ผ่านมาจนถึงเดือนที่ 4 ย่างเข้าเดือนที่ 5 แล้ว เรียกได้ว่า ปี 2564 หนักหนาไม่แพ้ปีที่ผ่านมา (2563) วิกฤติโควิด-19 (COVID-19) ไม่ยิ่งหย่อน เหมือนจะรุนแรงกว่าด้วยซ้ำไป หลายๆ ส่วนที่คาดการณ์ว่าจะฟื้นตัวได้ ก็เหมือนว่าจะไม่เป็นเช่นนั้นเสียแล้ว...
โดยเฉพาะ "ผู้ใช้แรงงาน" ทั้งหลาย
จากสัญญาณบวก ส่อเป็น "ลบ"
คุณคิดว่า ปีที่ผ่านมา (2563) คนไทยว่างงานมากแค่ไหน?
แล้วพวกเขาเหล่านั้นเป็นใครกันบ้าง?
และ "ใคร" ที่น่าเป็นห่วงที่สุด?
จากจำนวนกำลังแรงงานไตรมาส 4 ปี 2563 ทั้งหมด 39.1 ล้านคน พบว่า คนไทยว่างงานถึง 7.3 แสนคน คิดเป็นสัดส่วน 1.86% ซึ่งตัวเลขที่ว่านี้เป็นจำนวนที่ "ลดลง" แล้ว และถือเป็น "สัญญาณบวก" หลังจากติดลบมายาวนานหลายไตรมาส
แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้เช่นกันว่า ภาพรวม "คนว่างงาน" ปี 2563 กว่า 5.9 แสนคนนั้นยังเป็นตัวเลขที่สูงอยู่ และเมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อนหน้า (2562) ก็พบว่า คนว่างงานเพิ่มขึ้นจากเดิมกว่า 2.2 แสนคน หรือ +59.46%
ซึ่งจากจำนวนคนว่างงานทั้งหมด แน่นอนว่า ส่วนใหญ่หรือกว่า 68.81% ล้วนเป็นคนที่ครั้งหนึ่งเคยมีงานทำ หรือง่ายๆ ว่า "ตกงาน" มากถึง 4.1 แสนคน โดยเฉพาะแรงงานภาคบริการและการค้า ที่ยอดตกงานพุ่งจากหลักหมื่นเป็นหลักแสน สูงถึง 2.5 แสนคน และในจำนวนนี้ทำงานโรงแรมและบริการอาหารถึง 8.1 หมื่นคน หรือคิดเป็นสัดส่วน 19.85% ของคนตกงานทั้งหมด
...
ที่ว่ามานั้น คือ ภาพที่เกิดขึ้นของปี 2563 แล้วปี 2564 จะเป็นเช่นไร?
นับตั้งแต่เดือนมกราคม-มีนาคมที่ผ่านมา (2564) มีผู้ลงทะเบียนขอรับสิทธิ์กรณีว่างงาน 1.2 แสนราย
รศ.ดร.ยงยุทธ แฉล้มวงษ์ ผู้อำนวยการวิจัยด้านการพัฒนาแรงงาน สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย หรือ "ทีดีอาร์ไอ" (TDRI) ให้ความเห็นกับผู้เขียนว่า วิกฤติการแพร่ระบาดครั้งใหญ่โควิด-19 (COVID-19) ที่ต่อเนื่องมาจนถึงเดือนมีนาคม 2564 นี้ นับว่าหนักหนามาก อีกทั้งรูปแบบการแพร่ระบาดยังแตกต่างจากระลอกก่อนหน้าที่มีการระบาดกระจุกเป็นกลุ่มก้อน หรือ "คลัสเตอร์" (Cluster) ที่ยังพอดูแลได้ แต่ระลอกนี้เป็นการระบาดแบบ "ดาวกระจาย" ทำให้ลำบากขึ้น ซึ่งส่งผลให้มาตรการช่วยสร้างความมั่นใจในธุรกิจต่างๆ ค่อนข้างชะลอตัวลง และนั่นก็ย่อมกระทบต่อการจ้างงาน
"ผมมองว่า การดูดซับตลาดแรงงานจะลดลงไปอีก หากประเมินตามสถานการณ์การระบาดของโควิด-19 ก็มีความเป็นไปได้ว่า ภาวะการทำงานของไทยน่าจะกลับมาติดลบอีกครั้ง เมื่อเทียบกับปีก่อนหน้า (YoY)"
นั่นหมายความว่า ปีนี้ (2564) จะมี "คนตกงาน" มากกว่าปีที่แล้วอย่างนั้นหรือ?
ก่อนหน้าที่จะมีโควิด-19 ระลอกใหม่ในเดือนเมษายนนี้ นับตั้งแต่เดือนมกราคมเรื่อยมาจนถึงเดือนมีนาคม พบว่า คนว่างงานกำลังลดลง ผู้ประกันตนกลับเข้าสู่ระบบประกันสังคมกว่า 1.6 แสนคน ทีนี้จึงต้องจับตาว่า ตัวเลขเดือนเมษายน-มิถุนายนนี้จะเป็นเช่นไร...หากสถานการณ์ยังไม่ผ่อนคลาย
รศ.ดร.ยงยุทธ ประเมินว่า ปี 2564 ตัวเลขการว่างงานน่าจะอยู่ที่ 1.5% หรือประมาณ 6 แสนคน และในไตรมาสถัดไปอาจเพิ่มขึ้น เพราะมีปัญหาหลายอย่าง รวมถึงธุรกิจเก่าของปีที่ผ่านมา (2563) ยังไม่ฟื้นตัว
ที่สำคัญ คือ "เด็กจบใหม่" น่าเป็นห่วงที่สุด!
"กลุ่มที่เรียนจบใหม่กำลังจะออกมาอีกในช่วงเดือนเมษายนนี้ ซึ่งมากพอสมควรหลายแสนคน ดังนั้น จึงเป็นภาระที่ทางภาครัฐจะต้องเข้ามาดูแลตรงนี้ ยิ่งในช่วงครึ่งปีหลัง...กลุ่มจบใหม่น่าเป็นห่วงมาก เพราะในจำนวนคนว่างงานทั้งหมด ส่วนใหญ่เป็นคนที่ไม่มีประสบการณ์การทำงาน หรือก็คือ กลุ่มจบใหม่ๆ ที่ยังไม่ได้งานนั่นเอง"
ทีนี้เมื่อมาดูตัวเลขของปี 2563 จากจำนวนคนว่างงานทั้งหมดกว่า 5.9 แสนคน เป็นคนที่ไม่เคยทำงานมาก่อนถึง 1.8 แสนคน หรือคิดเป็น 31.19% และเกือบ 50% จบระดับอุดมศึกษา
...
เห็นได้ว่า จากตัวเลขเดิมที่มีนับแสนกว่าคนแล้วนั้น เมื่อรวมกับอีกหลายแสนที่จะมาเพิ่มอีกหลังเดือนเมษายนนี้ ประเมินว่าน่าจะมีสัก 5-6 แสนคน แน่นอนว่า หากสถานการณ์โควิด-19 ยังไม่คลี่คลาย อาจกลายเป็นปัญหาในอนาคตได้
"เพราะฉะนั้น รัฐจึงต้องทุ่ม!"
รศ.ดร.ยงยุทธ แนะว่า ภาครัฐจำเป็นต้องมีเม็ดเงินในการเทรนด์กลุ่มเรียนจบใหม่ ในการนำมาใช้สร้างทักษะใหม่ที่จำเป็นสำหรับการทำงาน หรือ Re-Skill ใหม่ ซึ่งอาจใช้วิธีอุดหนุนเงินช่วยเหลือแก่ผู้ประกอบการต่างๆ เพราะตอนนี้แบกไม่ไหวแล้ว แรงก็ไม่ค่อยจะมีกันแล้ว เว้นเสียแต่ผู้ประกอบการขนาดใหญ่ที่พอจ่ายได้ แต่ขนาดย่อม-เล็กคงต้องมีเงินช่วยเหลือเพื่อให้กลุ่มเรียนจบใหม่เหล่านี้ได้มีโอกาสเข้าไปทำงาน
ซึ่งแม้ว่า กรมการจัดหางานจะมีโครงการส่งเสริมการจ้างงานใหม่ สำหรับผู้จบการศึกษาใหม่ โดยภาครัฐและภาคเอกชน (Government Co Payment) ที่ช่วยอุดหนุนค่าจ้าง 50% สูงสุดไม่เกิน 7,500 บาทต่อเดือนต่อคน ตลอดระยะเวลาการจ้าง 1 ปี (1 ต.ค. 63 - 30 ก.ย. 64) จำนวน 2.3 แสนอัตรา แต่ รศ.ดร.ยงยุทธ มองว่า อาจจะยังไม่เพียงพอ เพราะตัวเลขกลุ่มเรียนจบใหม่ที่ไม่สามารถหางานทำได้ สูงกว่าจำนวนที่โครงการตั้งไว้
...
ทั้งนี้ ข้อมูล ณ วันที่ 26 เมษายน 2564 ของกรมการจัดหางาน พบเด็กจบใหม่เข้ามาลงทะเบียนประมาณ 1 แสนคน และกว่า 76.09% หรือ 7.7 หมื่นคนล้วนจบปริญญาตรี แต่อัตราตำแหน่งงานที่ยังว่างอยู่มีแค่ 8 หมื่นตำแหน่ง
หรือว่านี่จะเข้าสู่ยุคของ "ตลาดงาน" ที่เลวร้ายที่สุดในทศวรรษ! (อย่างที่เขาว่า?)
การเผชิญปัญหาว่างงานจำนวนมากของแรงงานจบใหม่ อายุน้อย และการศึกษาสูง ไม่ได้เกิดเพียงแค่ในไทยเท่านั้น แต่เกิดขึ้นแทบจะทุกพื้นที่ในโลก
จากผลการศึกษาของ Good Jobs in Bad Times ที่ทำการวิเคราะห์ข้อมูลจาก Buring Glass Technologies แสดงให้เห็นว่า นับตั้งแต่การแพร่ระบาดครั้งใหญ่ของโควิด-19 เริ่มต้นขึ้น การจ้างงานเด็กจบใหม่ลดลงถึง 45% ขณะเดียวกัน คนที่มีงานทำก็กลายเป็นว่าได้ทำงานในตำแหน่งที่เรียกได้ว่า "ผิดฝาผิดตัว" ไม่เหมาะสมกับความสามารถหรือทักษะที่ตัวเองมี อีกทั้งยังเห็นอีกว่า ในช่วงระยะ 5 ปี พวกเขาเหล่านั้นไม่มีความก้าวหน้าในหน้าที่การงานเอาเสียเลย
นอกจากนี้ ผลการศึกษาดังกล่าวยังเสริมอีกว่า การเป็น "เด็กจบใหม่" ในห้วงเวลานี้ หากอยากได้รับ "โอกาส" ในตำแหน่งงานที่ดีๆ จำเป็นจะต้องมี "ทักษะ" บางอย่างมาเสริม เหมือนเช่นที่ รศ.ดร.ยงยุทธ เกริ่นไว้ว่าต้องมีการ Re-Skill ให้กับกลุ่มเหล่านี้ ซึ่งไม่ใช่แค่ตอบสนองนายจ้างเท่านั้น แต่ยังสามารถช่วยเพิ่มเงินเดือนได้ถึง 10-30% ทีเดียว
...
ดังนั้น หากจะให้ "เด็กจบใหม่" เหล่านี้มีทักษะพร้อมในการทำงาน โดยไม่ต้องมา Re-Skill ทีหลัง มหาวิทยาลัยและสถาบันการศึกษาต่างๆ ต้องมีส่วนร่วมในการสร้างเสริมทักษะเพิ่มเติมตั้งแต่ยังเรียนอยู่ ยกตัวอย่างในสหรัฐอเมริกา นักศึกษาสาขาจิตวิทยาที่ได้รับการฝึกฝนทักษะการวิเคราะห์ข้อมูลในช่วงการทำวิจัยและฝึกงาน พบว่า เงินเดือนเพิ่มขึ้นเฉลี่ย 60,000 ดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อปี จากปกติสาขานี้จะได้รับเงินเดือนเริ่มต้นเฉลี่ย 39,000 ดอลลาร์สหรัฐฯ
ทั้งนี้ การกำหนดแผนในการช่วยเหลือ "เด็กจบใหม่" ไม่ใช่เพียงแค่ช่วยเสริมในสายงานนั้นๆ เท่านั้น แต่ยังจำเป็นต้องสนับสนุนทักษะอื่นๆ ที่ในอนาคตอาจได้รับผลกระทบจากการนำเครื่องจักรมาใช้ทำงานแทนคน หรืออย่างวิกฤติโควิด-19 ที่ทำให้เห็นภาพว่า การเตรียมพร้อมทางสาธารณสุขของทั่วโลกนั้นอ่อนแอมาก นับจากนี้จึงต้องเตรียมพร้อมสำหรับภาวะฉุกเฉินไม่ว่าจะเกิดขึ้นหรือไม่ก็ตาม เช่น ลงทุนในส่วนการดูแลสุขภาพ เทคโนโลยีชีวภาพ ความมั่นคงทางไซเบอร์ เทคโนโลยีสีเขียว และโครงสร้างพื้นฐาน ซึ่งนั่นจะก่อให้เกิดการสร้างงานอีกนับแสนตำแหน่ง แน่นอนว่า ย่อมเป็นโอกาสของ "เด็กจบใหม่" ที่มีทักษะเหมาะสม
อ่านเพิ่มเติม: 10 อาชีพดาวรุ่ง ดาวร่วง ปี 2021 เผยทักษะงานแห่งอนาคต
การว่างงานของ "เด็กจบใหม่" จึงไม่ใช่แต่เพียงปัญหาของพวกเขาหรือนายจ้างเพียงเท่านั้น แต่มหาวิทยาลัยหรือสถาบันการศึกษาต่างๆ เองก็ไม่อาจปฏิเสธที่จะเกี่ยวข้องกับ "ชะตากรรม" ของนักศึกษาหลังเรียนจบได้ เพราะมีความเป็นไปได้อย่างมากว่า ในอนาคตจะตกอยู่ในสถานะที่น่ากังวลไม่ต่างไปจากธุรกิจอื่นๆ ที่หากไม่ตอบสนองความต้องการที่ตรงกับตลาดงานได้ ก็อาจจะถูกเพิกเฉยและมองข้ามไป
เพราะการศึกษาก็เปรียบเหมือนการลงทุนอย่างหนึ่ง ที่สุดท้ายแล้ว...ถ้าผลตอบแทนที่คาดหวังว่าจะได้ไม่แข็งแกร่งเพียงพอ ก็ย่อมไร้คนลงทุน.
ผู้เขียน: เหมือนพระอาทิตย์
กราฟิก: Sathit Chuephangam
ข่าวน่าสนใจ:
- อย่าขี้เหนียวอัดงบ "วัคซีน" สร้างงานเพิ่มรายได้ ดีกว่าเอาเงินไปแจก
- เปิดกลยุทธ์ค้าขายรุ่งเรือง หมดยุคจ้าง "ดารา" ทุกอย่างอยู่ที่ "ตัวคุณ"
- เข้าสู่ยุคเศรษฐกิจของคนเป็น "กิ๊ก" ในวันที่ "เอสเอ็มอี" เจ็บจนเจ๊ง?
- โอกาสคนไทยฉีด "วัคซีนไฟเซอร์" ดีลตรงรัฐ ปิดทางเอกชน?
- หลังโควิด-19 ไทยอาจเหมือนฮ่องกง ห้องเล็กแถมแพง ซบชานเมืองนั่งรถเข้ากรุง