เปิดข้อมูล สถิติ โรงรับจำนำของรัฐบาล ในช่วง 1-2 ปี พบว่า คนไทย เข้าโรงรับจำนำ มากขึ้น วงเงินทะลุ 2 หมื่นล้าน อาชีพรับจ้าง แวะเวียนมากที่สุด  

ในระหว่างที่คนไทย จำนวนหนึ่ง รอ “เงินดิจิทัล” 10,000 บาท จากรัฐบาล นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี ที่ชนะการเลือกตั้งเมื่อปีที่แล้ว จนถึงวันนี้ เริ่มมีความชัดเจนมากขึ้น ว่า “อาจจะ” ได้ในช่วงไตรมาส ที่ 4 พร้อมมีข้อมูลต่างๆ ออกมามากมายว่าจะได้เงินอย่างไร ช่องทางไหน ซื้ออะไรได้บ้าง หรือไม่ได้บ้าง 

แต่ในขณะที่เรา “รอ” อยู่นี้ ต้องยอมรับว่า ชาวบ้านบางส่วนนั้นเริ่มบ่นว่า เศรษฐกิจไม่ดี ขายของไม่ได้ แล้วอะไรล่ะ จะสามารถ “ชี้วัด” ได้บ้าง...นั่นก็คือ “โรงรับจำนำ” ที่ประชาชน จำใจ หรือ จำเป็น ต้องเอามรดก และสิ่งมีค่าที่เก็บหอมรอมริบ เอามาจำนำ

จากข้อมูล สำนักงานธนานุเคราะห์ หรือ โรงรับจำนำ ของรัฐบาล ในรายงานประจำปี 2566 พบข้อมูลที่น่าสนใจ ที่ “เรา” อยากให้ผู้อ่านได้ลองพิจารณาดู และ วิเคราะห์ “สภาพ” ความเป็นอยู่ของชาวบ้านในขณะนี้ 

ปัจจุบัน สถานธนานุเคราะห์ ของรัฐบาล มีทั้งสิ้น 44 สาขา กระจายอยู่ทั่วประเทศ ในปี 2566 สามารถช่วยเหลือประชาชนได้ 1,187,948 ราย เป็นจำนวนเงิน 20,386.19 ล้านบาท หากเทียบข้อมูลกับ ปี 2565 ถือว่า มีผู้ใช้บริการโรงรับจำนำของรัฐมากขึ้น 2.92% ดูตัวเลขนี้เหมือนไม่เยอะ แต่ก็คือ 33,733 ราย และใช้เงินเพิ่มขึ้น 1,150.27 ล้านบาท โดยเฉลี่ยต่อเดือน จะมีประชาชนเข้าโรงรับจำนำของรัฐ 98,996 ราย โดยมีวงเงินบริการ 1,698.85 ล้านบาท 

จากจำนวนที่เข้ามาตึ๊ง ของ 1,187,948 ราย มีจำนวน 1,136,839 ราย ได้ “ไถ่ถอน” ของดังกล่าวคืน คิดเป็นเงิน 19,535.76 ล้านบาท หากเทียบกับ ปี 65 ถือว่ามีผู้มาไถ่ถอนเพิ่มขึ้น 32,137 ราย (2.91%) โดยมีค่าเฉลี่ย ไถ่ถอนขอบคืน 94,737 ราย เฉลี่ยเป็นเงินเดือนละ 1,627.98 บาท 

...

ส่วน “ของหลุดจำนำ” (ขาดการส่งดอกเบี้ย 4 เดือน และไม่ไถ่ถอนคืนใน 30 วัน) ในปี 2566 มีทั้งสิ้น 42,697 ราย เป็นจำนวนเงิน 601.04 ล้านบาท เมื่อเทียบกับปี 2565 มีของหลุดจำนำเพิ่ม 2,732 ราย โดยเฉลี่ยต่อเดือน มีของหลุดจำนำ 3,558 ราย คิดเป็นเงินเฉลี่ย 50.09 ล้าน ทรัพย์คงเหลือ ในรอบปี 2566 มีทั้งสิ้น 329,374 ราย เป็นเงิน 5,574.66 ล้านบาท เมื่อเทียบกับปี 2565 เพิ่มขึ้น 8,412 ราย 

สำหรับของที่รับจำนำ และมีผู้มาจำนำ ในปี 2566 นั้น แบ่งเป็น ทอง นาก เพชร และรูปพรรณ มีจำนวน 1,156,050 ราย มูลค่า 20,286.86 ล้านบาท, เงินรูปพรรณ จำนวน 1,450 ราย มูลค่า 4.38 ล้าน, นาฬิกาข้อมือ 9,743 ราย มูลค่า 46.65 ล้านบาท, เครื่องใช้ไฟฟ้า จำนวน 3,551 ราย มูลค่า 6.61 ล้านบาท, อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ มือถือ 10,609 ราย มูลค่า 31.98 ล้านบาท, เครื่องมือช่าง ปากกา และกล้องถ่ายรูป 5,495 ราย มูลค่า 7.96 ล้านบาท, เครื่องดนตรี 1,016 ราย มูลค่า 1.69 ล้านบาท และเครื่องมือเกษตร 34 ราย มูลค่า 60,000 บาท 

ส่วนอาชีพที่นำของมาตึ๊งมากที่สุด ได้แก่ รับจ้าง จำนวน 1,015,640 ราย มูลค่า 17,465.89 ล้านบาท  

รองลงมา คือ พ่อบ้านและแม่บ้าน 74,109 ราย มูลค่า 1,204.92 ล้านบาท ค้าขาย 54,630 ราย มูลค่า 997.73 ล้านบาท ข้าราชการ 21,397 ราย มูลค่า 351.79 ล้านบาท 

วงเงิน ที่จำนำมากที่สุด คือ 20,001-100,000 บาท มีผู้มาจำนำ 347,743 รองลงมา คือ 5,001-10,000 บาท จำนวน 291,172 ราย ส่วนอันดับ 3 คือ ต่ำกว่า 5,000 บาท 277,221 ราย

ขณะที่ “ภาพรวม” โรงรับจำนำของรัฐบาล มีรายได้ ย้อนหลัง 3 ปี เพิ่มขึ้นทุกปี จากปี 2564-2566 คือ 

2564 มีรายได้ 756.03 กำไรเบ็ดเสร็จ 348.91 ล้านบาท

2565 มีรายได้ 843.09 กำไรเบ็ดเสร็จ 452.80 ล้านบาท

2566 มีรายได้  885.62 กำไรเบ็ดเสร็จ 465.6 ล้านบาท 

ทั้งนี้ ปัจจุบันมีการเดินหน้าขยายสาขาเพิ่ม เป็น 47 สาขา... ซึ่งแบบนี้ไม่รู้ว่า ดีหรือไม่? 

infographic : sathit chuephanngam 

อ่านบทความที่น่าสนใจ 

...