปทางเกาะไหหลำ ประเทศจีน เข้าสู่อ่าวตังเกี๋ย จากนั้นจะเข้าสู่ประเทศจีนตอนล่างหรือเวียดนามตอนบน เนื่องจากมีความกดอากาศสูงลงมาในช่วงดังกล่าว ทำให้อิทธิพลของพายุอ่อนตัวลง
“จากความกดอากาศสูงนำความเย็นเข้ามา ทำให้ดูดซับเอาความชื้นจากพายุมาด้วย และอิทธิพลของพายุลูกที่จะเข้ามาถึงไทย ในวันที่ 12 ตุลาคมนี้ เบื้องต้น มีการประเมินว่าน่าจะไม่รุนแรงมากนัก โดยจะมีพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบนได้รับผลกระทบ”
อย่างไรก็ตาม คงต้องจับตาดูอย่างใกล้ชิดก่อน ว่าเมื่อมีการพัฒนาตัวของพายุ จะรุนแรงขึ้นหรือไม่ จะกลายเป็นพายุโซนร้อน ดีเปรสชัน หรือ เมื่อเข้าพัดผ่านประเทศไทยแล้ว จะลดระดับเหลือเพียงหย่อมกดอากาศต่ำหรือไม่...คงต้องรอช่วงใกล้วันที่ 12 ตุลาคม มากกว่านี้
วันที่ 5-9 ตุลาคม ร่องมรสุม หวั่น หากรวมตัวกับพายุ ก็จะเกิด “ฝนตกหนัก”
สำหรับในช่วงวันที่ 5-9 ตุลาคม ประเทศไทย กำลังอยู่ในช่วงเผชิญ “ร่องมรสุม” อธิบดีกรมอุตุฯ เผยว่า มีการคาดการณ์ว่าแนวร่องมรสุมดังกล่าว อาจจะมีการเคลื่อนตัวไปทางเหนือตอนล่าง ภาคกลาง และตะวันออกเฉียงเหนือ ซึ่งตรงนี้เป็นสิ่งที่ต้องระวัง ถ้าหากสอดรับกับแนวพายุ ที่กำลังจะเข้าในช่วงวันที่ 12-13 ตุลาคมนี้พอดี ก็อาจจะทำให้ฝนตกหนักขึ้น เพราะพายุจะนำความชื้นเข้ามาเสริมกำลังกับแนวร่องมรสุม
...
กลับกัน ถ้าหากร่องมรสุมดังกล่าว ไม่มีพายุเข้ามาเสริม ก็อาจจะมีแค่ฝนตกธรรมดา ไม่เหมือนกับตอนพายุ “เตี้ยนหมู่” เข้าไทยอย่างรวดเร็ว เพราะเคลื่อนที่เร็ว แต่ก็มั่นใจว่าจะได้รับผลกระทบน้อยกว่า “เตี้ยนหมู่”
จับตา พายุ ลูกที่ 2 คาดก่อตัว วันที่ 12 ตุลาคม
อธิบดีกรมอุตุฯ ยังพูดถึง พายุอีกลูกซึ่งเราเริ่มเห็นแล้วเมื่อเช้านี้ เริ่มมีสภาพความกดอากาศต่ำ บริเวณภาคตะวันออกของฟิลิปปินส์ ตอนนี้ยังไม่พัฒนาตัวเป็นพายุ คงต้องจับตาดูอย่างใกล้ชิด
“หากพายุลูกใหม่นี้ก่อตัว ก็จะมีการคาดการณ์ว่า จะพัดผ่านทางด้านภาคอีสานของประเทศไทย ซึ่งถือเป็นแนวเดิมกับพายุลูกแรกเกิดในฝั่งตะวันตกของฟิลิปปินส์ ซึ่งชัดเจนแล้วจะกลายเป็นพายุในวันที่ 6 ตุลาคมนี้ ส่วนลูกที่สองยังไม่ชัดเจนว่าจะเป็นพายุหรือไม่ เรากำลังจับตาอยู่”
นายณัฐพล เผยว่า ฝนปีนี้ถือว่ามาช้า ช่วงแรกคิดว่าไม่มีผลกระทบมาก เนื่องจากระดับน้ำในเขื่อนหลักไม่เยอะ ซึ่งเขื่อนภูมิพล เพิ่งถึงระดับ 50% เมื่อวานนี้เอง (3 ต.ค.)
...
“สาเหตุที่น้ำท่วมหนัก มาจากฝนตกหนักในช่วงต้นเดือนกันยายน จาก “พายุโกนเซิน” ทำให้สะสมน้ำในดินจำนวนมาก จากนั้นก็มาเจอ “พายุเตี้ยนหมู่” อีก ซึ่งตกหนักถึง 360 มิลลิเมตร ที่ จ.นครสวรรค์ ที่สำคัญคือ ฝนตกบริเวณใต้เขื่อนใหญ่ ทำให้น้ำไหลไปลงเขื่อนเจ้าพระยาจนเต็ม จากนั้นจังหวัดที่อยู่ใต้เขื่อนเจ้าพระยาก็ถูกน้ำท่วมไล่ลงมาเลย ซึ่งเมื่อวานไปตรวจสอบที่พระนครศรีอยุธยา ก็ท่วมสูงถึง 2 เมตร”
น้ำเหนือ ถล่ม ก็ยังไม่จมกรุงเทพฯ ยกเว้นคนบ้านริมน้ำ
อธิบดีกรมอุตุฯ มั่นใจว่า หากไม่มีฝนหนักๆ เข้ามา ก็เชื่อว่า พื้นที่กรุงเทพฯ ก็จะไม่ได้รับผลกระทบรุนแรง ยกเว้น บ้านเรือนประชาชนที่ตั้งอยู่ใกล้แม่น้ำเจ้าพระยา ก็อยากให้ยกของขึ้นที่สูงไว้ก่อน เพราะน้ำจะท่วมแน่ เนื่องจากมีการระบายน้ำลงมา ส่วนจะท่วมพื้นที่ไหน ก็ขึ้นอยู่กับการผันน้ำของ กทม.
โดยเมื่อ 2 วันที่ผ่านมา ฝนตกหนักที่ จ.ลพบุรี ทำให้ต้องเร่งระบายน้ำลงมาส่งผลให้ชาวลพบุรี สระบุรี ต้องเจอกับน้ำท่วม และใช้เวลานานกว่าที่คิด ในการระบายได้หมด ซึ่งคาดว่าน่าจะระบายไปทางคลองระพีพัฒน์ คลองรังสิต ซึ่งเป็นทางตะวันออกของ กทม. ก่อนจะออกไปสู่ทะเล ทั้งนี้ หาก กทม.บริหารจัดการน้ำแบบนี้ ก็จะทำให้โซนหนองจอก มีนบุรี อาจจะท่วมขังได้
...
“แต่น้ำจะขังนานหรือไม่ ก็ขึ้นอยู่ที่การระบายน้ำ ซึ่งเชื่อว่าหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกำลังเร่งการระบายอยู่ ในความโชคดีคือ กว่าพายุจะเข้าจริงก็น่าจะหลังวันที่ 12 ทำให้ยังมีเวลาในการเร่งระบายน้ำ และหวังว่าระหว่างวันที่ 5-9 จากร่องมรสุมจะมีฝนตกมาใหม่ไม่มากนักและเท่าที่ดูจากโมเดล ก็ไม่น่าจะตกเยอะมากนัก”
ร่องมรสุม ถล่มกรุงฯ 2-3 ก่อนมุ่งหน้าลงใต้ ชาวนครศรีฯ ระวัง
สำหรับฝนที่ถล่มหนักกรุงเทพฯ ในช่วง 2-3 วันที่ผ่านมา อธิบดีกรมอุตุนิยมวิทยา เผยว่า ก็มาจากร่องมรสุมนี่แหละ ซึ่งถือเป็นเรื่องปกติของหน้าฝน ที่จะมีร่องมรสุมพาดผ่านประเทศไทย อีกทั้งดวงอาทิตย์ตั้งฉาก จึงมีโอกาสทำให้เกิดฝนเป็นกลุ่มๆ ได้ นอกจากนี้ อาจจะบวกกับลมมรสุมตะวันตกเฉียงใต้ปกคลุมทะเลอันดามัน และ อ่าวไทย ทำให้เกิดกลุ่มฝนในภาคตะวันออก และตะวันตก
“วันที่ 2 ตุลาคม ฝนตกหนักมาจากราชบุรี ส่วนวันที่ 3 ตุลาคม ลมทะเลมาจากภาคตะวันออก หลังจากนั้นประมาณวันที่ 7 ตุลาคม กลุ่มฝนดังกล่าวจะเคลื่อนลงไปภาคใต้ โดยเฉพาะแถวนครศรีธรรมราช ที่นายกฯ กำลังลงไป ซึ่งถือเป็นร่องมรสุมที่กำลังจะพาดผ่านอย่างรุนแรง”
ส่วนตัวเชื่อว่าทาง กทม.ยังรับมือไหว จากการสังเกตปริมาณน้ำไหลผ่าน ที่สถานีตรวจวัดบางไทร ที่ไหลเฉลี่ย 3,000 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที อัตรานี้เชื่อว่า กทม. น่าจะจัดการได้ แต่เป็นไปได้คือ อย่าให้เกิน 3,200 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที
ส่วนน้ำทะเลจะหนุนสูงหรือไม่ นายณัฐพล เผยว่า เท่าที่ฟังกรมอุทกศาสตร์ กองทัพเรือ คาดว่าน่าจะประมาณวันที่ 10-12 ตุลาคม
ใครที่บ้านอยู่ริมน้ำ ก็ต้องระมัดระวัง และจับตาอย่างใกล้ชิด เป็นไปได้ขอให้บริหารจัดการน้ำอย่างรวดเร็ว อย่าเจอน้ำขังนานเหมือนปี 2554 เลย คนที่เคยโดนก็คงจำได้ ว่ามันน่าขยาดขนาดไหน.
ทีมข่าวเฉพาะกิจไทยรัฐออนไลน์ รายงาน
อ่านสกู๊ปที่น่าสนใจ