ผอ.สำนักปฏิบัติการไซเบอร์แห่งชาติ เตือนภัย 3 ช่องโหว่ สำคัญ ป้องกันคลิปลับ ภาพหวิว หลุดโลกโซเชียลฯ แนะวิธีลบข้อมูลอย่างถูกวิธี ขั้นตอนการเอาผิด...

โลกเทคโนโลยียิ่งก้าวล้ำ ทันสมัย ความปลอดภัยในชีวิต และ ทรัพย์สินก็ยิ่งลดลง... คำกล่าวข้างต้น ไม่ได้เกินจริงแม้แต่น้อย และมักเกิดขึ้นซ้ำแล้วซ้ำอีก เฉกเช่นเดียวกับกรณี “คลิปลับ” ภาพส่วนตัวของสาวหน้าตาคล้ายนักร้องชื่อดัง ที่กำลังเป็นข่าวในขณะนี้

เหตุการณ์ครั้งนี้ ได้พูดถึงอย่างกว้างขวางในโลกโซเชียลฯ ซึ่งเมื่อทุกคนได้ทราบต่างให้กำลังใจเธอ เพราะเธอไม่ได้ทำผิดอะไร 

สำหรับปัญหา คลิปลับ ภาพโป๊เปลือยหลุดนั้น ปัจจุบันก็มีการหลุดออกมาหลายลักษณะ ซึ่งเรื่องนี้ ทีมข่าวเฉพาะกิจไทยรัฐออนไลน์ ได้พูดคุยกับ พ.ต.อ.ณัทกฤช พรหมจันทร์ ผอ.สำนักปฏิบัติการ คณะกรรมการ การรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์แห่งชาติ (สกมช.) กล่าวว่า ความจริงมีการร้องเรียนเรื่องลักษณะนี้มาโดยตลอด แต่ที่ไม่เป็นข่าว เพราะคนเหล่านั้นไม่ใช่บุคคลที่มีชื่อเสียง โดยเฉพาะกลุ่มนักศึกษา ซึ่งคลิปเหล่านี้เมื่อหลุดไปแล้ว ก็จะไปอยู่บนเว็บโป๊ 

...

คำแนะนำสำหรับเหยื่อที่ถูกปล่อยภาพ หรือ คลิปลับ

ผอ.สำนักปฏิบัติการ สกมช. ระบุว่า ส่วนใหญ่เหยื่อของการเผยแพร่ภาพ หรือคลิปลับ จะไม่ค่อยรู้ตัวว่า คลิปหลุดไปแล้ว ส่วนมากจะมีคนมาบอก ดังนั้น เมื่อเรารู้แล้ว สิ่งที่ควรทำ ประกอบด้วย 

1. รีพอร์ต : สื่อต่างๆ ที่นำภาพ หรือคลิปไปเผยแพร่ ซึ่งโดยปกติแล้ว บางเว็บโซเชียลมีเดีย จะไม่นำภาพหรือคลิปโป๊เปลือยมาโชว์ อาจใช้ภาพปกติ แต่...คนที่เข้ามาคอมเมนต์ ก็มักจะ “ชี้เป้า” ฉะนั้น จึงจำเป็นต้องรีพอร์ตสิ่งเหล่านี้ด้วย เพราะเราต้องขอความร่วมมือกับสื่อเหล่านี้ด้วยเพื่อป้องกันการกระจายข้อมูล เพราะหากข้อมูลกระจายน้อยลง เรื่องก็จะเงียบลงได้เร็ว 

2. แจ้งความ : ผลดี คือดำเนินคดีผู้เกี่ยวข้อง ทำให้ผู้คิดจะเผยแพร่เกรงกลัว 

3. โพสต์ : แสดงเจตนาดำเนินคดีให้ถึงที่สุด เพื่อให้สื่อ-บุคคล ระมัดระวังในการเผยแพร่ และตำรวจก็จะมีอำนาจอย่างเต็มที่ 

“หากผู้เสียหายโพสต์ว่า จะเอาผิดกับผู้เผยแพร่ จะดำเนินคดีถึงที่สุดเว็บไซต์ และสื่อ ก็จะระมัดระวังมากขึ้น การแจ้งความและการโพสต์ดังกล่าว จึงมีความสำคัญ” 

นำเข้า เผยแพร่ และส่งต่อ 

พ.ต.อ.ณัทกฤช ย้ำว่า การนำเข้า เผยแพร่ และส่งต่อภาพ หรือคลิปอนาจาร ถือเป็นความผิดตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ จะมีโทษจำคุกไม่เกิน 5 ปี และปรับไม่เกิน 1 แสน หรือทั้งจำทั้งปรับ 

“หากมีการนำภาพ หรือคลิป ไปโพสต์ แล้วมีคนเข้ามาดู 100 คน โหลด 100 คน ก็ถือเป็นต่างกรรมต่างวาระ ก็จะโดน 100 กรณี ซึ่งกฎหมายในโลกออนไลน์ ค่อนข้างหนัก ซึ่งถือเป็นเรื่องดีสำหรับเหยื่อที่ถูกกระทำ” 

พ.ต.ท.ณัทกฤช เผยว่า คลิปลับ และภาพโป๊ ส่วนใหญ่ที่หลุด มาจากการเก็บโดยเจ้าตัวเอง หรือพาร์ตเนอร์ และส่วนมากมาจากความสมัครใจ ดังนั้น จึงอยากให้ผู้คิดจะถ่าย หรือถ่ายไปแล้ว เข้าใจว่า นี่คือ “ความเสี่ยง” ที่จะหลุดไปได้ โดยเฉพาะการเก็บภาพ หรือวิดีโอไว้ในคอมพิวเตอร์ โทรศัพท์มือถือ เมมโมรีการ์ด หรือแม้แต่การอัปโหลดไปเก็บไว้บนคลาวด์ ซึ่งกลายเป็นการอัปขึ้นไปอัตโนมัติ โดยที่บางคนไม่รู้ตัวด้วยซ้ำ 

“การที่ภาพ หรือคลิปลับ วิ่งขึ้นไปบนคลาวด์ได้ก็แปลว่า มีช่องทางในการถูกขโมย หรือแฮกข้อมูลไปได้”

...

3 ช่องทาง โอกาส คลิปลับ ภาพหวิว หลุดรั่ว 

1. การหลุดรั่วจาก Cloud

- คนใกล้ชิด ที่รู้ Username หรือ Password  

- การล็อกอินค้างไว้ในที่ทำงาน แล้วเกิดการหลุดรั่ว 

2. หลุดรั่วจากอุปกรณ์ 

กรณีเปลี่ยนมืออุปกรณ์ แบบตั้งใจหรือไม่ตั้งใจ ข้อมูลก็หลุดรั่วได้ เช่น การนำโทรศัพทมือถือไปซ่อม หรือแม้แต่การเอาไป trade in กับศูนย์บริการต่างๆ ซึ่งวิธีการนี้ถือว่ามีความเสี่ยง หลุดรั่ว และถึงแม้จะตั้งค่าโรงงาน หรือลบแล้ว ก็ยังกู้ข้อมูลได้ เพราะการลบดังกล่าว ไม่ได้เป็นการลบอย่างถูกวิธี 

- หลุดรั่ว ระหว่างถ่ายโอนข้อมูล โดยเจ้าหน้าที่ trade in เช่น การโยกข้อมูลไว้บน Cloud กลาง หรือแอบส่งผ่าน การส่งข้อมูลโดยตรง เช่น AirDrop  

พ.ต.ท.ณัทกฤช กล่าวว่า โอกาสหลุดรั่ว อาจจะมาจาก เจ้าหน้าที่  trade in ในการถ่ายโอนข้อมูลเครื่องเก่าสู่เครื่องใหม่ โดยอาจจะใช้วิธีการอัปโหลด มีการผ่าน Cloud กลาง หรือการแอบส่งมูลส่งตรง AirDrop ก็ได้  

“การฟอร์แมต ตั้งค่าโรงงาน ไม่ใช่เป็นการลบข้อมูลที่แท้จริง เพราะข้อมูลดังกล่าวไม่ได้หายไป”

3. หลุดรั่ว จากการแฮก โดยกลุ่มแฮกเกอร์ 

- ตั้งรหัสที่เดาง่าย เช่น วันเกิด 

- เนื่องจากข้อมูลต่างๆ จะมีการผูกโยงกับ อีเมล, Facebook, Apple ID หากถูกแฮกทางใดทางหนึ่ง จะเข้าถึงบัญชีต่างๆ รวมถึงมีเดียต่างๆ ด้วย 

“เรื่องนี้ดาราต่างประเทศโดนเยอะ เพราะเมื่อแฮกเกอร์ เข้าถึง  Cloud ได้ ภาพ หรือคลิปลับ ก็จะหลุดรั่วออกมา” 

...

การลบข้อมูลบนอุปกรณ์ต่างๆ อย่างถูกวิธี 

ผอ.สำนักปฏิบัติการ สกมช. แนะนำวิธีการลบไฟล์ข้อมูลต่างๆ อย่างถูกวิธี คือ 

1. สำรองข้อมูล: ก่อนลบไฟล์ใดๆ ควรสำรองข้อมูลในมือถือของคุณก่อน เพื่อไม่ให้ข้อมูลที่คุณต้องการถูกลบออกไป และสามารถกู้คืนได้หากจำเป็น คุณสามารถสำรองข้อมูลลงในคอมพิวเตอร์หรือบริการบนคลาวด์ เช่น Google Drive หรือ Dropbox.

2. ลบไฟล์: เมื่อคุณมั่นใจและตรวจสอบว่าข้อมูลที่คุณต้องการสำรองไว้แล้ว ให้คุณลบไฟล์ที่ต้องการจากมือถือของคุณ วิธีที่คุณลบไฟล์นั้นจะแตกต่างกันไปขึ้นอยู่กับระบบปฏิบัติการของมือถือของคุณ

- สำหรับ Android ใช้แอปฯ เจ้าของระบบหรือแอปฯ บริการซึ่งสามารถค้นหาและลบไฟล์ที่ต้องการได้ โดยลองค้นหา "File Manager" ในร้านค้าแอปฯ ของ Android เพื่อดูหาแอปฯ ที่ใช้ในการจัดการไฟล์และลบไฟล์

- สำหรับ iOS (iPhone): ใช้แอปฯ "Photos" เพื่อเลือกและลบรูปภาพหรือวิดีโอที่คุณต้องการ หรือใช้แอปฯ "Files" เพื่อลบไฟล์อื่นๆ

3. ล้างข้อมูลที่ถูกลบ: เมื่อคุณลบไฟล์ มันอาจยังคงอยู่ในหน่วยความจำของมือถือ แต่หากมีการอัดทับข้อมูลใหม่ เพื่อป้องกันไม่ให้คนอื่นสามารถกู้คืนข้อมูลที่ถูกลบได้ คุณควรใช้แอปพลิเคชันลบข้อมูลที่ถูกลบอย่างถาวร หรือจะใช้คอมพิวเตอร์เพื่อฟอร์แมตหน่วยความจำในมือถือ (ในกรณีที่มีความจำน้อยลง)

4. ระวังการใช้บริการคลาวด์: ถ้าคุณมีการสำรองข้อมูลในบริการคลาวด์ เช่น Google Drive หรือ Dropbox. คุณควรตรวจสอบว่าไฟล์ที่คุณลบจากมือถือไม่ถูกเก็บไว้ในบริการนี้อีกต่อไป และลบออกจากนั้นถ้าคุณต้องการ

5. ตรวจสอบการเข้าถึงข้อมูล: ควรตรวจสอบการเข้าถึงข้อมูลบนมือถือของคุณเพื่อป้องกันไม่ให้มีคนอื่นเข้าถึงข้อมูลส่วนตัว คุณสามารถตั้งรหัสผ่านหรือใช้สิ่งกีดขวางอื่นๆ เช่น การตั้งคำถามความปลอดภัย (security question) หรือการใช้ตัวพิมพ์รหัสผ่าน

...

เตือน ภาพหวิว คลิปลับ ไม่ควรถ่าย เพราะ   

ในช่วงท้าย ผู้เชี่ยวชาญด้านไซเบอร์ ได้เตือนว่า ปัจจุบันเทคโนโลยีถูกโยงระหว่างแอ็กเคานต์ส่วนตัว และ Cloud บางทีมีภาพเข้ามาโชว์ เช่นภาพเตือนความจำ บางครั้งเรายังงง เลยว่าเราถ่ายเมื่อไหร่ และมันดึงออกไปเมื่อไหร่ 

“เราต้องเข้าใจถึงเทคโนโลยีปัจจุบัน เพราะมีการเข้าถึงหมดอย่างรวดเร็ว และอัปโหลดอัตโนมัติ ฉะนั้น เราไม่ควรถ่าย หรือเก็บภาพเหล่านี้ไว้ในอุปกรณ์ ก็จะทำให้ป้องกันปัญหาเหล่านี้ได้ นอกจากนี้ การเปลี่ยนเครื่อง ถ่ายโอนข้อมูล ก็ต้องลบอย่างถูกวิธี ก็จะแก้ได้ และการตั้งรหัสผ่าน ให้ซับซ้อน ใส่ตัวเลข ใส่อักขระ ตัวเล็ก ตัวใหญ่ และเครื่องหมายพิเศษ รวมมากกว่า 8 ตัวอักษร ก็จะช่วยป้องกันการแฮกได้ แต่อย่าเอาข้อมูลส่วนตัวมาตั้งเป็นรหัส”   

ทีมข่าวเฉพาะกิจไทยรัฐออนไลน์ 

อ่านบทความที่น่าสนใจ