เด็กหายเพิ่มขึ้นในรอบ 6 ปี มูลนิธิกระจกเงา พบต้นเหตุสมัครใจหนีออกจากบ้าน รองลงมาพิการสติปัญญา-ป่วยจิตเวช อายุต่ำสุด 7 ขวบ ที่น่ากังวลคือ มีเยาวชนถูกหลอกไปทำงานคอลเซ็นเตอร์ ริมชายแดน อายุต่ำสุด 14 ปี ครอบครัวจำยอมส่งเงินไปไถ่ตัวกลับไทย

เอกลักษณ์ หลุ่มชมแข หัวหน้าศูนย์ข้อมูลคนหาย มูลนิธิกระจกเงา ระบุถึงสถิติรับแจ้งเด็กหาย ของมูลนิธิกระจกเงา ปี 2567 รวมทั้งสิ้น 314 ราย เพิ่มสูงรอบ 6 ปี โดยสูงกว่าปี 2566 ถึง 6% สาเหตุหลักกว่า 72% หรือ 227 ราย คือเด็กสมัครใจหนีออกจากบ้าน

เด็กอายุน้อยที่สุดที่หนีออกจากบ้านมีอายุ 7 ขวบ รองลงมาคือ กลุ่มเด็กที่มีพัฒนาการช้า มีความพิการทางสติปัญญา หรือป่วยทางจิตเวช สูญหายกว่า 9% หรือ 29 ราย และมีเด็กถูกลักพาตัว 5 รายในปีที่ผ่านมา

ส่วนเฉลี่ยอายุของเด็กหายออกจากบ้าน มากสุดอายุ 11-15 ปี รวม 171 ราย รองลงมาอายุ 16-18 ปี รวม 103 ราย และช่วงแรกเกิดถึงสิบขวบ รวม 40 ราย

น่าสนใจว่า ปลายปี 2566-2567 ที่ผ่านมา มีเด็กและเยาวชนถูกชักชวน หลงเชื่อ และถูกหลอกไปทำงานแก๊งคอลเซ็นเตอร์ ในพื้นที่ชายแดนประเทศเพื่อนบ้าน กว่า 11 ราย อายุน้อยสุดที่ถูกหลอกไปทำงานมีอายุเพียง 14 ปี ลักษณะล่อลวงชักชวนไปทำงาน ส่วนใหญ่หลงเชื่อคำเชิญชวนในโลกออนไลน์ ลักษณะประกาศรับสมัครงานแอดมินเว็บไซต์ รายได้ดี หลังพบว่าถูกหลอกไปทำงานแก๊งคอลเซ็นเตอร์ จนบางรายติดต่อให้ครอบครัวส่งเงินไถ่ตัวกลับบ้าน

...

เก็บพันธุกรรม ช่วยตรวจหาเด็กหาย

พลตำรวจตรีสุพิไชย ลิ่มศิวะวงศ์ ผู้บังคับการสถาบันนิติเวชวิทยา โรงพยาบาลตำรวจ กล่าวถึงโครงการดีเอ็นเอโปรคิดส์ว่า สถาบันนิติเวชวิทยาเป็นศูนย์ตรวจสารพันธุกรรมเพื่อต่อต้านการค้ามนุษย์ในเด็ก โดยการช่วยเหลือเหยื่อค้ามนุษย์ในเด็กให้กลับคืนสู่ครอบครัวที่แท้จริง

โครงการดีเอ็นเอโปรคิดส์เป็นโครงการระหว่างประเทศเพื่อการต่อต้านการค้ามนุษย์ การเก็บสารพันธุกรรมของพ่อแม่เด็กที่อาจถูกลักพาตัวหรือล่อลวงไป โดยที่พ่อแม่แจ้งความกับพนักงานสอบสวนว่าบุตรหาย ถ้าพนักงานสอบสวนทำหนังสือส่งตัวมาก็จะตรวจสารพันธุกรรมของพ่อแม่แล้วเก็บข้อมูลสารพันธุกรรมไว้ใน “ระบบฐานข้อมูลดีเอ็นเอสถาบันนิติเวชวิทยา”

ต่อมาเมื่อมีการพบเด็กที่ไม่อาจระบุตัวบุคคลได้ ซึ่งสงสัยว่าถูกลักพาตัวหรือถูกล่อลวงไป จะทำการตรวจสารพันธุกรรมของเด็ก และบันทึกข้อมูลสารพันธุกรรมลงไปตรวจสอบใน “ระบบฐานข้อมูลดีเอ็นเอสถาบันนิติเวชวิทยา” ซึ่งโปรแกรมตรวจสอบจะประมวลผลว่าตรงกับสารพันธุกรรมของพ่อแม่เด็กที่เก็บไว้ในระบบหรือไม่ หากพบจะรายงานผลว่าเป็นสายสัมพันธ์ผู้ใด หากยังไม่พบก็จะยังเก็บไว้ในระบบฐานข้อมูลเพื่อรอให้โปรแกรมตรวจสอบเปรียบเทียบกับข้อมูลที่อาจมีการแจ้งเพิ่มเติมเข้ามาในภายหลัง

การเก็บตัวอย่างดีเอ็นเอของพ่อแม่จะเป็นประโยชน์ต่อการตามหาเด็กหาย หรือเด็กที่อาจตกเป็นเหยื่อค้ามนุษย์ จึงกลายเป็นอีกความหวังที่จะช่วยเหลือเด็กที่สูญหายออกจากบ้าน สำหรับพ่อแม่ที่ลูกหาย สามารถติดต่อหน่วยงานภาคประชาสังคม เช่น มูลนิธิกระจกเงา ในการประสานงานกับพนักงานสอบสวน เพื่อทำเรื่องส่งตัวพ่อแม่เด็กมาตรวจดีเอ็นเอที่สถาบันนิติเวชวิทยา โรงพยาบาลตำรวจ เพื่อมาเก็บข้อมูลสารพันธุกรรมไว้ใน “ระบบฐานข้อมูลดีเอ็นเอสถาบันนิติเวช” ต่อไป

พล.ต.ต.สุพิไชย กล่าวทิ้งท้ายกับผู้ปกครองถึงเรื่องแนวทางการป้องกันเด็กสูญหายว่า 1. ผู้ปกครองต้องจดจำรูปพรรณของลูก ส่วนสูง น้ำหนัก ตำหนิ สีเสื้อผ้า 2. ให้ถ่ายรูปล่าสุดพร้อมชุดที่สวมใส่ของลูกก่อนออกจากบ้าน 3. ทำป้ายชื่อ เบอร์ติดต่อครอบครัวติดตัวเด็กไว้ 4. สอนลูก หากพลัดหลง นัดเจอกันจุดไหน ให้ใครช่วยเหลือ 5. สอนลูก หากตกอยู่ในอันตราย มีคนจูงมือไป พร้อมตะโกนให้คนช่วย

หากเกิดการสูญหาย หากค้นหาในบริเวณงานแล้วยังไม่พบตัว ให้โทรแจ้ง 191 หรือแจ้งความเด็กหายได้ทันทีโดยไม่ต้องรอครบ 24 ชม.
วันนี้ (10 ม.ค. 68) มูลนิธิกระจกเงาได้พามารดาของเด็กหายจำนวน 3 ราย ที่หายตัวไปนานหลายปี มาเก็บสารพันธุกรรมในโครงการดีเอ็นเอโปรคิดส์ เพื่อเป็นความหวังในการตามหาลูก โดยทั้ง 3 ครอบครัวประกอบด้วย มารดาของน้องจีจี้ หรือเด็กหญิงจีรภัทร ทองชุม หายตัวไปนาน 15 ปี มารดาของน้องดา หรือเด็กหญิงพัทธวรรณ อินทร์สุข หายตัวไป 11 ปี และมารดาของน้องอัษ เด็กชายเทอญพงษ์ หายตัวไปนาน 6 ปี.

...