เปิดสถิติข้อมูลแรงงานไทย ท่ามกลางไฟสงครามระหว่าง อิสราเอล และ กลุ่มติดอาวุธฮามาส....

หลังความขัดแย้งที่นำไปสู่การใช้กำลังเข้าประหัตประหารกันระหว่าง อิสราเอล และ กลุ่มติดอาวุธฮามาสครั้งใหม่ ประเด็นที่นำไปสู่ความกังวลสำหรับพวกเราชาวไทยมากท่ีสุดในเวลานี้ คือ “ความปลอดภัยของพี่น้องแรงงานไทยในประเทศอิสราเอล” เนื่องจาก "ประเทศอิสราเอล" ถือเป็นประเทศยอดนิยมลำดับต้นๆ ที่แรงงานไทยให้ความสนใจเดินทางไปทำงานในต่างแดน 

วันนี้ “เรา” ไปร่วมกันอัปเดตข้อมูลต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับ “แรงงานไทยที่กำลังอยู่ท่ามกลางไฟสงครามในประเทศอิสราเอล” ร่วมกัน

อัปเดตล่าสุดจำนวนแรงงานไทยในประเทศอิสราเอล : 

จากข้อมูลล่าสุดของ "กระทรวงแรงงาน" ณ สิ้นเดือนสิงหาคม 2566 มีแรงงานไทยที่ยังทำงานอยู่ในประเทศอิสราเอล รวมกันทั้งสิ้น 25,962 คน หรือคิดเป็น 19% ของจำนวนแรงงานไทยทั้งหมดที่ยังคงทำงานในต่างประเทศ (131,846 คน) 

...

โดย “อิสราเอล” ถือเป็นประเทศในลำดับที่ 2 ต่อจาก “ไต้หวัน” (รวม 48,747 คน หรือคิดเป็น 36.97%) ที่มีจำนวนแรงงานไทยยังคงทำงานในต่างประเทศมากที่สุด 

เปิดสถิติแรงงานไทยที่ได้รับอนุญาตให้เข้าไปทำงานในประเทศอิสราเอลรายปี :  

ปี 2561 : รวม 8,409 คน (7.32%) : จากจำนวนแรงงานไทยทั้งหมดที่ไปทำงานต่างประเทศ 114,801 คน 

ปี 2562 : รวม 9,122 คน (8%) : จากจำนวนแรงงานไทยทั้งหมดที่ไปทำงานต่างประเทศ 113,801 คน 

ปี 2563 : รวม 2,547 คน (5.74%) : จากจำนวนแรงงานไทยทั้งหมดที่ไปทำงานต่างประเทศ 44,410 คน

ปี 2564 : รวม 6,081 คน (16.28%) : จากจำนวนแรงงานไทยทั้งหมดที่ไปทำงานต่างประเทศ 37,347 คน 

ปี 2565 : รวม 9,417 คน (10.68%) : จากจำนวนแรงงานไทยทั้งหมดที่ไปทำงานต่างประเทศ 88,154 คน 

อัปเดตล่าสุดสถานการณ์แรงงานไทยในประเทศอิสราเอล : 

จากสถิติของกระทรวงแรงงาน ณ สิ้นเดือนกันยายน 2566 ระบุว่า มีจำนวนแรงงานไทยในประเทศอิสราเอล รวม 25,887 คน (ชาย 25,237 คน 97.5% หญิง 650 คน 2.5%)

โดยในจำนวนนี้เป็นแรงงานจาก “จังหวัดอุดรธานี” มากที่สุดเป็นอันดับที่ 1 รวม 4,042 คน (15.61%) อันดับที่ 2 เป็นแรงงานจาก “จังหวัดเชียงราย” 2,174 คน (8.4%) อันดับที่ 3 เป็นแรงงานจาก “จังหวัดนครราชสีมา” 2,163 คน (8.36%) อันดับที่ 4 มาจากจังหวัดนครพนม 2,136 คน (8.25%) และอันดับที่ 5 มาจาก "จังหวัดหนองบัวลำภู" 1,311 คน (5%)

แผนที่ประเทศอิสราเอล ขอบคุณภาพจาก https://israelmap360.com/israel-cities-map
แผนที่ประเทศอิสราเอล ขอบคุณภาพจาก https://israelmap360.com/israel-cities-map

...

เมืองในประเทศอิสราเอล ที่แรงงานไทยเข้าไปทำงาน : 

1. ตอนใต้ของประเทศ (Hadarom) : 12,665 คน (48.92%)

2. ตอนกลางของประเทศ (Hamerkaz) : 5,849 คน (22.59%)

3. ตอนเหนือของประเทศ (Hazafon) : 3,865 คน (14.93%)

4. เมืองไฮฟา (Haifa) : 1,397 คน (5.4%)

5. กรุงเทลอาวีฟ (Tel Aviv) : 710 คน (2.74%)

6. เมืองอื่นๆ : 508 คน (1.96%)

7. เขตเวสต์แบงก์ (Westbank) : 395 คน (1.53%)

8. เขตเยรูซาเล็ม (Jerusalem) : 395 คน (1.53%)

9. Judea and Samaria :  103 คน (0.40%)

ทหารหญิงอิสราเอลท่ามกลางไฟสงครามรอบใหม่
ทหารหญิงอิสราเอลท่ามกลางไฟสงครามรอบใหม่

5 อาชีพที่คนไทยเข้าไปทำงานมากที่สุดในประเทศอิสราเอล : 

...

อันดับที่ 1. คนงานภาคการเกษตร 21,658 คน หรือ คิดเป็น 83%

อันดับที่ 2. พ่อครัวชั้นหนึ่ง 118 คน หรือ คิดเป็น 0.46%

อันดับที่ 3. คนงานทั่วไป 108 คน หรือ คิดเป็น 0.42%

อันดับที่ 4. ช่างประกอบท่อ 74 คน หรือ คิดเป็น 0.29%

อันดับที่ 5. กุ๊ก 74 คน หรือ คิดเป็น 0.29%

ภาพพื้นที่อิสราเอล ที่ถูกโจมตีโดยกลุ่มติดอาวุธฮามาส
ภาพพื้นที่อิสราเอล ที่ถูกโจมตีโดยกลุ่มติดอาวุธฮามาส

รายได้ขั้นต่ำของแรงงานในประเทศอิสราเอล : 

อ้างอิงจากเว็บไซต์กระทรวงแรงงาน ซึ่งมีการระบุว่า เมื่อวันที่ 23 มีนาคม 2566 นาย Yoav Ben Tzur รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงานของอิสราเอล ได้ลงนามหนังสือ “ขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ” เป็น 5,571.75 เชคเกล (51,382.23 บาท) หรือ ชั่วโมงละ 30.61 เชคเกล หรือ 282.28 บาท (สำหรับการทำงานเดือนละ 182 ชั่วโมง) หรือ ชั่วโมงละ 29.95 เชคเกล หรือ 276.20 บาท (สำหรับการทำงานเดือนละ 186 ชั่วโมง) 

...

จากเดิมอยู่ที่ 5,300 เชคเกล (48,880บาท) หรือ ชั่วโมงละ 29.12 เชคเกล หรือ 268.54 บาท (สำหรับการทำงานเดือนละ 182 ชั่วโมง) โดยมีผลตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน 2566 เป็นต้นมา

*** หมายเหตุ อ้างอิง อัตราแลกเปลี่ยน ณ วันที่ 11 ต.ค. 2566 *** 

โควตาแรงงานไทยในภาคการเกษตรของอิสราเอล : 

อ้างอิงจากถ้อยแถลงของกระทรวงแรงงาน เมื่อวันที่ 9 ม.ค. 2566 ซึ่งได้มีการระบุว่า โควตาจัดส่งแรงงานไทยไปทำงานภาคการเกษตรในประเทศอิสราเอล ปี 2566 อยู่ที่ 6,500 คน ซึ่งเพิ่มขึ้นจากปี 2564 ซึ่งอยู่ที่ 5,000 คน 

ทั้งนี้ ถ้อยแถลงดังกล่าวของกระทรวงแรงงาน ยังได้ระบุถึง “คุณสมบัติของผู้ที่สนใจเดินทางไปทำงานภาคการเกษตรในประเทศอิสราเอล” เอาไว้ดังต่อไปนี้... 

1. เพศชาย (พ้นภาระการรับราชการทหารแล้ว) 

2. อายุระหว่าง 25-41 ปี 

3. สัญชาติไทย 

4. ไม่มีประวัติอาชญากรรม 

5. ไม่มีคู่สมรส บุตร หรือ บิดา มารดาพำนักอยู่ในประเทศอิสราเอล และไม่เคยทำงานอยู่ในประเทศอิสราเอล 

6. สุขภาพแข็งแรง ตาไม่บอดสี ไม่เสพสารเสพติด 

7. ต้องมีประสบการณ์ทำงานภาคการเกษตร (ปลูกพืช/เลี้ยงสัตว์)

สัญญาการว่าจ้างและรายได้จากอาชีพภาคการเกษตรในอิสราเอล : 

อ้างอิงจากถ้อยแถลงของกระทรวงแรงงาน ระบุว่า โควตาจัดส่งแรงงานไทยไปทำงานภาคการเกษตรในประเทศอิสราเอล ปี 2566 จะมีระยะเวลาการจ้างงานตามสัญญาจ้าง 2 ปี แต่ไม่เกิน 5 ปี 3 เดือน 

ส่วน “รายได้” ที่แรงงานไทยจะได้รับนั้นเป็นเงินเดือนขั้นต่ำก่อนหักภาษี เดือนละ 5,300 เชคเกล (48,880 บาท) 

*** หมายเหตุ อ้างอิง อัตราแลกเปลี่ยน ณ วันที่ 11 ต.ค. 2566 *** 

ค่าใช้จ่ายสำหรับแรงงานในการเดินทางไปทำงานที่ประเทศอิสราเอล : 

อ้างอิงจากถ้อยแถลงของกระทรวงแรงงาน ระบุถึง ค่าใช้จ่ายในการเดินทางไปทำงานที่ประเทศอิสราเอลเอาไว้ดังต่อไปนี้ “ค่าใช้จ่ายทั้งหมด” รวม 65,250 บาท โดยแบ่งออกเป็น 2 ส่วน คือ.. 

1. ค่าใช้จ่ายก่อนเดินทาง เช่น ค่าธรรมเนียมการตรวจสอบประวัติอาชญากรรม, ค่าธรรมเนียมการขอรับหนังสือเดินทาง, ค่าตรวจสุขภาพ ค่าบัตรโดยสารเครื่องบินเที่ยวเดียวจากประเทศไทยไปอิสราเอล, ค่าสมาชิกกองทุนเพื่อช่วยเหลือคนหางานไปทำงานในต่างประเทศ 

2. ค่าใช้จ่ายหลังจากเดินทางไปถึงตามกฎหมายของประเทศอิสราเอล ประมาณ 37,000 บาท

เปิดสถิติแรงงานไทยในต่างแดนส่งเงินกลับประเทศผ่านธนาคาร ย้อน 5 ปีหลังสุด : 

ปี 2561 : 144,451 ล้านบาท

ปี 2562 : 192,903 ล้านบาท

ปี 2563 : 200,988 ล้านบาท

ปี 2564 : 217,343 ล้านบาท

ปี 2565 : 233,989 ล้านบาท

และล่าสุด จากรายงานของ “ธนาคารแห่งประเทศไทย” ระบุว่าในช่วงระหว่างเดือนมกราคม - สิงหาคม ปี 2566 ยอดประมาณการรายได้ที่คนหางานในต่างประเทศส่งกลับโดยผ่านระบบธนาคารแห่งประเทศไทย มียอดรวมทั้งสิ้นแล้ว 164,779 ล้านบาท  

ทีมข่าวเฉพาะกิจไทยรัฐออนไลน์ รายงาน 

อ่านบทความที่เกี่ยวข้อง