จ่ายเงินเยียวยาช่วยแรงงานไทย-ครอบครัว หนีภัยสงครามอิสราเอล-ฮามาส แล้วกว่า 140 ล้าน อัยการคุ้มครองสิทธิฯ เผย ชาวบ้านนับพันครัวเรือนกำลังเดือดร้อน จมหนี้ รุดช่วยด้านกฎหมาย หางาน ปัญหารอบด้าน.. 

ตอนนี้ศึกระหว่างอิสราเอล-ฮามาส ยังไม่จบ ความรุนแรงในฉนวนกาซา ยังคงดำเนินต่อไป โดยเฉพาะเมื่อ 2-3 วันก่อน อิสราเอล ได้ใช้มาตรการถล่มทางอากาศ วันเดียว มีผู้เสียชีวิตถึง 700 ศพ ขณะที่ตัวเลขผู้เสียชีวิตอัปเดตล่าสุด ณ วันที่ 5 ธันวาคม 2566 

จำนวนผู้เสียชีวิตชาวปาเลสไตน์ : 15,899 ศพ

จำนวนผู้บาดเจ็บชาวปาเลสไตน์ : 42,000 คน

จำนวนผู้เสียชีวิตชาวอิสราเอล : 1,200 ศพ

จำนวนผู้บาดเจ็บชาวอิสราเอล : 5,431 คน

**อ้างอิง : องค์การสหประชาชาติ สิ้นสุดวันที่ 5 ธ.ค. 66** 

นี่คือ ภาพความโหดร้ายของสงครามที่ไม่รู้จะไปสิ้นสุดที่ตรงไหน... 

ส่วน “คนไทย” หนีภัยสงคราม และได้เดินทางมายื่นขอเงินเยียวยาแล้วทั้งสิ้น 9,488 คน สั่งจ่ายไปแล้ว 9,320 คน (98.23%) อีก 1 กว่าเปอร์เซ็นต์ ที่ยังไม่จ่ายนั้น มีรายงานว่ามีปัญหาด้านเอกสาร และบางส่วนไม่ได้สิทธิจากเงินกองทุนเนื่องจาก ทำงานและอยู่เกินสัญญาจ้าง (เกิน 5.3 ปี) 

...

ขณะที่เงินเยียวยาจากกองทุนเพื่อช่วยเหลือแรงงานไทยที่ทำงานในต่างประเทศ ที่จ่ายจากภัยสงคราม รายละ 15,000 บาท จ่ายไปแล้ว 9,274 คน รวมเป็นเงิน 139,110,000 บาท กรณี เสียชีวิต 36 คน จ่ายรายละ 40,000 บาท รวมเป็นเงิน 1,440,000 บาท กรณี บาดเจ็บ 10 คน จ่ายรายละ 30,000 บาท รวมเป็นเงิน 300,000 บาท ยอดรวมจ่ายเยียวยาแล้ว 140,850,000 บาท (ข้อมูล ณ วันที่ 6 ธ.ค. 66, ที่มา : กองบริหารแรงงานไทยไปต่างประเทศ กรมการจัดหางาน) 

อัยการฯ ช่วยแรงงานหนีภัยสงครามกับปัญหาด้านกฎหมายและหนี้สิน

อย่างไรก็ตาม แม้แรงงานไทยจำนวนมากจะกลับมาแล้ว แต่ก็เจอปัญหาต่างๆ มากมาย หลายเรื่อง ต้องได้รับความช่วยเหลือในการหางาน แก้ปัญาหาด้านกฎหมาย หรือแม้แต่สิทธิการเยียวยา ซึ่งเรื่องนี้ ทีมข่าวเฉพาะกิจไทยรัฐออนไลน์ ได้รับการเปิดเผยจาก นายโกศลวัฒน์ อินทุจันทร์ยง อธิบดีอัยการคุ้มครองสิทธิและช่วยเหลือทางกฎหมายแก่ประชาชน ระบุว่าตอนนี้มีคนร้องขอความช่วยเหลือกับทางอัยการคุ้มครองสิทธิ มากกว่า 1,000 ครอบครัว เนื่องจากหลายคนกลับมาแล้ว ไม่มีรายได้ แต่มีรายจ่ายต้องรับผิดชอบ เป็นหนี้สิน แม้จะได้เงินบางส่วนจากการช่วยเหลือของทางภาครัฐแล้ว แต่ก็ยังไม่เพียงพอ บางคนสูญเสียเสาหลักไป คนในบ้านจำเป็นต้องหางาน 

นายโกศลวัฒน์ บอกว่า สิ่งที่ทางอัยการคุ้มครองสิทธิฯ กว่า 120 แห่ง ช่วยกันในเวลานี้ คือ การประสานงานกับหน่วยงานต่างๆ ให้เข้ามาดูแล รวมถึงช่วยเหลือด้านกฎหมายด้วย อาทิ ความจำเป็นในการผ่อนจ่ายที่ดิน สวน ไร่นา หรือ ทำธุรกิจเล็กๆ ที่แรงงานเหล่านี้เคยจ่ายอยู่แล้วไม่มีจ่าย เช่น ช่วยประสานงานเกษตรจังหวัด ช่วยแก้ปัญหาเรื่องที่ดิน, แรงงานจังหวัด ช่วยหางานให้กับบุคคลที่อยู่ในบ้าน และต้องการหาเงินมาใช้จ่าย 

“สาเหตุที่เราเป็นตัวกลางในการประสานงานกับหน่วยงานต่างๆ ได้ เพราะไม่ว่าหน่วยงานเดือดร้อน เช่น ถูกฟ้อง เขาก็จะเข้ามาหาอัยการฯ ฉะนั้น เมื่อเราขอให้ช่วยชาวบ้าน หน่วยงานเหล่านี้ก็พร้อมให้ความร่วมมือ” 

เบื้องหลังปัญหาแรงงานไทย ที่กลับจากอิสราเอล 

นายโกศลวัฒน์ บอกว่า หากต้องการช่วยด้วยตัวบทกฎหมายนั้น สามารถทำได้ครั้งเดียว เช่น การต่อรองเรื่องหนี้ ขยายเวลาหนี้ เราทำให้ได้ แต่...สิ่งนั้น ทำแล้ว ปัญหามันไม่จบ บางคนไม่มีปัญญาที่จะหาเงินมาจ่ายจริงๆ เราจึงต้องเป็นตัวกลางในการประสานงานหน่วยงานต่างๆ เข้ามาช่วย บางคนไม่มีอาชีพ ไม่รู้จะขายอะไร เราก็ประสานพาณิชย์จังหวัดให้เข้ามาช่วย ดูแล แนะนำ เพื่อหาทางประกอบอาชีพ เพื่อให้เขา ไม่จำเป็นต้องพึ่งพาเงินจากอิสราเอลแล้ว เพื่อให้อยู่เมืองไทยได้...

...

“ส่วนมากที่ร้องขอให้ช่วย คือ แค่ขยายเวลาจ่ายหนี้ ผ่อนผันหนี้ ไม่เพียงพอ เนื่องจากบางคน กลับมาในสภาพไร้เงิน เพราะ “นายจ้าง” ตายจากสงครามไม่มีคนจ่ายเงินเดือน หรือ ถ้าผู้นำครอบครัวเสียชีวิต ก็ต้องจัดการมรดก ทำเอกสารเป็นภาษาอังกฤษ เพื่อยื่นให้กับทางการอิสราเอล เราเข้าไปช่วยในการแปลเอกสาร และอำนวยความสะดวกในการยื่นให้ปลายทาง เพื่อให้ชีวิตที่เดินต่อ” นายโกศลวัฒน์ กล่าวและว่า 

บางเคส “สามี” ที่ไม่ได้จดทะเบียนสมรส ยืมเงินภรรยาเพื่อเป็นทุนในการเดินทาง แต่ปรากฏว่า “สามี” เสียชีวิต สิทธิประโยชน์จากเงินเยียวยานั้น ตกกับครอบครัวฝ่ายชาย โดยที่ทางภรรยาไม่ได้อะไรเลย และทางครอบครัวฝ่ายชายไม่แบ่งให้อีก เรื่องนี้ “เมีย” ที่ไม่ได้จดทะเบียนสมรสก็เข้ามาร้องเรียน ทางอัยการคุ้มครองสิทธิฯ ต้องเข้ามาช่วยไกล่เกลี่ย 

นี่คือ ส่วนหนึ่งของปัญหา ที่เกิดขึ้นกับแรงงานไทย ที่หน่วยงานภาครัฐต้องช่วยกันประคองให้เขาเหล่านั้นเดินต่อได้

ทีมข่าวเฉพาะกิจไทยรัฐออนไลน์ รายงาน 

อ่านบทความที่น่าสนใจ 

...