เตรียมปลดล็อก "เหี้ย" และ "นกแอ่น" ให้ประชาชนเพาะเลี้ยงขาย-เก็บรังได้ หวังเป็นประโยชน์ต่อเศรษฐกิจ และรักษาสมดุลของธรรมชาติ
4 พฤศจิกายน 2567 เวลาประมาณ 13.30 น. ณ ห้องประชุมชั้น 20 กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ได้มีการประชุมคณะกรรมการสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า ครั้งที่ 2/2567 ซึ่งมีประเด็นสำคัญที่เกี่ยวข้องกับกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช นั่นก็คือการพิจารณาร่างประกาศกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม 2 ฉบับสำคัญ ได้แก่
1. การกำหนดให้ตัวเงินตัวทองเป็นสัตว์ป่าชนิดที่เพาะพันธุ์ได้
2. การกำหนดชนิดสัตว์ป่าคุ้มครองที่อนุญาตให้เก็บ ทำอันตราย หรือมีไว้ในครอบครองซึ่งรังนกแอ่นได้
จากเดิมสัตว์ป่าคุ้มครองที่เพาะพันธุ์ได้มีทั้งหมด 62 ชนิด จะมีการเพิ่มตัวเงินตัวทอง (Varanus salvator) หรือ ตัวเหี้ย เข้าไปในรายการเป็นชนิดที่ 63 เนื่องจากพบว่าในปัจจุบันมีการเลี้ยงเหี้ยเพื่อความสวยงาม หนังมีลายละเอียด นุ่ม เหนียว ทนทาน มีการใช้ประโยชน์ในผลิตภัณฑ์เครื่องหนังอย่างกว้างขวาง ถือเป็นสัตว์ที่มีศักยภาพในการใช้ประโยชน์ทางเศรษฐกิจ สามารถผลักดันให้เป็นสัตว์เศรษฐกิจได้ในอนาคต
...
โดยเมื่อประกาศแล้ว ผู้ที่สนใจประกอบกิจการเพาะพันธุ์ สามารถขออนุญาตเพาะเหี้ยได้ นอกจากนั้น ทางมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ได้มีโครงการศึกษาวิจัยการเลี้ยง และใช้ประโยชน์จากตัวเงินตัวทองเตรียมไว้ระดับหนึ่งแล้ว
สำหรับนกแอ่น ในร่างประกาศฯ นั้นมีการกำหนดชนิดสัตว์ป่าคุ้มครอง 2 ชนิด ได้แก่ นกแอ่นกินรัง (Aerodramus fuciphagus หรือ Aerodramus germani) และนกแอ่นหางสี่เหลี่ยม หรือ นกแอ่นรังดำ (Aerodramus maximus)
โดยจะมีการอนุญาตให้เก็บ ทำอันตราย หรือมีไว้ครอบครองซึ่งรังได้ เหตุนี้ก็เพื่อตอบสนองความต้องการของประชาชน ในการใช้ประโยชน์จากรังนกแอ่นอย่างถูกกฎหมาย และจะนำไปสู่การกำหนดหลักเกณฑ์ในกฎหมายอื่นที่เกี่ยวข้อง เช่น กฎหมายด้านอาคาร กฎหมายด้านสาธารณสุข เป็นต้น
ร่างประกาศทั้งสองฉบับนั้น ผ่านขั้นตอนพิจารณาตามกฎหมายของกรมอุทยานฯ และคณะอนุกรรมการสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่าเรียบร้อยแล้ว โดยคณะกรรมการวิสามัญได้เห็นชอบทั้งสองส่วนของร่างประกาศฯ เนื่องจากเห็นว่าการใช้หลักฐานและใบอนุญาต จะช่วยให้ผู้ประกอบการยื่นขออนุญาตง่ายขึ้น และฝ่ายกฎหมายได้คลายข้อกังวลในเรื่องที่อาจจะมีผลกระทบต่อชุมชนและสิ่งแวดล้อม
ซึ่งการออกประกาศทั้งสองฉบับนี้ จะเป็นประโยชน์ต่อการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศ ขณะเดียวกันก็ยังคงรักษาสมดุลของการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ โดยกรมอุทยานฯ จะดำเนินการศึกษาติดตามผลอย่างต่อเนื่องเพื่อให้เกิดการใช้ประโยชน์อย่างยั่งยืน ส่วนรายละเอียดของพื้นที่เลี้ยงเหี้ยและนกนางแอ่นกินรัง กรมอุทยานฯ จะดำเนินการให้แล้วเสร็จภายใน 3-6 เดือน