ธนาคารโลก (World Bank) และกรุงเทพมหานคร เผยแพร่รายงาน “Shaping a Cooler Bangkok: Tackling Urban Heat for a More Livable City” หรือ “พลิกโฉมกรุงเทพฯ ให้เย็นสบาย แก้ปัญหาความร้อนเพื่อมหานครที่น่าอยู่” เปิดเผยถึงวิกฤตการเพิ่มขึ้นของอุณหภูมิ และปรากฏการณ์เกาะความร้อนเขตเมือง (Urban Heat Island: UHI) ที่กำลังกลายเป็นความท้าทายเร่งด่วนของกรุงเทพฯ ส่งผลกระทบสุขภาพประชาชน เศรษฐกิจและโครงสร้างพื้นฐาน รวมถึงเสนอแนวทางและมาตรการในการจัดการ
ข้อมูลบางส่วนจากรายงาน พบว่า ในปี พ.ศ.2503 - 2543 ที่ผ่านมา กรุงเทพฯ มีอุณหภูมิเฉลี่ยรายปีอยู่ที่ 28-30°C โดยมีวันที่อุณหภูมิสูงกว่า 35°C ประมาณ 60 - 100 วันต่อปี แต่คาดว่าภายในสิ้นศตวรรษนี้ อุณหภูมิอาจสูงขึ้น 2.5-4.5 °C ขึ้นอยู่กับสถานการณ์การปล่อยก๊าซเรือนกระจก ถ้าปล่อยในปริมาณปานกลาง อาจมีวันที่อุณหภูมิเกิน 35°C เพิ่มอีก 153 วันต่อปี
สำหรับ ปรากฏการณ์เกาะความร้อนในเมือง (Urban Heat Island: UHI) คือ ปรากฏการณ์ที่พื้นที่เขตเมืองมีอุณหภูมิและมลภาวะสูงกว่าพื้นที่ชนบทโดยรอบ จากการที่พื้นที่เมืองมีจำนวนต้นไม้น้อย มีลักษณะเป็นอาคารสูงและพื้นผิวลาดยางเป็นส่วนใหญ่ ซึ่งจะกักเก็บพลังงานความร้อนเอาไว้จนถึงช่วงเย็น

...
กรุงเทพฯ เขตไหนร้อนสุด?
เมื่อดูค่าเฉลี่ยความรุนแรงของ ปรากฏการณ์เกาะความร้อนเมือง (UHI) จะพบว่า เขตใจกลางเมือง เช่น ปทุมวัน บางรัก ราชเทวี จะมีอุณหภูมิสูงกว่าเขตอื่นๆ เพราะเต็มไปด้วยตึกสูง พื้นผิวลาดยาง ต้นไม้น้อย ทำให้กักเก็บความร้อนไว้มากกว่า ขณะที่เขตรอบนอกทางเหนือและตะวันออก เช่น หนองจอก คลองสามวา บางขุนเทียน ร้อนน้อยกว่า เพราะพื้นที่เปิดโล่ง

ความร้อน “ฆ่าคน” ได้ทั้งทางตรงและทางอ้อม
อุณหภูมิที่สูงขึ้นมีผลอันตรายถึงชีวิตทั้งทางตรงและทางอ้อม โดยก่อให้เกิดความเจ็บป่วย เช่น ทำให้โรคทางเดินหายใจ โรคหัวใจและหลอดเลือดแย่ลง หรือทำให้เสียชีวิตจากการเกิดภาวะลมแดด หรือ Heat Stroke
กลุ่มที่มีความเสี่ยงมาก คือผู้สูงอายุ มากกว่า 65 ปี ซึ่งมีจำนวนประมาณ 1 ล้านคน หรือ 9.3% ของประชากรในกรุงเทพ และเด็กอายุต่ำกว่า 15 ปี ที่มีจำนวนราว 8.8 แสนคน คิดเป็น 8.2% ของประชากรในกรุงเทพ นอกจากนี้ประชาชนที่เป็นกลุ่มเปราะบางรายได้น้อย อาศัยอยู่ในชุมชนแออัด บ้านที่ระบายอากาศได้ไม่ดี ไม่มีระบบทำความเย็นและพื้นที่สีเขียว จะยิ่งเผชิญกับความร้อนที่สูงกว่า และปรับตัวได้น้อยกว่า
ในปี 2562 ความร้อนเขตเมือง เป็นสาเหตุของการเสียชีวิตราว 421-1,174 คน ถ้าร้อนขึ้นอีกแค่ 1°C ยอดผู้เสียชีวิตจากสาเหตุที่เกี่ยวข้องกับความร้อน อาจพุ่งถึง 2,333 คนต่อปี และหากร้อนขึ้นถึง 2°C ยอดผู้เสียชีวิตอาจมากถึง 2,363 - 3,814 คนต่อปีได้

ความร้อน กระทบเศรษฐกิจ
ความร้อนที่เพิ่มขึ้นยังมีผลกระทบต่อเศรษฐกิจโดยการกระทบต่อประสิทธิภาพในการทำงานของแรงงาน
ในปี 2562 พบว่ามีคนราว 1.3 ล้านคนในกรุงเทพฯ ที่ต้องทำงานกลางแจ้งอย่างน้อย 1 วันต่อสัปดาห์ หากอุณหภูมิร้อนขึ้น 1°C จะทำให้ประสิทธิภาพการทำงานลดลง 3.3-3.4% หรือคิดเป็นค่าจ้างที่หายไปกว่า 44,000 ล้านบาทต่อปี กลุ่มอาชีพที่ได้รับผลกระทบมากที่สุด เช่น คนงานก่อสร้าง หาบเร่แผงลอย วินจักรยานยนต์ ที่ความร้อนจะทำให้เสียสมาธิและลดประสิทธิภาพการทำงานลงได้
นอกจากนี้หากอุณหภูมิร้อนขึ้น 1°C จะทำให้ความต้องการใช้เครื่องปรับอากาศเพิ่มขึ้นอย่างมาก ทำให้ระบบไฟฟ้าของกรุงเทพฯ ต้องรับภาระหนัก และอาจทำให้ค่าไฟเพิ่มขึ้นถึง 17,000 ล้านบาทต่อปี แต่ละครัวเรือนต้องจ่ายค่าไฟเพิ่ม 400-450 บาทต่อเดือน ขณะเดียวกันการใช้พลังงานที่มากขึ้นนี้จะทำให้เกิดก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ (CO2) เพิ่มขึ้นด้วย ยิ่งทำให้ปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศเลวร้ายขึ้นอีก
...
ความร้อนที่รุนแรงยังส่งผลกระทบต่อโครงสร้างพื้นฐาน เช่น ถนน ทำให้ต้องซ่อมแซมบ่อยขึ้น เกิดภาระทางเศรษฐกิจเพิ่มขึ้นด้วย

อ่าน รายงานฉบับเต็ม
ขอบคุณ : ธนาคารโลก, กรุงเทพมหานคร