6 ปัจจัยที่นำไปสู่เหตุวิวาทระหว่างช้างป่าและมนุษย์ในประเทศไทย อะไรคือทางออกที่ยั่งยืน?...

นอกจากประเทศไทยจะถือเป็นเพียง 1 ใน 13 ประเทศทั่วโลกที่มี “ช้างป่า” มีถิ่นอาศัยในป่าตามสภาพธรรมชาติแล้ว ณ ปัจจุบัน ประเทศไทยยังมีจำนวนช้างป่ารวมกันมากกว่า 3,500-4,000 ตัวด้วย โดยกระจายอยู่ในป่าอนุรักษ์ 68 แห่ง ซึ่งแบ่งเป็น 7 กลุ่มป่า ประกอบด้วย...

1.กลุ่มป่าตะวันตก เช่น แก่งกระจาน สลักพระ ห้วยขาแข้ง ประมาณ 400-600 ตัว 

2.กลุ่มป่ารอยต่อตะวันออก 5 จังหวัด ประมาณ 300-400 ตัว 

3.กลุ่มป่าภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 500-600 ตัว 

4.กลุ่มป่าดงพญาเย็น 500-600 ตัว 

5.กลุ่มป่าเขาใหญ่ 500-600 ตัว

6.กลุ่มป่าภาคใต้ คลองแสง-เขาสก จ.สุราษฎร์ธานี 100-150 ตัว 

7.กลุ่มป่าภาคเหนือ 110-300 ตัว 

...

อย่างไรก็ดี ในเมื่อช้างเพิ่มจำนวนขึ้น ในขณะที่พื้นที่ป่าซึ่งถือเป็นพื้นที่หากินหลักของช้างป่าในประเทศไทย ค่อยๆ ลดลงตามลำดับ “จากการรุกขยายพื้นที่เมืองและพื้นที่การเพาะปลูกเข้าสู่พื้นที่ป่าเพื่อพัฒนาประเทศ” ความขัดแย้งระหว่าง “ช้างป่าและมนุษย์" จึงค่อยๆ เพิ่มพูนขึ้นจนกระทั่งบางครั้งนำไปสู่ “ความรุนแรง” จนถึงขั้น “พลาดพลั้ง” ทำให้ “ช้างตาย” ไม่ว่าจะเป็นทั้งการล้อมรั้วไฟฟ้า หรือการวางกับดัก      

ฉะนั้นคำถามที่น่าสนใจ คือ สาเหตุความขัดแย้ง “ระหว่างมนุษย์และช้างป่า” และ “เรา” จะอยู่ร่วมกันอย่าง “สันติ” ได้อย่างไร? และจากบรรทัดนี้ไป...คือ ข้อมูลงานวิจัยที่น่าสนใจเรื่อง “การศึกษาข้อเสนอการแก้ปัญหาการอยู่ร่วมกันระหว่างชุมชนและช้างป่าในพื้นที่การพัฒนา 2 กระแส ปี 2560 ของ “นายปิยะนันท์ มูลตรีมา” ปลัดอำเภอสตึก จังหวัดบุรีรัมย์ และอดีตปลัดอำเภอท่าตะเกียบ จังหวัดฉะเชิงเทรา (2558-2562)   

*** หมายเหตุ ข้อมูลล่าสุดจากการสำรวจของสำนักจัดการที่ดินป่าไม้ กรมป่าไม้ เมื่อปี 2565 ปัจจุบันประเทศไทยมีพื้นที่ที่มีสภาพป่าไม้เพียง 31.57% ของพื้นที่ประเทศ หรือคิดเป็น 102,135,974 ไร่ *** 

นายปิยะนันท์ มูลตรีมา ปลัดอำเภอสตึก จังหวัดบุรีรัมย์ เจ้าของงานวิจัย
นายปิยะนันท์ มูลตรีมา ปลัดอำเภอสตึก จังหวัดบุรีรัมย์ เจ้าของงานวิจัย

“สาเหตุที่ผมสนใจปัญหาความขัดแย้งระหว่างช้างและประชาชนในพื้นที่ป่ารอยต่อ 5 จังหวัด เนื่องจากในช่วงที่ผมทำงานเป็นปลัดอำเภอท่าตะเกียบ จังหวัดฉะเชิงเทรา ได้พบเห็นปัญหาในพื้นที่อนุรักษ์และพื้นที่ทำกินของประชาชน ซึ่งเกิดขึ้นจากความรุนแรงที่ช้างทำกับคน และคนทำกับช้าง จากประเด็นปัญหาเรื่องการลอบเข้าไปกัดกินพืชผลในไร่นาของเกษตรกร” ปลัดปิยะนันท์ เริ่มต้นการสนทนากับ “ทีมข่าวเฉพาะกิจไทยรัฐออนไลน์” 

ความรุนแรงระหว่างช้างและคน ในพื้นที่ป่ารอยต่อ 5 จังหวัด : 

งานวิจัยของ “นายปิยะนันท์ มูลตรีมา” มุ่งให้ความสนใจไปที่ “พื้นที่ป่ารอยต่อ 5 จังหวัด” เนื่องจากเป็นผืนป่าที่มีความสำคัญทั้งทางด้านเศรษฐกิจ สังคม และความหลากหลายทางชีวภาพ และนับเป็นป่าผืนใหญ่ที่อยู่ไม่ไกลจากกรุงเทพมหานครมากนัก โดยอยู่บริเวณตอนกลางของภาคตะวันออก และมีอาณาเขตคิดเป็นพื้นที่มากถึง 1.2 ล้านไร่ ครอบคลุมติดต่อกัน 5 จังหวัด ประกอบด้วย 1.จังหวัดฉะเชิงเทรา 2.จังหวัดสระแก้ว 3.จังหวัดจันทบุรี 4.จังหวัดระยอง 5.จังหวัดชลบุรี อีกทั้งยังเป็นพื้นที่อนุรักษ์สำคัญแห่งหนึ่งของประเทศไทย เนื่องจากเป็นพื้นที่อุทยานแห่งชาติ และเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าถึง 5 แห่ง ประกอบด้วย 

1.เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าเขาอ่างฤาไน 2.เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าเขาสอยดาว 3.อุทยานแห่งชาติเขาคิชฌกูฏ 4.อุทยานแห่งชาติเขาชะเมา-เขาวง 5.อุทยานแห่งชาติเขา 15 ชั้น

...

โดยจากการสำรวจประชากรช้างป่าล่าสุดเมื่อปี 2560 พบว่า พื้นที่ป่ารอยต่อ 5 จังหวัดมีช้างป่าทุกชั้นของโครงสร้างประชากรประมาณ 400 ตัว ซึ่งเพิ่มขึ้นจากการสำรวจเมื่อปี 2545 ที่มีเพียง 115 ตัว หลังจากมีการบริหารจัดการปัญหาการล่าช้างป่าเพื่อเอางา และการลักลอบนำลูกช้างออกจากป่าเพื่อมาสวมตั๋วช้างให้กับปางช้างต่างๆ ได้เป็นอย่างดี 

อย่างไรก็ดี เมื่อจำนวนประชากรช้างป่าเพิ่มมากขึ้น ปัญหาที่ตามมาคือ “การจัดการประชากรช้างป่า” และพื้นที่แหล่งอาศัยของช้างป่า โดยเฉพาะป่าตะวันออกที่พบปัญหาช้างออกนอกพื้นที่รุนแรงขึ้น เช่น บริเวณแก่งหางแมว จังหวัดจันทบุรี ที่เคยพบช้างออกมาคราวละ 80-100 ตัว เพื่อหาอาหารตามไร่นาของเกษตรกร เนื่องจากมีแหล่งอาหารไม่เพียงพอ จนเกิดการกระทบกระทั่งกับประชาชนที่อยู่ในพื้นที่อยู่เรื่อยๆ 

ปัจจัยที่นำไปสู่เหตุวิวาทระหว่าง “มนุษย์และช้าง” ในประเทศไทย :

1. ช้างออกจากพื้นที่ป่าเพื่อหาอาหาร : 

จากงานวิจัยของ “นายปิยะนันท์ มูลตรีมา” ระบุว่า พื้นที่ป่าตะวันออกที่มีพื้นที่มากถึง 1.3 ล้านไร่ สามารถรองรับช้างป่า 400 ตัวได้เพียงพอ หากศักยภาพของพื้นที่มีประสิทธิภาพ ทั้งแหล่งน้ำและแหล่งอาหาร แต่เนื่องจากการสำรวจล่าสุดพบว่า การพัฒนาแหล่งน้ำ แหล่งอาหาร หรือการฟื้นฟูศักยภาพของที่อยู่อาศัยของสัตว์ขนาดใหญ่ที่ผ่านมายังไม่ตรงจุดเท่าที่ควรจะเป็น เนื่องจากพบว่ามีพื้นที่ถึง 40% ที่ช้างป่าไม่ได้เข้าไปใช้ประโยชน์เลย โดยเฉพาะในช่วงหน้าแล้ง เพราะไม่มีแหล่งน้ำและแหล่งอาหาร เนื่องจาก “ช้างเป็นสัตว์ใหญ่ จำเป็นต้องใช้น้ำทุกวัน โดยเฉพาะช้างโขลงที่อยู่เป็นกลุ่ม และสิ่งสำคัญที่ต้องไม่ลืม คือ ปริมาณอาหารที่ช้าง 1 ตัว ต้องกินต่อวัน คือ 200-400 กิโลกรัม! ด้วย

...

“อัปเดตข้อมูลล่าสุดเท่าที่ผมได้รับทราบมา คือ ณ เวลานี้คือมีช้างป่าออกนอกพื้นที่เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าในพื้นที่ป่ารอยต่อ 5 จังหวัด ไปไกลมากแล้ว เพราะในช่วงที่ผมยังทำงานวิจัยนี้อยู่ ช้างป่ามักจะออกไปหากินในพื้นที่โดยรอบ อ.ท่าตะเกียบ หรือ อ.สนามชัย เท่านั้น แต่ปัจจุบันช้างป่ากระจัดกระจายกันออกไปไกลถึง อ.แปลงยาว จนถึงเกือบ อ.บางปะกง แล้ว 

ซึ่งประเด็นนี้น่าหนักใจมาก เพราะโดยพฤติกรรมโดยปกติของช้างป่านั้นเมื่ออพยพไปหาแหล่งอาหารใหม่แล้ว มักจะไม่กลับไปอยู่ในถิ่นที่อยู่เดิม เพราะช้างมักจะอยู่ในพื้นที่ที่มีอาหารอุดมสมบูรณ์เป็นหลัก”   

  

2. การเพิ่มขึ้นของจำนวนประชากร : 

การเพิ่มของจำนวนประชากรที่ครอบครองและอาศัยอยู่รอบพื้นที่และในพื้นที่เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าบางแห่ง ซึ่งส่วนใหญ่มีฐานะยากจน ทำให้เกิดการลักลอบตัดไม้ เก็บของป่า และล่าสัตว์ในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าเพื่อหารายได้  

3. การบุกรุกเข้ายึดครองที่ดินในพื้นที่เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า :  

...

ประเด็นนี้ทำให้เกิดปัญหาการทำลายป่า และสูญเสียความหลากหลายทางชีวภาพ ซึ่งเป็นแหล่งอาหารสำคัญของช้าง 

4. กลุ่มผู้มีอิทธิพล : 

การลักลอบทำลายป่าไม้โดยกลุ่มผู้มีอิทธิพลในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า โดยอาศัยประชาชนในพื้นที่อ้างสิทธิในที่ดินทำกิน จนกระทั่งกลายเป็นเงื่อนไขสำคัญที่ทำให้ทางราชการไม่สามารถจับกุม หรืออพยพประชาชนออกนอกพื้นที่ได้ ซึ่งประเด็นนี้ทำให้ประชาชนส่วนหนึ่งขาดจิตสำนึกในการอนุรักษ์ป่าไม้และสัตว์ป่า 

5. ภัยธรรมชาติ ไฟป่า : 

ปัญหาภัยธรรมชาติ โดยเฉพาะไฟป่า นอกจากทำลายพื้นที่ป่าและบดบังทัศนวิสัย ซึ่งผลกระทบต่อสัตว์ป่าโดยเฉพาะช้างที่ต้องการอาหารจำนวนมากโดยตรง เป็นเหตุให้ช้างต้องออกนอกพื้นที่เพื่อหาแหล่งอาหารใหม่ 

6. พฤติกรรมหาแหล่งอาหารของช้าง : 

ช้างป่าเป็นสัตว์ที่มีพฤติกรรมเดินทางไกล มีความจำเป็นเลิศ ช้างจะรู้ว่าตรงไหนมีอาหาร ตรงไหนมีแหล่งน้ำ และช้างยังเป็นสัตว์ฉลาด เมื่อเรียนรู้ว่ามนุษย์ไม่ได้ทำร้าย ช้างก็จะกล้าเสี่ยงที่จะออกนอกพื้นที่ป่า เพื่อหาแหล่งอาหารและน้ำที่อุดมสมบูรณ์กว่า โดยเฉพาะพื้นที่เพาะปลูกของเกษตรกรที่อยู่ทับซ้อนกับพื้นที่เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า หรือแม้กระทั่งการออกมาดักเส้นทางรถบรรทุกเพื่อขโมยกินอ้อย

ความรุนแรงระหว่างช้างและคน : 

“ตามหลักการแล้ว ช้างถือเป็นสัตว์ป่าคุ้มครอง ฉะนั้นหากมีใครเกิดไปทำร้ายช้าง ย่อมถือว่ามีความผิดตามกฎหมาย” ปลัดปิยะนันท์ กล่าวย้ำ 

อย่างไรก็ดีสำหรับเรื่องนี้คงมองเพียง "มิติเดียวไม่ได้" เนื่องจากประชาชนที่เป็นเจ้าของพื้นที่การเกษตรโดยเฉพาะไร่อ้อย ก็ต้องหาวิธีการต่างๆ ในการปกป้องผลผลิตของตัวเองเช่นกัน ฉะนั้นในกรณีการล้อมรั้วไฟฟ้าและเกิดพลาดพลั้งทำให้ไฟฟ้าช็อตจนช้างตาย จึงต้องมีการพิจารณาในแต่ละกรณีให้รอบคอบว่ามีการกระทำที่เข้าข่ายเกินกว่าเหตุหรือไม่? 

และเพื่อไม่ให้ “ความรุนแรงระหว่างช้างและคนยังคงดำเนินต่อไปโดยไม่มีข้อยุติ” ส่วนตัวจึงอยากนำเสนอ “วิธีการแก้ไขปัญหา” เพื่อให้คนและช้างสามารถอยู่ร่วมกันได้อย่างสันติและยั่งยื่นได้ต่อไปในอนาคต

“ผมขอเสนอแยกเป็น 2 ประเด็น คือ 1. การดำเนินการเชิงพื้นที่ และ 2. การดำเนินการเชิงนโยบาย” ปลัดปิยะนันท์ กล่าวด้วยน้ำเสียงจริงจัง 

ข้อแรก การดำเนินการเชิงพื้นที่ จะต้องมีการสร้างความเข้าใจระหว่างเจ้าหน้าที่รัฐและชาวบ้านทุกภาคส่วน โดยเฉพาะการปรับตัวของประชาชนในพื้นที่เสี่ยง เช่น ชุมชนที่อยู่ใกล้กับพื้นที่ป่า ควรมีการปรับเปลี่ยนเรื่องการปลูกพืชที่ไม่ใช่อาหารของช้าง หรือหาทางสนับสนุนให้ปรับเปลี่ยนจากการทำพืชไร่ไปเป็นการเลี้ยงสัตว์เศรษฐกิจแทน

นายปิยะนันท์ มูลตรีมา ปลัดอำเภอสตึก จังหวัดบุรีรัมย์ เจ้าของงานวิจัย
นายปิยะนันท์ มูลตรีมา ปลัดอำเภอสตึก จังหวัดบุรีรัมย์ เจ้าของงานวิจัย

ข้อสอง ในเรื่องการดำเนินการเชิงนโยบายนั้น ก็อาจจะต้องมีการกระจายอำนาจการตัดสิน หรือการกำหนดนโยบายในระดับพื้นที่ให้มากขึ้น เช่น อาจให้หน่วยงานในพื้นที่ขัดแย้งสามารถกำหนดพื้นที่เกษตรกรรม หรือพื้นที่ป่า ได้ด้วยตัวเอง รวมไปจนกระทั่งถึงการกำหนดงบประมาณให้กับหน่วยงานที่ทำหน้าที่อนุรักษ์สัตว์ป่าสามารถจัดตั้งกองทุนสำหรับการเข้าไปเยียวยาช่วยเหลือผู้ที่ได้รับผลกระทบจากการบุกรุกพื้นที่การเกษตรของช้างป่าได้โดยตรงเป็นต้น เพื่อให้เกิดความคล่องตัวในการแก้ปัญหาเสียแต่เนิ่นๆ 

"หากยังปล่อยให้ปัญหาเช่นนี้ดำเนินอยู่ต่อไป ชาวบ้านส่วนใหญ่ซึ่ง ณ ปัจจุบัน ยังคงมีทัศนคติที่ดีต่อช้างป่า ซึ่งสิ่งนี้สามารถยืนยันได้จากการที่ชาวบ้านในพื้นที่ยังคงเรียกช้างป่าว่า พ่อใหญ่ ก็อาจเปลี่ยนทัศนคติไปจนนำไปสู่ความขัดแย้งที่รุนแรงมากขึ้นก็เป็นได้" ปลัดปิยะนันท์ มูลตรีมา กล่าวปิดท้ายการสนทนา. 

ทีมข่าวเฉพาะกิจไทยรัฐออนไลน์ รายงาน 

อ่านบทความที่เกี่ยวข้อง :