“ไม่มี ไม่หนี ไม่จ่าย...เป็นหนี้ ไม่จำเป็นต้องชดใช้ด้วยชีวิต”
ประโยคข้างต้นมาจากชายนาม “สวัสดิ์ หอรุ่งเรือง” นักธุรกิจที่เผชิญวิกฤติยุคต้มยำกุ้ง ซึ่งยังก้องอยู่ในหัวของชายอีกคนที่ผจญชะตากรรมไม่แตกต่างกัน เขาคนนั้น คือ “ศิริวัฒน์ วรเวทวุฒิคุณ”
ใครได้ยินชื่อนี้อาจจะคุ้นๆ แต่ถ้าใครเกิดทันปี 2540 แล้วละก็ ต้องร้องอ๋อ และจำเขาได้แน่นอน
ชายวัย 60 กว่าๆ คนนี้ เป็นเจ้าของกิจการ “ศิริวัฒน์แซนด์วิช” บุคคลที่ล้มลุกคลุกคลานในช่วงวิกฤติต้มยำกุ้ง เป็นบุคคล “ล้มละลาย” ชั่วข้ามคืน จากนักธุรกิจ นักลงทุนดาวโรจน์ เซียนหุ้นมือฉกาจ มหาเศรษฐีคนหนึ่ง กลับกลายเป็นพ่อค้ายืนขายแซนด์วิชข้างถนนมาเกือบ 25 ปี
ในภาวะมรสุมโควิด เชื่อเหลือเกินว่าหลายๆ คน กำลังอมทุกข์ จน เครียด ไร้ทางออก เพราะเงินฝืดเคือง ผู้เขียนจึงนึกถึงเขา และอยากให้เขามาเล่าประสบการณ์ดีๆ เพื่อร่วมกันฟันฝ่าวิกฤติครั้งนี้
...
ผู้เขียนได้พยายามติดต่อ คุณศิริวัฒน์... ไม่นานนักก็ได้รับคำตอบ และเลยเวลานัดเล็กน้อย ปลายสายก็โทรมา พร้อมกล่าวขอโทษขอโพย
“ต้องขอโทษด้วย ที่โทรกลับมาช้า”
คุณศิริวัฒน์ กล่าวด้วยน้ำเสียงอ่อนน้อม แม้ผู้เขียนจะอายุน้อยกว่าหลายสิบปี ซึ่งคำพูดเพียงไม่กี่คำ ก็ทำให้ผู้เขียนได้รับรู้ถึงอุปนิสัยใจคอว่า เขาเป็นคนไม่ถือตัวแม้แต่น้อย และเริ่มบทสนทนาอย่างกันเอง
ตลอดระยะ 1 ชั่วโมง ที่เราได้คุยกัน รับรองว่าคุณผู้อ่านจะได้รับเรื่องราวการต่อสู้ ปรัชญาในการใช้ชีวิต รวมถึงหนทางเอาตัวรอด ในยุคโควิดระบาดอย่างแน่นอน
คำแนะนำสำหรับ ผู้ประกอบการ นักธุรกิจ หรือลูกจ้าง ที่กำลังทุกข์และเครียดกับโควิดเวลานี้ ควรจะเอาตัวรอดอย่างไร แม้คำถามนี้ไม่ใช่คำถามแรก แต่คือเจตนารมณ์ที่จะคุยกัน จึงนำมาให้ผู้อ่านทุกคนได้เสพกับมันก่อน
"เวลานี้ผมบอกได้เลยว่า ถ้าเป็นไปได้อยากให้เก็บเงินสดให้เยอะที่สุด ใช้ให้น้อย... คำพูดนี้พูดตั้งแต่ปีที่แล้ว มาถึงเวลานี้ นาทีนี้ ก็ขอยืนยันคำเดิม เพราะเงินสดเท่านั้นที่จะช่วยเราได้ในยามวิกฤติ"
อ้าว...แล้วคนที่ไม่มีเงิน แถมเป็นหนี้ ตกงานจะทำยังไง คำถามนี้เป็นสิ่งที่ผู้เขียนคิด และยังไม่ทันเอ่ยปากถาม นายศิริวัฒน์ ก็พูดทันที พร้อมแนะนำว่า วันนี้ถ้าอยู่ในสถานการณ์นั้นก็ต้องคุยกับเจ้าหนี้ ถ้าเป็นหนี้ในระบบอย่างธนาคาร ก็เข้าไปคุยกับเขา เขาพร้อม restructure (ปรับโครงสร้างหนี้) เข้าไปคุยกับเขา ขอเขาพักหนี้ ถ้าคุยไม่รู้เรื่อง...เราก็บอกว่า “ไม่มี”
สิ่งที่จะทำได้ คือ อาจจะต้องขายแรงงาน แต่...ต้องตั้งเงื่อนไข คือ ตกเย็นต้องจ่ายเงิน ถ้าถูกต่อรองก็ต้องดูเงื่อนไขให้ดี เช่น 7 วันจะจ่ายให้ แบบนี้คงต้องคิดหนักเลย เพราะเท่ากับทำงานไปแล้ว 7 วัน ถึงจะมีโอกาสได้เงิน
“เวลานี้เราอยู่ในสถานภาพคล้ายกันหมด คนกินเงินเดือนตกงาน บางคนตกงานทั้งครอบครัว (ทั้งผัวเมีย) คนมีกิจการ ไม่ประสบความสำเร็จ หรือประสบความสำเร็จน้อย..ผมอยากแนะนำว่า เวลานี้ต้องคิดอยู่อย่างเดียว คือ ต้องเอาตัวเองให้รอด โดยดูลิมิตค่าใช้จ่าย อะไรที่ไม่จำเป็นให้เลิกจ่าย มีทรัพย์สินอะไรที่ขายได้ ให้ขายไปซะ ภาษาหุ้นเรียกว่า Cut loss (กลยุทธ์ตัดไฟตั้งแต่ต้นลม) เพราะวันหนึ่งอาจมีโอกาสซื้อกลับมาใหม่ แต่วันนี้มันไม่ใช่ วันนี้ต้องเอาชีวิตรอด ไม่ต้องคิดเรื่องอื่น”
สิ่งสำคัญที่ ศิริวัฒน์ เน้นย้ำ คือ อย่าหนีปัญหา (คิดสั้น) มันไม่มีประโยชน์ เพราะปัญหาที่เราเจอมันแค่ชั่วคราว เดี๋ยวไม่นานมันก็จะผ่านไป จากนั้นทุกอย่างก็จะกลับมา แล้วผมขอยกวาจาอมตะของคุณ “สวัสดิ์ หอรุ่งเรือง” ที่ลั่นว่า “ไม่มี ไม่หนี ไม่จ่าย” ที่เคยเป็นหนี้แสนล้านแล้วกลายเป็น 2 แสนล้าน แกเคยพูดว่า “ไม่มีความจำเป็นต้องใช้หนี้ด้วยชีวิต”
...
สิ่งที่ทำเวลานี้
1. ไม่จำเป็น ไม่ต้องกู้ แต่ถ้าจำเป็นต้องกู้ ต้องรู้ว่าคุณจ่ายดอกเบี้ยได้ไหม มีเงินคืนหรือเปล่า เพราะถึงเวลาลำบาก เจ้าหนี้เอาของคุณหมด และคุณจะตั้งตัวไม่ทัน
2. ทำธุรกิจ พยายามขายเป็นเงินสดให้มากที่สุด
3. ถ้าเลือกทำธุรกิจ พยายามเลือกธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับปัจจัย 4
นี่คือ คำพูดของชายที่เคยล้มละลาย ชีวิตติดลบ แล้วกลับมาได้ แม้จะไม่รวยล้นฟ้า แต่พออยู่ได้
แต่ถามว่าโควิดรอบนี้ กระทบกับธุรกิจ “ศิริวัฒน์แซนด์วิช” แค่ไหน ศิริวัฒน์ยอมรับตรงๆ ว่า หนักมาก กระทบยอดขายมากกว่า 50% เนื่องจากพนักงาน Work from home คนออกจากบ้านน้อยลง พนักงานขายตามสถานี BTS ทั้ง 5 สถานี คือ อารีย์ ศาลาแดง ทองหล่อ เอกมัย และ อ่อนนุช ก็ขายน้อยลง
“ผลกระทบเวลานี้เหมือนช่วงล็อกดาวน์ปีที่แล้ว แต่คิดว่าน่าจะหนักกว่า เพราะจำนวนคนติดเชื้อเยอะมาก และยังควบคุมไม่ได้” ศิริวัฒน์ กล่าวด้วยน้ำเสียงราบเรียบ ไม่ได้รู้สึกท้อใจ
ประเมินสถานการณ์เวลานี้ยังไง คนขายแซนด์วิช อดีตเซียนหุ้น มองว่า ภาพรวมเหมือนตลาดหุ้นของเรายังแข็ง แต่เมื่อดูตามตัวเลขตลาดหุ้นของต่างประเทศ หรือนักลงทุนสถาบัน (กองทุน) ยังเป็นผู้ขายสุทธิ ส่วนผู้ซื้อสุทธิ ยังเป็นรายย่อย สาเหตุเพราะอัตราดอกเบี้ยเงินฝากต่ำมาก 12 เดือนได้ไม่ถึงครึ่งเปอร์เซ็นต์ คนทั่วไปจึงมองว่าไป “หากำไร” ในตลาดหุ้นดีกว่า ถึงแม้จะมี “ความเสี่ยง” ถึงแม้ภาพรวมเศรษฐกิจจะไม่ดี
...
แม้จะเสี่ยง...ก็ยังมีลุ้นมากกว่า ได้ดอกเบี้ยแค่ครึ่งเปอร์เซ็นต์
ภาพรวมเศรษฐกิจปี 63 แย่ไหม แย่กว่าปี 62 เนื่องจาก GDP ติดลบ 6% จริงๆ คิดว่าน่าจะติดลบมากกว่านี้..?
หากพิจารณารายได้ จากการท่องเที่ยว ปี 62 มีรายได้ 1.9 ล้านล้านบาท มีคนมาเที่ยวมากกว่า 40 ล้านคน แต่พอเข้า ปี 2563 นักท่องเที่ยว 6.7 ล้านคน รายได้เหลือ 3.3 แสนล้าน เท่ากับ รายได้หายไป 1.6 ล้านล้าน เท่ากับ 10% ของ GDP
แต่ GDP ประเทศไทย ปี 2562 คือ 16.7 ล้านล้าน ด้วยเหตุนี้ ผมจึงงงว่า ตัวเลขทำไมติดลบ 6%
แต่ก็ช่างมันเถอะ ศิริวัฒน์ ทอดถอนใจ...ก่อนจะเอ่ยต่อไปว่า
ปี 2564 จะหนักกว่าปี 2563 เพราะเราไม่มีนักท่องเที่ยวเข้ามาเลย ส่วนหนึ่งมาจากเรา “ได้วัคซีนช้าไปหน่อย” ถ้าเรามีผู้ติดเชื้อน้อยกว่านี้ ผลกระทบอาจจะไม่หนักหนาสาหัสเท่า
สิ่งสำคัญคือ กำลังซื้อของคน ระดับกลางกับระดับล่าง หายไป ซึ่งคนกลุ่มนี้เป็นหนี้ภาคครัวเรือนถึง 14 ล้านล้านบาท ดังนั้น เมื่อเปรียบเทียบกับ GDP ปี 63 มันมากกว่า 90%
...
“หนี้ครัวเรือนเป็นเรื่องสำคัญมาก เพราะเป็นเรื่องของคนกินเงินเดือน คนหาเช้ากินค่ำ ซึ่งมีมากถึง 20-30 ล้านคน”
วิกฤติโควิด VS วิกฤติเศรษฐกิจต้มยำกุ้ง
คนขายแซนด์วิช อดีตเซียนหุ้นเมื่อครั้งต้มยำกุ้ง บอกกับผู้เขียนว่า “มันเทียบกันไม่ได้ และแตกต่างกันมาก”
ก่อนขยายความว่า วิกฤติปี 40 มันมาจากความผิดพลาดของคน และส่งผลรุนแรงกับคนระดับบน (อย่างพวกผม พวกนายทุน)
แต่ครั้งนี้มันไม่ใช่ มันคือ “โรคระบาด” และคนที่เดือดร้อนมากที่สุด ก็คือ คนระดับกลางกับล่าง ซึ่งมีมากถึงกว่า 30-40 ล้านคน
เสี่ย หรือ เจ้าสัว เขาอาจจะกระทบบ้าง แต่ไม่หนัก เพราะเขามี “สายป่าน” แต่คนระดับกลาง ระดับล่าง ไม่มี
“ที่สำคัญ คือ เศรษฐกิจไม่ดี มันไม่ใช่เพราะ “โควิด” อย่างเดียว แต่มันไม่ดีมานานแล้ว ก่อน โควิด หากเราได้ไปคุยกับชาวบ้าน เราจะได้ยินชาวบ้านบ่นว่า 'เศรษฐกิจไม่ดี...ขายของไม่ได้' มาหลายปีแล้ว”
ศิริวัฒน์ เชื่อว่า มันเป็นความจริง เพราะ IMF (International Monetary Fund) ยังออกมาระบุว่า ประเทศไทยมี GDP โตต่ำที่สุดในอาเซียน นี่คือภาพใหญ่ของประเทศ แต่ที่ผ่านมา เรารอดมาได้เพราะ “การท่องเที่ยว” แต่โควิดมา มันมาอัดที่หัวใจเราเลย คือ การท่องเที่ยว ประเทศไทยจึงทรุดเลย รายได้เหลือ 3.3 แสนล้าน มีนักท่องเที่ยวเหลือ 6.7 ล้านคน
เรื่องเล่า ความหลัง “คนล้มละลาย” ชั่วข้ามคืน กับเส้นทาง “แซนด์วิช”
ศิริวัฒน์ ย้อนความให้ฟังว่า สิ่งที่คิดในเวลานั้นคือ เราไม่อยากทิ้งลูกน้อง เราพูดเสมอว่า “ศิริวัฒน์แซนด์วิช” เกิดได้เพราะเราไม่ทิ้งเขา คนอย่างผมเหรอ จะมายืนขายแซนด์วิช ข้างถนน ผมอาย กลัว ไม่ใช่พระอิฐพระปูน แต่เพราะลูกน้อง...เรารู้สึกว่าทิ้งเขาไม่ได้ พวกเขาตกงาน หางานใหม่ไม่ได้ จำได้เวลานั้น นักศึกษาจบใหม่ 2 แสนคน ไม่มีงานทำ
“ตอนนั้นเครียด ไม่รู้จะทำไง คุยกับภรรยา ก็บอกว่าให้ทำแซนด์วิชขาย เราไม่รู้จะทำไง ก็ขายชิ้นละ 25 บาท ยุคนั้นเขาขายราคา 8-10 บาทเท่านั้น ตอนนั้นขายไม่ออก ไปยืนข้างถนน แต่ถึงจะขายไม่หมด ก็ไม่เคยเอาของเก่ามาขาย ของเหลือผมให้ลูกน้องกิน ไม่เคยเอามาขายลูกค้า”
กลับมาปัจจุบันเวลานี้ขายเหลือทุกวัน ลูกน้องก็ไม่กินแล้ว กินจนเบื่อจนไม่อยากจะกิน ผมจึงนำมาแช่ตู้เย็น และแจกให้กับผู้คน บุคลากรทางการแพทย์
“ช่วงนี้หนักนัก แก้ยังไง..ก็ทำน้อยลง แก้ด้วยการบริหารจัดการ เครียดไหม...เครียด แต่ไม่เท่ากับปี 40 เพราะสมัยนั้นนอกจากเป็นหนี้แล้ว ยังต้องขึ้นศาล
เครียด...จะโดนยึดทรัพย์
เครียด...จะกลายเป็นบุคคลล้มละลาย
“แต่ทุกวันนี้ผมมีเฟซบุ๊ก บอกทุกคนไม่ต้องกลัว ผมล้มมาแล้ว ชื่อถูกประกาศในราชกิจจานุเบกษามาแล้ว มันก็ไม่มีอะไรนะ”
กลัวไหม จะกลับมาล้มละลายอีก! “ไม่กลัว” ศิริวัฒน์ ตอบอย่างมั่นใจ ตอนนั้นที่เจ๊งมาจาก 2 ปัจจัย คือ
1. กู้เงินมาเล่นหุ้น เป็นแบบ margin พอหุ้นตกก็ถูกบังคับขาย แต่หนี้ยังเหลืออยู่ สมมติ กู้มา 100 ล้าน ขายตอนหุ้นตกเหลือเงิน 60 ล้าน ก็เหลือหนี้ 40 ล้าน บวกหนี้อีก 17%
2. เงินกู้สร้างคอนโดมิเนียม ที่เขาใหญ่ สร้างเสร็จ ลูกค้าทิ้งดาวน์... “ผมโดนยึด”
ตอนนั้นที่ล้ม รัฐบาลไม่ได้มีส่วนช่วยเหลือประชาชนเลย แต่เวลานี้ รัฐบาลออกแคมเปญต่างๆ อัดฉีด ถือว่าช่วยเหลือประชาชนได้ไหม ศิริวัฒน์ ไม่เห็นด้วยกับการแจกเงิน เพราะการแจกเงินไม่ได้ไปต่อยอดอาชีพ ยิ่งรัฐแจกเงินมากเท่าไร ประชาชนจะยิ่งไม่ขวนขวายทำมาหากิน
“รัฐน่าจะนำเงินไปช่วย SMEs พ่อค้าแม่ค้า เพราะเขาค้าขายไม่ดี ยกตัวอย่างง่ายๆ คุณก็ออกเป็นฟูดแสตมป์ก็ได้ ให้เอาแสตมป์ไปซื้อของ แล้วรัฐบาลก็จ่าย พูดง่ายๆ ไม่ได้ให้เงิน เพราะให้เงินแล้วเขาจะทำอะไรก็ได้ ห้ามได้ไหม กินเหล้า แทงหวย”
รัฐก็พยายามแก้ไขสถานการณ์ แต่ไม่คิดลึกถึงการต่อยอดธุรกิจ ซึ่งการทำแบบนี้ มันยิ่งทำให้คนไทยจนลง ผลสำรวจจึงออกมาว่ามีไม่กี่ครอบครัวที่ถือครองทรัพย์ 2 ใน 3 ของประเทศ ซึ่งตัวเลขออกมาแบบนี้ก็จะเห็นว่ามันเกิดความ “เหลื่อมล้ำ” ระหว่างคนรวย กับคนจน มากยิ่งขึ้น
คนที่กินเงินเดือน ในระยะ 10 ปี เงินเดือนขึ้นเฉลี่ยประมาณ 5% แต่ค่าครองชีพเทียบกับสมัยก่อนขึ้นกี่เปอร์เซ็นต์ น่าจะมากกว่า ตรงนี้เองคือหนี้สินภาคครัวเรือน ที่คนอาจจะต้องไปกู้หนี้ยืมสินมาโปะ เอามาใช้จ่ายในชีวิตประจำวัน ผ่อนบ้าน รถ บางคนเป็นหนี้บัตรเครดิต ใช้เงินในอนาคต แทนที่จะแจกเงิน ให้มาดูหนี้สินครัวเรือนดีกว่า ว่าแต่ละคนเป็นหนี้เท่าไร ช่วยอะไรเขาได้ จากหนักจะได้เป็นเบา
13.8 ล้านล้าน คือ หนี้สินครัวเรือนที่ธนาคารแห่งประเทศไทยมี ส่วนหนี้นอกระบบไม่รู้อีกเท่าไร เราควรจะช่วยกลุ่มนี้ ออกเป็นเงินกู้ soft loan (มาตรการสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ) โดยเอาเงินก้อนไปปลดหนี้ที่ดอกเบี้ยสูงกว่า ซึ่งตรงนี้ก็ช่วยได้ ทำให้คนมีกำลังที่จะผ่อนหนี้สินด้วย
"คนเราเหมือนกันทุกคน ถ้าทำแล้วมีโอกาส และเห็นอนาคต เขาจะยอมทำทุกอย่าง ถ้าไม่เห็นอนาคตใจมันไม่สู้"
แล้วใครมาบอกว่า แล้วไปเป็นหนี้ทำไม...อ้าว “ใครมันจะไปรู้วะ!... ก็กู้มาแล้วนี่หว่า”
ถามว่าเจ้าหนี้จะฟ้องร้อง..ถ้าฟ้องไปก็ไม่ได้อะไร
บทเรียนจากต้มยำกุ้งสอนอะไร...
ศิริวัฒน์ ตอบด้วยน้ำเสียงเข้ม จริงจังว่า คนเรา...ต้องไม่โลภ ไม่ประมาท และอย่าพึ่งเงินคนอื่นมากเกินไป มันก็คือหลักเศรษฐกิจพอเพียงรัชกาลที่ 9 ถามว่าเมื่อก่อนฟังไหม..ไม่ฟัง เพราะกำลังซ่า ทำอะไรก็สำเร็จหมด เล่นหุ้นเคยกำไร-ขาดทุน วันละ 10 กว่าล้าน กู้เงินมาเล่นหุ้นก็ยังมีกำไร แต่เจอวิกฤติต้มยำกุ้ง 40 นี่หงายท้องเลย ซึ่งถือเป็นเรื่องปกติ ที่ทุกคนใจร้อน อยากรวยเร็ว ความโลภจะตามมา ถ้าเจอวิกฤติและพลาดก็ไปเร็ว
บทเรียนโควิด-19 ให้อะไรเรา.. ศิริวัฒน์ นิ่งครู่หนึ่งก่อนตอบว่า มันสอนเราว่าอย่าประมาท ถึงแม้จะมีเทคโนโลยี ยา ที่ทันสมัย แต่วันหนึ่งมันจะผ่านไป แต่มันอาจจะไม่ผ่านอย่างรวดเร็วอย่างที่คาดหวัง เราต้องกัดฟันอยู่กับมัน แล้วเราก็ต้องดูแลตัวเอง ซึ่งมันสอนเราว่า “ควรใช้ชีวิตด้วยความไม่ประมาท”
ผู้เขียน : อาสาม
กราฟิก : Jutaphun Sooksamphun
ภาพ : เพจเฟซบุ๊ก ศิริวัฒน์ แซนด์วิช
อ่านสกู๊ปที่น่าสนใจ