• คุยกับ "แฮม วันวิสข์ เนียมปาน" อดีตผู้แข่งขันรายการแฟนพันธุ์แท้รถไฟไทย จากความรักชอบที่แตกต่างกับคนอื่น แต่กลับโดนบูลลี่  

  • ย้อนประวัติศาสตร์รถไฟไทยในยุคล่าอาณานิคม สู่การพัฒนาชาติให้ศิวิไลซ์

  • ปวดใจรถไฟไทยโดนถากถาง "ไม่พัฒนา" เผยสาเหตุ เพราะการเมืองและทิศทางการพัฒนาประเทศที่เปลี่ยนไป 

“รถไฟคือขนส่งสาธารณะของคนจน..?”
“รถไฟมีตั้งแต่สมัย ร.5 ทำไมถึงไม่พัฒนา”

หลายๆ คำถามมีมากมายในโลกโซเชียลมีเดีย ทั้งคำถามอย่างจริงใจและเป็นห่วง และคำถามที่ใช้แซะ หรือ ถากถาง ก็ถือเป็นเรื่องธรรมดา เพราะขนส่งมวลชนที่เรียกว่า “ม้าเหล็ก” มันเป็นแบบนั้นจริงๆ นี่นา..

ถ้าอยากรู้เรื่องรถไฟ ก็ต้องถามกูรู ซึ่งกูรูรถไฟ ก็ไม่ใช่ใครที่ไหน ก็คือ นายวันวิสข์ เนียมปาน อดีตผู้แข่งขันแฟนพันธุ์แท้ “รถไฟไทย” เมื่อปี 2013 และเจ้าของเพจ ทีมนั่งรถไฟกับนายแฮมมึน

ความรักไร้เหตุผล “รถไฟ” เป็นดั่งคนในครอบครัว

เมื่อสมัยที่เป็นเด็กชายแฮม เขาก็เติบโตมาเหมือนคนทั่วไป ที่แตกต่างคือ เขาชอบที่จะนั่งดูรถไฟวิ่งไปวิ่งมา จนรู้ว่ารถไฟแต่ละวันมีกี่ขบวน ใช้หัวรถจักรแบบไหน และจะวิ่งไปไหน

“เชื่อไหมครับ ผมไม่รู้ว่าผมชอบรถไฟตั้งแต่เมื่อไร รู้ว่าเด็กมาก เท่าที่จำความได้คือประมาณช่วงอนุบาล 2 ตอนเด็กๆ ผมอยู่กับคุณย่า คุณย่าชอบพามาซื้อของที่สถานีรถไฟมักกะสัน ซึ่งเปรียบเสมือนตลาด พ่อค้าแม่ค้าขนของมาทางรถไฟ จาก จ.ปราจีนบุรี คนแถวนั้นเรียกรถไฟขบวนนั้นว่ารถแม่ค้า”

...

นายวันวิสข์ เล่าว่า สิ่งที่ซึมซับมาเรื่อยๆ ไม่รู้ว่าเป็นความหลงรักตั้งแต่เมื่อไร ตอนไหน กระทั่งวันหนึ่งทำให้ “ผมรักมันมากยิ่งขึ้น” และรู้สึกว่า รถไฟเป็นดั่ง “คนในครอบครัว”

แฮม วันวิสข์ เนียมปาน
แฮม วันวิสข์ เนียมปาน

“ทุกๆ ปิดเทอมจะมีโอกาสเดินทางโดยรถไฟเพื่อไปหาคุณยายที่ จ.พิจิตร ความโชคดีคือ บ้านคุณยายก็อยู่ใกล้ทางรถไฟอีกเช่นกัน พูดได้เลยว่า หากบ้านคุณยายไม่ใกล้กับเส้นทางรถไฟ..การเดินทางก็คงจะโคตรน่าเบื่อ (หัวเราะเสียงดัง) เพราะทุกครั้งที่ขึ้นรถไฟ ผมจะรู้สึกมีความสุขมาก ได้นั่งมอง สังเกตขบวนรถวิ่งไปมา ได้เห็นว่ามีรถไฟกี่ตู้ ใช้หัวรถจักรอะไร นี่คือความสนุกของเด็กประถมอย่างผมในเวลานั้น” นายวันวิสข์ รำลึกความหลังอย่างออกรสชาติก่อนอธิบายเสริมว่า..

ความหลงใหลของเขานั้น ไม่ได้มี “จุดเปลี่ยน” ที่พิสดารอะไร แต่อาจจะแตกต่างจากคนอื่นบ้าง ที่บางคนได้เจอรถไฟที่สวยงามมาก “เฮ้ยชอบ หลงรัก” แต่สำหรับเขา คือการได้เจอและซึมซับมาเรื่อยๆ ได้ดู ได้เข้าใกล้แล้วมีความสุข เป็นเหมือนกับคนในครอบครัว

ความรักที่แตกต่าง ทำให้คนอื่นไม่เข้าใจ จนโดนบูลลี่ ชีวิตเสียสูญ

ความรักในเรื่องของ “รถไฟ” ถูกเก็บงำอยู่ในใจเขา มีเพียงคนใกล้ชิดและคนในครอบครัวเท่านั้นที่รู้ว่า เด็กชายแฮม ชื่นชอบอะไร แต่..บางคนที่ไม่ใช่ ไม่ได้รักในตัวแฮม ก็เกิดคำถามที่ทำให้เขาเกือบเสียสูญ และเกือบเสียมันไปตลอดกาล จากคำพูดที่ว่า “เป็นเด็กไม่ปกติ”

“เชื่อไหม..ความลุ่มหลงรถไฟนี้หายไปจากชีวิตช่วงหนึ่ง เพราะมีคนแถวบ้านบูลลี่บอกว่า เป็นเด็กไม่ปกติหรือเปล่า เด็กคนอื่นชอบเตะฟุตบอล หรือเล่นหุ่นยนต์ แต่ผมเฉยๆ กับเรื่องพวกนี้ ผู้หลักผู้ใหญ่บางคนก็อาจพูดไม่คิด จนตัวผมเองเริ่มคล้อยตามไปด้วย หรือเราไม่ปกติวะ เพราะคนรอบข้างเราไม่มีใครชอบรถไฟเลย”

นายวันวิสข์ เล่าด้วยน้ำเสียงจริงจังมาตลอด ก่อนจะเปลี่ยนอารมณ์ด้วยการกล่าวติดตลกว่า นี่เราเหมือน “เอลซ่า” (ตัวการตูนจากภาพยนตร์เรื่อง FROZEN) เลย ที่ต้องปกปิดตัวตนของตัวเอง..เราต้องห้ามบอกคนอื่นด้วยหรือว่าเราชอบอะไร.. หากบอกคนอื่นว่าชอบรถไฟ เราจะกลายเป็นตัวประหลาดหรือ..?

“ความมั่นใจผมหายไปหมด ความชอบของเราถูกเก็บในมุมลึกๆ ว่าเราชอบ มีเพียงคนในบ้านเท่านั้นที่รู้ เวลาไปนั่งรถไฟต้องเก็บความรู้สึก ทำตัวไม่กระโตกกระตาก ทั้งที่ความจริงคือรู้สึกตื่นเต้นมาก มีความสุขมาก แต่แสดงออกไม่ได้ รู้สึกเก็บกดมากในช่วงชีวิตหนึ่ง”

...

จุดเปลี่ยนชีวิตอีกครั้ง เมื่อได้ของขวัญล้ำค่าและการเปิดโลก

แต่..ชีวิตมาเปลี่ยนไปหลังจากนั่งรถไฟไปหายายที่ จ.พิจิตร ในช่วงปิดเทอม ม.3 เพราะเด็กชายแฮม มีโอกาสได้เจอพี่คนหนึ่งที่ทำงานการรถไฟแห่งประเทศไทย

“วันนั้นพอรู้ว่าพี่เขาทำงานรถไฟ ก็อยากคุยกับเขามาก อยากได้ความรู้จากเขา จนพี่คนนี้บอกว่า “เดี๋ยวพี่ส่งหนังสือ “กำหนดการเดินรถ” ของรถไฟ มาให้ จากนั้นไม่กี่วันก็ได้หนังสือเล่มนั้นมาจริงๆ ตรงนี้เองทำให้ความรักและความสนใจของผมกลับมาอีกครั้ง แต่..ที่กลับมาเต็มร้อย เพราะผมได้ดูรายการ “แฟนพันธุ์แท้” เรื่องรถไฟนี่แหละ”

วันนั้นจำได้ว่า กำลังจะเข้านอนแล้ว แต่คุณอามาปลุกถามว่าจะดูไหม รายการแฟนพันธุ์แท้เรื่องรถไฟ จำได้คือ การแข่งขันในปี 2003 ซึ่งวันนั้นแปลกมาก คือ สมาชิกทุกคนในบ้านอยู่กันครบ ระหว่างที่ดู คนในบ้านก็ถาม ตอบได้หรือเปล่า.. “วันนั้นผมตอบได้มากกว่า 70% ของคำถาม”

“จากวันนั้นเป็นต้นมาโลกของรถไฟก็ไม่ใช่โลกที่โดดเดี่ยวของผมคนเดียวอีกแล้ว..ไม่นานนักก็เริ่มมีอินเทอร์เน็ตใช้ เราพยายามเข้าไปฝังตัวในเว็บบอร์ด “ยิ้มสยาม” ซึ่งต่อมาเว็บบอร์ดยิ้มสยามก็วิวัฒนาการเป็น “รถไฟไทยดอทคอม” ตรงนี้เองที่ทำให้รู้สึกว่า “ผมไม่ใช่คนบ้าของโลกใบนี้อีกแล้ว”

รถไฟเล็กจำลอง ชื่อ
รถไฟเล็กจำลอง ชื่อ "วิคตอเรีย"

...

จุดเริ่มต้นของ “รถไฟ” มาจากการเมือง  

ด้วยที่เป็นคนที่รักและศึกษาข้อมูลของ “รถไฟไทย” อย่างจริงจัง นายวันวิสข์ ได้เล่าจุดเริ่มต้นของรถไฟไทย โดยสังเขปว่า รถไฟไทยเริ่มต้นตั้งแต่รัชกาลที่ 4 เซอร์จอห์น เบาว์ริง นำเครื่องราชบรรณาการมาถวาย ซึ่งหนึ่งในนั้นคือ “รถไฟจำลอง” (รถไฟจำลอง นาม “วิคตอเรีย” เมื่อวันที่ 30 มีนาคม 2398 ที่มา สารานุกรมไทยสำหรับเยาวชน) แต่ทางรัชกาลที่ 4 ยังไม่ได้เริ่มต้นอะไรมากมาย ท่านทรงสวรรคตเสียก่อน แต่เมื่อเข้าสู่สมัยรัชกาลที่ 5 ถือเป็นยุคล่าอาณานิคม

จุดเปลี่ยนที่ทำให้ต้องมี “รถไฟ” เพราะการรุกรานของประเทศมหาอำนาจ โดยเฉพาะอังกฤษ โดยเฉพาะฝั่งภาคเหนือและภาคอีสาน ด้วยเหตุนี้ รัชกาลที่ 5 ท่านทรงได้พัฒนาประเทศ และเริ่มต้นก่อสร้างทางรถไฟเพื่อแสดงให้เห็นว่าประเทศสยามนั้นไม่ใช่ธรรมดา ประเทศเรามีความศิวิไลซ์แล้ว

“ผมบอกได้เลยว่า ประเทศไทยมีรถไฟเพราะ “การเมือง” เรื่องนี้ไม่สามารถปฏิเสธ เพราะไม่ว่าที่ไหนในโลก มีรถไฟก็เกิดขึ้นเพราะการเมืองทั้งสิ้น อาทิ ประเทศอังกฤษ มีรถไฟเพราะอยู่ในช่วงปฏิวัติอุตสาหกรรม และรถไฟคือยานพาหนะที่เกี่ยวข้องในการขนส่งทางการทหาร”

ยุครัชกาลที่ 5 ถือเป็นยุคตั้งไข่ของรถไฟ มีทั้งรถไฟที่เป็นของเอกชนและของหลวง แต่ยุคที่รุ่งเรืองที่สุดของรถไฟคือ ยุครัชกาลที่ 6 รถไฟที่วิ่งมายังสายใต้สร้างเสร็จ รถไฟสายเหนือวิ่งได้ถึงลำปาง รถไฟอีสานวิ่งถึงบุรีรัมย์ สุรินทร์

ส่วนยุครัชกาลที่ 7 ใครที่ได้ทำงานรถไฟได้นี่ถือว่าเท่มาก ยิ่งกว่าเป็น “นายแบงก์” เสียอีก เรียกว่าเป็นธุรกิจระดับต้นๆ ของประเทศ สาเหตุเพราะการเดินทางในสมัยก่อนมันยากลำบากมาก เราต้องเดินทางด้วยเรือ เกวียน ซึ่งเมื่อก่อนหากใครจะเดินทางจากกรุงเทพฯ ไปเชียงใหม่ ใช้เวลาเพียง 2 วัน ซึ่งปกติต้องล่องเรือเป็นแรมเดือน

...

“มันเหมือนโลกไร้พรมแดนในอดีต หากเป็นปัจจุบันก็เปรียบเสมือนเครื่องบินที่เดินทางจากกรุงเทพฯ ไปสิงคโปร์ เหมือนใกล้นิดเดียว”

ยุครัชกาลที่ 8 รถไฟเริ่มตกต่ำ กระทั่งกรมรถไฟ ถูกปรับเปลี่ยนเป็น “การรถไฟ” กระทั่งในช่วงต้นสมัยรัชกาลที่ 9 คือ พ.ศ.2494 หลังจากนั้นเป็นต้นมา เส้นชีวิตของรถไฟก็ลุ่มๆ ดอนๆ ทั้งที่ก่อนหน้านั้นหลายสิบปี เส้นทางรถไฟถูกขยายนับร้อยนับพันกิโลเมตร

รถไฟที่ใช้ในกิจการรถไฟเอกชนสายแรกในประเทศไทย (กรุงเทพฯ-ปากน้ำ)
รถไฟที่ใช้ในกิจการรถไฟเอกชนสายแรกในประเทศไทย (กรุงเทพฯ-ปากน้ำ)

ต่อจากนั้น 40 ปีให้หลัง มีการขยายทางรถไฟได้เพียงหลักสิบหรือหลักร้อยกิโลเมตรเท่านั้น ที่เป็นเช่นนี้เพราะ “การเมือง” ผู้บริหารประเทศลดทอนความสำคัญของรถไฟลง โดยมีการเน้นพัฒนาการขนส่งทางถนนมากขึ้น ซึ่งแตกต่างจากสมัยก่อนที่เน้นระบบราง แล้วใช้ถนนเป็นระบบย่อย

แต่เมื่อมีการเปลี่ยนแผนพัฒนาสังคมแห่งชาติ นโยบายมีการเน้นเรื่องการตัดถนนมากขึ้น ใช้ถนนเป็นหลัก รวมถึงการซื้อรถยนต์ได้ง่ายขึ้น

ปวดใจ “รถไฟ” ตกต่ำ ถูกแซะ ถากถาง ชอบได้ยังไง “รถไฟไทย”

อดีตผู้เข้าแข่งขันรายการแฟนพันธุ์แท้ รถไฟไทย ยอมรับว่า 20 ปีหลังมานี้..คนที่จะเดินทางโดยรถไฟเลยกลายเป็นสัญลักษณ์ของคนรายได้น้อย ขณะเดียวกัน หน่วยงานที่เกี่ยวข้องก็กลับไม่ทันโลก ไม่สามารถดึงใจให้คนหันกลับมาใช้ได้ ด้วยหลายเหตุผลประกอบกันทำให้ภาพลักษณ์ของรถไฟตกต่ำลงเรื่อยๆ บวกกับรถไฟเองก็มีปัญหาในตัว เช่น สภาพเก่า เดินรถล่าช้า คนที่ขึ้นมามากหน้าหลายตาจนรู้สึกว่า “ไม่ปลอดภัย” นี่คือปัญหาที่ถูกสะสม เมื่อคนให้การสนับสนุนรถไฟน้อยลง ภาครัฐก็ไม่กล้าลงทุน ทุกอย่างถูกโยงใยกันหมด

“เห็นแบบนี้แล้วก็รู้สึกปวดใจ ในฐานะคนรักรถไฟคนหนึ่ง แถมยังมีคนชอบมาแซะ ชอบไปได้ยังไง รถไฟไทย ทำไมไม่ชอบรถไฟญี่ปุ่นล่ะ หรือประเทศนู้นประเทศนี้ ซึ่งผมโดนบ่อย แต่..ผมก็ขอบคุณเขานะที่มาค่อนขอดเรา เพราะเราจะไปหาคำตอบสิ่งๆ นั้นที่เขาถาม ทำให้เรามีความรู้มากขึ้น”

รถจักรไอน้ำที่เก็บรักษาไว้เพื่อใช้เฉพาะในโอกาสพิเศษ
รถจักรไอน้ำที่เก็บรักษาไว้เพื่อใช้เฉพาะในโอกาสพิเศษ

ต้องเข้าใจ ระบบของ “รถไฟ” ก่อน ถึงจะพัฒนา “รถไฟไทย” ให้เจริญได้ 

เมื่อถามว่า ประเทศไทยจะพัฒนารถไฟได้อย่างไร เจ้าของเพจทีมนั่งรถไฟกับนายแฮมมึน ได้ยกตัวอย่างการพัฒนารถไฟของญี่ปุ่น สิ่งสำคัญคือ ต้องให้ประชาชนของเขารู้จักรถไฟที่แท้จริงก่อน แต่สำหรับบ้านเรา คนที่รู้เรื่องรถไฟจริงๆ มีน้อยมาก “เหมือนรหัสลับคนรู้ใจ” ถ้าเป็นแบบนี้ ชาตินี้ “รถไฟไทย” ก็ไม่พัฒนาไปได้ เพราะแบบนี้ สิ่งที่ผมทำในเวลานี้ คือ เอาข้อมูลของรถไฟไทยมาเล่าให้คนรู้มากที่สุด

คนไทยเข้าใจผิดเกี่ยวกับรถไฟทั่วไปกับรถไฟความเร็วสูงเยอะมาก ถ้าเปรียบเทียบให้เข้าใจง่ายๆ เลยว่า ถ้าเรานั่งรถไฟปู๊นๆ ก็เหมือนกับเราขับรถบน “ทางหลวง” ที่ขับผ่านอำเภอไหนก็สามารถเลี้ยวเข้าไปจอดได้

ส่วนรถไฟความเร็วสูง เปรียบเสมือนทางด่วน ที่มีจุดลงเฉพาะที่ เช่น รถไฟความเร็วสูงไปเชียงใหม่ เรามีทางลงแค่สิบกว่าสถานี แต่..รถไฟปู๊นๆ มีทางลง 122 สถานี จะเห็นว่าการเข้าถึงแตกต่างกัน Backbone (แกนกลางการขนส่ง) ของรถไฟ ใช้สำหรับการเดินทางไกล ส่วนรถไฟความเร็วสูงคือระบบเสริมสำหรับเมืองใหญ่เชื่อมต่อกับเมืองใหญ่ ที่สามารถบรรทุกคนได้สูงมาก

“ยกตัวอย่างเช่น บ้านผมอยู่ อ.ตะพานหิน ตรงนั้นรถไฟความเร็วสูงไม่ผ่าน ถ้าจะเดินทางไปที่นั่น ต้องนั่งรถไฟความเร็วสูงไปลง จ.พิจิตร จากนั้นต่อรถไฟธรรมดาเข้ามา ตรงนี้เองที่เขาเรียกว่า ระบบขนส่งมวลชน”

สิ่งที่ทำให้รถไฟความเร็วสูงไม่สามารถสร้างได้ทันที ส่วนหนึ่งมาจากระบบ Backbone ยังไม่แข็งแรงพอที่จะซัพพอร์ตกับรถไฟความเร็วสูง ถ้าเราสร้างรถไฟความเร็วสูงขึ้นมา ก็อาจจะไม่มีอะไรรองรับต่อ” นายวันวิสข์ กล่าวดั่งคนที่รู้สึกอัดอั้นตันใจ

ก่อนฝากทิ้งท้ายว่า..สิ่งที่จะทำให้รถไฟเจริญเติบโตได้มากกว่านี้ คือ 1.ประชาชนต้องมีความรู้เข้าใจในคอนเซ็ปต์ของรถไฟด้วย รู้วิธีการทำงานร่วมกันได้อย่างไร รวมถึงให้การสนับสนุนรถไฟ แค่คุณเลือกที่จะมานั่งรถไฟ แค่นี้ก็จะทำให้รถไฟเจริญรุ่งเรืองแล้ว แต่กาารแก้ปัญหานี้คือปลายน้ำ

สิ่งที่เป็นต้นน้ำของปัญหา คือ ภาครัฐต้องมีบุคลากรที่มีความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับระบบรางจริงๆ เพื่อจะได้มาวางแผนแม่บท วางนโยบายที่จะทำให้เกิดการพัฒนารถไฟได้อย่างถูกต้อง ถูกทาง และถูกวิธี หากทำทุกอย่างได้ถูกต้องแล้ว ภาคประชาชนก็จะกลับเข้ามาใช้เอง

เพราะทุกวันนี้ไม่เคยมีคำว่า “บูรณาการอย่างแท้จริง” สำหรับการแก้ปัญหาเลย.

ผู้เขียน : อาสาม
กราฟิก : Taechita Vijitgrittapong
ภาพ : วันวิสข์ เนียมปาน และ สารานุกรมไทยสำหรับเยาวชนไทย 

อ่านข่าวที่น่าสนใจ