เปิดสถิติคดีแพะ ที่รัฐต้องจ่ายเงินย้อนหลัง 3 ปี รวม 173 ราย กว่า 38 ล้าน อัยการแนะ "ลุงเปี๊ยก" ยื่นขอเยียวยา...“ในฐานะผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ขอน้อมรับความผิดพลาด และขอโทษประชาชน ที่มีตำรวจเข้าไปเกี่ยวข้อง และทำลายความเชื่อมั่นของประชาชน แม้แต่ผม ก่อนหน้านี้ยังตั้งข้อสงสัยถึงกระบวนการสอบสวนในคดีดังกล่าว” พล.ต.อ.ต่อศักดิ์ สุขวิมล ผบ.ตร. กล่าวขอโทษในคดี ป้าบัวผัน และ จับลุงเปี๊ยก เป็น “แพะรับบาป” จากคดี “ป้าบัวผัน” ถึงการจับ ลุงเปี๊ยก ที่กลายเป็นแพะรับบาป ล่าสุด พล.ต.ท.สมประสงค์ เย็นท้วม ผบช.ภ.2 แถลงสรุปผลสอบสวนข้อเท็จจริง พบตำรวจเข้าข่ายผิดวินัย 2 นาย คือ พ.ต.ท.พิชิต วัฒโน รอง ผกก.สส.สภ.อรัญประเทศ และ ด.ต.ภิเศก พวงมาลีประดับ โดยเฉพาะดาบเศกหนึ่งในชุดสืบสวนที่ใส่ขาเทียม และลุงเปี๊ยกยืนยันว่าเป็นคนใช้ถุงดำคลุมหัว ผิดอาญา ม.157 ด้วย ทั้งนี้ สตช. ได้ให้คณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงภายใน 15 วัน หากมีการตรวจสอบพบ และมีการพาดพิงตำรวจคนอื่น ให้คณะกรรมการรายงานต่อประธานคณะกรรมการโดยเร็ว!“คดีแพะ” นับว่าไม่ใช่เรื่องใหม่ แต่เคยเกิดขึ้นมาแล้วหลายครั้ง และคดีที่เป็นประวัติศาสตร์ก็คือ คดี “เชอรี่ แอน ดันแคน” หรือ “จอบิ” แพะในคดีกราดยิงรถนักเรียน ซึ่งสิ่งที่ “จอบิ” เจอนั้นก็คล้ายๆ กับคดี “ลุงเปี๊ยก” เพราะถูกนำไปทำแผนรับสารภาพทั้งที่ไม่รู้เรื่อง... (อ่านต่อ เปิดโปงกลจับแพะ แฉสารพัดทรมานโหด EP.1 ย้อนรอยที่สุด 'แพะ' ในตำนาน!จากข้อมูล “กรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ 2565” พบว่า แต่ละปีรัฐต้องจ่ายเงินเยียวยาให้กับผู้เสียหาย และจำเลยในคดีอาญา ปีละกว่า 400 ล้านบาท โดยแบ่งเป็นผู้เสียหาย (เหยื่อในคดีอาชญากรรม) และจำเลยในคดีอาชญากรรม (แพะ) ปี 2563 มีผู้เสียหายที่ได้รับเงินเยียวยา จำนวน 8,770 ราย เงินที่ต้องจ่ายทั้งสิ้น 437,066,543 บาท ส่วนจำเลยในคดีอาชญากรรม (แพะ) มีจำนวน 60 ราย ได้มีการเบิกจ่าย 12,933,457 บาท ปี 2564 มีผู้เสียหายที่ได้รับเงินเยียวยา จำนวน 7,248 ราย เงินที่ต้องจ่ายทั้งสิ้น 365,521,845.44 บาท ส่วนจำเลยในคดีอาชญากรรม (แพะ) มีจำนวน 67 ราย ได้มีการเบิกจ่าย 15,702,941 บาท ปี 2565 มีผู้เสียหายที่ได้รับเงินเยียวยา จำนวน 7,848 ราย เงินที่ต้องจ่ายทั้งสิ้น 389,813,351 บาท ส่วนจำเลยในคดีอาชญากรรม (แพะ) มีจำนวน 46 ราย ได้มีการเบิกจ่าย 10,186,649 บาท ทั้งนี้ในรายงานดังกล่าวได้รวบรวมตัวเลขผู้เสียหาย และจำเลยในคดีอาชญากรรมไว้ด้วย ซึ่งแต่ละปีมีผู้เสียหายมาขอยื่นรับเงินเยียวยามากกว่า 1 หมื่นราย ส่วนจำเลยมายื่นขอรับเงินเฉลี่ย 300-500 ราย/ปี ซึ่งผลการพิจารณา และจ่ายเงินเยียวยา สำหรับผู้เสียหาย และจำเลยในคดีอาชญากรรม (ศาลยกฟ้อง) นั้นขึ้นอยู่กับคณะกรรมการ และการพิจารณาของศาลอุทธรณ์ด้วย ถึงจะมีการเบิกจ่ายในที่สุด สำหรับการขอรับเงินเยียวยา ตาม พ.ร.บ.ค่าตอบแทนผู้เสียหาย และค่าทดแทนและค่าใช้จ่ายแก่จําเลยในคดีอาญา (ฉบับที่ 2) พ.ศ.2559 ระบุไว้ว่า ผู้เสียหาย ที่จะ “อาจ” ได้รับค่าตอบแทนได้ตามมาตรา 17 ได้แก่ความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา ภาค 2 ดังนี้ ลักษณะ 6 ความผิดเกี่ยวกับการก่อให้เกิดภยันตรายต่อประชาชน มาตรา 224 และ 238ลักษณะ 9 ความผิดเกี่ยวกับเพศ มาตรา 276 ถึง 287ลักษณะ 10 ความผิดเกี่ยวกับชีวิตและร่างกาย หมวด 1 ความผิดต่อชีวิต มาตรา 288 ถึง 294 หมวด 2 ความผิดต่อร่างกาย มาตรา 295 ถึง 300 หมวด 3 ความผิดทำให้แท้งลูก มาตรา 301 ถึง 305 หมวด 4 ความผิดฐานทอดทิ้งเด็ก คนเจ็บป่วย หรือคนชรา มาตรา 306 ถึง 308 ลักษณะ 11 ความผิดเกี่ยวกับเสรีภาพและชื่อเสียง มาตรา 309 ถึง 312 ทวิ และ 313 ลักษณะ 12 ความผิดเกี่ยวกับทรัพย์หมวด 1 ความผิดฐานวิ่งราวทรัพย์ มาตรา 336 หมวด 2 ความผิดฐานกรรโชก รีดเอาทรัพย์ ชิงทรัพย์ และปล้นทรัพย์ มาตรา 337 339 339 ทวิ 340 340 ทวิ หมวด 8 ความผิดฐานบุกรุก มาตรา 365 ส่วนจำนวนค่าตอบแทนที่ “ผู้เสียหาย” ในคดีอาญามีสิทธิจะได้รับจากรัฐ มีดังนี้ 1.ค่าใช้จ่ายที่จำเป็นในการรักษาพยาบาลให้จ่ายเท่าที่จ่ายจริง แต่ไม่เกิน 30,000 บาท (รวมถึงค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับค่าห้อง และค่าอาหาร วันละไม่เกิน 600 บาท)2.ค่าฟื้นฟูสมรรถภาพทางร่างกายและจิตใจให้จ่ายเท่าที่จ่ายจริงแต่ไม่เกิน 20,000 บาท (รวมถึงค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับค่าห้อง และค่าอาหาร วันละไม่เกิน 600 บาท) 3.ค่าขาดประโยชน์ทำมาหาได้ในระหว่างที่ไม่สามารถประกอบการงานได้ตามปกติให้ จ่ายในอัตราวันละไม่เกิน 200 บาท แต่ไม่เกิน 1 ปี นับแต่วันที่ไม่สามารถประกอบการงานได้ตามปกติ 4.ค่าตอบแทนความเสียหายอย่างอื่นนอกจากที่กล่าวแล้วให้จ่ายตามที่คณะกรรมการเห็นสมควร แต่ไม่เกิน 30,000 บาทสิทธิของ “จำเลยในคดีอาญา” ในการที่จะได้รับค่าทดแทน และค่าใช้จ่ายจากรัฐ จำเลย คือ บุคคลที่ถูกฟ้องคดีต่อศาลว่าได้เป็นผู้กระทำความผิด ซึ่งจำเลยที่จะมีสิทธิได้รับค่าทดแทน และค่าใช้จ่ายจากรัฐ จะต้องเป็นผู้ที่ถูกดำเนินการฟ้องคดีต่อศาลว่าได้เป็นผู้กระทำความผิดอาญ าโดยพนักงานอัยการ และถูกคุมขังอยู่ในระหว่างการพิจารณาคดีของศาล และศาลได้มีคำพิพากษาถึงที่สุดว่าจำเลยมิได้เป็นผู้กระทำความผิด หรือการกระทำของจำเลยไม่เป็นความผิด จำเลยจึงมีสิทธิที่จะได้รับค่าทดแทน และค่าใช้จ่ายจากรัฐ และการที่จำเลยได้รับค่าทดแทน หรือค่าใช้จ่ายจากรัฐไปแล้ว ก็ไม่เป็นการตัดสิทธิ หรือประโยชน์ที่จำเลยจะพึงได้ตามกฎหมายอื่นอีก ซึ่งสิทธินี้มีได้เฉพาะในกรณีที่จำเลยถูกดำเนินคดีโดยพนักงานอัยการเท่านั้น ค่าทดแทน และค่าใช้จ่าย ที่จำเลยจะขอรับได้นั้นมี 6 ประเภท ดังนี้ 1.ค่าทดแทนการถูกคุมขัง คำนวณจากจำนวนวันที่ถูกคุมขับในอัตราที่กำหนดไว้สำหรับการกักขังแทนค่าปรับตามประมวลกฎหมายอาญา2.ค่าใช้จ่ายที่จำเป็นในการรักษาพยาบาล รวมค่าฟื้นฟูสมรรถภาพทางร่างกายและจิตใจ หากความเจ็บป่วยของจำเลยเป็นผลโดยตรงจากการถูกดำเนินคดี3.ค่าทดแทนในกรณีที่จำเลยถึงแก่ความตาย และความตายนั้นเป็นผลโดยตรงจากการถูกดำเนินคดี จำนวนไม่เกินที่กำหนดไว้ในกฎกระทรวง4.ค่าขาดประโยชน์ทำมาหาได้ในระหว่างถูกดำเนินคดี5.ค่าใช้จ่ายที่จำเป็นในการดำเนินคดี แนะ ลุงเปี๊ยก เรียกร้องสิทธิ ตกเป็นแพะ นายโกศลวัฒน์ อินทุจันทร์ยง อธิบดีอัยการคุ้มครองสิทธิและช่วยเหลือทางกฎหมาย และเป็นหนึ่งในกรรมการกองทุนยุติธรรม กล่าวว่า หากท่านรู้สึกว่าตกเป็นแพะในคดีอาญา เพราะถูกดำเนินคดีแล้วศาลยกฟ้อง ท่านสามารถติดต่อขอรับเงินเยียวยาได้ โดยต้องทำเรื่องผ่านยุติธรรมจังหวัด ซึ่งเขาจะเป็นผู้แทนกรมคุ้มครองสิทธิ โดยมีกองทุนยุติธรรม นำมาใช้เยียวยา “ส่วนกรณีเงินเยียวยาเบื้องต้น หากถูกนำตัวไปคุมขัง ก็จะสามารถขอเงินเยียวยารายวันได้ วันละ 500 บาท ซึ่งตามระเบียบแล้วจะมีค่าอื่นๆ ตามระเบียบ ประกอบด้วย เช่น ค่ารักษาพยาบาล และค่าใช้จ่ายอื่นๆ” เมื่อถามว่า กรณี “ลุงเปี๊ยก” ที่มีการถูกคุมขังอยู่ 2 วัน ถือว่าเข้าข่ายที่จะสามารถร้องขอเงินเยียวยาหรือไม่ อธิบดีอัยการคุ้มครองสิทธิและช่วยเหลือทางกฎหมาย ระบุว่า เชื่อว่าสามารถยื่นขอรับเงินเยียวยาได้ เพราะนอกจากค่าเยียวยารายวันแล้ว หากพบว่าเจ็บป่วยจะสามารถเบิกค่ารักษาพยาบาลได้ด้วย “แต่จะเข้าข่ายได้รับหรือไม่ ลุงเปี๊ยก ต้องไปให้ข้อมูลกับคณะกรรมการอีกครั้ง ส่วนจะได้หรือไม่ ขึ้นอยู่กับหลักเกณฑ์ในรายละเอียด”ในฐานะหนึ่งในกรรมการกองทุนยุติธรรม กล่าวว่า หากท่านต้องคดี และท่านเป็นคนจน กลายเป็นผู้ถูกกล่าวหา ท่านสามารถเดินทางมาขอรับค่าใช้จ่าย ค่าทนายความในการต่อสู้คดีได้ที่ กองทุนยุติธรรม ผ่านยุติธรรมจังหวัด โดยกองทุนนี้ให้เงินเพื่อต่อสู้คดี เพียงแต่ท่านต้องยื่นข้อมูลเพื่อทำเรื่องร้องขอ...ทีมข่าวเฉพาะกิจไทยรัฐออนไลน์ รายงาน