- เศรษฐกิจไทย ปี 2563 คาดหดตัวรุนแรงที่สุดในรอบ 10 ปีนับตั้งแต่ปี 2553 แย่กว่าวิกฤติต้มยำกุ้ง
- ท่องเที่ยว ยังน่าห่วง อดีต รมว.คลัง เร่งรัฐบาลช่วยรายเล็กและเอสเอ็มอี ก่อนที่จะฟื้นกลับมาได้ยาก
- อีอีซี มีแค่อุตสาหกรรมอาจไม่พอ ต้องพัฒนาคน ปฏิรูปการศึกษาครั้งใหญ่ คือ ทางออก
กว่า 10 เดือนที่ผ่านมา ประเทศไทยต้องเผชิญมรสุมครั้งใหญ่ชนิดที่ไม่มีใครคาดคิดมาก่อน การแพร่ระบาดไวรัสโควิด-19 (COVID-19) ที่ไม่เพียงแต่เป็นวิกฤติสาธารณสุขเท่านั้น แต่ยังทำลายเศรษฐกิจจนย่อยยับ อุตสาหกรรม และกิจกรรมต่างๆ ต้องหยุดชะงัก ไม่ใช่แค่ชาติเดียว แต่พังกันทั้งโลก ที่คาดว่า ปี 2563 นี้ จะเป็นปีที่ "เศรษฐกิจไทย" อยู่ในภาวะตกต่ำรุนแรงที่สุดนับตั้งแต่ปี 2553
แน่นอนว่า ความรุนแรงที่เกิดขึ้นจากวิกฤติโควิด-19 ส่งผลกระทบโดยตรงกับอุตสาหกรรม "ส่งออก" และ "ท่องเที่ยว" ของไทย โดยเฉพาะอย่างหลังที่เจ็บหนักสุดๆ
ซึ่งจากผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ หรือ "จีดีพี" (GDP) ไตรมาส 2 ที่หดตัวหนักที่สุดในรอบ 22 ปี ติดลบ 12.2% ทำให้มีการประมาณการว่า GDP ทั้งปี 2563 อาจอยู่ที่ -8.5% ถือเป็นการติดลบครั้งแรกในรอบ 10 ปีนับตั้งแต่ปี 2553 และตัวเลข GDP ที่ว่านั้นยังรุนแรงยิ่งกว่าปี 2541 ที่ได้รับผลกระทบจากวิกฤติต้มยำกุ้งเสียอีก
...
นับตั้งแต่เดือนมกราคม-กันยายน 2563 ทั้ง 2 ส่วนล้วนเป็นไปในทิศทางลบ โดยมูลค่าการส่งออกไทยอยู่ที่ 5.39 ล้านล้านบาท ลดลง 7.7% เมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมา ส่วนการท่องเที่ยว จากที่ปี 2562 มีนักท่องเที่ยวต่างชาติเกือบ 40 ล้านคน สร้างรายได้มหาศาล ก็มีเพียง 6 ล้านคน มีรายได้เพียง 3.32 แสนล้านบาท เทียบกับปีก่อนหน้า ลดลงถึง 76.77%
อนาคต "เศรษฐกิจไทย" จะเป็นอย่างไร?
แม้เวลานี้ การส่งออกจะค่อยๆ ฟื้นกลับมา แต่การท่องเที่ยวยังคงน่าเป็นห่วง... รายเล็ก รายน้อย ปิดกิจการไปไม่น้อย และมีแววว่า กลุ่มธุรกิจขนาดกลางก็ดูท่าจะไปไม่ไหวหลายราย ซึ่งไม่รู้ว่า พอจบปี 2563 จะเหลือผู้รอดชีวิตกี่ราย...
"ในอุโมงค์ที่มืด เมื่อมีปลายอุโมงค์ก็ย่อมมีแสงสว่าง และเมื่อไถลลงไปแล้วก็ต้องลุกขึ้นให้ได้"
อาคม เติมพิทยาไพสิฐ ขุนคลังป้ายแดง ภายใต้การนำของนายกรัฐมนตรี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ที่เมื่อเข้ามารับตำแหน่ง "รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง" ก็ต้องเร่งสะสางปัญหาเศรษฐกิจที่ยุ่งเหยิงและหนักหน่วงทันที และยอมรับบนเวทีเสวนา "เศรษฐกิจหลังโควิด-19 : จุดยืนของไทยในเวทีโลก" ว่า หากเทียบวิกฤติโควิด-19 กับวิกฤติต้มยำกุ้ง ปี 2540 ในครั้งนี้หนักหนากว่า เพราะเมื่อปี 2540 กระทบจากข้างบนลงข้างล่าง กิจกรรมทางเศรษฐกิจยังพอเดินต่อไปได้ แตกต่างกับครั้งนี้ที่ผลกระทบกระจายไปทั่วประเทศ กิจกรรมทางเศรษฐกิจหยุดชะงัก แต่ถามว่า ณ เวลานี้ เศรษฐกิจดีหรือไม่ดี ก็ต้องบอกว่า เศรษฐกิจไทยเริ่มดีขึ้น...
"เชื่อว่า ดัชนีเศรษฐกิจหลายตัวชี้ไปในทิศทางที่ดีขึ้น ฟื้นแน่ แต่ถามว่า ช่วงนี้เราดีขึ้นเพราะอะไร คำตอบคือ เพราะกำลังจากรัฐบาล เริ่มตั้งแต่การเยียวยา 5,000 บาท เป็นเวลา 3 เดือน, บัตรสวัสดิการแห่งรัฐก็เติมให้อีก 500 บาทในระยะสั้นๆ แต่รัฐบาลจะจ่ายเงินอย่างเดียวไม่พอ ต้องให้ประชาชนจ่ายด้วย เพราะฉะนั้น จึงเกิดมาตรการอื่นๆ ตามมา เช่น โครงการชิมช้อปใช้ และโครงการคนละครึ่ง ที่เรียกได้ว่าเป็นแกรนด์เซลส์"
แต่ในห้วงวิกฤติเศรษฐกิจที่มีโควิด-19 เป็นตัวแปรสำคัญนี้ การแก้ปัญหาเฉพาะหน้าคงไม่เพียงพอ... "ไทยรัฐออนไลน์" ถกหาทางออก "เศรษฐกิจไทย" กับ 3 อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เพื่อยืนหยัดในปี 2564 อย่างเข้มแข็ง
"การอัดฉีดควรเน้นที่กลุ่มเศรษฐกิจที่จำเป็น คือ กลุ่มที่ไปไม่ไหว เช่น โรงแรม การท่องเที่ยว"
ดร.ทนง พิทยะ อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ในสมัยนายกรัฐมนตรี พล.อ.ชวลิต ยงใจยุทธ ย้ำว่า การอัดฉีดไม่ใช่อยู่ดีๆ เอาเงินไปแจก แต่รัฐบาลต้องคิดโครงการที่จะทำให้โรงแรมได้รับการใช้ประโยชน์ และช่วยให้คนไทยเที่ยวด้วยกันภายในประเทศได้
...
ยกตัวอย่างง่ายๆ สังเกตไหมว่า คนเที่ยวบางแสนเต็มเลย วันเสาร์-อาทิตย์ โรงแรมริมชายหาดพัทยาคนเยอะมาก หรือหัวหิน ในช่วงวันศุกร์-เสาร์-อาทิตย์ก็เต็ม ต้องคิดว่า ทำอย่างไรให้คนที่อยากจะไปเที่ยวที่ไกลกว่านี้ สามารถเที่ยวได้ด้วยงบประมาณเท่าเดิมที่เคยมี นี่คือ ความยาก ดังนั้น รัฐบาลต้องช่วยในเรื่องของโลจิสติกส์ เช่น รถบัสท่องเที่ยว เรือท่องเที่ยว หรือจุดการเดินทาง เพื่อประหยัดการเดินทางให้ได้ เพราะโรงแรมคิดราคาพอๆ กับพัทยา หรือหัวหิน อยู่แล้ว แต่เราต้องคิดว่าจะทำอย่างไรให้คนไปถึงจุดนั้นเหมือนกับการขับรถไปเที่ยวพัทยา หรือหัวหิน รัฐบาลต้องดูแลค่าใช้จ่ายตัวนี้ แทนที่จะแค่ให้คนไปก่อนแล้วค่อยลดโรงแรมทีหลัง
อีกมุมหนึ่งของ นายแพทย์สุรพงษ์ สืบวงศ์ลี อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ในสมัยนายกรัฐมนตรี สมัคร สุนทรเวช แม้จะมองว่า รัฐบาลแก้ปัญหาช้าไปพอสมควร แต่ถ้าจะไม่ทำอะไรเลยก็คงไม่ได้
...
"ในเรื่องการท่องเที่ยว วันนี้ทางศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (ศบค.) ตัดสินใจช้ามาก ความภาคภูมิใจในการมีผู้ป่วยเป็น 0 ในประเทศ เป็นความภาคภูมิใจที่แลกไม่ได้เลยกับการที่คนจำนวนเป็นล้านคนต้องตกงาน เศรษฐกิจจำนวนมากมายต้องล้มละลาย ไม่คุ้มที่จะแลก"
นายแพทย์สุรพงษ์ เสนอว่า ในเวลานี้ ความกลัวโควิด-19 ต้องลดลงได้แล้ว การกักตัวเหลือ 10 วันก็ยังได้ บางประเทศเหลือ 7 วัน และบางประเทศก็เหลือ 5 วันด้วยซ้ำ แต่อุปสรรคอยู่ที่ ศบค. ที่ยังยืนยันว่าจะใช้มาตรการแบบเดิม โดยที่ไม่ตั้งใจศึกษาถึงการเปลี่ยนแปลงของโรค เพราะฉะนั้น ศบค. หรือบุคคลที่รับผิดชอบต้องกลับมาทบทวนอย่างจริงจัง และเปิดการท่องเที่ยวให้เร็วขึ้นกว่านี้
สอดคล้องกับ ดร.ทนง ที่ส่งเสียงถึงนายกฯ ว่า ตอนนี้ประเทศต้องคลายแล้ว โดยจุดที่คลายคือ ยอมรับว่าโควิด-19 จะเกิดได้วันละกี่คน ดูแลไหวหรือไม่ กิจกรรมทางเศรษฐกิจต้องกลับมา ทั้งการเจรจากับต่างประเทศและการเดินทางต่างๆ ต้องเริ่ม
"การกักตัว 14 วัน อาจไม่ค่อยช่วยในแง่อุตสาหกรรมการท่องเที่ยวเลย วันนี้นักท่องเที่ยวยินดีกักตัว 14 วัน แต่ใครจะมา ไปไหนไม่ได้เลย คนที่ทำงานอาจจะยอมถูกกัก 14 วัน แล้วเข้าไปอยู่ในบริษัท"
เช่นเดียวกับ กรณ์ จาติกวณิช อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ในสมัยนายกรัฐมนตรี อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ที่มองว่า ต้นปี 2564 การท่องเที่ยวก็อาจไม่กลับมาระดับเดียวกับก่อนโควิด-19 แต่จะค่อยๆ ดีขึ้นเรื่อยๆ ได้แน่นอน และแนะว่า ควรปรับชุดความคิดยุทธศาสตร์ว่า โควิด-19 ก็คืออีกโรคหนึ่งที่ต้องหาทางอยู่กับมัน
...
"ประเทศไทยยังยึดกับหลักยุทธศาสตร์ คือ ต้องรักษาความเป็น 0 ในแง่ของจำนวนผู้ป่วยติดเชื้อ นั่นหมายความว่า เราต้องปิดประเทศต่อไป ซึ่งมีผลข้างเคียงกับเศรษฐกิจ เป็นเรื่องที่ปฏิเสธไม่ได้ หลายคนพูดเหมือนกันว่า จุดสมดุลที่สังคมไทยรับได้คืออะไร หากผลกระทบทางเศรษฐกิจจากการปิดประเทศอยู่ในผลกระทบที่รับได้ก็ปิดต่อไป เพื่อที่ให้ประชาชนปลอดภัยอย่างสิ้นเชิงจากโควิด-19 แต่ถ้ามองว่าเริ่มรับไม่ได้ก็ต้องหาจุดปลอดภัย"
นอกจากภาคการท่องเที่ยวแล้ว กรณ์ ยังเน้นย้ำอีกว่า เรื่องของปากท้องนั้นสำคัญที่สุด โดยกลุ่มที่น่าเป็นห่วงคือ กลุ่มผู้ประกอบการขนาดเล็กขึ้นไปถึงเอสเอ็มอี (SMEs) ที่มีจำนวนหลายล้าน ซึ่งที่ผ่านมาเข้าไม่ถึงมาตรการเยียวยาของรัฐบาล ดังนั้น ทีมเศรษฐกิจต้องปรับจูนนโยบายมาตรการต่างๆ เพื่อให้กลุ่มสายป่านสั้นเหล่านี้เข้าถึงได้ โดยเฉพาะกลุ่มผู้ประกอบการที่เกี่ยวเนื่องกับนักท่องเที่ยว ต้องรีบช่วยเหลือ
"สำหรับประเทศไทย เชื่อว่า จุดแข็งในอนาคตก็คือ อุตสาหกรรมท่องเที่ยว ถ้าปล่อยให้ผู้ประกอบการล้มหายตายจากไปหมดในช่วงนี้ เมื่อสภาวะกลับมาสู่สถานการณ์ปกติจะฟื้นตัวยาก"
กรณ์ เสนอว่า รัฐบาลควรจัดหา Soft Loan (สินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ) หรือภาระค่าใช้จ่าย ซึ่งจะช่วยเหลือตรงจุดมากกว่าการใช้เงินตามยุทธศาสตร์ปัจจุบัน ยกตัวอย่างในส่วนเงินกู้ 1 ล้านล้านบาท ที่มีการปันส่วนมา 4 แสนล้านบาท เพื่อทำโครงการต่างๆ ที่เหมือนกับโครงการล้างท่องบประมาณ
ในส่วน นายแพทย์สุรพงษ์ เสนอว่า ต้องมีมาตรการอัดเงินทุนเข้าไป เพื่อประคองเอสเอ็มอีที่ยังมีโอกาสบริหารธุรกิจตัวเองต่อไปได้ ซึ่งรัฐบาลต้องให้โอกาสในการสะสมเงินทุน เงินทุนที่รัฐบาลเคยบอกให้ธนาคารพาณิชย์ตั้งวงเงินเอาไว้ประมาณ 5 แสนล้านบาท ก็ให้ดอกเบี้ยต่ำ ถึงวันนี้ 5 แสนล้านบาท ปล่อยไปได้ประมาณ 1.2 แสนล้านบาท ถือว่าน้อยมาก เพราะธนาคารพาณิชย์ก็ต้องป้องกันตัวเอง ฉะนั้น รัฐบาลเองจะต้องพร้อมที่จะอัดเงินทุนเข้าไป
"เสนอ 2 ล้านล้านบาท แล้วรัฐบาลค้ำประกัน 100% ธนาคารพาณิชย์ถึงจะกล้าปล่อย ถามว่าจะมีความเสียหายเกิดขึ้นไหม เป็นไปได้ รัฐบาลเองก็ต้องพร้อมที่จะออกเป็นพันธบัตร ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) โดยอาจจะมีอัตราดอกเบี้ยต่ำเพียง 0.1% ระยะเวลา 100 ปี และพร้อมดูแลความเสียหายประมาณสัก 20% ของ 2 ล้านล้านบาท ประมาณ 4 แสนล้านบาท แต่ถ้าบอกว่า 4 แสนล้านบาท อัตราดอกเบี้ย 0.01% ต่อปี คือ ปีหนึ่งอาจจะแค่ประมาณ 400 ล้านบาท ทำได้ไหม ทำได้อยู่แล้ว นี่คือ วิธีคิดนอกกรอบ"
อีอีซี (EEC) ยังเป็น "หัวรถจักร" เศรษฐกิจไทยอยู่ไหม?
คำถามนี้ ดร.ทนง มองว่า วิธีการที่จะทำให้อีอีซีเติบโตต้องใช้เวลาเยอะมาก ซึ่งก็ไม่ได้ผิดที่มีการประกาศอีอีซีขึ้นมา แต่ที่น่าห่วง คือ ถึงแม้จะกลับไปจุดก่อนเกิดโควิด-19 ก็ต้องเข้าใจว่า ประมาณ 10 ปีก่อนหน้า เศรษฐกิจไทยเติบโตเฉลี่ยแค่ 2% ขณะที่ ประเทศอื่นๆ เช่น เวียดนามหรืออินเดีย กำลังโต 6-9% มีเพียงมาเลเซียที่ติดลบ เนื่องจากราคาน้ำมันตก แต่ในแง่อุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ไปเร็วกว่าไทย นั่นคือ จุดที่ไทยสู้ไม่ได้
"มาเลเซียกับไทยอยู่ในจุด Suffer เหมือนกัน คือ ไม่รู้จะไปทางไหน อยู่กับกับดักรายได้ของประเทศที่มีรายได้ปานกลาง ตรงนี้จะทะลุมีทางเดียว คือ ทรัพยากรมนุษย์ ไทยมี Infrastructure ที่ดีอยู่แล้ว แต่ขาดการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ ต้องเรียนคอมพิวเตอร์กับภาษาอังกฤษ เป็นพื้นฐานการต่อสู้ในอนาคต"
สอดคล้องกับ นายแพทย์สุรพงษ์ ที่เห็นว่า การพัฒนาคนนั้นสำคัญ
"วันนี้พิสูจน์แล้วว่า อีอีซีไม่ใช่อนาคตของการพัฒนาโครงสร้างเศรษฐกิจของประเทศแล้ว เพราะโลกยุคใหม่ไม่จำเป็นต้องกระจุกตัวอยู่ที่เดียวกัน ฉะนั้น ภาพแบบประเภทสมัยอีสเทิร์นซีบอร์ดโชติช่วงชัชวาล ไม่ใช่ภาพแบบเดิมอีกแล้ว ถามว่ารัฐบาลจะต้องพัฒนาอะไร ระยะสั้น คือ การท่องเที่ยว ค่าเงิน เอสเอ็มอี ส่วนในระยะยาว คือ พัฒนาคน"
นายแพทย์สุรพงษ์ แนะว่า ต้องเร่งปฏิรูปการศึกษาครั้งใหญ่ ทำให้การศึกษาสามารถพัฒนาคนให้ตอบรับกับยุคสมัยที่เปลี่ยนแปลงได้ ยุคสมัยที่มีการเปลี่ยนแปลงในโลกเทคโนโลยี ไม่ว่าจะเป็นเทคโนโลยีสารสนเทศ เทคโนโลยีชีวภาพ หรือเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ (AI) เพราะหากถามวันนี้ว่า ประเทศไทยพร้อมไหม คำตอบคือ ไม่พร้อมเลย
จุดยืนของไทยบนเวทีโลก
ถึงแม้ นายแพทย์สุรพงษ์ จะมองว่า ไทยยังไม่พร้อม แต่ก็เสนอให้มีการคิดต่อยอดจากวิกฤติโควิด-19 ด้วยระบบสาธารณสุขของไทยที่ดีเลิศ ดังนั้น ต้องเร่งพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานของการพัฒนาเศรษฐกิจสุขภาพ ทำให้ระบบสาธารณสุขสามารถพัฒนาเศรษฐกิจสุขภาพขึ้นมาให้เป็นเศรษฐกิจใหม่ที่แข็งแกร่งขึ้นได้ ไม่เพียงเท่านั้น ในด้านการเกษตร ก็ต้องมีการพัฒนาเทคโนโลยีการผลิตในเชิงอุตสาหกรรม ต่อยอดให้อุตสาหกรรมการเกษตรเฟื่องฟูมากขึ้น แทนที่จะขายแค่วัตถุดิบทางการเกษตรเท่านั้น
แต่ในการพัฒนาการเกษตรนั้น กรณ์ก็มองว่า ควรให้ความสำคัญกับเกษตรกรด้วย เพราะฉะนั้น ต้องมุ่งไปที่ผลประโยชน์ของเกษตรกร ชาวไร่ ชาวนา ในฐานะผู้ผลิตว่ามีส่วนได้ส่วนเสียอย่างไร มากกว่าที่จะไปดูว่าพ่อค้าขายแข่งกับพ่อค้าต่างประเทศได้ไหม ส่วนสำคัญที่สุด คือ การช่วยให้เกษตรกรไทยสามารถเข้าถึงตลาดได้ด้วยตัวเอง ซึ่งก็ยอมรับว่า นี่เป็นประเด็นที่ท้าทาย
"วิธีการมีอยู่ ไม่ว่าจะเป็น การส่งเสริมการใช้อี-คอมเมิร์ซ (e-Commerce) หรือการส่งเสริมให้สหกรณ์ที่เป็นตัวแทนที่แท้จริงของเกษตรกรมีความเข้มแข็ง แล้วทำหน้าที่แสวงหาตลาดให้กับเกษตรกร"
สุดท้าย กรณ์เสนอเพิ่มเติมว่า ไม่อยากให้กรุงเทพฯ เป็นเมืองที่ต้องมีทุนหนาเท่านั้นถึงจะทำมาหากินได้ ควรเป็นเมืองที่ประชาชนทุกคนมีโอกาสอยู่ร่วมกัน
ทางออก "เศรษฐกิจไทย" จาก 3 อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ที่ส่งเสียงถึงนายกรัฐมนตรี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา และคณะรัฐบาล อาจเป็นแนวทางหนึ่งที่จะช่วยให้ในปี 2564 ไทยกลับมาศูนย์กลางอาเซียนและก้าวไปยืนบนเวทีโลกได้อีกครั้ง.
ผู้เขียน: เหมือนพระอาทิตย์
กราฟิก: Taechita
ข่าวน่าสนใจ:
- "ยักษ์ธุรกิจช่วยตัวเล็ก" กลยุทธ์ฟื้นเศรษฐกิจ ทางรอดปี 2564
- เทรนด์ล้ำอนาคต ท่องเที่ยวผนึกการแพทย์ สู่ Medical & Wellness Hub ของโลก
- ถึงเวลาปฏิวัติ จะเป็น "แรงงาน" คุม "หุ่นยนต์" หรือถูกแทนที่แล้วตกงาน
- "กระตุ้นสวัสดิการสังคม ดูแลสินค้าเกษตร" ทางรอดเศรษฐกิจไทย
- ลงทุนอีอีซี 3 แสนล้าน "สุพัฒนพงษ์" เผยสัญญาณดีเศรษฐกิจไทย