การขยายตัวของตลาดเสื้อผ้ามือสองที่สัมพันธ์กับการช่วยโลกจากปรากฏการณ์เรือนกระจก และรู้หรือไม่ว่า เพียงแค่ "เรา" ช่วยกันซื้อเพียงหนึ่งชิ้นในปีหน้า จะทำให้มีไฟฟ้าสำหรับดู Netflix ได้ถึง 37,000 ล้านชั่วโมง!

จากข้อมูลที่มี ณ ปัจจุบัน เป็นที่ทราบกันดีแล้วว่า "ธุรกิจ Fast Fashion" กำลังทำร้ายโลกสีน้ำเงินของเรา ด้วยการปล่อย "ก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์" ซึ่งเป็นตัวการสำคัญที่ทำให้เกิด “ปรากฏการณ์เรือนกระจก” เฉลี่ยถึงปีละ 8% จากทั้งกระบวนการผลิต การขนส่ง รวมถึงการเผาทำลายกองขยะเสื้อผ้าขนาดมหึมาในทุกๆ ปี 

อย่างไรก็ดี ด้วยเหตุที่ชาวโลกเริ่มหันมาตระหนักในประเด็นปัญหาเรื่องผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมมากขึ้น จึงทำให้เกิด “ทางเลือก” สำหรับช่วยลดปริมาณขยะเสื้อผ้าจำนวนมหาศาลเหล่านั้นขึ้นมา นั่นก็คือ “ตลาดขายเสื้อผ้ามือสอง” 

...

แล้ว “ตลาดขายเสื้อผ้ามือสอง” สามารถลดปริมาณขยะจากเสื้อผ้าที่ถูกผลิตออกมามากกว่า 100,000 ล้านชิ้นต่อปี จนทำให้เกิดปริมาณขยะสิ่งทอทั่วโลกเฉลี่ยสูงถึง 92 ล้านตันต่อปี หรือคิดเป็น 7% ของปริมาณขยะทั้งหมดในพื้นที่ฝังกลบทั่วโลก ณ ปัจจุบัน ได้มากน้อยเพียงใดแล้ว?   

“เรา” ไปเริ่มกันที่...อะไรบ้างแล้วที่เริ่ม “เปลี่ยนแปลง!” 

การขยายตัวของตลาดขายเสื้อผ้ามือสอง :     

จากรายงานของ thredUP เว็บไซต์ร้านขายของมือสองออนไลน์ที่ใหญ่ที่สุดในโลก และแหล่งรวมแบรนด์แฟชั่นมากกว่า 45,000 แบรนด์ รวมทั้งยังเป็นพันธมิตรสำคัญกับผู้ค้าปลีกยักษ์ใหญ่ในสหรัฐฯ เช่น วอลมาร์ท (Walmart) และ เมซี (MASE) ระบุว่า ในปี 2023 มูลค่ารวมของตลาดสินค้ามือสองทั่วโลกอยู่ที่ประมาณ 211,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (7.4 ล้านล้านบาท) และคาดว่าในปี 2027 มูลค่ารวมของตลาดสินค้ามือสองจะพุ่งขึ้นไปอยู่ที่ประมาณ 350,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (12.3 ล้านล้านบาท)

ทัศนคติที่เปลี่ยนไปของ Gen Z : 

จากการสำรวจของ thredUP พบข้อมูลที่น่าสนใจ คือ กลุ่ม Gen Z และ กลุ่มมิลเลนเนียล ในสหรัฐฯ ซึ่งถือเป็นฐานลูกค้าสำคัญของธุรกิจ Fast Fashion นั้นมากถึง 58% ยอมรับว่าจำนวนเสื้อผ้าที่ซื้อมาเก็บไว้ เป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้เกิดความเปลี่ยนแปลงด้านสภาพภูมิอากาศโลก และในจำนวนนี้มากถึง 63% เชื่อว่าสามารถลดกิจกรรมการใช้ชีวิตประจำวันที่จะส่งผลให้เกิดการปลดปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้อีกด้วย 

ขณะเดียวกัน “กลุ่มคนรุ่นใหม่” มากถึง 61% ยอมรับว่าเริ่มคำนึงถึงปัญหาสิ่งแวดล้อม และให้ความสำคัญกับเทรนด์ “ความยั่งยืน” (Sustainability) มากขึ้นด้วยเช่นกัน 

เสื้อผ้ามือสองช่วยลดปริมาณการผลิตเสื้อผ้าใหม่ได้มากน้อยแค่ไหน : 

Research and Markets ประเมินว่า ปัจจุบันมีปริมาณเสื้อผ้าใหม่ที่ถูกผลิตออกมาสู่ตลาดมากกว่า 100,000 ล้านชิ้น สำหรับประชากรโลกประมาณ 8,000 ล้านคนในทุกๆ ปี แต่จากผลการสำรวจของ thredUP พบว่า ผู้บริโภคในสหรัฐฯ ที่โดยปกติมักนิยมซื้อเสื้อผ้าชุดใหม่มากที่สุด กลับซื้อเสื้อผ้าเครื่องแต่งกายมือสองรวมกันมากถึง 1,400 ล้านชิ้น ในปี 2022 ซึ่งตัวเลขดังกล่าวถือเป็นตัวเลขที่เพิ่มขึ้นจากปี 2021 ถึง 40% 

...

เป็นผลให้บรรดาผู้ค้าปลีกในธุรกิจแฟชั่นมากกว่า 1 ใน 3 ยอมรับว่า หากตลาดเสื้อผ้ามือสองยังคงมีแนวโน้มที่จะขยายตัวต่อไปเช่นนี้ อาจมีความจำเป็นที่จะต้องลดกำลังผลิตสินค้าใหม่ของตัวเองลง 

การเพิ่มขึ้นของจำนวนแบรนด์แฟชั่นในตลาดเสื้อผ้ามือสอง : 

จากรายงานของ thredUP ระบุว่า ระหว่างปี 2009-2018 มีแบรนด์แฟชั่นที่ขายเสื้อผ้ามือสองเพียง 4 แบรนด์เท่านั้น แต่หลังจากนั้นเป็นต้นมาจำนวนแบรนด์ที่เข้าสู่ตลาดก็ค่อยๆ เพิ่มขึ้นๆ โดยในปี 2022 นั้นมีจำนวนแบรนด์ที่เปิดขายเสื้อผ้ามือสองมากถึง 124 แบรนด์ 

การซื้อเสื้อผ้ามือสองช่วยโลกได้จริงหรือไม่? : 

อีกหนึ่งข้อมูลจาก thredUP ซึ่งมีการเปรียบเทียบข้อมูลระหว่าง เสื้อผ้าใหม่ และ เสื้อผ้ามือสอง ในเรื่องการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์เอาไว้อย่างน่าสนใจ และอาจทำให้ “คุณ” สามารถเข้าใจประเด็นนี้ได้อย่างชัดเจนมากขึ้น... 

...

เสื้อผ้าใหม่ VS เสื้อผ้ามือสอง 

1. เทียบปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจก : 

เสื้อผ้าใหม่ : 35.96 Ibs of Co2e

เสื้อผ้ามือสอง : 27.55 Ibs of Co2e 

ลดปริมาณก๊าซเรือนกระจก : 8.41 Ibs of Co2e

2. เทียบปริมาณการใช้ไฟฟ้า :

เสื้อผ้าใหม่ : 75.59 กิโลวัตต์ต่อชั่วโมง 

เสื้อผ้ามือสอง : 60.11 กิโลวัตต์ต่อชั่วโมง

ลดการใช้พลังงานไฟฟ้า : 16.48 กิโลวัตต์ต่อชั่วโมง

3. เทียบปริมาณการใช้น้ำ :

เสื้อผ้าใหม่ : 1,067 ลิตร

เสื้อผ้ามือสอง : 733 ลิตร 

ลดการใช้น้ำ : 336 ลิตร

รู้หรือไม่? เพียงแค่คุณซื้อเสื้อผ้ามือสองหนึ่งชิ้นในปีหน้า สามารถช่วยโลกได้มากแค่ไหน? 

ลดปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจก :

2B+ Ibs of CO2e = ปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกของรถยนต์ 76 ล้านคันที่วิ่งบนถนนหนึ่งวัน

...

ลดปริมาณการใช้น้ำ :

87,064 ล้านลิตร = ปริมาณน้ำที่คนหนึ่งคน ดื่มได้นาน 46,000 ล้านวัน 

ลดการใช้พลังงานไฟฟ้า :

4,000 ล้านกิโลวัตต์ต่อชั่วโมง = ปริมาณการใช้ไฟฟ้าสำหรับดู Netflix 37,000 ล้านชั่วโมง

ทีมข่าวเฉพาะกิจไทยรัฐออนไลน์ รายงาน 

อ่านบทความที่น่าสนใจ