ในห้วงเวลาที่วิกฤติโควิด-19 นับวันๆ มีแต่เพิ่มความน่ากังวล ยอดผู้ป่วยติดเชื้อรายใหม่ยังคงแตะระดับหลักหมื่น และมีผู้เสียชีวิตหลักร้อย อีกด้านหนึ่งปัญหาคาราคาซังอย่าง "วัคซีนโควิด-19" ก็ยังแก้ไม่ตก
แม้ "รัฐบาล" จะให้ "คำมั่น" เดินหน้าแผนจัดหา "วัคซีนโควิด-19" ในครึ่งปีหลัง 2564 ให้ได้ตามเป้าหมาย 100 ล้านโดส แต่ก็เหมือนยังไม่คลี่คลาย
โดยเฉพาะกรณีของ "วัคซีนไฟเซอร์" (Pfizer) ซึ่งเป็นวัคซีนชนิด mRNA ที่ถูกจับจ้องมากเป็นพิเศษ
หลังจากเมื่อวันที่ 20 กรกฎาคม 2564 ทางบริษัท ไฟเซอร์ฯ พร้อมด้วย นายอนุทิน ชาญวีรกูล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ออกมาให้ "คำมั่น" ร่วมกันว่า ไตรมาส 4 ปีนี้ (2564) มาแน่ "วัคซีนไฟเซอร์" สำหรับคนไทย เตรียม "ถกแขนเสื้อ" รอได้เลย!
เท่านั้นยังไม่พอ... ต่อมา สหรัฐฯ ประกาศ "บริจาควัคซีน" ให้กับ "มิตรประเทศ" อย่างไทย จำนวนกว่า 1.5 ล้านโดส!
...
และหากย้อนความที่รักษาการโฆษกสถานเอกอัครราชทูตสหรัฐฯ ประจำประเทศไทย "ทอม มอนต์โกเมอรี" ให้สัมภาษณ์กับทีมข่าวเฉพาะกิจฯ เมื่อวันที่ 15 กรกฎาคม 2564 ก็ทราบเพิ่มเติมว่า สหรัฐฯ จะบริจาคให้กับประเทศไทยเพิ่มอีก โดยอยู่ในส่วนโควตาภูมิภาคเอเชีย 23 ล้านโดส
นั่นหมายความว่า ตัวเลข "วัคซีนไฟเซอร์" ที่ไทยจะมีไว้ในมือเพื่อฉีดให้กับประชาชน (ตามเงื่อนไข) ในปีนี้ (2564) มีมากกว่า 21.5 ล้านโดส!
สรุปตัวเลข "วัคซีนไฟเซอร์" ได้แน่ๆ ในปีนี้ (2564) แบ่งเป็น 1) รัฐบาลจัดหาเอง 20 ล้านโดส ไม่เปิดเผยมูลค่า (*ไฟเซอร์ขอสงวนสิทธิ์เป็นความลับกับทางรัฐบาล) และ 2) สหรัฐฯ บริจาค 1.5 ล้านโดส มูลค่า 30 ล้านเหรียญ (*ประมาณ 993 ล้านบาท เฉลี่ยโดสละ 662 บาท)
ล่าสุด วันที่ 30 กรกฎาคม 2564 อุปทูตรักษาการแทนเอกอัครราชทูตสหรัฐฯ ประจำประเทศไทย "ไมเคิล ฮีธ" เชิญสื่อมวลชนหลายสำนักเข้าร่วมรับฟังข่าวดี โดยระบุว่า วัคซีนไฟเซอร์ 1.5 ล้านโดส ได้มาถึงเมืองไทยเรียบร้อยแล้วในเวลา 04.00 น. และสหรัฐฯ มีเป้าหมายที่จะบริจาควัคซีนเพิ่มเติมอีก 1 ล้านโดสให้กับไทย นอกเหนือจากลอตแรกนี้ รวมทั้งหมดเป็น 2.5 ล้านโดส (*ไม่ระบุว่าเป็นวัคซีนไฟเซอร์หรือไม่)
"วัคซีนของเรานั้นให้เปล่าโดยไม่มีเงื่อนไข โดยมีวัตถุประสงค์เพียงหนึ่งเดียวเท่านั้น นั่นคือ การช่วยชีวิตผู้คน และด้วยความตระหนักว่า ไม่มีใครปลอดภัย จนกว่าทุกคนจะปลอดภัย ดังนั้นเราจึงยินดีที่ได้ทราบว่า รัฐบาลไทยมุ่งมั่นที่จะกระจายวัคซีนเหล่านี้อย่างเป็นธรรมให้ผู้ที่อยู่อาศัยในประเทศไทยทุกคน รวมถึงมุ่งเน้นการจัดสรรวัคซีนให้กับกลุ่มที่มีความเสี่ยงสูงสุด"
พร้อมทิ้งท้ายด้วยการชื่นชมบุคลากรทางการแพทย์ พยาบาล และอาสาสมัครสาธารณสุขของไทยที่ทำงานเพื่อควบคุมการระบาด ซึ่งสหรัฐฯ เป็นหุ้นส่วนด้านสาธารณสุขของไทยมากว่า 60 ปี และสหรัฐฯ ภูมิใจที่ได้ช่วยไทยต่อสู้โรคระบาด ความร่วมมือระหว่างเราได้ช่วยชีวิตคนไทยแล้วมากมาย เราจะยืนเคียงบ่าเคียงไหล่คนไทยตลอดไป
...
จากการแจ้งข่าวดีนั้น แน่นอนว่า ตัวเลข "วัคซีนไฟเซอร์" จากสหรัฐฯ 1.5 ล้านโดสลอตแรกนี้ ย่อมถูกจับจ้องนับตั้งแต่การประกาศบริจาค วันที่มาถึง จนกระทั่งการนำไปใช้ ว่าแล้ว... "ฉีดให้ใคร?"
เปิดเอกสาร "วัคซีนไฟเซอร์" ลอตแรกใครได้ไป!?
จากเอกสารสรุปการประชุมคณะกรรมการบริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดโควิด-19 ครั้งที่ 11/2564 ณ วันที่ 1 สิงหาคม 2564 ในระเบียบวาระที่ 4 มีเรื่องเพื่อพิจารณา 4.1 แผนการให้บริการวัคซีนโควิด-19 ซึ่งเป็น "วัคซีนไฟเซอร์" จำนวน 1,503,450 โดส ที่มาถึงไทยลอตแรก 30 กรกฎาคม 2564
*อ้างมติการประชุมคณะทำงานด้านบริหารจัดการวัคซีนโควิด-19 กรณีวัคซีนไฟเซอร์ วันที่ 24 และ 30 กรกฎาคม 2564
แบ่งเป็น 5 กลุ่มเป้าหมาย (*เดิม 4 กลุ่ม)
กลุ่มที่ 1 บุคลากรทางการแพทย์ที่ปฏิบัติงานเกี่ยวกับภารกิจดูแลผู้ป่วยโควิด-19 ทั่วประเทศ ลักษณะเข็ม 3 กระตุ้นภูมิคุ้มกัน
- 700,000 โดส
- 700,000 ราย
- เกณฑ์ : ฉีดซิโนแวค 2 เข็ม อย่างน้อย 4 สัปดาห์ และยังไม่ได้บูสเตอร์แอสตราเซเนกา
...
กลุ่มที่ 2 ผู้มีภาวะเสี่ยงสูงต่อการเสียชีวิตจากการติดเชื้อโควิด-19 ที่มีสัญชาติไทย (ผู้สูงอายุ, 7 โรคเรื้อรัง อายุ 12 ปีขึ้นไป, หญิงตั้งครรภ์ 12 สัปดาห์ขึ้นไป)
- 645,000 โดส
- 322,500 ราย
- พื้นที่ 13 จังหวัดควบคุมสูงสุดและเข้มงวด
- เกณฑ์ : ขึ้นกับอัตราผู้เสียชีวิตในแต่ละจังหวัด รวมถึงความครอบคลุมของวัคซีนที่ฉีดให้ผู้สูงอายุในแต่ละจังหวัด
กลุ่มที่ 3 ชาวต่างชาติที่อาศัยในไทย (เน้นผู้สูงอายุและโรคเรื้อรัง, หญิงตั้งครรภ์ 12 สัปดาห์ขึ้นไป และผู้เดินทางไปต่างประเทศที่จำเป็นฉีดไฟเซอร์ เช่น นักเรียนไทย ทูต)
- 150,000 โดส
- 75,000 ราย
กลุ่มที่ 4 ทำการศึกษาวิจัย (*เดิมไม่มี)
- 5,000 โดส
- 2,500 ราย
- เกณฑ์ : กรมควบคุมโรคพิจารณาโดยคำนึงถึงประโยชน์ในด้านการควบคุมโรคของประเทศเป็นสำคัญ
...
กลุ่มที่ 5 สำรองส่วนกลางตอบโต้การระบาดของเชื้อกลายพันธุ์เบตา (*เดิมไม่มี)
- 3,450 โดส
- 1,725 ราย
- พื้นที่ระบาด
"ย้อนกลับไป 6 เดือนก่อนหน้านี้ ประเทศไทยค่อนข้างจัดการวิกฤติโควิด-19 ได้ดีทีเดียว โดยนับตั้งแต่การแพร่ระบาดครั้งแรกปรากฏขึ้นมาจนถึงตอนนี้ก็เป็นเวลามากกว่า 1 ปีแล้ว ซึ่งเมื่อเร็วๆ นี้ เราได้เห็นแล้วว่า ไวรัสโควิด-19 ไม่สามารถคาดเดาได้เลย และยังปรากฏสายพันธุ์ใหม่ออกมา ส่งผลกระทบต่อหลายๆ ประเทศที่ก่อนหน้านี้สามารถควบคุมไวรัสได้เป็นอย่างดี ดังนั้นแน่นอนว่านี่คือ ความกังวลในเวลานี้ของผม"
ทีมข่าวเฉพาะกิจฯ มีโอกาสได้สัมภาษณ์พิเศษ อุปทูตรักษาการแทนเอกอัครราชทูตสหรัฐฯ ประจำประเทศไทย "ไมเคิล ฮีธ" ...จึงขอคัดบางช่วงบางตอนที่น่าสนใจมาให้ "คุณผู้อ่านไทยรัฐออนไลน์" ได้ติดตามความคืบหน้านี้
คำต่อคำกับ "อุปทูตสหรัฐฯ" ต่อข้อวิพากษ์ "บริจาควัคซีน" ปูทางสู่ "เอเชีย"
Q: จากจำนวนการบริจาควัคซีนโควิด-19 ทั้งหมด 2.5 ล้านโดส ให้แก่ประเทศไทย ระบุได้หรือไม่ว่าส่วนที่เหลือจะมาเมื่อไหร่? และยังคงเป็น "วัคซีนไฟเซอร์" หรือไม่?
อุปทูตสหรัฐฯ "ไมเคิล ฮีธ" : เรากำลังดำเนินการอยู่... ผมไม่สามารถยืนยันได้ว่าจะมาถึงเมื่อไหร่ โดยวัคซีนไฟเซอร์ 1.5 ล้านโดส มาถึงแล้วเมื่อเช้าวันที่ 30 กรกฎาคม ส่วนอีก 1 ล้านโดส จะมาถึงในอนาคตอันใกล้ ขณะนี้เราได้ดำเนินการอย่างต่อเนื่องเพื่อให้ได้วัคซีนโควิด-19 สำหรับประเทศไทย และทุกประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ แต่ผมยังไม่มีวันที่แน่ชัด หรือการยืนยันใดๆ เพิ่มเติม
"ผมไม่มีไทม์ไลน์ที่แน่ชัดในตอนนี้ และผมเองก็ไม่รู้ว่า วัคซีน (1 ล้านโดส) จะเป็นยี่ห้ออะไร"
Q: ในจำนวน 23 ล้านโดส ที่สหรัฐฯ บริจาคให้กับภูมิภาคเอเชีย มีเกณฑ์ในการประเมินการจัดสรรให้แต่ละประเทศอย่างไร?
อุปทูตสหรัฐฯ "ไมเคิล ฮีธ" : สำหรับการประเมินนั้นขึ้นอยู่กับปัจจัยหลายๆ อย่างในการกำหนด (จัดสรรวัคซีน) ของแต่ละประเทศ อย่างเช่นว่า การประเมินจากอัตราการติดเชื้อต่อหัว หรือต่อประชากร หรือแม้แต่การประเมินความสามารถการรับมือโรคของระบบสาธารณสุขของแต่ละประเทศ รวมถึงอัตราการเสียชีวิต อีกทั้งปัจจัยเหล่านี้จะช่วยกำหนดได้ว่า ภาพรวมความจำเป็นของแต่ละประเทศควรจะเป็นเท่าไร
"ในส่วนประเทศไทยเอง เราก็ได้เห็นแล้วว่า มีอัตราการติดเชื้อเพิ่มขึ้นในช่วง 2-3 สัปดาห์ที่ผ่านมา ดังนั้นจากเดิมที่ตั้งต้นไว้ 1.5 ล้านโดส ถึงได้เพิ่มอีก 1 ล้านโดส เนื่องจากเราประเมินตามสถานการณ์หน้างานที่เกิดขึ้นจริง"
อุปทูตสหรัฐฯ "ไมเคิล ฮีธ" : การดำเนินการให้ความช่วยเหลือทางสาธารณสุขแก่ประเทศไทยจะยังคงดำเนินต่อไป เนื่องจากรัฐบาลสหรัฐฯ รับทราบความต้องการความช่วยเหลือจำนวนมากจากรัฐบาลไทย ดังนั้นรัฐบาลสหรัฐฯ จะพยายามตอบสนองความต้องการเหล่านั้น
Q: การบริจาควัคซีนของสหรัฐฯ ในครั้งนี้ ถือเป็นส่วนหนึ่งในนโยบายทางการทูต เพื่อปูทางสู่ภูมิภาคเอเชียในอนาคตหรือไม่?
อุปทูตสหรัฐฯ "ไมเคิล ฮีธ" : แน่นอนว่า ภูมิภาคเอเชียนั้นมีความสำคัญ แต่อย่างไรก็ตาม ก็ขอเน้นย้ำว่า นโยบายเกี่ยวกับวัคซีนโควิด-19 ค่อนข้างจะมีมาอย่างต่อเนื่องทั่วทั้งโลก นอกเหนือจากภูมิภาคเอเชียก็อย่างเช่น แอฟริกา ยุโรปตะวันออก ลาตินอเมริกา หรือไม่ว่าจะเป็นทางตอนใต้ของสหรัฐฯ อย่างเม็กซิโก หรือทางตอนเหนือของอเมริกาอย่างแคนาดา ทั้งหมดล้วนต่างมีความสำคัญทั้งนั้น เพราะฉะนั้นเราจะเห็นว่า สหรัฐฯ ยังคงมุ่งมั่นที่จะสนับสนุนวัคซีนต่อทั่วทุกภูมิภาคเพื่อช่วยกันรักษา หรือช่วยชีวิตผู้คนให้มากที่สุดต่อไป โดยขึ้นอยู่กับฐานของการให้ความช่วยเหลือทางด้านมนุษยธรรม
Q: ในมุมมองสหรัฐฯ มีความคิดเห็นอย่างไรต่อข้อวิพากษ์ที่ว่า ประเทศร่ำรวยซื้อวัคซีนโควิด-19 จนเกินพอแล้ว จึงต้องนำมาบริจาคให้กับประเทศยากจน?
อุปทูตสหรัฐฯ "ไมเคิล ฮีธ" : สำหรับ "คำตอบ" ของข้อนี้ แน่นอนว่า เราต้องจัดสรรวัคซีนให้กับประชาชนสหรัฐฯด้วย เราต้องการฟื้นฟูเศรษฐกิจให้เร็วที่สุด ซึ่งเศรษฐกิจของสหรัฐฯ เป็นเศรษฐกิจที่มีขนาดใหญ่ที่สุดของโลกในปัจจุบัน ดังนั้นโลกก็ยังต้องพึ่งเศรษฐกิจของสหรัฐฯอยู่ เราก็จำเป็นที่จะต้องให้ความสำคัญกับประชาชนของเราเองด้วย
แต่อย่างไรก็ตาม เมื่อปีที่แล้ว (2563) สหรัฐฯ เองก็ประสบกับความยากลำบากมากมายในการควบคุมสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัส (โควิด-19) ท่านก็จะทราบว่า ประชาชนเราเองก็สูญเสียไปประมาณกว่าครึ่งล้านคนด้วยกัน ในขณะเดียวกันประเทศไทยในตอนนั้น สถานการณ์ยังดี แล้วก็ดูแลจัดการรับมือกับโรคได้ดี เพียงแต่ว่าพอมาปีนี้ (2564) สถานการณ์มันเปลี่ยน ในสหรัฐฯ ควบคุมได้ดีขึ้น ขณะที่ ประเทศไทยก็พบว่ามีอัตราผู้ติดเชื้อสูงขึ้น คนเสียชีวิตมากขึ้น ดังนั้นเราเลยจะต้องช่วยกันให้มากที่สุดต่อไปนับจากนี้ และต่อไปข้างหน้า
"เราต้องมุ่งเน้นให้ความช่วยเหลือไทยและภูมิภาคนี้เป็นพิเศษ และนอกจากนี้ก็จะเห็นได้ว่า ไวรัส (โควิด-19) ยากที่จะคาดเดา โดยเฉพาะการกระจายของโรค และโดยเฉพาะไวรัสตัวใหม่ (สายพันธุ์เดลตา) ก็สร้างความประหลาดใจให้เราได้มากเลย ดังนั้นเราก็พร้อมที่จะให้ความช่วยเหลือต่อไปจากนี้ไปให้มากยิ่งขึ้น".
ทีมข่าวเฉพาะกิจไทยรัฐออนไลน์ รายงาน
กราฟิก: Varanya Phae-araya
ข่าวน่าสนใจ:
- สถานทูตสหรัฐฯ เคลียร์ทุกคำถาม บริจาควัคซีน mRNA ให้ไทย กับกลยุทธ์พหุภาคี
- WHO ถึงไทย "เดลตา" บุก ผู้สูงอายุเสี่ยงแม้อยู่บ้าน เร่งเข้าถึงวัคซีน
- ครึ่งปีหลัง "วัคซีนฟรี" ที่รัฐจัดให้ เข้า "โคแวกซ์" เวลานี้ไม่ได้ช้าไป?
- Hospital และ รพ.เอกชน กับราคาที่ต้องจ่าย 3-4 หมื่นบาท/คน
- "เศรษฐกิจไทย" รั้งท้าย เชื่อมั่นตก กว่าจะฟื้นเท่าก่อนโควิด ใช้เวลา 5 ปี