เชื่อว่า “การพากย์” หนัง ซีรีส์ หรือการ์ตูน เป็นอาชีพหนึ่งที่เด็กๆ ใฝ่ฝันและอยากจะทำงาน

แต่ในโลกของความเป็นจริง เรายังคงได้ยินเสียงเดิมๆ เสียงที่เราคุ้นชิน จากนักพากย์ที่มีชื่อเสียงไม่กี่คน

วงการนักพากย์ขาดแคลนอย่างนั้นหรือ... คำตอบของเรื่องนี้คือ หาใช่เช่นนั้นไม่!

ทีมข่าวเฉพาะกิจไทยรัฐออนไลน์ ได้มีโอกาสพูดคุยกับ “เอิร์ธ สรวิศ ตงเท่ง นักพากย์รุ่นใหม่ สายว้าก ที่เราคุ้นหูกับการพากย์อนิเมะในบท “เซนอิทซึ” ผู้ใช้ปราณอัสนี ในดาบพิฆาตอสูร หรือ kimetsu no yaiba หรือ “บาคุโก” ใน My Hero Acadamia ซึ่งกว่าจะถึงวันนี้ก็เรียกว่ามีโชคและดวงเกื้อหนุน

“อาชีพนักพากย์ ก็เหมือนดารา บางคนอยู่ได้ บางคนเป็นซุป’ตาร์ หน่อยก็อยู่ได้ ค่าตัวของนักพากย์ ขึ้นอยู่กับประเภทของงาน เช่น งานหนังฉายโรงภาพยนตร์ ก็จะได้เงินมากกว่า แต่ถ้าเป็นหนังฉายช่อง ก็จะอีกราคาหนึ่ง”

การที่นักพากย์จะได้งานหรือไม่ ขึ้นอยู่กับการจดจำของผู้ที่ดู ฉะนั้นการจะทำให้คนจดจำได้เทคนิคสำคัญคือการฟังและการฝึก

...

เอิร์ธ เล่าย้อนความหลังสมัยที่กำลังเรียนหนังสือให้ฟังว่า เขาเป็นคนต่างจังหวัด พื้นเพอยู่ที่ จ.เพชรบูรณ์ หลังจากนั้นก็ย้ายมาเรียนที่กรุงเทพฯ ก็เรียนด้านสื่อนี่แหละ วันหนึ่งอาจารย์ได้ให้โจทย์คือ ไปทำ Anime เรื่องหนึ่ง พวกเราก็ทำกัน ด้วยที่พอจะลงเสียงได้ เขาก็เป็นคนลงเสียงเพื่อทำงานส่งอาจารย์

“เฮ้ย..เราชอบว่ะ สนุกกับมัน ก็เลยสนใจงานด้านนี้ แต่ไม่เคยคิดว่าจะเป็นนักพากย์ ก็เลยหาข้อมูลในอินเทอร์เน็ต จนกระทั่งไปเจอว่ามีกลุ่มที่เรียกว่าเป็น Fandub ก็คือการทำคลิปฝึกพากย์ลงเฟซบุ๊ก ยูทูบ ของตัวเอง”

เอิร์ธ บอกว่าชีวิตเขาถือว่ามีดวงอยู่ด้วย คือ ได้ไปรู้จักนักพากย์คนหนึ่ง หลังจากที่เขาได้ดูงานที่เคยลงเสียงไว้ ก็เลยมาทดลอง

วันที่เข้าห้องอัดลงเสียง “พี่..ผมยังพากย์ไม่ได้หรอก ขอมาดูก่อน”
จากนั้นก็หามุมนั่ง งึมงำๆ (ท่องบท)
น้าอีกคนมาสะกิด “หนูๆ เบาๆ หน่อย เขาเริ่มแล้ว”
“เฮ้ยยย เรายังไม่ได้เตรียมใจมาเลย” คิดในใจเหงื่อแตกพลั่ก!
จากนั้นเขาก็เริ่มอัดเสียงกัน เมื่อถึงคิวเราก็เสียง “ครับ..ครับ”
เอิร์ธเล่าว่า วันนั้นลงเสียงเป็นตำรวจตัวประกอบคนหนึ่ง พูดคำว่า “ครับ” เป็นสิบๆ รอบ

หลังจากวันนั้นเป็นต้นมา เขาก็เริ่มฝึกฝนตัวเองมากขึ้น

การฝึกต้องไปศึกษาคนที่เคยพากย์ไว้ เช่น ดูหนังพากย์ไทยสักเรื่อง เราก็ดูแล้วพยายามหาเทคนิคการพากย์ของเขา เช่น เอาซีนหนึ่งในหนังมาสักเรื่องก่อน ทีแรกอาจจะต้องพากย์แบบก๊อบปี้เขาเลย

“สำคัญคือการฟัง เราอัดเสียงออกมาฟัง เอ๊ะ...ทำไมเราจบประโยคแบบนี้ การฟังจะทำให้เราเข้าใจในการออกเสียง เมื่อเราเข้าใจวิธีการออกเสียงมากขึ้น ก็จะได้สกิล ซึ่งเปรียบเสมือนเครื่องมือมาใช้มากขึ้น ฟังมากเราก็ได้สกิลที่หลากหลาย ถึงเวลาใช้งานเราจะมีของใช้ที่หลากหลาย”

เอิร์ธ เล่าให้ฟังว่า บางครั้งที่พากย์ลงเสียงไม่ได้เล่นเป็นตัวละครเดียว บางครั้งก็มีหลายตัว มากที่สุดก็สิบตัวละครก็ทำมาแล้ว (แบบว่ารวมตัวประกอบจิ๊บจ๊อยด้วยนะ)

ช่วงแรกที่เราเริ่มพากย์เสียงก็พบว่าเรามีจุดอ่อนอย่างหนึ่ง คือ ด้วยที่เราเป็นเด็กต่างจังหวัด อยู่ จ.เพชรบูรณ์ พอเวลาลงเสียงจะติดคำ “เหน่อ” และเป็นคำที่เหน่อไม่รู้ตัว โดยเฉพาะคำว่า “อย่างหนึ่ง” เราพูดมาทั้งชีวิตว่า “อย่างหนึ้ง..อันหนึ้ง” (เสียงสูง) ซึ่งกว่าเราจะแก้ได้ ต้องใช้เวลาฝึกเป็นปี เรียกว่าตอนนั้นเครียดมาก

...

ความจริงของอาชีพนี้ จากประสบการณ์ที่เห็นคือ เหลือรอดแค่ 50%

หนุ่มนักพากย์ ยอมรับว่า เวลานี้ถือว่าเดินทางในสายอาชีพมาครึ่งทางแล้ว ค่าตัวที่ได้ก็ประมาณหนึ่ง อาจจะมากกว่านักพากย์โนเนมนิดหน่อย

“ถ้าให้พูดความจริงคือ เด็กๆ คนไหนที่ใฝ่ฝันอยากจะทำงานด้านนี้ อาจจะต้องเผื่อใจไว้นิดหนึ่ง เพราะไม่ใช่ที่ทุกคนจะไปถึงฝั่งฝัน มันขึ้นอยู่กับจังหวะและโอกาสของช่วงชีวิตด้วยจริงๆ สิ่งสำคัญ คือ เราต้องหมั่นฝึกฝีมือ ลับคมดาบของเราอยู่เสมอ เมื่อมีจังหวะโอกาสดี เราก็ต้องทำให้ดี ถ้าได้โอกาสแล้วทำไม่ได้ดี คนอื่นก็จะจำว่า เราทำไม่ได้...”

ถ้าภาพจำคือ ทำไม่ได้ นั่นหมายความว่าก็อาจจะสิ้นสุดในเส้นทางอาชีพ แม้เอิร์ธจะไม่ได้พูดคำนี้ออกมาตรงๆ แต่ผู้เขียนก็เข้าใจความหมายที่จะสื่อ...

“เพื่อนๆ ที่มาด้วยกัน ส่วนใหญ่อยู่ได้ แต่ก็มีจำนวนไม่น้อยหรือ “ครึ่งต่อครึ่ง” ที่ปัจจุบันหันไปทำอาชีพอื่นแล้ว”

ที่ผ่านมา มีคนไม่ชอบพากย์ไทย บางคนด่า “พากย์ไม่ดี...ดูไม่ได้อารมณ์”

...

เอิร์ธ เขาบอกว่า เรื่องนี้ส่วนตัวก็มีพอยต์ในใจ คือ เด็กๆ เป็นคนที่ชอบดูซับไทยมาก่อน คิดเหมือนคนอื่นคือ ดูซับไทยมันสนุกกว่า เข้าถึงอารมณ์แบบ “ออริจินัล” แต่พอเข้ามาทำงาน พอยต์ในใจตรงนี้ ทำให้เรารู้สึกว่าต้องตั้งใจทำงาน ใส่ใจในงาน อินไปกับมัน เราจะสามารถส่งไปถึงจิตใจคนที่ดูได้ ทำให้เขากลับมาชอบพากย์ไทยได้ไหม

กับคำดูแคลน “ถ้าบอกว่าไม่ชอบ...มันก็แล้วแต่รสนิยม เช่นตัวผมเอง จะดูพากย์ไทยเฉพาะหนังบางเรื่อง หรือดูซับไทยเฉพาะบางเรื่องเช่นเดียวกัน

“ของแบบนี้แล้วแต่รสนิยม แต่จะมาบอกว่าพากย์ไทยไม่ดี ซึ่งมันก็ต้องยอมรับว่าที่ผ่านมา หนังบางเรื่องก็พากย์ไม่ดีจริงๆ แต่ปัจจุบันในภาพรวมผมว่ามันดีขึ้นกว่าแต่ก่อนมาก เพราะหนังใหญ่ๆ เขาก็จะแคสติ้งนักพากย์อย่างเข้มข้น นอกจากนี้ ยังมี Sound Director มาคอยให้คำแนะนำ

ส่วนตัวชอบการลงเสียงให้ Anime มากที่สุด โดยเฉพาะคาแรกเตอร์ แนวขี้เล่น บ้าบอๆ หน่อย ชอบแนวแหกปาก จะให้ไปพากย์แนวหล่อๆ ไม่ค่อยได้

การพากย์หนัง แต่ละชาติก็แตกต่างกัน การ์ตูนญี่ปุ่น กับดิสนีย์ ก็ไม่เหมือนกัน เช่น

...

หนังฝรั่ง เน้นความเป็นธรรมชาติ
หนังเอเชีย จะเพิ่มการใช้พลังมากขึ้น เช่น ไง! (เสียงดัง) สวัสดีครับ
การ์ตูนญี่ปุ่น ก็จะเพิ่มขึ้นไปอีก แต่ถ้ามาแนวดิสนีย์ เสียงจะมาแนวละครเวที
ส่วนอินเดีย จะออกมาผสมๆ กึ่งหนังจีน กึ่งฝรั่ง

สิ่งสำคัญ สำหรับผมในการพากย์เสียง คือ ตีโจทย์คาแรกเตอร์ตัวละคร เพราะบางคนเปิดหนังขึ้นมาแล้วไม่เข้าใจตัวละคร เช่น บทที่ตัวละครโกรธ คือ เข้าใจว่าโกรธ แต่ไม่รู้ว่าโกรธเพราะอะไร ซึ่งความโกรธมีหลายแบบ โกรธแบบแค้น โกรธแบบเศร้า หรือเก็บกด หรือแม้แต่การหัวเราะ หัวเราะทั้งน้ำตา เช่น ร้องไห้ไปหัวเราะไป

คาแรกเตอร์ที่ชอบมากที่สุด ก็คือ “บาคุโก” จาก My Hero Acadamia คิดว่าเป็นตัวละครที่ยากที่สุด ยากกว่า “เซนอิทซึ” (ดาบพิฆาตอสูร) เพราะตัว “บาคุโก” นั้นต้องใช้เสียงแหบ พร่า เพราะต้นฉบับที่พากย์ คือ คุณ nobuhiko okamoto ถึงแม้เราจะไม่มีเสียงเหมือนเขา แต่เราต้องพยายามฝึกให้ได้แบบเขา...มันจึงยากมาก เวลาคุมเสียง

ขณะที่ “เซนอิทซึ” เป็นเรื่องแรกที่ผมตะโกนจนแบบจะอ้วก

เวลาเราจะออกแบบเสียงตัวละครสักตัว เราจะดูต้นฉบับก่อน ว่าเขาออกแบบมาอย่างไร เช่น บางคำพูดแบบญี่ปุ่นได้ แต่ถ้าเป็นภาษาไทยล่ะ ได้ไหม จุดกึ่งกลางอยู่ตรงไหน ทำให้กลิ่นอายภาษาญี่ปุ่นยังอยู่แต่พูดออกมาเป็นภาษาไทย

อย่าง “บาคุโก” นี่ต้องออกเสียงแบบนั้นทุกประโยค เพราะภาษาญี่ปุ่นไม่มีวรรณยุกต์มากำกับเราจะ “สำรอก” ขนาดไหนก็ได้ แต่ภาษาไทย เช่น เดคึ (ลากเสียง) ภาษาไทย “เดกุ...” ซึ่งเวลาที่ออกเสียงเราต้องใส่อารมณ์เข้าไปอย่างเต็มที่ เหมือนเราสวมบทตัวละครนั้นๆ

“เราพากย์เสียงตัวละครแนว ว้ากๆ เยอะ ซึ่งวันหนึ่งพากย์ได้สัก 4 ตอนก็คงพอละ ซึ่งทั้งนี้คือขึ้นอยู่กับบทด้วย”

ที่ผ่านมา เคยมีดราม่า “ทวงคืนอาชีพนักพากย์”

เอิร์ธ สรวิศ บอกว่า ส่วนตัวแล้วรู้สึกว่าขอยืนตรงกลาง เพราะเข้าใจผู้บริโภคด้วย และผู้ผลิตก็ต้องการกำไรในการทำธุรกิจ เพราะเขาก็อยากให้คนมาดูหนังเขาเยอะๆ แต่ในฐานะคนทำงาน หรือคนพากย์ในทีม “ดาบพิฆาตอสูร” ก็ล้วนอยากให้งานออกมาดี

“สิ่งที่ใฝ่ฝันขณะนี้ คืออยากจะพากย์ตัวละครของดิสนีย์ ซึ่งเราก็ไม่ได้อยากรับบทเจ้าชาย (หัวเราะ) คือเอาบทอะไรก็ได้ บ้าบอๆ ก็ได้ อะไรก็ได้ ไม่ต้องมีความเป็นมนุษย์ก็ได้ อยากลองแสดงอะไรที่แปลกไปเลย ใส่จินตนาการลงได้ ผมค่อนข้างรู้สึกเฉยๆ ที่รับบทเป็นคนแสดง คิดว่าพากย์เป็นตัวการ์ตูนบ้าบอ พากย์แล้วสนุกกว่า (หัวเราะ)”

เคยคิดไหมว่านักพากย์จะตกงาน...

นักพากย์สายว้าก ตอบว่า เคยคิดเหมือนกัน ผมว่ามันเป็นเรื่องในอนาคต แต่ก็มีพี่นักพากย์คนหนึ่งเคยพูดว่า พากย์ไทยไม่มีวันตายหรอก เพราะหนังไทยต้องมีพากย์ แต่นักพากย์ไม่รู้ (หัวเราะ)

ทีมข่าวเฉพาะกิจไทยรัฐออนไลน์ รายงาน