ตอบกระแสโลกออนไลน์ กรณีข้อกังวล "กยศ.จะล่มภายใน 3 เดือน" ผู้จัดการกองทุนฯ ยืนยันเป็นเพียงข่าวลือ! ขณะนี้พยายามให้ผู้กู้มาปรับโครงสร้างหนี้ เพื่อประโยชน์ของตัวเอง ด้านแนวทางนำ กยศ. เข้าระบบเครดิตบูโร ยังต้องผ่านการศึกษาไม่ให้กระทบกับลูกหนี้
กยศ. ถังแตก เสี่ยงล่มภายใน 3 เดือน?
กองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา หรือ กยศ. เป็นกองทุนหมุนเวียนที่มุ่งสร้างโอกาสทางการศึกษาให้นักเรียนและนักศึกษา โดยสนับสนุนค่าเล่าเรียน ค่าใช้จ่ายที่เกี่ยวเนื่องกับการศึกษา รวมไปถึงค่าครองชีพ โดยกองทุนฯ จะไม่คิดดอกเบี้ยระหว่างกำลังศึกษาอยู่ แต่กำหนดให้ผู้กู้ชำระหนี้หลังจบการศึกษาและมีงานทำแล้ว หลังจากนั้นกองทุนจะนำเงินไปหมุนต่อ เพื่อปล่อยกู้ให้ผู้กู้รุ่นต่อไป
แต่แล้วกองทุนฯ ที่เป็นที่พึ่งของเยาวชนคนไทยมาเกือบ 3 ทศวรรษ ช่วงนี้กลับมีกระแสข่าวในโลกออนไลน์ว่า กำลังจะถังแตก! และเสี่ยงกองทุนล่มภายใน 3 เดือน! นำมาซึ่งการตั้งคำถามจากคนในสังคมว่าเป็นเรื่องจริงหรือไม่ เพราะ กยศ. เปรียบเสมือนพื้นที่แห่งโอกาสของเด็กไทย ถ้าต้องหายไปคงเป็นเรื่องที่น่าเสียดาย
...
ก่อนที่เราจะไปค้นหาคำตอบว่า 'ล่ม' หรือ 'ไม่ล่ม' ทีมข่าวฯ ขอพาคุณผู้อ่านแวะส่องสถานะ กยศ. กันก่อนดีกว่า!
ภาพรวมสถานะการดำเนินงานของ กยศ. ณ 30 กันยายน 2567 พบว่า มีผู้กู้ยืมทั่วประเทศจำนวนทั้งสิ้น 7,112,733 ราย คิดเป็นเงินให้กู้ยืม 784,732 ล้านบาท โดยแบ่งสถานะผู้กู้ยืมเป็นทั้งหมด 4 กลุ่ม ดังนี้
กลุ่มที่ 1 - อยู่ในช่วงกำลังศึกษา/ปลอดหนี้ 1,492,743 ราย
กลุ่มที่ 2 - ชำระหนี้สำเร็จ 1,931,321 ราย
กลุ่มที่ 3 - อยู่ระหว่างชำระหนี้ 3,614,915 ราย
กลุ่มที่ 4 - เสียชีวิต/ทุพพลภาพ 73,754 ราย
อ้างอิงข้อมูล ณ 30 ก.ย. 2566 จากเอกสารประกอบการชี้แจงงบประมาณของ กยศ. ที่เสนอต่อกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปี พ.ศ. 2568 พบว่า ผลการชำระหนี้ กยศ. ระหว่างปี 2562 - 2566 มีดังนี้ ปี 2562 จำนวน 30,960 ล้านบาท, ปี 2563 จำนวน 27,647 ล้านบาท, ปี 2564 จำนวน 32,066 ล้านบาท, ปี 2565 จำนวน 28,490 ล้านบาท และ ปี 2566 จำนวน 26,840 ล้านบาท
ยัน กยศ. ยังไม่ล่ม :
กลับไปที่ประเด็นข้างต้นที่สังคมกำลังสงสัยและสนใจ…
'ดร.นันทวัน วงศ์ขจรกิตติ' ผู้จัดการกองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา ให้สัมภาษณ์กับทีมข่าวฯ ไทยรัฐออนไลน์ว่า เรื่อง กยศ. จะล่มภายใน 3 เดือนเป็นเพียงข่าวลือ ในความเป็นจริง กยศ. ยังปล่อยกู้ตามปกติ มีการบริหารที่ปกติ ทุกอย่างยังคงทำงานเหมือนเดิม มีการประชุมกับสถานศึกษาอย่างต่อเนื่อง จะมีเพิ่มเติมก็เรื่องการปรับโครงสร้างหนี้
"ข่าวลือเรื่อง กยศ. ล่มมีมาโดยตลอด แต่ที่จริงแล้วเรามี income (รายได้) จากการชำระหนี้เข้ามาทุกเดือน และมีการปล่อยกู้ออกไปทุกเดือนเช่นเดียวกัน อาจจะมีทั้งบวกและลบ แต่ยังไม่ถึงกับกระแสข่าวที่ออกไป"
"กยศ.จะไม่ล่มภายใน 3 เดือน ตามที่เป็นข่าวแน่นอนใช่ไหมครับ" ทีมข่าวฯ ถามย้ำ
"แน่นอนค่ะ" ดร.นันทวัน ตอบกลับ พร้อมเสริมว่า กยศ.เป็นองค์กรที่มีมาตั้งแต่ปี 2539 มีจำนวนผู้กู้หลักล้านคน คงปล่อยให้ล่มสลายไม่ได้แน่ และในความเป็นจริงคงเป็นไปไม่ได้
เมื่อถามต่อว่า แล้วการยื่นของบประมาณจำนวนมหาศาลนั้น เกี่ยวข้องกับกระแสข่าวกองทุนล่มหรือไม่ ผู้จัดการ กยศ. ระบุว่า เรายื่นของบประมาณปี 2568 ได้มา 4 พันกว่าล้านบาท ตรงนี้ยังคงพอในการดำเนินงาน กยศ. เหมือนหน่วยงานราชการทั่วไป เมื่อถึงเวลาของบประมาณก็เป็นช่วงที่ต้องขอ เพื่อให้การดำเนินการปล่อยกู้เพียงพอกับความต้องการ
...
เสนอเข้าระบบเครดิตบูโร :
จากที่มีข้อเสนอให้ กยศ. ส่งข้อมูลการชำระหนี้เข้าระบบเครดิตบูโร ซึ่งเป็นเหมือนการบังคับอีกทางหนึ่ง เพื่อให้ลูกหนี้ชำระหนี้ตรงเวลา จะได้ไม่ให้เกิดประวัติเสียนั้น ดร.นันทวัน กล่าวว่า เรื่องนี้เป็นสิ่งที่หลายคนให้ความคิดเห็นมาเช่นกัน ต่อการดำเนินงานของ กยศ.
"แต่ในความเป็นจริงแล้วก็มีมุมมองหนึ่งที่น่ามอง อย่างตัวเราเองเป็นเด็ก กยศ. มาก่อน เป็น Student loan อยู่ต่างประเทศ เราเคยคิดว่าทำไมเขาต้องเอาเข้าเครดิตบูโรที่อเมริกา เพราะทำให้เครดิตของเพื่อนหลายคนเสียไปด้วย เนื่องจากบางคนอาจจะไม่เข้าใจข้อมูลทั้งหมด หรือผู้กู้อาจจะไม่รู้จริง ๆ ว่าสิ่งเหล่านี้ส่งผลต่ออนาคตได้"
"ดังนั้น ในวันนี้ กยศ. ไม่อยากทำถึงขนาดนั้น แต่จะหาวิธีการอย่างละมุนละม่อม ให้ผู้กู้มีความรู้และตระหนักมากขึ้น แล้วต้องถามต่อไปว่าการที่เราเข้าเครดิตบูโร สุดท้ายแล้วผู้กู้ไม่ได้อะไร ถ้าเป็นผู้กู้ชั้นดี เข้าไปแล้วเขาได้แน่นอน ผู้กู้ชั้นปกติเขาไม่ได้อะไร เรื่องนี้จึงต้องมาชั่งน้ำหนักกัน"
"เราไม่ได้บอกว่าเราจะไม่ทำอะไรเลย เพราะเรื่องนี้ยังอยู่ในวิสัยทัศน์ที่ กยศ. จะไปคุยกับเครดิตบูโรว่ามีตัวเลือกที่น่าสนใจไหม หรือมีข้อเสนอใดที่เราสามารถทำได้หรือเปล่า เรื่องนี้ต้องมีการศึกษาร่วมกันต่อไป เพื่อผลประโยชน์ของผู้กู้ เราไม่อยากให้ผู้กู้มีเครดิตเสียตั้งแต่อายุ 20 ต้นๆ แต่ขอยืนยันว่าเราไม่ได้นิ่งเฉย"
...
การปรับโครงสร้างหนี้ :
ดร.นันทวัน เผยว่า พ.ร.บ. ใหม่ที่เกิดขึ้น เพราะเราพยายามให้ผู้กู้เข้ามาปรับโครงสร้างหนี้ให้มากที่สุด ถ้าผู้กู้กลับเข้าระบบเขาจะได้ประโยชน์ และสามารถผ่อนชำระแต่ละเดือนได้ ในอดีตเคยเป็นการชำระรายปีซึ่งผู้กู้อาจจะลืมชำระ แต่ถ้าปรับโครงสร้างหนี้สัญญาใหม่จะเป็นรายเดือน การจัดการของผู้กู้น่าจะดีขึ้น
"รูปแบบของ พ.ร.บ. ใหม่ เราจะตัดเงินต้นที่ค้างชำระในเดือนนั้น ก่อนจะไปตัดดอกเบี้ย หลังจากนั้นจึงไปตัดเบี้ยปรับ ต่างจากอดีตที่เราตัดเบี้ยปรับก่อน ถ้าไม่พอก็ยังค้างไว้ หากพอก็มาตัดเบี้ยปรับ แล้วถึงจะไปตัดดอกเบี้ย และต่อด้วยการตัดเงินต้น"
ผู้จัดการ กยศ. เสริมว่า จุดนี้เองที่เราพยายามช่วยเหลือผู้กู้ สมัยก่อนถ้าผู้กู้มีค้างชำระเบี้ยปรับเยอะ กลายเป็นว่าเขาจ่ายไม่เคยถึงเงินต้น ส่งผลให้เงินต้นก็ไม่เคยลด แต่วันนี้ พ.ร.บ. เอื้อให้ผู้กู้มากยิ่งขึ้น ให้หนี้หมดไวโดยการตัดเงินต้นก่อน
"อยากให้ผู้กู้กลับเข้ามาปรับโครงสร้างหนี้ ที่สำคัญคือเราอยากปล่อยกู้ให้มีคุณภาพมากยิ่งขึ้นเรื่อย ๆ ผู้กู้ที่ขาดแคลนจริง ๆ เรายังคงอยู่เคียงข้างทุกคนอยู่แล้ว การที่ กยศ. เกิดขึ้นมา ก็เป็นการให้โอกาสกับประชาชนคนไทยทุกคน อยากเรียนต้องได้เรียนและต้องมีงานทำ"
...
มาถึงตรงนี้เราขอแวะขยายความเรื่อง พ.ร.บ. ที่ ดร.นันทวัน พูดถึงกันสักนิด!
สิ่งที่ผู้จัดการ กยศ. กล่าวถึง คือ การปรับโครงสร้างหนี้ตามพระราชบัญญัติกองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา พ.ศ. 2560 และที่แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2566 โดยทางกองทุนฯ เริ่มทำสัญญาปรับโครงสร้างหนี้ เพื่อช่วยเหลือและแบ่งเบาภาระผู้กู้ยืมที่อยู่ระหว่างการชำระเงินคืน โดยมีเงื่อนไข ดังนี้
- ผู้กู้ยืมที่อยู่ระหว่างการชำระหนี้มีสิทธิ์ทำสัญญาปรับโครงสร้างหนี้ทุกราย
- สัญญาปรับโครงสร้างหนี้กำหนดให้ผู้กู้ยืมผ่อนชำระเงินคืน กยศ. เป็นรายเดือนในอัตราเท่ากันทุกเดือน
- ผู้กู้ยืมต้องชำระภายในวันที่ 5 ของทุกเดือน ให้เสร็จสิ้นภายใน 15 ปี
- ในการชำระเงินงวดสุดท้าย ผู้กู้ยืมต้องมีอายุไม่เกิน 65 ปีบริบูรณ์
- เมื่อชำระหนี้งวดสุดท้ายเสร็จสิ้น จะได้ส่วนลดเบี้ยปรับเดิมที่ตั้งพักไว้ทั้งหมด 100%
- ปลดภาระผู้ค้ำประกันทันทีหลังจากทำสัญญาปรับโครงสร้างหนี้
อย่างไรก็ตาม สามารถศึกษาข้อมูลและรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่เว็บไซต์ กยศ. www.studentloan.or.th