เปิดรายได้ “ไรเดอร์” ปี 2567 เป็นอาชีพคุ้มค่าต่อความเสี่ยงรายวันหรือไม่? แม้มีการเรียกร้อง ถึงรายได้การวิ่งงานที่ลดลง สวัสดิภาพด้านแรงงาน แต่หน่วยงานเกี่ยวข้องยังไม่มีนโยบายช่วยเหลือชัดเจน “เครือข่ายสหภาพไรเดอร์” มองว่า การพ่วงงานของแอปพลิเคชัน ทำให้ต้องวิ่งงานแข่งกับเวลามากขึ้น เฉลี่ยต้องวิ่งงานเกิน 8 ชั่วโมง เพื่อให้มีรายได้ประมาณ 1,000 บาท/วัน ตัวอย่าง ประเทศสเปน มีหน่วยงานกลางเข้าถึง “อัลกอริทึม” ให้จ่ายงานเป็นธรรม ไม่กดขี่คนทำงาน

อนุกูล ราชกุณา ผู้ประสานงานเครือข่ายสหภาพไรเดอร์ กล่าวว่า อาชีพไรเดอร์ในช่วงสถานการณ์โควิดที่ผ่านมา ถือเป็นอาชีพที่สร้างรายได้ให้กับหลายคน แต่พอนานเข้าผู้ประกอบการแอปพลิเคชัน มีการปรับเปลี่ยนการจ่ายงาน และค่าจัดส่งในแต่ละรอบ จนทำให้ไรเดอร์หลายคนต้องไปหางานอื่นทำแทน เนื่องจากไม่คุ้มกับความเสี่ยงที่เกิดขึ้น

เมื่อถามถึงต้นทุนและรายได้ในการทำอาชีพไรเดอร์ ภาพรวมของปี พ.ศ.2567 “อนุกูล” ได้ทำการเก็บรวบรวมข้อมูล จากไรเดอร์ที่ให้บริการในแอปพลิเคชันต่างๆ ดังนี้

...

ต้นทุนค่าแรกเข้า สมัครทำงานไรเดอร์

ต้นทุนค่าสมัครแรกเข้าในแต่ละแพลตฟอร์ม จะแตกต่างกัน แต่มีค่าใช้จ่ายในการซื้อกระเป๋า ค่าเสื้อ ประมาณไม่เกิน 2,000 บาท ซึ่งไม่รวมกับค่าหมวกกันน็อกที่ไรเดอร์แต่ละคนให้ความสำคัญไม่เท่ากัน โดยไรเดอร์บางคนใช้หมวกแถมมากับรถ แต่บางคนลงทุนซื้อหมวกแบบเต็มใบ ที่มีราคาสูง ประมาณ 2,000 บาท เพราะคำนึงถึงความปลอดภัย ดังนั้นถ้ารวมทั้งหมด อยู่ที่ประมาณ 4,000 บาท

ค่าน้ำมันต่อวัน และรายได้วิ่งงานต่อวันอัปเดตปี 67

ค่าน้ำมันที่ใช้เฉลี่ยต่อวัน 200-400 บาท ขึ้นอยู่กับชั่วโมงการทำงาน ถ้าวิ่งงานเกินกว่า 8 ชั่วโมง จะมีต้นทุนมากกว่านี้

ตอนนี้ เฉลี่ยต้องทำงานวันละ 8 ชั่วโมงขึ้นไปถึงจะคุ้มค่า ไรเดอร์ต้องวิ่งงานมากกว่า 30 งาน ถึงได้ค่าตอบแทนที่สามารถเลี้ยงดูตัวเองได้ หากวิ่งงานในตัวเมืองเช่น กรุงเทพฯ ก็ประมาณ 1,000 บาท ถ้าในต่างจังหวัด ได้วันละ 500 บาท ถือว่าคุ้มค่า

แข่งกับเวลา จ่ายงานพ่วง ทำให้รายได้ลด

ไรเดอร์วิ่ง 1 งานใช้เวลาต่างกันมาก ขึ้นอยู่กับสินค้าที่ขนส่งว่าเป็นประเภทไหน ถ้าเป็นเค้ก จะขนส่งยาก แต่ได้ค่าแรงเท่าเดิม หากเป็นร้านค้าที่ทำอาหารนาน ยิ่งเพิ่มเวลาในการรอมากขึ้น ประกอบกับตอนนี้ไรเดอร์ ถูกบริษัทยัดงานพ่วงทำให้เพิ่มเวลาในการทำงานในบางครั้งถึง 1 ชั่วโมง เพราะเวลาลูกค้าสั่งอาหาร แพลตฟอร์มจะดองงานไว้รองานพ่วงให้ไรเดอร์ โดยไม่ได้จ่ายงานให้ไรเดอร์ที่อยู่บริเวณนั้นทันที

จากประสบการณ์ส่วนตัว เคยลองสั่งอาหารผ่านแพลตฟอร์ม สิ่งที่เกิดขึ้นคือ รออาหารนานมาก สั่งอาหารตอน บ่ายโมงครึ่งกว่าจะได้รับอาหารประมาณบ่ายสองครึ่ง ซึ่งนานมาก เลยลองถามไรเดอร์ที่มาส่งอาหาร คำตอบคือ ไรเดอร์ถูกยัดงานพ่วง 3 งาน ทำให้การส่งล่าช้า และไรเดอร์ต้องแบกรับหน้าแทนบริษัทกรณีถูกลูกค้าด่า

การวิ่งงานในช่วงนี้ ไม่มีงานไหนคุ้มค่า เพราะไรเดอร์ถูกบริษัทลดค่ารอบ และเล่ห์กลของบริษัทแพลตฟอร์มคือ การยัดงานพ่วงเพื่อลดค่ารอบไรเดอร์อีกรอบ จากปกติค่ารอบ 40 บาท แพลตฟอร์ม ยัดงานซ้อนให้ไรเดอร์และจ่ายค่ารอบที่เหลือในราคาที่ถูกลงกว่าเดิม ถ้าไรเดอร์ปฏิเสธงานพ่วงจะถูกลดดาว ทำให้การมองเห็นงานลดน้อยลง ส่งผลโดยตรงต่อไรเดอร์

อัลกอริทึม ส่งผลต่อการกระจายงานไรเดอร์ไม่เป็นธรรม

“อัลกอริทึม” คือตัวแปรสำคัญที่ทำให้บริษัทแพลตฟอร์มสามารถควบคุมไรเดอร์ได้อย่างเบ็ดเสร็จ ทั้งข้อมูลไรเดอร์ ตำแหน่ง สิ่งเหล่านี้เป็นข้อมูลสำคัญในการกำหนดชีวิตและค่าตอบแทนไรเดอร์ เพราะไรเดอร์หลายคนได้รับการกระจายที่ไม่เป็นธรรม ซึ่งเป็นการเลือกปฏิบัติต่อไรเดอร์ และอัลกอริทึม ยังส่งผลต่อเรื่องต่างๆ เช่น รายได้ การมองเห็นงาน ตัวอย่างในต่างประเทศเช่น สเปน มีการออกกฎหมายให้บริษัทแพลตฟอร์มต้องเปิดเผย “อัลกอริทึม” ให้คณะกรรมการตรวจสอบ เพราะเงื่อนไขเหล่านี้ เอื้อต่อการเลือกปฏิบัติกับไรเดอร์

...

ไรเดอร์ ทางออกของอาชีพ ที่ภาครัฐยังไปไม่ถึง

ข้อเสนอแนะ การจ้างงานในลักษณะนี้เป็นการจ้างงานในลักษณะที่บริษัทพยายามปฏิเสธความเป็นลูกจ้างนายจ้างทำให้ไรเดอร์เข้าไม่ถึงหลักประกันทางอาชีพ เนื่องจากแพลตฟอร์มนิยามว่าไรเดอร์คือ “พาร์ตเนอร์” ซึ่งในความเป็นจริง “อำนาจ” ระหว่างไรเดอร์กับบริษัทมันไม่เคยเท่ากัน แพลตฟอร์มไม่ได้ทำหน้าที่เป็นตัวกลางอย่างที่ควรจะเป็น แต่บริษัทแพลตฟอร์มกำลังสร้างเงื่อนไขการจ้างงานที่ผิดเพี้ยน และเป็นบรรทัดฐานต่อสังคม การจ้างงานในลักษณะนี้เป็นภัยคุกคามต่อการจ้างงานโดยรวมที่บริษัทเอกชนสามารถดำเนินธุรกิจได้โดยที่ไม่ต้องรับผิดชอบชีวิตคนทำงาน สิ่งที่ไรเดอร์ต้องจ่ายมันคือ “ชีวิต” จากสภาพการทำงานที่ถูกกำหนดโดยฝ่ายเดียว

ภาครัฐไทยควรนิยามกฎหมายให้ครอบคลุมการจ้างงานทุกรูปแบบ แต่สิ่งที่รัฐไทยพยายามทำคือ ออกกฎหมายแบ่งแยกแรงงานในอยู่ในกฎหมายคนละฉบับ ทั้งที่ความจริงกฎหมายคุ้มครองแรงงานควรนิยามการคุ้มครองที่กว้าง เพื่อครอบคลุมการจ้างงานทุกรูปแบบ และการที่ไทยตามไม่ทันการจ้างงานรูปแบบใหม่ๆ ที่พยายามหลบเลี่ยงความรับผิดชอบต่อคนทำงาน “การจ้างงานบนแพลตฟอร์ม” คืออีกหนึ่งตัวอย่างของความล้มเหลวของรัฐบาลในการเข้ามาจัดการปัญหาการจ้างงานที่กำลังเป็นปัญหาในปัจจุบัน.