อุปทูตรักษาการแทนเอกอัครราชทูตสหรัฐฯ ประจำประเทศไทย "ไมเคิล ฮีธ" ตอบทุกข้อความสงสัย 3 คำถาม โดยทีมข่าวเฉพาะกิจฯ กับความท้าทายห้วงวิกฤติโควิด-19 หรือนี่จะเป็น "ยุทธศาสตร์บุกเอเชีย" พร้อมเคลียร์สหรัฐฯ กักตุนวัคซีนโควิด-19 จริงหรือไม่?
ในโอกาสอันดี... เมื่อสหรัฐฯ บริจาควัคซีนต้านโควิด-19 ให้ไทย จาก 1.5 ล้านโดส มูลค่า 30 ล้านเหรียญในตอนแรก เพิ่มอีก 1 ล้านโดสในเวลาต่อมา
"6 เดือนที่แล้ว... ประเทศไทยจัดการได้ดีทีเดียว นับตั้งแต่การแพร่ระบาดครั้งใหญ่เริ่มต้นขึ้นก็เป็นเวลามากกว่า 1 ปีแล้ว และเมื่อเร็วๆ นี้ เราจะเห็นได้ว่า ไวรัสยากจะคาดเดา"
อย่ารอช้า... ฟัง "คำตอบ" ของ 3 คำถามจากอุปทูตสหรัฐฯ "ไมเคิล ฮีธ"
คำถาม 1: สหรัฐฯ คิดเห็นอย่างไรกับข้อวิพากษ์ที่ว่า ประเทศร่ำรวยกว้านซื้อวัคซีนต้านโควิด-19 จนเกินพอแล้ว จึงต้องนำมาบริจาคให้กับประเทศยากจน?
คำถาม 2: การบริจาควัคซีนต้านโควิด-19 ของสหรัฐฯ ในครั้งนี้ ถือเป็นส่วนหนึ่งใน "นโยบายทางการทูต" เพื่อปูทางสู่ "ภูมิภาคเอเชีย" ในอนาคตหรือไม่?
คำถาม 3: ในจำนวน 23 ล้านโดสที่บริจาคให้ "ภูมิภาคเอเชีย" สหรัฐฯ ใช้เกณฑ์ในการตัดสินใจในการจัดสรรวัคซีนต้านโควิด-19 ให้แต่ละประเทศอย่างไร?
...
ทำไมถึงเกิด 3 คำถามเช่นนั้น!?
ก่อนหน้านี้ มีการวิพากษ์ถึงกรณีการบริจาควัคซีนต้านโควิด-19 อย่างกว้างขวาง โดยเฉพาะในบรรดาประเทศร่ำรวยที่มีการรายงานข่าวเป็นระยะว่า วัคซีนต้านโควิด-19 โดยส่วนใหญ่แล้วตกไปอยู่ในมือของประเทศร่ำรวย และกำลังทำให้ประเทศรายได้ปานกลาง-ยากจนกำลังตกอยู่ในภาวะขาดแคลนวัคซีน โดยสาเหตุการบริจาคนั่นก็เป็นเพราะพวกเขากว้านซื้อจนเกินพอที่จะใช้ฉีดให้ประชาชนในประเทศแล้ว จนหล่นมาถึงประชาชนในประเทศอื่นๆ ที่เหลือแบบฟรีๆ
หรืออย่างกรณีการประมาณการว่า ในปี 2565 หากสถานการณ์การแพร่ระบาดโควิด-19 ไม่เกิดสายพันธุ์ใหม่ที่รุนแรงยิ่งกว่าสายพันธุ์เดลตา ในส่วนโครงการโคแวกซ์ (COVAX) ก็อาจจะเกิดภาพที่เรียกว่า Global Solidarity คือ ความร่วมแรงร่วมใจระดับโลก ที่บรรดาประเทศร่ำรวยที่มีวัคซีนต้านโควิด-19 มากจนเกินพอหรือใกล้หมดอายุ จะทยอยบริจาคให้กับประเทศที่เข้าร่วมโครงการโคแวกซ์นี้
สำหรับสหรัฐฯ นั้น จาก "โครงการสร้างภูมิคุ้มกัน" ในตอนแรก ได้ดำเนินการจัดหาวัคซีนต้านโควิด-19 มากถึง 301 ล้านโดส ซึ่งนั่นหมายความว่า มากกว่าครึ่งของประชากรในประเทศจะมีโอกาสเข้ารับวัคซีนอย่างน้อย 1 โดส
จนถึง ณ วันนี้ (12 ส.ค. 64) สหรัฐฯ ดำเนินการฉีดวัคซีนต้านโควิด-19 ให้กับประชากรแล้วกว่า 353 ล้านโดส เฉลี่ยช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา ฉีดวันละ 729,009 โดส โดยประชากรที่ฉีดอย่างน้อย 1 โดส คิดเป็น 59.1% และฉีดครบสูตรแล้ว คิดเป็น 50.3%
สำหรับ "คำถามข้อ 1" นี้
"คำตอบ" จากอุปทูตสหรัฐฯ ได้อธิบายถึงการซื้อวัคซีนต้านโควิด-19 จำนวนมากของสหรัฐฯ ไว้ว่า เมื่อปีที่แล้ว (2563) สหรัฐฯ ประสบกับความยากลำบากมากมาย สูญเสียประชากรไปกว่าครึ่งล้าน ขณะเดียวกัน ประเทศไทยกลับมีสถานการณ์ที่ดี การรับมือการแพร่ระบาดโควิด-19 ก็ทำได้ดี และด้วยเศรษฐกิจสหรัฐฯ มีขนาดใหญ่ที่สุดของโลก ดังนั้น จึงต้องดำเนินการฉีดวัคซีนให้กับประชากรในประเทศ เพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจให้กลับมาเร็วที่สุด แต่เมื่อมาถึงปีนี้ (2564) สถานการณ์เปลี่ยน สหรัฐฯ ควบคุมได้ดีขึ้น ประเทศไทยกลับมีอัตราการติดเชื้อและอัตราการเสียชีวิตสูงขึ้น ดังนั้น สหรัฐฯ จึงต้องช่วยประเทศไทย ด้วยการบริจาควัคซีนต้านโควิด-19
"คำถามข้อ 2" ต่อเนื่องกันนั้น การบริจาควัคซีนต้านโควิด-19 ของสหรัฐฯ ครั้งนี้ กำลังนำไปสู่การปูทาง "ยุทธศาสตร์บุกเอเชีย" หรือไม่?
...
"คำตอบ" ที่ได้รับจากอุปทูตสหรัฐฯ คือ การยืนยันว่า สำหรับสหรัฐฯ แล้วนั้น "ภูมิภาคเอเชีย" มีความสำคัญมากๆ และภูมิภาคอื่นๆ ก็ด้วยเช่นกัน ด้วยไวรัสโควิด-19 นี้ ไม่มีการเลือกปฏิบัติ มันไปทุกที่ในโลก ดังนั้น เมื่อการต่อสู้กับไวรัสโควิด-19 มาถึง... สหรัฐฯ จึงต้องบริจาควัคซีนต้านโควิด-19 เพื่อช่วยชีวิตผู้คนให้มากที่สุด นั่นเป็นสิ่งที่สหรัฐฯ มุ่งให้ความสำคัญในตอนนี้ และจะดำเนินการบนพื้นฐานของความช่วยเหลือทางด้านมนุษยธรรม
แต่แล้วจากการบริจาควัคซีนต้านโควิด-19 ของสหรัฐฯ ที่มีเป้าประสงค์อันดี ก็ยังเกิดการวิพากษ์อีกครั้งว่า "เหตุไฉน...แต่ละประเทศถึงได้ไม่เท่ากัน? และระดับความสัมพันธ์ระหว่างสหรัฐฯ กับประเทศนั้นๆ มีส่วนในการตัดสินใจด้วยหรือไม่?"
"คำถามข้อ 3" จึงเป็นที่มาของความต้องการทราบว่า สรุปแล้ว...สหรัฐฯ ใช้เกณฑ์อะไรตัดสินใจจัดสรรวัคซีนต้านโควิด-19 ให้แต่ละประเทศ รวมถึงประเทศไทย?
"คำตอบ" นั้น อุปทูตสหรัฐฯ เคลียร์ชัดเจนว่า เกณฑ์ในการพิจารณามาจากปัจจัยตัวเลขต่างๆ ทั้งอัตราการติดเชื้อต่อประชากร อัตราการเสียชีวิต รวมถึงความสามารถในการรับมือโรคของระบบสาธารณสุขแต่ละประเทศ ในส่วนประเทศไทย เพราะการติดเชื้อโควิด-19 ที่เพิ่มมากขึ้นในช่วงหลายสัปดาห์ที่ผ่านมา ดังนั้น จากเดิมที่ตั้งต้นไว้ 1.5 ล้านโดส จึงเห็นพ้องบริจาคเพิ่มอีก 1 ล้านโดส เพราะสหรัฐฯ ประเมินตามสถานการณ์หน้างานที่เกิดขึ้นจริง
หากอยากฟัง "คำตอบ" 3 ข้อนี้ฉบับเต็ม...สามารถย้อนกลับไปที่ "คลิปด้านบน"
"ความช่วยเหลือ" ล่าสุด ที่สหรัฐฯ มอบให้กับประเทศไทย
...
เมื่อวันที่ 10 สิงหาคม 2564 ที่ผ่านมา ณ ศูนย์ฉีดวัคซีน โรงพยาบาลเมดพาร์ค สหรัฐฯ ได้ส่งประกาศความช่วยเหลือเพิ่มเติมในฐานะชาติพันธมิตรที่เคียงบ่าเคียงไหล่กับประเทศไทยมากว่า 200 ปี
"ในการยุติโรคโควิด-19 เราทราบดีว่า เราต้องทำงานร่วมกัน เชื้อโควิดนั้นไร้พรมแดน ไวรัสนี้ไม่สนใจว่า เรามาจากประเทศไทยหรือสหรัฐฯ หรือเมียนมา หรือลาว และไม่มีชาติหนึ่งชาติใดจะสามารถหยุดโรคระบาดใหญ่ได้โดยลำพัง การกำจัดเชื้อไวรัสนี้จะต้องใช้ความสามารถ ความเป็นผู้นำที่มีหลักการ และความร่วมมือของทุกชาติบนโลก"
เอกอัครราชทูตสหรัฐฯ ประจำสหประชาชาติ (UN) "ลินดา โทมัส กรีนฟิลด์" ยังได้หยิบยก "คำมั่น" ของประธานาธิบดี "โจ ไบเดน" ที่ระบุว่า "ไม่มีใครปลอดภัย จนกว่าทุกคนจะปลอดภัย"
...
ในกรณีประเทศไทยนั้น นอกจากการบริจาควัคซีนไฟเซอร์ 1.5 ล้านโดสแล้วนั้น ยังมีวัคซีนอีก 1 ล้านโดสที่จะมาในเร็วๆ นี้ รวมถึงการประกาศมอบความช่วยเหลือโดยรัฐบาลสหรัฐฯ ให้กับประเทศไทย ในการสนับสนุนบุคลากรสาธารณสุขที่ให้บริการฉีดวัคซีนแก่ประชาชน และเสริมสร้างศักยภาพระบบสาธารณสุขของไทยในการป้องกัน ตรวจหา และตอบสนองต่อโรคโควิด-19 จำนวน 5 ล้านเหรียญ หรือประมาณ 165 ล้านบาท
ส่วนอีก 50 ล้านเหรียญ หรือประมาณ 1,653 ล้านบาท ซึ่งเป็นเงินช่วยเหลือด้านมนุษยธรรม จะมอบให้กับภาคีองค์การระหว่างประเทศและองค์กรนอกภาครัฐโดยตรง เพื่อให้ความช่วยเหลือด้านอาหารกรณีฉุกเฉิน อุปกรณ์ช่วยชีวิต ที่พักพิง การให้บริการสาธารณสุขหลัก น้ำ การส่งเสริมสุขภาพ และบริการด้านสุขอนามัยต่างๆ แก่ประชากรกลุ่มเปราะบางงจากเมียนมา รวมถึงผู้ลี้ภัยและผู้พลัดถิ่นภายในประเทศกว่า 7 แสนคน
(*อัตราแลกเปลี่ยน ณ 12 ส.ค. 64 : 33.05 บาท)
สำหรับความช่วยเหลือในห้วงวิกฤติโควิด-19 ที่สหรัฐฯ มีให้กับประเทศไทยก่อนหน้านี้นั้น อ่านเพิ่มเติมได้ที่ สถานทูตสหรัฐฯ เคลียร์ทุกคำถาม บริจาควัคซีน mRNA ให้ไทย กับกลยุทธ์พหุพาคี
ทีมข่าวเฉพาะกิจไทยรัฐออนไลน์ รายงาน
กราฟิก: sathit chuephanngam
ข่าวน่าสนใจ:
- คำต่อคำ อุปทูตสหรัฐฯ กับข้อวิพากษ์ชาติร่ำรวยบริจาควัคซีน ปูทางสู่เอเชีย
- ครึ่งปีหลัง "วัคซีนฟรี" ที่รัฐจัดให้ เข้า "โคแวกซ์" เวลานี้ไม่ได้ช้าไป?
- WHO ถึงไทย "เดลตา" บุก ผู้สูงอายุเสี่ยงแม้อยู่บ้าน เร่งเข้าถึงวัคซีน
- Hospitel และ รพ.เอกชน กับราคาที่ต้องจ่าย 3-4 หมื่นบาท/คน
- "รัสเซีย" ความน่ากลัวที่ "ไทย" ต้องรับมือ แทรกซึมอิทธิพล ท้าชนอำนาจโลก