ทำความรู้จัก ซีเซียม-137 อันตราย การคงอยู่ และการปนเปื้อน ที่อาจส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและมนุษย์...
ทำความรู้จัก “ซีเซียม-137” (Cesium-137) อันตราย การคงอยู่ คำถามที่หน่วยงานราชการไทยยังไม่มีคำตอบที่ชัดเจน รวมถึงบทเรียนที่ควรนำไปปรับใช้จากมุมมองของ "ศ.ดร.ศิวัช พงษ์เพียจันทร์" ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยและพัฒนาการป้องกันและจัดการภัยพิบัติ คณะพัฒนาสังคมและสิ่งแวดล้อม สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ ผ่านการสนทนากับ "ทีมข่าวเฉพาะกิจไทยรัฐออนไลน์"
...
Cesium-137 คืออะไร :
Cesium-137 หรือ Cs-137 คือ ธาตุกัมมันตรังสี ที่มีการแผ่รังสีแอลฟา รังสีบีตา และรังสีแกมมา ออกมา ซึ่งการแผ่รังสีที่ว่านี้ เรียกว่า ปฏิกิริยานิวเคลียร์ฟิชชัน (Nuclear Fission) และเมื่อแผ่รังสีออกมาเป็นพลังงานแล้ว มวลของมันจะลดลงไปครึ่งหนึ่ง หรือ ที่เรียกว่า Half-Life ซึ่งกระบวนการนี้จะใช้ระยะเวลาเฉลี่ยประมาณ 30.17 ปี
Half-Life คืออะไร :
“ผมขอยกตัวอย่างเพื่อให้เข้าใจได้ง่ายๆ แบบนี้นะ Half-Life ของ Cs-137 ที่ว่านี้หมายถึง สมมติว่า Cs-137 มีมวลอยู่ที่ 10 จาก 10 เมื่อแผ่รังสีออกมา จนมวลลดลงครึ่งหนึ่งเหลือ 5 จะใช้เวลาประมาณ 30.17 ปี และจาก 5 ลดลงเหลือ 2.5 จะใช้เวลาอีกประมาณ 30.17 ปี รวมกันเป็น 60 กว่าปีแล้วนะ และจาก 2.5 ลดลงเหลือ 1.25 ก็จะต้องใช้เวลาอีกประมาณ 30.17 ปี ซึ่งรวมกันเป็น 90 กว่าปีแล้วถูกไหม และนี่คือ นิยามแบบเข้าใจง่ายของ Half-Life ที่ว่านี้”
อันตรายของ Cs-137 :
“ให้เข้าใจง่ายๆ แบบนี้ ความอันตรายของ Cs-137 จะสัมพันธ์กับระดับความเข้มข้นของมวลที่มันมีอยู่แต่แรก เอาล่ะทีนี้ ให้กลับไปนึกทบทวนถึงที่ผมอธิบายไว้ตั้งแต่แรกเรื่อง Half-Life ของ Cs-137 โดยหากมวลความเข้มข้นตั้งต้นของ Cs-137 ไม่ใช่แค่ 10 แต่เป็น 1,000 ล่ะ ลองคิดดูสิว่ามันจะเกิดอะไรขึ้นได้บ้าง?”
ดังนั้นคำถามที่สำคัญในเหตุการณ์ Cs-137 สูญหายไปจากโรงงานไฟฟ้าใน อ.ศรีมหาโพธิ จังหวัดปราจีนบุรี คือ ข้อที่ 1. มีใครสามารถบอกได้หรือไม่ว่า Cs-137 เจ้าปัญหาที่ว่านี้ มีระดับความเข้มข้นตั้งต้นก่อนที่มันจะหายไปอยู่ที่เท่าไร?
คำถามที่ 2. คือ ระดับความเข้มข้นที่อยู่ในวัตถุ Cs-137 ที่ถูกหลอมอยู่ที่เท่าไร?
คำถามที่ 3. คือ ระดับความเข้มข้นที่อยู่ในเศษโลหะสีแดงอยู่ที่เท่าไร?
และคำถามที่ 4. คำถามสุดท้าย คือ ระดับความเข้มข้นที่อยู่หลุดไปในอากาศจากการที่ แท่งวัตถุ Cs-137 ถูกหลอมอยู่ที่เท่าไร และแท่งวัตถุที่อ้างว่าถูกหลอมไปบางส่วนนั้น ส่วนที่เหลือตอนนี้อยู่ที่ไหน และเหลือมวลความเข้มข้นอยู่ในนั้นเท่าไร?
...
อย่างไรก็ดี สำหรับคำถามแรกคือ Cs-137 มีระดับความเข้มข้นตั้งต้นก่อนที่มันจะหายไปอยู่ที่เท่าไร นั้น คำตอบไม่น่าจะหายากเพราะบริษัทโรงงานไฟฟ้า น่าจะเป็นผู้ให้คำตอบที่ว่านี้ได้เป็นอย่างดี แต่กับอีก 3 คำถามที่เหลือ โดยเฉพาะคำถามที่ 4. ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อประชาชนมากที่สุดนั้น ดูเหมือนว่าจะยังไม่ได้รับคำตอบที่ชัดเจน จากหน่วยงานราชการที่เข้ามาแก้ไขปัญหาในเรื่องนี้แต่อย่างใด
“ขณะเดียวกันสิ่งที่น่าตั้งข้อสังเกตหลังการแถลงล่าสุดจากหน่วยงานราชการไทย คือ เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นทั้งหมด เกิดขึ้นภายใต้ระบบปิด 100% จริงหรือไม่ เพราะการหลอม แท่งวัตถุ Cs-137 ที่เกิดขึ้นนั้นใช้อุณหภูมิสูงมากกว่า 1,000 องศาเซลเซียส ฉะนั้นตามทฤษฎีแล้วส่วนที่ถูกหลอมละลายก็น่าจะระเหยขึ้นไปในอากาศหมดแล้ว ซึ่งส่วนนี้เป็นสิ่งที่น่ากังวลมากที่สุดเสียด้วย”
Cs-137 ที่ระเหยออกไปในอากาศฟุ้งกระจายได้ไกลขนาดไหน :
“คำถามนี้ตอบยาก เอาเป็นว่าแบบนี้แล้วกัน เมื่อถูกหลอมด้วยอุณหภูมิที่สูงขนาดนั้น ตามหลักการแล้ว เมื่อมวลอากาศมันร้อนมันย่อมยกตัวขึ้นสูงอยู่แล้ว ส่วนจะไปได้ไกลขนาดนั้น มันก็ขึ้นอยู่กับหลายปัจจัยเช่น ข้อที่ 1. ความเร็วลมที่อยู่เหนือบริเวณปล่องหลอม ณ เวลานั้นว่าอยู่ที่เท่าไร ข้อที่ 2. ขึ้นอยู่กับ Particle Size Distribution หรือ การกระจายของขนาดอนุภาค ที่จะมีการฟุ้งกระจายแตกต่างกันไปตามขนาดของอนุภาค”
...
อันตรายของ Cs-137 เมื่อลอยอยู่ในอากาศ :
“ผมขออธิบายง่ายๆ แบบนี้แล้วกัน Cs-137 ที่ลอยอยู่ในอากาศสามารถถูกชะล้างได้จาก ข้อที่ 1.ถูกชะล้างด้วยฝน หิมะ หรือ ลูกเห็บ (Wet Deposition) และข้อที่ 2. ถูกชะล้างด้วยแรงโน้มถ่วงโลกดึงลงมา (Dry Deposition)
อย่างไรก็ดี สิ่งที่น่ากังวล คือ เมื่อมันถูกดึงให้ลงมาอยู่บนพื้นดินแล้ว กว่าที่มันจะย่อยสลายไปตามหลักการ Half-Life นั้น มันใช้เวลานานมากๆ ฉะนั้นมันจึงมีความเสี่ยงสูงที่มันจะหลุดเข้าไปสะสมอยู่ในห่วงโซ่อาหาร จนกระทั่งในท้ายที่สุดมันอาจจะเข้ามาอยู่ในร่างกายของมนุษย์ ผ่านการกินเนื้อสัตว์หรือผลิตภัณฑ์ทางการเกษตรต่างๆ”
Cs-137 กับ PM 2.5 :
“หากถามว่า Cs-137 สามารถเข้าไปอยู่ใน PM 2.5 ได้หรือไม่ คำตอบคือ ได้สิครับ! ทำไมจะไม่ได้ ที่ผ่านมาผมเน้นย้ำมาตลอดว่า สารก่อมะเร็ง สารกลายพันธุ์ และโลหะหนัก สามารถเข้าไปอยู่ใน PM 2.5 ได้มาตลอด เพียงแต่ที่ไม่ค่อยพูดถึงสารกัมมันตรังสีเพราะกรณีแบบที่เกิดขึ้นในจังหวัดปราจีนบุรี มันไม่ค่อยเกิดบ่อยในประเทศไทยเท่านั้นเอง”
...
ความอันตรายของ Cs-137 ที่ จังหวัดปราจีนบุรี :
“ผมขอตอบแบบนี้แล้วกัน หากอ้างอิงจากที่ฝ่ายราชการไทยแถลงจนถึงเวลานี้ (21มีค.66) ซึ่งระบุว่า ระดับความเข้มข้นของ Cs-137 ที่ จังหวัดปราจีนบุรี น้อยกว่าเหตุการณ์หายนะโรงไฟฟ้าพลังงานนิวเคลียร์เชอร์โนบิล ประมาณ 50 ล้านเท่า เพราะหากจำไม่ผิด ที่ฝ่ายราชการไทยแถลงน่าจะอยู่ที่ประมาณ 0.0005 กรัม เท่านั้น ซึ่งน้อยมากๆ ในขณะที่เหตุการณ์เชอร์โนบิล นั้น ระดับความเข้มข้นของ Cs-137 อยู่ที่ 27 กิโลกรัม ซึ่งเรียกได้ว่าคนละเรื่องเลยทีเดียว”
อีกทั้งหากเทียบกันแล้วในกรณีเชอร์โนบิลนั้น ถือเป็น “อุบัติเหตุ” (Accident) จึงทำให้มีระดับความรุนแรงของเหตุการณ์สูง แต่ในกรณีที่เกิดขึ้นที่จังหวัดปราจีนบุรี นั้น ยังเป็นเพียงระดับ “เหตุการณ์” (Incident) เท่านั้น ขอบเขตของระดับความรุนแรงจึงไม่สูงมากนักด้วย
ระดับกัมมันตรังสีที่เป็นอันตรายต่อมนุษย์ :
“ในประเทศสหรัฐฯ มีข้อกำหนดเบื้องต้นว่า สำหรับบุคคลที่ทำงานเกี่ยวข้องกับกัมมันตรังสี จะต้องมีระดับกัมมันตรังสีในร่างกายเฉลี่ยไม่เกิน 100 Millirem (mrem) ต่อปี ส่วนบุคคลทั่วไป จะต้องมีระดับกัมมันตรังสีในร่างกายเฉลี่ยไม่เกิน 4 mrem ต่อปี
ส่วนค่าเฉลี่ยสำหรับการปนเปื้อนกัมมันตรังสีในน้ำดื่มจะต้องไม่เกิน 200 Picocurie ต่อ ลิตร (pCi/L)”
บทเรียน Cs-137 จังหวัดปราจีนบุรี :
“สิ่งที่ต้องเรียนรู้จากเหตุการณ์นี้ในประเด็นแรกเลยคือ มันหลุดออกไปได้อย่างไร และใครที่เป็นผู้นำมันออกไป รวมถึง ผู้ที่ต้องรับผิดชอบจากเหตุการณ์นี้คือใครกันแน่? ซึ่งหน่วยงานราชการที่เกี่ยวข้องทั้งหมดต้องตอบคำถามนี้จากสังคมให้ได้ เพราะหากยังตอบคำถามเหล่านี้ไม่ได้ ก็อย่าไปฝันเรื่องการมีโรงไฟฟ้าพลังงานนิวเคลียร์กันเลย เพราะแค่ Cs-137 ยังปล่อยให้หลุดออกมาได้ ยังฝันจะมีโรงไฟฟ้านิวเคลียร์กันอีกหรือ?”
นอกจากนี้ สิ่งที่อยากทิ้งท้ายและอยากให้หน่วยงานราชการไทยใช้บทเรียนจากเรื่องนี้ไปปรับใช้อีกเรื่องคือ เท่าที่ส่วนตัวได้รับข้อมูลมา ทราบว่ามีการแอบลักลอบนำกากอุตสาหกรรมที่ปนเปื้อนกัมมันตรังสีจากต่างประเทศใส่ตู้คอนเทนเนอร์ เพื่อนำเข้ามาทิ้งในประเทศไทยจำนวนหนึ่ง
ซึ่งหากข้อมูลนี้เป็นจริง ต้องถือว่าเป็นเรื่องอันตรายต่อประชาชนมากเสียยิ่งกว่า เหตุการณ์ Cs-137 ที่จังหวัดปราจีนบุรีเสียอีก ตนเองจึงอยากเรียกร้องให้หน่วยงานราชการไทยเร่งตรวจสอบข้อมูลนี้โดยด่วนที่สุดเพื่อไม่ให้เกิดอันตรายต่อประชาชนในวงกว้างต่อไปในอนาคต
ทีมข่าวเฉพาะกิจไทยรัฐออนไลน์ รายงาน
กราฟฟิก : Jutaphun Sooksamphun
อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง