5 มีนาคม 2566 กรมอุตุนิยมวิทยา ประกาศว่า ประเทศไทยเข้าสู่หน้าร้อน โดยเฉพาะตอนบนของประเทศ จะมีอุณหภูมิเฉลี่ยสูงสุดที่ 35.5 องศาเซลเซียส (ใกล้เคียงกับค่าปกติ) และจะสิ้นสุดฤดูร้อน ในช่วงกลางเดือนพฤษภาคม
คำถามคือ ฤดูร้อนปีนี้ จะร้อนมากร้อนน้อยแค่ไหน และอะไรเป็นปัจจัยสำคัญ ภาคเกษตร ต้องรับมืออย่างไร..
ทีมข่าวเฉพาะกิจไทยรัฐออนไลน์ มีโอกาสพูดคุยกับ รศ.ดร.เสรี ศุภราทิตย์ ผอ.ศูนย์การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและภัยพิบัติ ม.รังสิต อธิบายว่า ตอนนี้กำลังอยู่ในโหมด “ลานีญา” กำลังแผ่วลง จากข้อมูลล่าสุด พบว่า จะมีการลากมาอีกนิดหนึ่ง หมายความว่า “ลานีญา” จะกินฤดูร้อนของเราไปหน่อยหนึ่ง
แปลว่า ฤดูร้อนปีนี้ เราจะไม่ร้อนจัด เพราะความ “เปียก” ของปีก่อนยืดออกมา ส่วน “เอลนีโญ” จะมาช้านิดหนึ่ง โดยจะเข้าสู่หมวด “เอลนีโญ” ในช่วงเดือนมิถุนายน จากนั้นจะส่งผลกระทบกับประเทศไทยในช่วงสิงหาคม กันยายน และตุลาคม ช่วงนั้น ฝนจะไม่ค่อยดี
...
“สรุปคือปีนี้อากาศจะไม่ร้อนจัด แต่เข้าสู่โหมดหน้าฝน ควรจะมีฝน แต่ฝนกลับไม่มี ถ้าเป็นแบบนี้ ปีหน้า เหนื่อย...”
เหนื่อยในที่นี้หมายถึง.... รศ.ดร.เสรี กล่าวว่า ปีหน้าหากฝนไม่ดี “น้ำต้นทุน” จึงไม่ดีตามมา ส่งผลให้เกษตรกรเพาะปลูกได้ยากขึ้น ปลูกพืชได้น้อยลง นี่คือ “ความเหนื่อย” ในภาคเกษตร
เมื่อสภาพอากาศเป็นเช่นนี้ หน้าร้อน ไม่ร้อนจัด หน้าฝน ฝนก็น้อย พอมาถึงฤดูหนาว (ปลายปี) ก็จะไม่หนาว
“สภาพอากาศแปรปรวนเช่นนี้ เกิดขึ้นตั้งแต่ 3 ปีก่อน และจะส่งผลกระทบไปอีก 3 ปีข้างหน้า หมายความว่า ตั้งแต่ปี 2567-2569 เราจะเจอ “ภัยแล้ง” 3 ปี ติดต่อกัน ปีแรก (2567) จะเริ่มเจอแล้ง และหนักที่สุดก็คือปีที่ 3 คือ ในปี 2569 เรียกว่า ตั้งแต่ปีหน้า เราจะเจอสภาพอากาศร้อนหนัก ร้อนหนักมาก และร้อนหนักที่สุดในปี 2569”
หน้าร้อน กับการรับมือภาคเกษตร
รศ.ดร.เสรี กล่าวถึงสิ่งที่ภาคเกษตร ต้องเตรียมตัวรับมือ คือ...
1. หน่วยงานที่เกี่ยวข้องต้องประกาศให้พี่น้องชาวเกษตรกรลดการเพาะปลูก เช่น ทุกปีเคยปลูก 10 ไร่ อาจจะลดเหลือ 5 ไร่
“หน้าที่ของรัฐบาล คือ การรับประกันผลผลิตของเขาว่า จะมีรายได้ดีเทียบเท่ากับการปลูกพืช 10 ไร่ ข้อดีของการปลูกพืชน้อยลง คือ การควบคุมได้ง่ายขึ้น"
2. การปรับแผนในการปลูกพืช เช่น สนับสนุนการปลูกพืชอายุสั้น โดยรัฐต้องให้คำแนะนำที่ดีในการปลูกด้วย เช่น หากปลูกแล้วไม่ได้ราคา ก็จะเสียหายอีก ฉะนั้นเรื่องนี้ต้องแนะนำอย่างระมัดระวัง
สำหรับคนเมือง สิ่งที่จะเจอในช่วงแล้งคือ ภาวะ “น้ำกร่อย” เพราะเมื่อน้ำมีน้อย การผลักดันน้ำเค็มก็จะได้น้อยตาม ทำให้น้ำเค็มอาจจะแทรกซึมเข้ามา...
ผอ.ศูนย์การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและภัยพิบัติ ทิ้งท้ายว่า ตอนนี้ใกล้เลือกตั้งแล้ว เวลานี้ยังไม่เห็นผู้สมัครคนไหน พูดเรื่องแนวทางการแก้ปัญหาด้านสภาพอากาศที่จะเกิดขึ้น ทั้งที่ก็รู้ๆ กันอยู่แล้วว่า หลังจากนี้เราจะเจอโหมดความแล้งที่จะเกิดขึ้นติดต่อกัน 3 ปีข้างหน้า
ทีมข่าวเฉพาะกิจไทยรัฐออนไลน์ รายงาน
อ่านบทความที่น่าสนใจ
...