สถานการณ์การระบาดของเชื้อโควิด-19 เวลานี้ ทั่วโลกถือว่าอยู่ในภาวะวิกฤติ ถึงแม้หลายประเทศจะมีการฉีดวัคซีนไปแล้ว ส่วนประเทศไหนใคร่ฉีดยี่ห้ออะไร ก็แล้วแต่ความสามารถ

สำหรับประเทศไทย เวลานี้ก็ลำบากไม่แพ้ชาติอื่นๆ มีการแพร่ระบาดของโควิด-19 สายพันธุ์อังกฤษไปทั่วประเทศแล้ว ที่น่ากลัวยังมีสายพันธุ์อินเดีย บราซิล หรือแอฟริกาใต้ เข้ามาอีก ส่งผลให้รัฐบาลต้องเร่ง “ฉีดวัคซีน” ให้กับประชาชน ซึ่งเวลานี้มีอยู่ในมือ 2 ยี่ห้อ คือ “ซิโนแวค” และ “แอสตราเซเนกา”

แต่อีก 1 วัคซีนความหวังของคนไทย ที่พัฒนาโดยคนไทย เพื่อคนไทย คือ “วัคซีน ChulaCov19” เวลานี้พัฒนาไปถึงไหน โอกาสได้ใช้เมื่อไหร่ ประสิทธิภาพดีขนาดไหน ทีมข่าวไทยรัฐออนไลน์ ได้รับคำตอบจาก ศ.นพ.เกียรติ รักษ์รุ่งธรรม ผู้อำนวยการบริหารโครงการพัฒนาวัคซีนโควิด-19 ศูนย์วิจัยวัคซีน คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

เบื้องหลังวัคซีน ChulaCov19 กับเทคนิค mRNA

ศ.นพ.เกียรติ เปิดเผยว่า วัคซีนจุฬาฯ เลือกใช้เทคนิค mRNA เราเลือกเทคโนโลยีนี้มาตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ ปีที่แล้ว (พ.ศ.2563) ซึ่งตอนนั้นยังไม่รู้ว่าจะเป็นเทคโนโลยีที่ใช้ได้จริงหรือไม่ ถึงแม้เทคโนโลยีนี้จะมีการวิจัยและพัฒนามาต่อเนื่องกว่า 20 ปี กำลังมีการพัฒนาทดสอบวัคซีนสำหรับโรคอื่นหลายโรค และมีการปรับคุณภาพจนดีมากขึ้นเรื่อยๆ

...

“ปลายปีที่แล้ว มีข่าวดี ทั่วโลก ว่าผลการทดสอบวัคซีน mRNA ระยะที่สามของทั้ง Pfizer และ Moderna ได้ผลถึง 95% ในการป้องกันโรคโควิด-19 ทำให้เรายิ่งมั่นใจว่าเราเลือกเทคโนโลยีที่ถูกต้องแล้ว”

ผอ.โครงการพัฒนาวัคซีนโควิด-19 ศูนย์วิจัยวัคซีน คณะแพทยศาสตร์ จุฬาฯ ยอมรับว่า แม้ศูนย์วิจัยของคณะแพทยศาสตร์ จุฬาฯ จะเป็นศูนย์เล็กๆ ที่ก่อตั้งมาได้ 10 กว่าปี และไม่เคยมีประสบการณ์วิจัยวัคซีนชนิด mRNA มาก่อน แต่ก็เคย และกำลัง พัฒนาวัคซีนโดยใช้เทคนิค DNA และวัคซีนชนิดโปรตีน สำหรับ ไข้เลือดออก ไข้ฉี่หนู ภูมิแพ้ เป็นต้น

“เมื่อ 3-4 ปีก่อน ได้ยินข่าวเรื่องเทคนิคใหม่ คือ mRNA วัคซีน เราจึงเชิญ 1 ในผู้คิดค้นเทคนิคนี้คือ คือ Prof. Drew Weissman มหาวิทยาลัยเพนซิลวาเนีย มาเมืองไทยเพื่อให้ความรู้ ซึ่งเวลานี้เลยกลายเป็นเพื่อนที่ดีต่อกัน...ถือเป็นความโชคดีของประเทศไทย”

เมื่อเกิดโควิด-19 ระบาด จึงได้ตัดสินใจว่าเรามาพัฒนาวัคซีนโควิด-19 ด้วยกัน จึงร่วมกันออกแบบ และเขาเองก็ได้ถ่ายทอดเทคโนโลยีให้

ศ.นพ.เกียรติ พูดอย่างมั่นใจว่า จากการรับฟังการบรรยายในครั้งแรกจาก Prof.Drew ส่วนตัวเชื่อมั่นว่า วัคซีนชนิด mRNA จะเป็น Disruptive Technology ทางเราเชื่อว่าจะทำให้เทคโนโลยีเก่าๆ ถดถอยไป เพราะจะได้เทคโนโลยีใหม่มาแทนที่

“เทคโนโลยีวัคซีนแบบเก่าใช่ว่าไม่ดี ยังมีข้อดีเยอะ แต่เทคโนโลยีแบบใหม่มีข้อดี คือ จะผลิตได้เร็วกว่า เพราะสามารถออกแบบโดยใช้สายพันธุกรรมเล็กๆ (ไม่จำเป็นต้องเลี้ยงเชื้อ) แต่สิ่งที่คนมักพูดและสื่อสารผิดๆ ว่า mRNA เมื่อฉีดเข้าร่างกายแล้ว จะเข้าไปที่นิวเคลียส (Nucleus) หรือโครโมโซม (Chromosome) ซึ่งเป็นความเข้าใจที่ไม่ถูกต้อง” ศ.นพ.เกียรติ กล่าว ก่อนอธิบายเพิ่มว่า

เทคนิคการผลิตวัคซีนแบบ mRNA ชื่อเต็มคือ Messenger ribonucleic acid มันคือ รหัสคำสั่งระยะสั้น ซึ่ง RNA มันจะอยู่ในเซลล์ แต่อยู่นอกนิวเคลียส (Nucleus) สั่งให้เซลล์เราผลิตโปรตีนขึ้นมาตามต้องการ กรณีนี้ชิ้นส่วนโปรตีนของโควิด ซึ่งจะไปกระตุ้นภูมิคุ้มกันของเราให้รู้จักเชื้อโรคชนิดนี้ไว้ก่อน เมื่อได้รับเชื้อจริง เราก็สามารถตอบโต้ได้อย่างรวดเร็วและมีประสิทธิภาพ เพื่อป้องกันให้เราไม่เจ็บป่วยจากโรคนี้ หรือเจ็บป่วยรุนแรงหรือเสียชีวิต

...

สรุปง่ายๆ ก็คือ เราเลียนแบบธรรมชาติซึ่งทุกคนในทุกนาทีที่ยังมีชีวิตอยู่ ร่างกายเราจะต้องสร้างโปรตีนที่ทำให้เรามีชีวิตทำสิ่งต่างๆ ได้ทุกขณะ เพราะร่างกายเราสร้าง รหัสคำสั่งที่เรียกว่า mRNA หลากหลายชนิด เรียกว่าเป็นหลาย 1,000 ชนิด ในแต่ละวัน เพื่อสร้างโปรตีนให้ไปทำงานในหน้าที่ที่ร่างกายเราต้องการ และโดยธรรมชาติรหัสคำสั่งที่เรียกว่า mRNA เหล่านี้จะถูกร่างกายขจัดออกภายในไม่กี่วันอย่างรวดเร็ว โดยไม่มีการสะสมแต่อย่างใด

ดังนั้นวัคซีนชนิด mRNA จึงไม่มีการสะสม หรือฝังตัวอยู่ในนิวเคลียสของเราแต่อย่างใด เพราะจะถูกขจัดโดยร่างกายภายในเวลาอันสั้น หลังจากทำหน้าที่ของวัคซีนใน การกระตุ้นภูมิคุ้มกันของเราเรียบร้อยแล้ว เพื่อไว้คอยตอบโต้เชื้อโรคที่รุกราน

โดยสรุป หลักการของความรู้นี้ คือ การเอาชิ้นส่วนเล็กๆ ของสายพันธุกรรมเชื้อโควิด ส่วนที่เป็นโปรตีนตรงปุ่มหนามของเชื้อไวรัสนี้ จากนั้นนำมาสังเคราะห์เป็น mRNA ซึ่งเมื่อฉีดวัคซีน mRNA เข้าร่างกาย รหัสคำสั่ง mRNA เหล่านี้จะบอกให้เซลล์ของร่างกายผลิตโปรตีน ส่วนที่เป็นปุ่มหนามของไวรัสขึ้นมาทำหน้าที่การกระตุ้นให้ร่างกายรู้จักหน้าตาของเชื้อโควิด และสร้างภูมิคุ้มกัน เพื่อคอยป้องกันและตอบโต้ไม่ให้เราเจ็บป่วย หรือเสียชีวิตจากโควิด-19 นั่น

...

ไทม์ไลน์ วัคซีน “ChulaCov19” อนาคตผลิตเอง ใช้เอง

ศ.นพ.เกียรติ ได้สรุปไทม์ไลน์ การพัฒนาวัคซีน “ChulaCov19” ไว้ว่า

ทดลองใน “หนู” ต้นเดือนกุมภาพันธ์ 2563

ผลการทดลองในหนู เรารู้สึกตื่นเต้นมาก เพราะภูมิขึ้นสูงมาก ซึ่งขึ้นมากกว่าทุกวัคซีนอื่นๆ ที่เราเคยทดสอบมา และผลการทดลองทยอยออกมาช่วงตั้งแต่ปลายมีนาคม

ทดลองใน “ลิง” มิถุนายน-กรกฎาคม 2563

จากนั้น มีการทดลองในลิง ผลคือ สามารถสร้างภูมิคุ้มกันได้ในระดับสูง และลิงมีสุขภาพดี ซึ่งทดลองเสร็จในช่วงเดือนมิถุนายน ต้นกรกฎาคม

อุปสรรคใหญ่ ความล่าช้าของวัคซีน

หลังจากผ่านการทดลองในสัตว์ทั้ง 2 ขั้นตอน ทีมพัฒนาวัคซีนของจุฬาฯ ก็เจอปัญหาใหญ่ ส่งผลให้การพัฒนาวัคซีนหยุดชะงักและล่าช้าไป 2 เดือน แต่ไม่ถือว่าเสียหาย เพราะยังมีหนทางแห่งอนาคต

ศ.นพ.เกียรติ เล่าเบื้องหลังอุปสรรคที่เจอว่า “ความจริงถ้าเมืองไทยมีเทคโนโลยีนี้ และมีโรงงานที่ทำเป็น ป่านนี้ก็ได้มีการทดสอบระยะ 2-3 ในคนแล้ว และสิ้นปีนี้ก็อาจจะได้ใช้วัคซีน แต่...ปัญหาที่เกิดขึ้นคือ เราไม่มีโรงงาน เราจึงเสียเวลาในการเสาะหาโรงงาน โดยจ้างโรงงานที่ประเทศสหรัฐอเมริกา โดยมีข้อแม้ว่า ต้องถ่ายทอดเทคโนโลยีการผลิตให้กับประเทศไทย เพราะเป้าหมายสูงสุดในการทำงานนี้ไม่ใช่เพื่อวิจัย แต่เพื่อให้ผลิตได้จริงในประเทศเรา” ศ.นพ.เกียรติ เล่าเบื้องหลังอุปสรรคที่เจอ

...

ตอนนั้นโรงงานการผลิตก็ล้นมือ กว่าจะหาได้จึงเสียเวลาไปมาก โดยจำเป็นต้องจ้าง 2 โรงงาน โรงงานแรก คือ ใช้ผลิตเนื้อในวัคซีน mRNA อีกโรงงานคือ ทำกันเคลือบวัคซีนด้วยไขมันขนาดจิ๋ว และบรรจุขวด

“กว่าจะติดต่อ และว่าจ้างโรงงานแรกสำเร็จ ก็ใช้เวลาเกือบ 2 เดือน ส่วนโรงงานที่ 2 กว่าจะเริ่มคุยกันได้ ก็ใช้เวลาอีก จะเริ่มซ้อมผลิตได้ในเดือนกันยายน กว่าทุกอย่างจะนิ่ง ก็ประมาณเดือนธันวาคม”

ศ.นพ.เกียรติ กล่าวต่อว่า ตอนผลิตในโรงงานแรก และโรงงานที่ 2 นั้น ใช้เวลาไม่นาน แต่ที่ช้าคือ ขั้นตอนการประกันคุณภาพ กว่าจะเสร็จในโรงงานแรก ก็ในเดือนกุมภาพันธ์ (พ.ศ.2564) ส่งมาที่โรงงานที่ 2 ในเดือนมีนาคม และเวลานี้คือ ขั้นตอนประกันคุณภาพในโรงงานที่ 2 และเพื่อความมั่นใจในด้านคุณภาพและความปลอดภัยได้มีการว่าจ้างบริษัทตรวจประกันคุณภาพจากประเทศไอร์แลนด์ เพื่อไปประเมินคุณภาพของโรงงาน และประเมินวิเคราะห์ผลเชิงคุณภาพของวัคซีน ก่อนที่จะรับรองและส่งมาให้เราเพื่อใช้กับอาสาสมัคร ที่คาดว่าจะได้ฉีดต้นเดือนมิถุนายน

ศ.นพ.เกียรติ บอกว่า สิ่งที่เราทำคู่ขนานในเวลานี้ คือ การส่งเอกสารการวิจัยต่างๆ ให้กับองค์การอาหารและยา ซึ่งก็มีการตรวจสอบอย่างรวดเร็ว พร้อมตอบกลับอย่างตรงไปตรงมา

“ตอนนี้เหลือแค่รอลุ้นว่า หากประกันคุณภาพผ่านเกณฑ์ อย. ตรวจสอบทุกอย่างเชื่อถือได้ ก็จะนำเข้ามาฉีดให้อาสาสมัครทันที”

ศ.นพ.เกียรติ รักษ์รุ่งธรรม ผู้อำนวยการบริหารโครงการพัฒนาวัคซีนโควิด-19 ศูนย์วิจัยวัคซีน คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
ศ.นพ.เกียรติ รักษ์รุ่งธรรม ผู้อำนวยการบริหารโครงการพัฒนาวัคซีนโควิด-19 ศูนย์วิจัยวัคซีน คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

ข่าวดี วัคซีนสัญชาติไทย อาจเทียบเท่า “ไฟเซอร์-โมเดอร์นา” แต่เก็บรักษาง่ายกว่ามาก!

นอกจากนี้ ศ.นพ.เกียรติ ยังแย้มข่าวดีให้ฟังว่า ที่อยากจะแจ้งทุกคนอีกอย่างคือ ปกติแล้วเทคนิค mRNA จะมีข้อเสียคือ มันสลายได้ง่าย จำเป็นต้องเก็บในความเย็น อย่างของโมเดอร์นา ต้อง -20 (2-8 องศาฯ เก็บได้ 1 สัปดาห์) ของไฟเซอร์ -70 (เก็บที่ 2-8 องศาฯ ได้วันเดียว)

แต่ของเราเป็นอะไรที่โชคดี คือ สูตรที่ไขมันขนาดจิ๋วที่เราเลือกมา สามารถทำให้วัคซีนของเราสามารถเก็บในความเย็น 2-8 องศาฯ ได้นานถึง 3 เดือน เก็บในอุณหภูมิ 25 องศาฯ ได้ 7 วัน

“ผมเชื่อว่าตัวเคลือบเป็นสิ่งสำคัญ โดยเราจับมือกับบริษัทที่ประเทศแคนาดา โดยเราเห็นงานของเขา และผลที่ได้ก็เป็นที่น่าพอใจ โดยสามารถกระตุ้นภูมิคุ้มกันได้สูงด้วย ซึ่งตัวเคลือบชนิดนี้เคยผ่าน อย.ของสหรัฐฯ มาแล้วด้วย”

เตรียมถ่ายทอดความรู้ เทคนิคการผลิตให้ไทย ผลิตเอง

ศ.นพ.เกียรติ เผยว่า ความรู้ที่ได้นี้จะถ่ายทอดให้บริษัท ไบโอเน็ต ซึ่งตั้งอยู่ที่ จ.พระนครศรีอยุธยา โดยมีผู้ถือหุ้นหลักเป็นคนไทยและฝรั่งเศส ซึ่งเคยผลิต DNA วัคซีน พัฒนาและผลิตโปรตีนวัคซีนมาก่อน เขามีประสบการณ์ด้านวัคซีน ประมาณปลายเดือนมิถุนายนจะเริ่มทดสอบการผลิต และหากผลิตได้ดีและมีคุณภาพ จะทำการ ผลิตในจำนวนมากขึ้น เพื่อใช้ทดสอบในอาสาสมัคร และหากได้ผลดี จะได้ผลิตเพื่อใช้ในจำนวนหลายสิบล้านโดสได้ต่อไป

เดินหน้าวัคซีนจุฬาฯ รุ่น 2 ใช้กับโควิด-19 กลายพันธุ์ อินเดีย แอฟริกาใต้ บราซิล

สำหรับสิ่งที่คนไทยเวลานี้รู้สึกกังวลมากในเรื่องโควิดกลายพันธุ์ โดยเฉพาะสายพันธุ์แอฟริกาใต้ หรือบราซิล ผอ.โครงการพัฒนาวัคซีนโควิด-19 ศูนย์วิจัยวัคซีน คณะแพทยศาสตร์ จุฬาฯ เลกเชอร์ให้ฟังว่า...

จากความรู้พื้นฐานชีววิทยา สิ่งมีชีวิตจะสร้างโปรตีนได้ต้องมี DNA แล้ว DNA จะสร้าง mRNA จากนั้น mRNA จะมีคำสั่งให้เซลล์สร้างโปรตีน สิ่งมีชีวิตจึงสามารถดำเนินไปได้ ระบบธรรมชาติแบบนี้ อัตราการกลายพันธุ์จะเกิดได้น้อย ซึ่งต่างจากไวรัสชนิด RNA ในกรณีนี้คือ เชื้อไวรัสโควิด ทุกครั้งที่มีการแบ่งตัว หรือการแพร่ระบาดในคนหมู่มากอย่างรวดเร็ว เชื้อไวรัสนั้นจะมีโอกาสกลายพันธุ์แบบสุ่มไปเรื่อยๆ อย่างรวดเร็วเช่นกัน ซึ่งการกลายพันธุ์แบบสุ่มเช่นนี้ มักจะเป็นผลเสียต่อตัวไวรัสเป็นส่วนใหญ่ แต่การกลายพันธุ์ในบางตำแหน่งกลับทำให้ไวรัสชนิดนั้นกลายเป็นสายพันธุ์ใหม่ที่แพร่พันธุ์ได้เร็ว และอาจจะทำให้เกิดโรครุนแรงขึ้น และที่สำคัญที่น่าวิตกก็คือ การดื้อต่อวัคซีนของเชื้อสายพันธุ์ใหม่

“การถอดรหัสกลับไปมา มันสามารถเพี้ยนได้ง่ายมาก เพราะมันกลายพันธุ์แบบสุ่ม ฉะนั้น ทุกรอบที่มีการแพร่เชื้อจำนวนมาก มันจะทำให้เกิดการกลายพันธุ์อย่างเช่นในอินเดีย หรือแม้แต่ในเมืองไทย หากมีการติดกันเยอะๆ แต่ส่วนใหญ่ที่มีการกลายพันธุ์ ตัวเชื้อโรคเองก็ไปไม่รอด แต่..ก็มีบางตัวที่กลายพันธุ์และมันพัฒนาตัวเองให้ดีขึ้น”

ศ.นพ.เกียรติ กล่าวว่า เชื้อที่กระจายเร็วทั่วโลก ก็คือ สายพันธุ์อังกฤษ ซึ่งมาบ้านเราแล้ว สายพันธุ์อินเดีย และแอฟริกาใต้ หรือบราซิล ซึ่ง 2 สายพันธุ์ล่าสุด เป็นสายพันธุ์ที่แพร่ง่าย และดื้อวัคซีนด้วย

“ด้วยเหตุนี้ เราจึงต้องเตรียมพร้อมวัคซีนรุ่น 2 เพื่อป้องกันเชื้อโรคสายพันธุ์ใหม่ไว้ด้วย วัคซีนรุ่นแรกของเรา เชื่อว่าดีเทียบเท่า ไฟเซอร์ โมเดอร์นา ส่วนวัคซีนรุ่น 2 เตรียมใช้กับเชื้อโรคที่ดื้อวัคซีน แน่นอน รัฐบาลเองจะหวังพึ่งเราอย่างเดียวไม่ได้ ยังไงก็ต้องเตรียมซื้อไว้”

ที่ผ่านมา เราใช้เวลาทำวัคซีนรุ่นแรกถึง 15 เดือน กว่าจะได้และรอทดลองในคน แต่เชื่อว่าวัคซีนรุ่นต่อไปที่ใช้สำหรับไวรัสที่ดื้อวัคซีน เราจะย่นเวลาได้มากกว่า 6 เดือน เพราะทุกอย่างมีอยู่ในมือและในเมืองไทย

“สิ่งที่หวัง คือ เราอาจจะใช้โดสน้อยกว่า ไฟเซอร์ หรือ โมเดอร์นา เนื่องจากผลทดลองในสัตว์ทดลองเป็นที่น่าพอใจ ถ้าใช้โดสน้อยกว่าจริง เราจะประหยัดวัคซีนได้ด้วย”

ศ.นพ.เกียรติ อธิบายเพิ่มเติมว่า วัคซีนของโมเดอร์นา ใช้ 100 ไมโครกรัม ส่วนไฟเซอร์ใช้ 30 ไมโครกรัม ส่วนของเรากำลังทดลองอยู่ว่าจะใช้ปริมาณเท่าไร ระหว่างที่ 10 25 หรือ 50 ไมโครกรัม ถ้าสมมติว่าผลทดลองว่าสามารถใช้ 10 ไมโครกรัม จะทำให้ประหยัดได้มาก

คำถามสุดท้ายคือ เราจะมีโอกาสได้ฉีดวัคซีนจุฬาฯ รุ่นแรก ได้เมื่อไหร่ ศ.นพ.เกียรติ กล่าวว่า ถ้าทดลองกับอาสาสมัครเสร็จสิ้น คาดว่าจะรู้ผลใน 2 เดือน คือเดือนกรกฎาคม และต้องเลือกขนาดที่เหมาะสมไปทดสอบต่อในระยะที่สอง เพื่อดูความปลอดภัยในอาสาสมัครจำนวนมากขึ้น และเพื่อยืนยันผลว่าสามารถกระตุ้นภูมิได้สูงหรือไม่อย่างไร

ส่วนระยะที่สาม จะต้องทำหรือไม่ ขึ้นอยู่กับการวิจัยและข้อแนะนำจากองค์การอนามัยโลก ว่าจากข้อมูลของวัคซีนหลายชนิดที่มีการฉีดในคนมากกว่า 1,500,000,000 โดส แล้วนั้น จะมีระดับความสูงของภูมิคุ้มกันที่เรียกว่า neutralizing antibody สักเท่าไรที่จะสรุปได้ว่าสามารถป้องกันโรคได้มีประสิทธิภาพสูงตามมาตรฐานที่กำหนดซึ่งเรียกกระบวนการนี้ว่า correlate of protection ซึ่งถ้ามีแนวทางกำหนดชัดเจนเช่นนี้ ก็มีโอกาสที่ไม่จำเป็นต้องทำการทดสอบระยะที่สาม ก็สามารถทำให้ย่นเวลาของการขอขึ้นทะเบียนรับรองขององค์การอาหารและยา เพื่อใช้ในภาวะฉุกเฉินได้เร็วขึ้น และทำให้โอกาสที่วัคซีนนี้จะใช้ได้จริง อาจจะเป็นช่วงต้นปีหน้าได้

“สิ่งที่อยากขอบคุณคือ กองทุนศตวรรษที่ 2 จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และคณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โดยเฉพาะ ศ.นพ.สุทธิพงศ์ วัชรสินธุ คณบดีคณะแพทยศาสตร์ นพ.นคร เปรมศรี ผอ.สถาบันวัคซีนแห่งชาติ รวมทั้ง สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ที่กล้าคิดนอกกรอบ ซึ่งต้องเข้าใจว่างบรัฐบาลถึงอย่างไรก็ต้องมีขั้นตอน บริษัท ไบโอเนท-เอเชีย ที่ร่วมทุ่มเทในการรับถ่ายทอดเทคโนโลยี เพื่อเราสามารถผลิตเองได้ในประเทศในที่สุด นอกจากนี้ก็ต้องขอบคุณภาคประชาชน และบริษัทต่างๆ ที่บริจาคเงินเป็นก้อน เพื่อใช้หมุนระหว่างรอเงินหลวง สุดท้ายอยากฝากทีมงานทุกคน ซึ่งมีหลายสิบชีวิต ผมเป็นแค่หัวเรือ แต่ถ้าไม่มีทีมงาน ก็จะไม่มีทางสำเร็จ” ศ.นพ.เกียรติ กล่าวทิ้งท้าย.

ผู้เขียน : อาสาม 

กราฟิก : Sathit Chuephanngam

อ่านสกู๊ปที่น่าสนใจ