เผยสถานการณ์ "เสือโคร่ง" ภาพรวมทั่วโลกดีขึ้น เช่นเดียวกับของไทย แต่...พบว่า "พรานป่า" จากเพื่อนบ้านเริ่มรุกคืบ โดยมีนายทุนสนับสนุน...
29 กรกฎาคม ของทุกปี นอกจากจะเป็น “วันภาษาไทย” แล้วยังเป็น “วันเสือโคร่งโลก” ด้วย
“เสือโคร่ง” ถือเป็นสัตว์ประเภทหนึ่งที่ถูกล่าจนเหลือน้อย ใกล้สูญพันธุ์จากธรรมชาติ จากเดิมที่เคยมีนับแสนตัวทั่วโลก ก่อนจะลดลงเหลือหลักพันตัว เมื่อก้าวเข้าสู่ศตวรรษที่ 20 เรียกว่า หายไปกว่า 97% แต่ที่เหลือรอด และยังพบได้ใน 13 ประเทศ ประกอบด้วย บังกลาเทศ ภูฏาน กัมพูชา จีน อินเดีย อินโดนีเซีย (สุมาตรา) ลาว มาเลเซีย เมียนมา เนปาล รัสเซีย เวียดนาม และไทย (ไม่รวมเกาหลีเหนือ เพราะพบไม่กี่ตัว)
สถานการณ์ประชากรเสือโคร่งดีขึ้น
ทีมข่าวเฉพาะกิจไทยรัฐออนไลน์ พูดคุยกับ บอย “ภาณุเดช เกิดมะลิ” เลขาธิการมูลนิธิสืบนาคะเสถียร กล่าวว่า ภาพรวมประชากรเสือโคร่งเพิ่มขึ้นเท่าตัว ตั้งแต่เรามีการลงนาม MOU รวมกันกับ 13 ประเทศ ซึ่งก่อนลงนามนั้นมีการสำรวจประชากรเสือมีประมาณ 2,300 ตัว (เป็นตัวเลขประมาณ เพราะไม่รู้ประชากรที่แท้จริง) และจากข้อมูลที่มีการประชุมกันล่าสุด คาดว่ามีเกิน 4,000 ตัว ใน 13 ประเทศที่มีเสือโคร่งอาศัย
สำหรับ ประเทศไทย มีเสือโคร่งจำนวน 160 ตัว ตัวเลขตรงนี้เป็นการตรวจสอบยืนยันชัดเจน โดยมี ID ทุกตัว แบ่งเป็นพื้นที่อาศัย 100 ตัว ในโซนพื้นที่ป่าตะวันตก โดยเฉพาะ “ห้วยขาแข้ง” ประมาณ 70 ตัว อีก 30 ตัว ในโซนทุ่งใหญ่นเรศวรทั้งตะวันออกและตะวันตก สลักพระ และแม่วงก์
...
ส่วนอีก 60 ตัว จะอยู่ในพื้นที่ดงพญาเย็น แก่งกระจาน และในพื้นที่เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่ากรมหลวงชุมพรฯ
“จำนวนประชากรเสือโคร่งไทยถือว่ามีความใกล้เคียงกับข้อมูลระดับโลก เพราะมีการเพิ่มขึ้นเท่าตัวเช่นเดียวกัน”
เลขาธิการมูลนิธิสืบนาคะเสถียร ให้ความเห็นในมุมส่วนตัวว่า ปัจจัยการเพิ่มนั้นส่วนหนึ่งอาจจะมาจากการมีเสือโคร่งอาศัยในป่าอยู่แล้ว แต่ช่วงหลังมีการเก็บข้อมูลและทำวิจัยที่ชัดเจน ทำให้เราพบการมีอยู่ของเสือโคร่งมากขึ้น เราได้เข้าไปติดตั้งกล้อง แยกลาย แยกตัวตน ทำให้เรามีตัวเลขชัดเจน
“การเพิ่มขึ้นที่ชัดเจน ส่วนหนึ่งก็มาจากทุกหน่วยงานร่วมกันดูแลปกป้อง และอีกส่วนหนึ่งเพิ่มขึ้นเพราะมันมีอยู่แล้ว แต่เราไม่รู้มาก่อน เช่น ในพื้นที่อุทยานแห่งชาติเขาแหลม จากข่าวเสือโคร่งมากินวัวชาวบ้าน ทั้งนี้อาจจะเป็นประชากรเสือที่เดินทางไปมาระหว่างไทยและ ประเทศเพื่อนบ้าน แบบนี้เป็นเหมือนตัวเลขแฝงอยู่ หากเรามีการเก็บข้อมูลที่เข้มข้นกว่านี้ก็อาจจะพบความมีอยู่เพิ่มขึ้นก็ได้ โดยส่วนตัวคาดว่าอาจจะมีถึง 200 ตัว เพราะมีการรายงานการพบในหลายที่”
ปัจจัยการมีอยู่ของ “เสือโคร่ง” ถิ่นที่อยู่ อาณาเขต และเหยื่อ (อาหาร)
นายภาณุเดช กล่าวถึงปัจจัยสำคัญที่จะทำให้ “เสือโคร่ง” อยู่รอดนั้น คือ ถิ่นที่อยู่อาศัย และเหยื่อ หากเขามีพื้นที่อย่างเพียงพอ มีอาหารให้ล่า เช่น โซนห้วยขาแข้ง หรือแม่วงก์ เหยื่อหลักในการล่าคือ วัวแดง ขนาดการล่าที่ไม่เหนื่อยมาก และสามารถกินแล้วอยู่ได้เป็นเดือน แต่ถ้าเป็นสัตว์เล็กลงมาอย่าง เก้ง กวาง ก็อาจจะกินไม่เพียงพอ
ลักษณะการล่าของ “เสือโคร่ง” นั้นจะมีพื้นที่ของมันอยู่ หากเป็นเสือตัวผู้จะมีถิ่นอาศัยชัดเจน โดยมีการประกาศอาณาเขต (ทำกลิ่น) ซึ่งเมื่อมีการประกาศอาณาเขต มันจะมีเดินลาดตระเวนเพื่อดูแลพื้นที่ เหมือนป้องกันไม่ให้เสือตัวผู้อื่นเข้ามา
เสือตัวผู้มีพื้นที่ดูแล 200-300 ตร.กม. ซึ่งถือว่าใหญ่มากสำหรับไทย เมื่อเทียบกับประเทศอื่นๆ ส่วนหนึ่งมาจาก “เหยื่อ” ที่ไม่ค่อยมีให้ล่ามากนัก แต่สำหรับบางพื้นที่ เช่น ห้วยขาแข้ง มีเหยื่อคือ วัวแดงเยอะ ก็อาจจะทำให้พื้นที่ในการล่าลดลง
เสือตัวเมีย จะใช้พื้นซ้อนทับกับตัวผู้ได้ และใช้พื้นที่น้อยกว่า ประมาณ 50-70 ตร.กม. ซึ่งในอาณาเขตของตัวผู้อาจจะมีเสือตัวเมีย 2-3 ตัวได้
ทั้งนี้ หากมีเสือตัวผู้ตัวอื่นเข้ามาในอาณาเขต ก็อาจจะมีการต่อสู้แย่งชิงกัน เป็นที่มาของการพบซากเสือที่บาดเจ็บและเสียชีวิต
...
พรานเพื่อนบ้านรุกคืบ หลังล่าประเทศตัวเองจนหมด
เลขาธิการมูลนิธิสืบฯ ยอมรับว่าปัจจุบันยังมีภัยคุกคามเสือโคร่งจากกลุ่มพรานป่าซึ่งมีทั้งในประเทศ และประเทศเพื่อนบ้าน กลุ่มคนเหล่านี้ มักเดินทางเข้าประเทศอย่างถูกกฎหมาย และใช้เครือญาติเป็นชาวบ้านชนกลุ่มน้อยที่เคยเป็นพราน หรือยังเป็นอยู่ ช่วยอำนวยความสะดวก โดยมีกลุ่มทุนจากประเทศที่ต้องการอวัยวะเสือเป็นผู้สนับสนุนเงินทุน
“กลุ่มทุนดังกล่าวต้องการเสือทั้งตัว แต่ถ้าไม่ได้ก็จะถูกชำแหละอวัยวะต่างๆ โดยเฉพาะในเวียดนาม กลุ่มพรานล่าเสือโคร่ง ล่าไปเกือบหมดแล้ว ขณะที่ลาว และกัมพูชา สภาพไม่แตกต่างกัน”
นายภาณุเดช เผยว่า มูลค่าเสือโคร่ง 1 ตัว ราคาหลายแสนบาท ทุกส่วนของเสือโคร่งเป็นที่ต้องการ โดยเฉพาะหนัง เนื้อ เท้า กระดูกเสือ เป็นต้น
แนวทางป้องกัน และแก้ปัญหา “นักล่า” ที่ชื่อว่า “มนุษย์”
เลขาธิการมูลนิธิสืบฯ เล่าถึงแนวทางการแก้ปัญหาพรานนักล่าว่า ในระดับประเทศ ทางกรมอุทยานฯ ได้ประชุมหารือและหาแนวทางป้องกันกับเจ้าหน้านานาชาติอยู่ตลอด ขณะเดียวกันในระดับประเทศ ทางมูลนิธิสืบฯ ก็มีการร่วมมือกับทางด่านตรวจคนเข้าเมืองมากขึ้น และเราพยายามให้ข้อมูลกับทางเจ้าหน้าที่ รวมถึงเจ้าหน้าที่กรมอุทยานฯ ที่เฝ้าพื้นที่ตามด่านสำคัญๆ ด้วย
...
“เพราะตอนที่พรานเหล่านี้เข้าประเทศ มักเข้าช่องทางด่านปกติ ส่วนเสือที่ได้ หรืออวัยวะต่างๆ บางครั้งจะมีการสวมรอยด้วยการนำไปฝากไว้กับ “สวนสัตว์” โดยเฉพาะพื้นที่ชายแดน ซึ่งทางกรมอุทยานฯ ได้มีการตรวจสอบเรื่องนี้อยู่ โดยเฉพาะสวนสัตว์ที่ไม่เปิดให้ท่องเที่ยว เป็นการเปิดแบบบังหน้า เพราะเหตุนี้ทางกรมฯ จึงพยายามสำรวจประชากรเพื่อทำ ID ให้ชัดเจน ป้องกันการสวมรอย”
คุณประโยชน์ในการวิจัย “เสือโคร่ง”
ทีมข่าวฯ ถามถึงคุณประโยชน์ในการติดตามและวิจัยเสือโคร่ง นายภาณุเดช อธิบายว่า การที่กรมอุทยานฯ ติดกล้องตามดูเสือโคร่ง เราได้ประโยชน์ 2 อย่าง อย่างแรก คือ การติดตามจำนวนประชากร เป็นการสำรวจเพื่อได้ข้อมูลที่ชัดเจนว่าแต่ละพื้นที่มีเสือจำนวนเท่าใดแน่ เพื่อจำแนกตัว ซึ่งเมื่อได้ข้อมูลชัดเจนแล้วจะทำให้เราบริหารจัดการได้ โดยเฉพาะการคุ้มครองและเฝ้าระวัง
ประโยชน์ข้อที่ 2 คือ การติดตามพฤติกรรม และเช็กปัญหาที่จะเกิดขึ้นในธรรมชาติ มีปัญหา “เลือดชิด” (สืบพันธุ์กับเครือญาติกันเอง)
...
ปัญหาใหม่ “เสือโคร่ง” ออกนอกพื้นที่ ชาวบ้านเดือดร้อน
อย่างไรก็ตามในช่วงหลังมานี้พบว่าเราเจอกับปัญหาใหม่ เสือโคร่งออกนอกพื้นที่ และเข้าไปหมู่บ้านคน โดยมีสาเหตุจากการที่สัตว์ป่าบางชนิดออกมานอกป่า และ “เสือโคร่ง” ก็ตามเหยื่อเหล่านั้นออกมา เช่น พื้นที่ป่าตะวันตกเริ่มพบเสือโคร่งตามวัวแดง
หรืออีก 1 ปัจจัย คือ เสือโคร่งแก่ จึงถูกขับไล่ออกจากพื้นที่ เพราะไม่สามารถปกป้องอาณาเขตได้ หรือต้องล่าเหยื่อที่ล่าได้ง่ายขึ้น เช่น สัตว์เลี้ยงของคน เช่น วัว แพะ ที่ชาวบ้านเลี้ยงไว้ ทำให้เกิดการกระทบกระทั่งกับคน ซึ่งตอนนี้มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น
แนวทางการแก้ปัญหา คือ การทำความเข้าใจกับชาวบ้าน เพราะบางคนก็โกรธแค้นที่วัว แพะถูกกิน ซึ่งหากโดนบ่อยๆ ก็จะกลายเป็นทัศนคติเชิงลบ สิ่งที่ทำได้ คือ มีการส่งเจ้าหน้าที่ชุดเฝ้าระวัง หรือมีการตั้งกองทุนเพื่อหาเงินมาเยียวยาให้กับชาวบ้าน ซึ่งเรื่องนี้อาจจะต้องร่วมกันทำงานกับมูลนิธิต่างๆ รวมไปถึงมหาดไทย โดยอาจมีคณะกรรมการร่วม
สมดุลของป่า ธรรมชาติ สะท้อนจาก "เสือ"
เลขาธิการมูลนิธิสืบฯ สรุปว่า ในระบบนิเวศ เสือ นับเป็นหัวสุดของระบบห่วงโซ่อาหาร จะเป็นตัวช่วยจัดสมดุลธรรมชาติ ซึ่งในที่นี้หมายถึงการกำจัดผู้อ่อนแอ เจ็บป่วยที่ดูแลไม่ได้ ส่งผลให้โครงสร้างประชากรสัตว์ในป่ามีความสมดุล และแข็งแรง
ขณะเดียวกัน “เสือ” เปรียบเสมือนตัวชี้วัดความสมดุลของป่า เพราะหากมีเสืออยู่ แปลว่าตัวชี้วัดนี้ได้คะแนนเกือบเต็ม เพราะป่าไม่ได้มีแค่ต้นไม้อย่างเดียว แต่มันคือภาพรวมในระบบนิเวศด้วย ซึ่งในประเทศไทยก็มีอยู่ไม่กี่ที่ ที่สามารถเป็นที่อยู่ของเสือได้ อาทิ กลุ่มป่าตะวันตก ดงพญาเย็น เขาใหญ่ แก่งกระจาน ภูเขียว-น้ำหนาว เป็นต้น
สิ่งที่อยากฝาก คือ การอนุรักษ์เสือโคร่ง ควรจะเป็นงานของคนทั้งชาติ ไม่อยากเห็นแค่ว่าจัดงานแล้วให้คนมาเดินดู แต่เราอยากเห็นการอนุรักษ์เสือโคร่งเติบโตในทุกมิติ ทั้งงานวิชาการ ความสัมพันธ์ในระดับประเทศ.
ทีมข่าวเฉพาะกิจไทยรัฐออนไลน์ รายงาน
ที่มารูป : กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และ พันธุ์พืช
อ่านบทความที่น่าสนใจ