- ยักษ์ใหญ่ต้องช่วยตัวเล็ก ผสานพาร์ตเนอร์ เปิดโอกาสสร้างรายได้ ทางรอดปี 2564
- ธุรกิจแฟรนไชส์ หนึ่งในแนวคิดกลยุทธ์ยักษ์ใหญ่ช่วยตัวเล็ก ที่เปิดโอกาสให้ SMEs
- 1+1 = 2 สูตรลดความเสี่ยง กลยุทธ์ธุรกิจจับคู่พาร์ตเนอร์ โอกาสใหม่ที่น่าสนใจปี 2564
อีกเพียงแค่เดือนเดียวก็จะก้าวสู่ปี 2564 เริ่มต้นปีใหม่ๆ กันแล้ว หากแต่ตลอดปี 2563 ที่ผ่านมา ทั่วโลกล้วนบาดเจ็บจากไวรัสร้ายโควิด-19 (COVID-19) ที่ทำให้ภาคธุรกิจล้มหายตายจากไปหลายราย ตั้งแต่รายใหญ่ยันรายเล็ก ฉุดเศรษฐกิจแต่ละประเทศดิ่งลงเหว ไม่เว้นแม้แต่ประเทศไทย...
หากถามบุคคลในแวดวงเศรษฐกิจและธุรกิจเวลานี้ ก็จะได้รับคำตอบประสานเสียงตรงกันว่า "ประเทศไทยผ่านจุดต่ำสุดมาแล้ว" ฉะนั้น นับจากนี้เราจึงต้อง... ร่วมแรง เปลี่ยนแปลง แบ่งปัน เพื่อให้ "ธุรกิจไทย" รอดไปได้อย่างเข้มแข็ง
ซึ่งการจะลุกขึ้นมาใหม่นั้น...ไม่ใช่เรื่องง่าย ในส่วนธุรกิจรายใหญ่คงไม่ลำบากอะไรมากนัก แต่สำหรับธุรกิจรายย่อยนั้น...แสนสาหัสพอตัว!
อย่างที่บอกไปว่า นับจากนี้เราต้อง "ร่วมแรง" นั่นจึงเป็นที่มาว่า ทำไมเราถึงต้องงัด "2 กลยุทธ์" ที่ในอนาคตจะกลายเป็นคัมภีร์ในการดำเนินธุรกิจ ปี 2564 นี้มาใช้...
...
▸ เปิดคัมภีร์กลยุทธ์ "ยักษ์ใหญ่ช่วยตัวเล็ก" ทางรอดปี 2564
"บริษัทใหญ่ต้องช่วยบริษัทเล็ก
แล้วเราจะเติบโตไปพร้อมกัน"
จิราพร ขาวสวัสดิ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ปตท. น้ำมันและการค้าปลีก จำกัด (มหาชน) หรือ OR หนึ่งในบุคคลสำคัญของภาคธุรกิจที่มองว่า "กลยุทธ์ยักษ์ใหญ่ช่วยตัวเล็ก" นั้น สำคัญเป็นอย่างมากในการก้าวสู่ปี 2564 อย่างเข้มแข็ง และเป็นฟันเฟืองหนึ่งที่จะช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยให้เดินหน้าต่อไปได้
หลายคนอาจจะงงๆ อยู่ว่า "กลยุทธ์ยักษ์ใหญ่ช่วยตัวเล็ก" คืออะไร?
"จิราพร" หัวเรือใหญ่ OR อธิบายภาพกับผู้เขียนให้ได้เห็นอย่างน่าสนใจผ่านมุมมองธุรกิจในรูปแบบ "แฟรนไชส์" ที่หลายๆ คนอาจคิดไม่ถึงว่านี่เป็นส่วนหนึ่งใน "กลยุทธ์ยักษ์ใหญ่ช่วยตัวเล็ก" ที่ว่านั้น
คงคุ้นเคยกันดี...สำหรับสถานีบริการน้ำมัน PTT Station และร้านกาแฟ Cafe Amazon แต่อาจมีบางคนไม่รู้ว่า กว่า 80% ของจำนวนสาขาที่เปิดทั้งหมดนั้น เป็นการดำเนินธุรกิจในรูปแบบ SME และส่วนที่ OR ดำเนินการเองมีแค่ 20% เท่านั้น
แต่แน่นอนว่า การทำ "ธุรกิจแฟรนไชส์" หากไม่มีการควบคุมอย่างดี ก็อาจจะทำให้ไปไม่รอดได้เหมือนกัน ดังนั้น "จิราพร" จึงย้ำข้อสำคัญไว้ว่า "ยักษ์ใหญ่" ต้องช่วย SME หมายความว่า บริษัทใหญ่ต้องทำหน้าที่เป็นผู้พัฒนาผลิตภัณฑ์ บริหารแบรนด์ และมาตรการการทำธุรกิจต่างๆ เพื่อให้ SME ที่เข้ามาลงทุนเหล่านั้นมีรายได้ในการต่อยอดและดำเนินธุรกิจต่อไป
"อธิบายง่ายๆ ว่า การทำธุรกิจต้องมุ่งเน้นให้ชุมชนและสังคมเติบโตไปพร้อมกับธุรกิจของเรา"
แต่การทำให้ชุมชนและสังคมเติบโตไปพร้อมกับธุรกิจ "จิราพร" เน้นว่า ไม่ใช่การทำ CSR หรือการบริจาคเท่านั้น แต่รวมถึง "กระบวนการ" (Process) ด้วย
ตัวอย่างเช่น OR ในฐานะเจ้าของแบรนด์รายใหญ่ เมื่อส่งต่อแฟรนไชส์ อาทิ Cafe Amazon ให้กับ SME และผู้ประกอบการรายย่อยแล้ว ต่อจากนั้น OR หรือเจ้าของแบรนด์ต่างๆ ต้องประสานแบรนด์กับแฟรนไชส์ในพื้นที่ต่างๆ เพื่อเปิดเป็นช่องทางให้ชุมชนและชาวบ้านมีโอกาสนำสินค้ามาวางขายในพื้นที่ อีกทั้งต้องจับมือร่วมกับพาร์ตเนอร์ต่างๆ เพื่อพัฒนาผลิตภัณฑ์ ขายปริมาณสินค้า และนำออกสู่ตลาด สร้างโอกาสและรายได้ไปพร้อมกัน
...
หากยังไม่เห็นภาพ "จิราพร" อธิบายเพิ่มเติมโดยหยิบยกสถานการณ์ที่เกิดขึ้นในห้วงเวลาโควิด-19 ให้ได้เข้าใจมากขึ้น ผ่านธุรกิจ "กุ้งก้ามกราม" ที่เมื่อส่งออกไม่ได้ การท่องเที่ยวหยุดชะงัก ก็ส่งผลให้ "กุ้งก้ามกราม" ล้นตลาด ทาง OR จึงมีแนวคิดเปิดปั๊มน้ำมันเป็น "พื้นที่ปันสุข" ร่วมกับพันธมิตร เพื่อสนับสนุนเกษตรกร ด้วยการนำมาจำหน่ายภายในปั๊มน้ำมัน
"ส่วนตัวมองว่า ระบบพื้นฐานภายในประเทศไทยค่อนข้างโอเค หากเทียบกับประเทศอื่นๆ ประกอบกับการควบคุมโควิด-19 ที่ดีมาก ธุรกิจที่อยู่ในนี้ก็มีโอกาสที่จะเติบโตไปได้ แล้วด้วยที่ว่า ประเทศไทยมีทั้งบริษัทใหญ่ บริษัทเล็ก SME หรือผู้ประกอบการรายย่อย ดังนั้น บริษัทใหญ่จึงต้องช่วยบริษัทเล็ก แล้วเราจะมีโอกาสที่จะเติบโตไปพร้อมกัน และยิ่งเห็นภาพของ SET ที่ขึ้นไปถึง 50 จุด (ณ 10 พ.ย.) นั่นก็หมายความถึงว่า ความเชื่อมั่นของนักลงทุนที่มีต่อระบบเศรษฐกิจไทยเป็นไปในทิศทางที่ดี"
▸ กลยุทธ์ 1+1 = 2 โตแพ็กคู่
สำหรับกลยุทธ์ที่ 2 ที่นอกเหนือจาก "ยักษ์ใหญ่ช่วยตัวเล็ก" คือ 1+1 = 2 กลยุทธ์ที่จะทำให้ธุรกิจเติบโตต่อไปได้ โดยที่ "ความเสี่ยง" ลดลง
...
"จิราพร" ยกตัวอย่างในมุมมองธุรกิจ OR ว่า เป้าหมายการขยายธุรกิจ คือ เน้นการเติบโตร่วมกับคู่ค้า ไม่ได้เน้นว่าต้องขยายธุรกิจด้วยตัวเองเพียงเท่านั้น
"การเติบโตคู่กับพาร์ตเนอร์ช่วยลดความเสี่ยง เพราะเราอาจจะมีจุดแข็งอย่างหนึ่ง ขณะที่ พาร์ตเนอร์ก็อาจจะมีจุดแข็งอีกอย่างหนึ่ง พอมารวมกันก็จะเป็น 1+1 = 2"
นอกจากนั้น หากอยากให้ธุรกิจเติบโตมากขึ้นไปอีก "จิราพร" แนะนำว่า ธุรกิจใหญ่สามารถเลือกไปจับคู่กับพาร์ตเนอร์ในต่างประเทศได้ สมมติ เลือกจับคู่กับพาร์ตเนอร์ในประเทศจีน ซึ่งเป็นประเทศที่มีประชากรกว่า 1,000 ล้านคน ลองคิดดูว่า หากได้ประชากรจีนมาเป็นลูกค้า เราจะได้โอกาสต่อยอดธุรกิจมากแค่ไหน และการเป็นพาร์ตเนอร์กับธุรกิจต่างประเทศก็มีโอกาสที่จะทำให้ "ผลิตภัณฑ์ชุมชน" มีโอกาสเติบโตร่วมกับเราด้วย
แต่การจะขยายธุรกิจร่วมกับพาร์ตเนอร์ "จิราพร" ย้ำว่า การแสวงหาพันธมิตรต้องดูด้วยว่า แต่ละบริษัทมีจุดแข็งและจุดอ่อนอย่างไร แล้วค่อยตัดสินใจเลือกมาทำธุรกิจร่วมกัน ซึ่งปัจจัยสำคัญที่ดึงดูดพาร์ตเนอร์ คือ ความเชื่อมั่นของการทำธุรกิจ ดังนั้น การบริหารจัดการและความต่อเนื่องก็เป็นหนึ่งที่สร้างความเชื่อมั่นให้กับพาร์ตเนอร์ได้
...
"อยากให้คนไทย ไม่ว่าจะเป็นครอบครัวหรือชุมชน หรือแม้แต่ระดับบริษัท มีความเชื่อมั่นว่า ตัวระบบเศรษฐกิจไทยมีทิศทางที่ดี โอกาสของเราน่าจะเป็นการฟื้นตัวแบบ U Curve ดังนั้น ก็คงตกอยู่แค่เพียงจุดนี้ มีโอกาสที่จะเติบโตขึ้นไปได้ เพราะว่าตัวพื้นฐานดีอยู่แล้ว"
จากกลยุทธ์ของ "จิราพร" หัวเรือใหญ่ OR ว่ามาทั้งหมดนั้น หากมีการนำมาผสานใช้ร่วมกัน เชื่อว่า ภาคธุรกิจจะสามารถก้าวผ่านจุดวิกฤติและเติบโตต่อไปได้ในปี 2564.
ผู้เขียน: เหมือนพระอาทิตย์
กราฟิก: Supassara Traiyansuwan
ข่าวน่าสนใจ:
- ยักษ์ใหญ่ธุรกิจยื่นล้มละลาย จับตาอนาคต "ค้าปลีก" ฟื้นหรือปิดฉาก
- เทรนด์ล้ำอนาคต ท่องเที่ยวผนึกการแพทย์ สู่ Medical & Wellness Hub ของโลก
- CPTPP กับการเปลี่ยนผ่าน 3 ประธานาธิบดีสหรัฐฯ ที่เดี๋ยวดีเดี๋ยวร้าย
- เมื่อ "ดาบพิฆาตอสูร" จ่อขึ้นแท่นอนิเมะเบอร์ 1 ล้ม Spirited Away
- "ทรัมป์" ทิ้งทวน สหรัฐฯ ตัดสิทธิ์ GSP ไทย รอบ 2 เจ็บแค่ไหน?