ในห้วงเวลานี้ คงไม่มี "วัคซีนโควิด-19" ตัวไหนที่จะดึงความสนใจคนไทยได้เท่ากับ "วัคซีน mRNA" โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อ "สหรัฐอเมริกา" มหาอำนาจโลกตะวันตก ประกาศว่า จะบริจาคให้กับนานาประเทศที่อยู่ภายในภูมิภาคเอเชีย ซึ่งที่น่าสนใจ คือ "ประเทศไทย" เป็นหนึ่งในรายชื่อประเทศเหล่านั้นด้วย

แน่นอนว่า หลังเกิดคำถามมากมาย "เหตุใด... ทั้งความช่วยเหลือและกระบวนการจัดซื้อวัคซีน mRNA ของไทยจึงเกิดความล่าช้ายิ่งนัก?" ฉะนั้น ทาง "ทีมข่าวเฉพาะกิจไทยรัฐออนไลน์" จึงส่งอีเมลสอบถามไปยังสถานเอกอัครราชทูตสหรัฐอเมริกา ประจำประเทศไทย จนได้รับ "คำตอบ" มาดังต่อไปนี้...

ขอบคุณ "ทีมข่าวเฉพาะกิจไทยรัฐออนไลน์" เป็นอย่างยิ่งสำหรับการติดต่อ "สถานทูตสหรัฐอเมริกา" มาในครั้งนี้ ทางเรายินดีที่จะใช้โอกาสนี้ให้ข้อมูลรายละเอียดที่ถูกต้องเกี่ยวกับความพยายามของสหรัฐอเมริกา โดยเฉพาะอย่างยิ่งในส่วนที่เกี่ยวข้องกับประเทศไทย กว่า 60 ปี สหรัฐฯ และไทย ผนึกกำลังรับมือกับปัญหาสำคัญที่ส่งผลต่อการสาธารณสุข จริงๆ แล้ว สถานทูตสหรัฐอเมริกาประจำประเทศไทย มีบุคลากรที่ทำงานด้านสาธารณสุขมากกว่าส่วนงานอื่นด้วยซ้ำ

สำหรับ "คำถามพิเศษ" ที่ทีมข่าวเฉพาะกิจฯ สอบถามมานั้น ทางสถานทูตสหรัฐฯ ได้เตรียม "คำตอบ" ไว้ให้เรียบร้อยแล้ว

สหรัฐอเมริกามีความภูมิใจที่ได้เป็นหุ้นส่วนกับประเทศไทยในการต่อสู้กับการแพร่ระบาดไวรัสโควิด-19 นี้ และเราหวังว่า เราจะฟื้นคืนและเข้มแข็งกว่าเดิมไปด้วยกัน! "STRONGER TOGETHER!"

...

ทั้งนี้ สถานทูตสหรัฐฯ ได้แนบ "เอกสารข้อเท็จจริง" เพิ่มเติมที่อธิบายถึงการสนับสนุนความช่วยเหลือแก่ประเทศไทย

สัมภาษณ์พิเศษ "สถานทูตสหรัฐฯ" เคลียร์ทุกคำถาม

"ทอม มอนต์โกเมอรี" รักษาการโฆษกสถานเอกอัครราชทูตสหรัฐอเมริกา ประจำประเทศไทย ให้ "คำตอบ" สำหรับ "คำถามพิเศษ" ไว้ดังนี้

Q: จริงหรือไม่? ปัจจุบัน สหรัฐอเมริกา มี "วัคซีนโควิด-19" มากเกินความต้องการ จนส่งผลกระทบต่อโครงการ "โคแวกซ์" (COVAX) รวมถึงการสั่งซื้อของประเทศอื่นๆ

"ทอม มอนต์โกเมอรี" : ตรงกันข้ามครับ สหรัฐอเมริกากำลังนำชาติต่างๆ ทั่วโลกในการรับมือการแพร่ระบาดโควิด-19 ครั้งนี้ และกำลังเร่งกระจายวัคซีนออกไปทั่วโลก ในฐานะผู้บริจาครายใหญ่ที่สุดรายเดียวของโครงการ COVAX ทุกประเทศ ไม่ว่าประเทศนั้นจะมีสถานะทางรายได้เป็นเช่นไรก็ตาม (ไม่ว่าประเทศรายได้สูง หรือประเทศรายได้ต่ำ) ต่างล้วนต้องการวัคซีนที่ผ่านมาตรฐานอันเข้มงวดเพื่อความปลอดภัยและมีประสิทธิภาพ สำหรับประเทศไทยนั้น ความช่วยเหลือและความร่วมมือระหว่างสหรัฐอเมริกาและไทย ได้ช่วยชีวิตผู้คนมาแล้วนับไม่ถ้วนในช่วงหลายทศวรรษที่ผ่านมา

และตามข้อเท็จจริง ประธานาธิบดี "โจ ไบเดน" แห่งสหรัฐอเมริกา ได้ประกาศแผนการส่งมอบวัคซีนโควิด-19 ที่มีความปลอดภัยและมีประสิทธิภาพ จำนวน 80 ล้านโดส ให้กับประเทศต่างๆ ที่มีความจำเป็นในทั่วโลก สำหรับประเทศไทยก็จะได้รับการแบ่งปันวัคซีนที่มีความปลอดภัยและมีประสิทธิภาพจากการบริจาคดังกล่าว ในส่วนแผนบริจาค 80 ล้านโดส ของประธานาธิบดี "ไบเดน" นั้น ครอบคลุมภูมิภาคเอเชียกว่า 23 ล้านโดส นับเป็นความพยายามที่จะป้องกันให้ภูมิภาคแห่งนี้ รวมถึงประเทศไทย มี "ความปลอดภัย"

การบริจาควัคซีนเหล่านี้เป็นความช่วยเหลือนอกเหนือไปจากความช่วยเหลือมูลค่า 4,000 ล้านเหรียญที่สหรัฐฯ ได้ให้ผ่านทาง COVAX ซึ่งเป็นโครงการจัดสรรวัคซีนโควิด-19 ให้แก่นานาประเทศอย่างเท่าเทียม โดยรวมถึงวัคซีนไฟเซอร์ 500 ล้านโดสในปีที่กำลังจะมาถึง

แน่นอนว่า ภารกิจลำดับแรกของประธานาธิบดี "ไบเดน" ในการต่อสู้กับการแพร่ระบาดโควิด-19 ครั้งนี้ คือ การดูแลชาวอเมริกัน เพราะจนถึงปัจจุบัน มีชาวอเมริกันต้องเสียชีวิตจากโควิด-19 มากกว่าครึ่งล้าน

...

Q: เหตุใดความช่วยเหลือจากสหรัฐอเมริกาที่ให้กับประเทศไทยต่อวิกฤติโควิด-19 จึงค่อนข้างล่าช้า โดยเฉพาะการจัดหาวัคซีน mRNA ให้กับประเทศไทย รวมถึงประเทศอื่นๆ ในภูมิภาคอาเซียน?

"ทอม มอนต์โกเมอรี" : ตามข้อเท็จจริงนั้น สหรัฐอเมริกาได้มอบความช่วยเหลืออันเกี่ยวเนื่องกับโควิด-19 ให้กับไทย ซึ่งเป็นเพื่อน เป็นหุ้นส่วน และพันธมิตรของเรา เป็นมูลค่ากว่า 40 ล้านดอลลาร์สหรัฐ แผนบริจาควัคซีนครั้งนี้จะเพิ่มมูลค่าความช่วยเหลือดังกล่าวเป็นอย่างมาก

กว่า 60 ปี สหรัฐฯ และไทย ผนึกกำลังรับมือกับปัญหาสำคัญที่ส่งผลต่อการสาธารณสุข จริงๆ แล้ว สถานทูตสหรัฐอเมริกาประจำประเทศไทย มีบุคลากรที่ทำงานด้านสาธารณสุขมากกว่าส่วนงานอื่นด้วยซ้ำ ความร่วมมือนี้เพิ่มพูนขึ้นนับตั้งแต่เกิดการระบาด โดยสหรัฐฯ ทำงานเคียงบ่าเคียงไหล่กับภาคีชาวไทยในการเสริมสร้างความเข้มแข็งเพื่อตอบสนองต่อโรคโควิด-19 รวมถึงช่วยให้ไทยเข้าถึงอุปกรณ์ทางการแพทย์ที่สำคัญได้

จนถึงปัจจุบัน รัฐบาลสหรัฐอเมริกาให้การสนับสนุนที่เกี่ยวเนื่องกับโควิด-19 แก่ประเทศไทย มากกว่า 40 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (ประมาณ 1,280 ล้านบาท) และมีแผนการบริจาควัคซีนอีกจำนวนมากสำหรับการสนับสนุนความช่วยเหลือครั้งนี้

...

สหรัฐฯ ได้มอบความช่วยเหลือ ซึ่งรวมไปถึงเครื่องช่วยหายใจ หน้ากากกรองอากาศ ชุดตรวจหาการติดเชื้อ หน้ากากอนามัย แว่นตานิรภัย และอุปกรณ์ป้องกันอื่นๆ สำหรับแพทย์และพยาบาลชาวไทย มูลค่ารวม 28.5 ล้านเหรียญ ตลอดจนการช่วยเหลือผู้พลัดถิ่นตามแนวชายแดน นอกจากนี้ ศูนย์ควบคุมและป้องกันโรคแห่งชาติสหรัฐอเมริกา (U.S. CDC) ซึ่งมีความร่วมมือกับกระทรวงสาธารณสุขของไทยมาเป็นเวลากว่า 40 ปี ยังได้มอบความช่วยเหลือที่เกี่ยวข้องกับโรคโควิด-19 แล้วเป็นจำนวน 13 ล้านเหรียญ

นอกจากนี้ ศูนย์ควบคุมและป้องกันโรคแห่งชาติสหรัฐอเมริกา (U.S. CDC) ซึ่งเป็นหุ้นส่วนกับกระทรวงสาธารณสุขไทย มาร่วม 40 ปี ยังได้มอบความช่วยเหลือในการต่อสู้กับโควิด-19 มูลค่า 13 ล้านดอลลาร์สหรัฐ

ทั้งนี้ สำนักงานในต่างประเทศที่ใหญ่ที่สุดของ CDC ยังตั้งอยู่ที่กรุงเทพมหานคร ในพื้นที่เดียวกับกระทรวงสาธารณสุข โดยตลอดหลายทศวรรษที่ผ่านมา สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์การแพทย์ทหาร (AFRIMS) ยังเป็นส่วนงานที่ชี้วัดความสำเร็จของการศึกษาวิจัยทดลองทางคลินิกโรคเขตร้อน และโรคติดเชื้ออุบัติใหม่

...

นักวิทยาศาสตร์ชาวไทยและอเมริกันที่ประจำ AFRIMS มีภารกิจรับผิดชอบการพัฒนายาต้านมาลาเรียทั่วทั้งโลก ซึ่งช่วยชีวิตผู้คนผ่านกระบวนการนี้ได้อย่างมากมาย โดยองค์การพัฒนาระหว่างประเทศของสหรัฐอเมริกาประจำภูมิภาคเอเชีย (USAID’s Regional Development Mission for Asia) สนับสนุนโครงการต่างๆ ในประเทศไทย และลุ่มน้ำโขงตอนล่าง ในการรับมือกับเอชไอวี/เอดส์, มาลาเรีย, ภาวะขาดสารอาหาร และโรคติดเชื้ออุบัติใหม่ เช่น โควิด และภัยคุกคามของการดื้อยาของเชื้อโรคที่กำลังเติบโต

Q: ภายในปีนี้ (2564) หากประเทศไทยจัดการกระบวนการซื้อวัคซีนเสร็จสิ้น พอจะคาดการณ์ได้หรือไม่ว่า "ประเทศไทย" ในฐานะมิตรประเทศสำคัญของสหรัฐอเมริกา จะได้วัคซีน mRNA ในปริมาณเท่าใด?

"ทอม มอนต์โกเมอรี" : เราหวังเป็นอย่างยิ่งว่าจะสามารถให้ข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับวัคซีนที่ปลอดภัยและมีประสิทธิภาพ ที่สหรัฐฯ กำลังจะบริจาคให้กับประเทศไทยได้ในเร็วๆ นี้

Q: จริงหรือไม่... สหรัฐอเมริกาเปิดให้นักท่องเที่ยวต่างชาติสามารถเดินทางเข้าไปฉีดวัคซีนในประเทศได้ และรัฐบาลสหรัฐอเมริกาสนับสนุนแนวทางนี้ด้วยหรือไม่?

"ทอม มอนต์โกเมอรี" : ทั้งผู้ที่อาศัยอยู่ในสหรัฐฯ และผู้ที่เดินทางไปเยือนสหรัฐฯ สามารถขอรับการฉีดวัคซีนได้ เพราะถือเป็นยุทธศาสตร์พหุภาคีของเราในการให้ความช่วยเหลือด้านวัคซีนต่อทั่วโลก ขึ้นกับการจัดสรรวัคซีนที่ปลอดภัยและมีประสิทธิภาพให้กับนานาประเทศที่มีความจำเป็นต้องได้รับวัคซีน และนี่คือ ความพยายามระดับโลก

Q: เพื่อความสบายใจของคนไทย "วัคซีนไฟเซอร์ชุดแรก" ที่บริจาคให้ไทย เป็นวัคซีนใกล้หมดอายุหรือไม่ และมีเงื่อนไขประกอบการบริจาคครั้งนี้หรือไม่?

"ทอม มอนต์โกเมอรี" : เราหวังว่าจะได้แจ้งข่าวดีเกี่ยวกับวัคซีนที่มีความปลอดภัยและมีประสิทธิภาพที่จะส่งมอบให้กับประเทศไทยเร็วๆ นี้ครับ

Q: การบริจาควัคซีนครั้งนี้ของสหรัฐอเมริกา นับเป็นหนึ่งในยุทธศาสตร์ทางการทูตในภูมิภาคอาเซียนหรือไม่?

"ทอม มอนต์โกเมอรี" : ดังที่ประธานาธิบดี "ไบเดน" เคยกล่าวไว้ว่า "นี่ไม่ใช่เรื่องการเมือง; เป็นเรื่องเกี่ยวกับการช่วยชีวิตคน" ซึ่งพวกเรารู้สึกภาคภูมิใจอย่างยิ่งที่สามารถช่วยเหลือนานาประเทศทั่วโลก รวมถึงอาเซียน ด้วยการส่งมอบวัคซีนที่ปลอดภัยและมีประสิทธิภาพ แน่นอนว่า สหรัฐอเมริกามีความภาคภูมิใจที่จะร่วมมือกับประเทศไทย ในการต่อสู้กับการแพร่ระบาดครั้งนี้ และพวกเราก็หวังว่าจะผ่านพ้นวิกฤตินี้ ฟื้นตัว และเข้มแข็งกว่าเดิมไปด้วยกัน "STRONGER TOGETHER!"


ทีมข่าวเฉพาะกิจไทยรัฐออนไลน์ รายงาน
กราฟิก: Theerapong Chaiyatep
อินโฟกราฟิก: Varanya Phae-araya

ข่าวน่าสนใจ: