คงเป็นสงกรานต์แบบเหงาๆ อีกปี หลังจากปีก่อนเจอการแพร่ระบาดโควิด-19 ระลอกแรก พอจะได้เที่ยวช่วงเทศกาลปีใหม่ไทย วันพบญาติพี่น้อง ก็มาเจอเคส คลัสเตอร์สถานบันเทิงอีก

แต่ใครจะรู้ว่า มีธุรกิจหนึ่งที่อยู่คู่กับสงกรานต์มาช้านาน เริ่มได้รับผลกระทบอย่างหนัก นั่นก็คือ ธุรกิจ “ดินสอพอง”

ทีมข่าวเฉพาะกิจไทยรัฐออนไลน์ ได้พูดคุยกับ “ป้าน้อย” หรือ นางกมลรส ซ้อนใย อายุ 52 ปี ประธานชมรมดินสอพองลพบุรี ที่ดำเนินธุรกิจขายดินสอพองมาหลายทศวรรษ เพราะลพบุรีถือเป็นดินแดนของ “ดินสอพอง”

ป้าน้อย เล่าให้ฟังว่า หลายปีที่ผ่านมา ทางการเริ่มห้ามเล่นแป้ง ช่วงสงกรานต์ ก็ได้รับผลกระทบในระดับหนึ่งเลย เพราะเราจะขายดินสอพองได้มากช่วงนี้ โดยเฉพาะดินสอพองแบบ “ดินตุ่ม” เพราะใช้สำหรับการเล่นสงกรานต์

แต่เราก็ยังอยู่ได้ เพราะเรายังสามารถขายดินสอพองแบบ “ดินแผ่น” ซึ่งส่วนมากนำไปใช้กับโรงงานอุตสาหกรรม เช่น การทำไข่เค็ม สบู่ ยาสีฟัน เครื่องสำอาง หรือ การใช้แป้งเพื่อจับตะกอนในการทำน้ำมันปาล์ม ซึ่งภาคใต้จะซื้อไปใช้จำนวนมาก

“แต่เมื่อโควิดมาตั้งแต่ปีที่แล้ว ตอนนี้เรียกว่ากระทบกันทั้งหมู่บ้านดินสอพอง เพราะเศรษฐกิจไม่ดี โรงงานหลายแห่งเริ่มปิดตัวลง พวกป้าก็แย่ เมื่อก่อนเคยขายได้เดือนละเป็นหมื่น ทุกวันนี้ขายเดือนหนึ่งยังไม่ถึง 5,000 บาทเลย นี่คือความจริง” ป้าน้อยกล่าวอย่างเจ็บปวดใจ

...

ถ้าเทียบกับเมื่อก่อนช่วงที่เล่นแป้งได้ ในช่วงเดือนพฤศจิกายน จนถึงเดือนมีนาคม (ก่อนสงกรานต์) บางร้านสามารถขายแป้งดินสอพองได้เงินเป็นแสนบาท แต่ช่วง 2 ปีที่ผ่านมา มีคำสั่งห้ามเล่นแป้ง ร้านได้เป็นแสนเหล่านี้คือเหลือศูนย์เลย เพราะไม่มีใครมาซื้อ

ส่วนดินแผ่น ชาวบ้านที่ผลิตดินสอพอง 200 กว่าครัวเรือน เมื่อก่อนผลิตแทบไม่ทันเลย วันหนึ่งผลิตเป็นร้อยตัน ยังไม่พอขาย เพราะโรงงานน้ำมันปาล์มเอาไปใช้จำนวนมาก แต่ตอนนี้ไม่ได้เป็นอย่างนั้นแล้ว ยอดขายลดลงไปมาก

ในขณะที่ต้นทุนการทำดินสอพอง ตอนนี้ก็มีราคาสูง ตอนนี้ขายประมาณตันละ 950 บาท แล้ว แต่เมื่อมาแปรรูปเป็น “ดินแผ่น” จะขายได้ กิโลกรัมละ 1.30 บาท หรือ ตันละ 1,300 บาท หากเป็น “ดินตุ่ม” จะขายกิโลกรัมละ 2.50 บาท ตันละ 2,500 บาท ดินตุ่มจะมีราคาแพงกว่า เพราะทำยากกว่ามาก ซึ่งทุกขั้นตอนในการทำดินตุ่มและดินแผ่น ต้องทำด้วยมือทั้งหมด และใช้แรงงานคน

“ตอนที่ห้ามเล่นแป้งช่วงสงกรานต์ ยังไม่เจ็บหนักเท่าตอนนี้ เพราะการขายดินตุ่ม จะขายดีเฉพาะช่วงพฤศจิกายนถึงเมษายน แต่ดินแผ่น เราขายทั้งปี พอเจอโควิดผู้ผลิตดินสอพอง 200 กว่าครัวเรือนลำบากกันทุกคน” ป้าน้อย พูดอย่างเศร้าสร้อย

ป้าน้อย บอกว่า ตอนนี้ป้าเองเป็นหนี้อยู่ 2 แสนบาท กู้เงินมาสร้างศูนย์การเรียนรู้เรื่องดินสอพองให้กับเด็กๆ เมื่อก่อนเคยส่งธนาคารเดือนละ 5 พันกว่าบาท ช่วงนี้ไม่มีปัญญาจะส่ง เพราะขายของไม่ดี ที่อยู่ได้ มีข้าวกินวันนี้ ส่วนหนึ่งเพราะรัฐช่วยจากโครงการต่างๆ ได้เงินมาก็ซื้อของมาตุนเก็บไว้กิน แต่ก็ไม่รู้ว่าจะอยู่ได้ถึงเมื่อไหร่...

วอนรัฐคุมราคาวัตถุดิบ พัฒนาองค์ความรู้ “ดินสอพอง” อย่างจริงจัง

สิ่งที่อยากให้รัฐบาลช่วย คือ 1.อยากให้มีสหกรณ์ในการช่วยตั้งราคาดินสอพอง เพราะปัจจุบันราคาไม่ค่อยสมเหตุสมผล

นอกจากนี้ อยากให้หน่วยงานช่วยเหลือในการพัฒนาสินค้าดินสอพองให้ดียิ่งๆ ขึ้นไป ซึ่งที่ผ่านมา เคยมีหลายหน่วยงานมาติดต่อช่วยเหลือ แต่เมื่อเสร็จงานแล้ว ปรากฏว่าไม่ให้ชาวบ้านได้ใช้องค์ความรู้นั้น อ้างว่าต้องนำกลับไป

แถมที่ผ่านมา ก็เคยมีการนำเครื่องจักรคัดแยกดินขาวกับหินมาให้ แต่ปัญหาคือ เครื่องจักรดังกล่าวเสียบ่อย ชาวบ้านไม่ค่อยได้ใช้ประโยชน์ ชาวบ้านจึงให้นำคืนไป

“สิ่งที่เป็นห่วงเวลานี้คือ ความรู้เรื่องการทำดินสอพอง เพราะนับวันยิ่งจะมีคนทำน้อยลง เราเองก็กลัวองค์ความรู้ที่ชาวบ้านส่งต่อจากรุ่นสู่รุ่นสูญหาย” ป้าน้อย พูดทิ้งท้ายจากหัวใจ

...

ล้อมกรอบ

ทำไม “ลพบุรี” ถึงเป็นเมือง “ดินสอพอง”

ประธานชมรมดินสอพอง ลพบุรี เล่าจุดกำเนิดการใช้ดินสอพองให้ฟังว่า ต้องย้อนไปสมัยพระนารายณ์ เพราะสมัยก่อนนั้นยังไม่มีแป้ง จึงมีการเริ่มขุดดินขาวขึ้นมา

“ชาวบ้านในสมัยก่อนขุดดินขึ้นมาก็ขาวบ้าง เหลืองบ้าง ในสมัยก่อน ขั้นตอนการทำดินสอพอง ยังไม่มีกรวยหยดแป้ง ก็ใช้ใบตองแทน แต่พอปัจจุบันเริ่มมีกรวยหยอด เพิ่มขั้นตอนการฆ่าเชื้อโรค ก็ทำให้ดินสอพองสะอาดมากขึ้น”

ขั้นตอนการทำดินสอพอง คือ เราต้องหาดินขาวมาก่อน ซึ่งมันอาจจะอยู่ลึกหน่อย เราต้องขุดขึ้นมา ซึ่งภายในจังหวัดลพบุรี จะมีดินขาวอยู่มาก ด้วยเหตุนี้ ลพบุรี จึงเป็นจังหวัดที่ผลิตดินสอพองเยอะ แต่หากพ้นลพบุรีไปแล้ว ดินที่ขุดก็จะออกเป็นสีไข่ไก่ เพราะมีการปนเปื้อนแร่เหล็กเยอะกว่า สีจึงไม่ขาว ราคาที่ขายจะถูกกว่า เพราะเอามาทำแป้งที่ใช้ทาหน้าไม่ได้

ทีมข่าวเฉพาะกิจไทยรัฐออนไลน์รายงาน

อ่านสกู๊ปที่น่าสนใจ

...