เรียกว่าเป็นการจับที่ “สะเทือน” วงการราชการไทย กับปัญหาการทุจริตคอร์รัปชัน เมื่อทาง พล.ต.ต.จรูญเกียรติ ปานแก้ว ผบก.ปปป. พร้อมด้วยเจ้าหน้าที่ นำกำลังเดินทางมายังอาคารสืบนาคะเสถียร กรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืช ถนนพหลโยธิน แขวงลาดยาว เขตจตุจักร กรุงเทพมหานคร เพื่อเชิญตัว นายรัชฎา สุริยกุล ณ อยุธยา อธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืช มาทำการแจ้งข้อกล่าวหาในความผิดฐาน “เป็นเจ้าพนักงานสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งรัฐ สมาชิกสภาจังหวัด หรือสมาชิกสภาเทศบาล เรียกรับ หรือยอมจะรับทรัพย์สิน หรือประโยชน์อื่นใดสำหรับตนเอง เพื่อกระทำการหรือไม่กระทำการอย่างใดในตำแหน่งโดย ไม่ชอบด้วยหน้าที่ และเป็นเจ้าพนักงาน ปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบโดยทุจริต” เมื่อวันที่ 27 ธ.ค. 65
มีรายงานว่า สืบเนื่องจากก่อนหน้านี้ นายชัยวัฒน์ ลิ้มลิขิตอักษร อดีตหัวหน้าอุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน จ.เพชรบุรี ได้เข้าพบพนักงานสอบสวน บก.ปปป. เพื่อแจ้งเอาผิด นายรัชฎา หลังพบว่า นายรัชฎา มีพฤติกรรมใช้อำนาจหน้าที่ในทางไม่เหมาะสม กลั่นแกล้งโยกย้ายตำแหน่งเจ้าหน้าที่ที่ไม่ยอมจ่ายเงินวิ่งเต้น จำนวน 500,000 บาท ไปยังตำแหน่งอื่นๆ ที่ห่างไกลจากภูมิลำเนาหรือที่พักอาศัย
อย่างไรก็ตาม เจ้าหน้าที่สำนักสืบสวนและกิจการพิเศษ สำนักงาน ป.ป.ช. ร่วมกับเจ้าหน้าที่ตำรวจ บก.ปปป. ได้ดำเนินการวางแผนเข้าจับกุมอธิบดีกรมอุทยานฯ โดยนัดหมายส่งมอบเงินซึ่งเจ้าหน้าที่ได้เก็บหลักฐานไว้แล้ว จำนวน 98,000 บาท ให้แก่อธิบดีกรมอุทยานฯ ในวันต่อมา...
...
และก็เป็นไปตามข่าว เมื่อมีการยื่นเงินสด จำนวน 98,000 บาท ที่ลงบันทึกประจำวันไว้เป็นหลักฐานแล้วไปส่งมอบให้แก่อธิบดีกรมอุทยานฯ ก่อนจะมีการแสดงตัวจับกุม และตรวจค้นที่ทำงาน พบเงินสด 4.9 ล้านบาท เรียกว่างานนี้ ใช้วิธีการคล้าย “ล่อซื้อ” ยาเสพติดกันเลยทีเดียว
นายนิวัติไชย เกษมมงคล เลขาธิการคณะกรรมการ ป.ป.ช. กล่าวถึงคดีที่เกิดขึ้น กับทีมข่าวเฉพาะกิจไทยรัฐออนไลน์ว่า เรื่องการร้องเรียนนั้น ถามผมตรงๆ ผมบอกไม่ได้หรอกว่าได้รับร้องเรียนจากใคร ส่วนจะมีการเปิดเผย หรือ รู้จากตามข่าว ก็แล้วแต่..สำหรับผม ไม่ยืนยัน เพราะผู้เสียหาเราต้อง “ปกป้อง” ไม่สามารถเปิดเผยชื่อได้ เพราะเป็นเรื่อง “ผิดกฎหมาย”
เราได้รับการร้องเรียนเข้ามา ว่าจะมีการเรียก “สินบน” ในการโยกย้ายตำแหน่ง โดยให้ผู้เสียหายไปร้องทุกข์กล่าวโทษกับตำรวจก่อน เพื่อให้ตำรวจใช้ “อำนาจ” ในการสอบสวน โดยเดินทางไปที่ บก.ปปป. และใช้อำนาจกองตำรวจสอบสวนกลาง
“การวางแผน คือ เราจะดำเนินการเข้าไปจับกุมสด โดยใช้เงิน 98,000 บาท ซึ่งเป็นการเดินทางไปมอบให้ “เฉพาะคนนี้” (คนที่เข้ามาแจ้งความ) โดยก็เตรียมพยานหลักฐานไว้”
เมื่อถึงเวลาก็เดินทางไปมอบเงิน โดยเดินทางไปที่ห้องอธิบดีกรมอุทยานสัตว์ป่าและพันธุ์พืช และเมื่อมอบเงินเสร็จ ก็บันทึกเหตุการณ์ไว้ ในห้องไว้หมด เมื่อเขากลับเข้ามาก็เข้าชาร์จทันที และผลก็เป็นไปตามข่าวคือ เจอของกลาง พบเงินสด 4.9 ล้านบาท และของกลาง เงินสดที่เป็นหลักฐาน
“การตรวจสอบเงินนั้น พบว่ามีการแยกซอง หลายประเภท และมีการ “ระบุชื่อ” ผู้ให้ ว่ามาจากไหน... ซึ่งรายชื่อดังกล่าว ก็จะมีการตรวจสอบต่อไป ซึ่งคาดว่าใช้วิธีการใกล้เคียงกัน และจะมีการสอบสวนขยายผลว่าเงินที่ให้มา “ใคร” เป็นคนให้ และเงินมาอยู่ในห้องได้อย่างไร” เลขาฯ ป.ป.ช. กล่าวและว่า
เมื่อถามว่า ขั้นตอนต่อไปในการดำเนินการระหว่าง “ผู้รับ” และ “ผู้ให้” จะเป็นอย่างไรต่อ นายนิวัติไชย อธิบายว่า “ผู้ให้” ถือว่าเขามาแจ้งความไว้ก่อนแล้ว เรียกว่า “ไม่เต็มใจ” หรือ “ไม่เจตนา” ที่จะให้ การให้เพื่อเป็นความร่วมมือในการดำเนินการจับกุม ซึ่งก็ต้องกันตัวเป็นพยาน
ส่วน “ผู้ให้” รายอื่น ที่ปรากฏบนชื่อซอง จะมีการตรวจสอบและขยายผลต่อ หากพบว่ามีความผิดก็จะดำเนินการในข้อหาให้ทรัพย์สิน แต่...หากไม่เจตนาก็อาจจะมีการกันตัว “เป็นพยาน” ซึ่งตอนนี้ขอตรวจสอบทุกคนเสียก่อน
ขณะที่ “ผู้รับ” ตอนนี้ก็เป็นการแจ้งข้อกล่าวหาไปก่อน ซึ่งตอนนี้เขาเองยังถือว่า “บริสุทธิ์” เพราะอยู่ในขั้นตอนการ “กล่าวหา” มีสิทธิ์ที่จะต่อสู้คดี...
รับเงินหรือไม่...?
เงินมาจากไหน...?
ทำไมถึงอยู่ในห้องทำงาน ในโต๊ะ...?
...
เป็นสิ่งที่ต้องตอบ ซึ่งคงมีการชี้แจงต่อ และพนักงานสอบสวน สอบสวนเสร็จก็จะมีการส่งสำนวนให้กับ ป.ป.ช. ใน 30 วัน เว้นแต่ว่า มีความจำเป็นต้องขยายผล
คำอ้างที่บอกว่า “ไม่รู้ว่าเป็นเงิน...?” รับฟังได้หรือ เลขาฯ ป.ป.ช. กล่าวว่า เป็นข้อต่อสู้ของท่าน ท่านบอกแค่ว่าไม่รู้ เขาเอามาให้ก็วางไว้ ซึ่งก็ถือเป็นการดำเนินการในภาคเสธ
เมื่อถามว่า ที่ผ่านมา มีกรณีติดสินบน บ้างไหม นายนิวัติไชย กล่าวว่า เราก็มีการจับสดแบบนี้หลายครั้ง ที่มีการเรียกรับเงิน ขอมีขอใช้อาวุธปืน เมื่อเร็วๆ นี้ ที่เชียงใหม่ก็เพิ่งมีการจับกุมมา
เมื่อถามว่า การเรียกร้องสินบน ส่วนใหญ่จะให้ด้วยวิธีการใด เลขาธิการ ป.ป.ช. ให้ข้อมูลว่า มีหลายรูปแบบ เพราะการให้เงินให้ทองที่ผ่านมา โดยมากไม่ได้ให้เงิน “โฉ่งฉ่าง” ลักษณะนี้ การจับกุมได้มาส่วนมาก จะมาจากข้อมูลภายใน ซึ่ง ถ้าผู้ให้มีการเปิดเผยมา ก็จะมีการจับกุมได้
“เดี๋ยวนี้เขาไม่โอนเงินทางบัญชีกันแล้ว เพราะมันจะกลายเป็นหลักฐาน ไม่ว่าจะเป็นวิธีการแบบอิเล็กทรอนิกส์ หรือ เอกสารก็ตาม ทุกอย่างเป็นหลักฐานทั้งหมด จึงต้องให้กันแบบสดๆ แบบนี้ สำคัญคือ คนให้ “ต้องกล้า” ที่จะให้ข้อมูล เพราะโดยมากจะให้กันในที่ลับ ไม่ใช่ที่ทำงาน..”
สถานการณ์ “การทุจริต” ในประเทศไทย ปี 64 สะพัด 2.8 หมื่นล้าน!!
ทีมข่าวเฉพาะกิจไทยรัฐออนไลน์ มองย้อน สถานการณ์การทุจริตในประเทศไทย ในงบประมาณปี 2564 จาก สำนักงานวิจัยและการบริการด้านการป้องกันและปราบปรามการทุจริต ของสำนักงาน ป.ป.ช. มีข้อมูลที่น่าสนใจ คือ
ในปี 2564 มีการร้องเรียน มายังคณะกรรมการ ป.ป.ช. จำนวน 8,381 เรื่อง ทั้งรูปแบบหนังสือร้องเรียน หนังสือราชการ ด้วยวาจา บัตรสนเท่ และอื่นๆ ซึ่ง ทาง ป.ป.ช. มีมติ รับไว้พิจารณา 3,207 เรื่อง และส่งให้หน่วยงานอื่นดำเนินการอีก 2,714 เรื่อง
...
สำหรับหน่วยงานที่ถูกกล่าวหามากที่สุด 3 อันดับแรกได้แก่
1.องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น 2,222 เรื่อง คิดเป็น 37.53%
2.สำนักงานตำรวจแห่งชาติ 833 เรื่อง คิดเป็น 14.07%
3.กระทรวงมหาดไทย 744 คิดเป็น 12.57%
อื่นๆ จำนวน 2,122 คิดเป็น 35.83%
ทั้งนี้ ทาง ป.ป.ช. ได้มีการแบ่งขั้นตอนการดำเนินงานออกเป็น 2 ส่วน คือ ทาง ป.ป.ช. รับไว้ดำเนินการเอง กับ ส่งให้หน่วยงานอื่นไปดำเนินการ โดยมีประเภทต่างๆ ดังนี้
เรียกรับสินบน ป.ป.ช. ดำเนินการเอง 179 เรื่อง วงเงินโครงการหรือจำนวนเงินที่มีการทุจริต 11,027,716,288 บาท ส่งให้หน่วยงานอื่น 149 เรื่อง วงเงินโครงการหรือจำนวนเงินที่มีการทุจริต 5,461,340 บาท รวมทั้งหมด 328 เรื่อง วงเงิน 11,033,177,628 บาท
จัดซื้อจัดจ้าง ป.ป.ช. ดำเนินการเอง 930 เรื่อง วงเงินโครงการหรือจำนวนเงินที่มีการทุจริต 8,773,668,079 บาท ส่งให้หน่วยงานอื่น 223 เรื่อง วงเงินโครงการหรือจำนวนเงินที่มีการทุจริต 5,461,340 บาท รวมทั้งหมด 1,153 เรื่อง วงเงิน 8,792,104,318 บาท
...
ทุจริตในการจัดทำงบประมาณ/โครงการ/เบิกจ่ายเป็นเท็จ ป.ป.ช. ดำเนินการเอง 267 เรื่อง วงเงินโครงการหรือจำนวนเงินที่มีการทุจริต 5,837,687,275 บาท ส่งให้หน่วยงานอื่น 97 เรื่อง วงเงินโครงการหรือจำนวนเงินที่มีการทุจริต 2,978,807 บาท รวมทั้งหมด 364 เรื่อง วงเงิน 5,840,666,082 บาท
ปฏิบัติ หรือ ละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ ป.ป.ช. ดำเนินการเอง 979 เรื่อง วงเงินโครงการหรือจำนวนเงินที่มีการทุจริต 729,277,377 บาท ส่งให้หน่วยงานอื่น 1,464 เรื่อง วงเงินโครงการหรือจำนวนเงินที่มีการทุจริต 1,010,125,990 บาท รวมทั้งหมด 2,443 เรื่อง วงเงิน 1,739,403,367 บาท
ยักยอก/เบียดบังเงินทรัพย์สินทางราชการ ป.ป.ช. ดำเนินการเอง 364 เรื่อง วงเงินโครงการหรือจำนวนเงินที่มีการทุจริต 419,334,502 บาท ส่งให้หน่วยงานอื่น 483 เรื่อง วงเงินโครงการหรือจำนวนเงินที่มีการทุจริต 72,782,738 บาท รวมทั้งหมด 847 เรื่อง วงเงิน 492,117,240 บาท
ร่ำรวยผิดปกติ ป.ป.ช. ดำเนินการเองทั้งหมด 85 เรื่อง วงเงินโครงการหรือจำนวนเงินที่มีการทุจริต 90,808,060 บาท
ออกเอกสารสิทธิที่ดิน ป.ป.ช. ดำเนินการเอง 125 เรื่อง วงเงินโครงการหรือจำนวนเงินที่มีการทุจริต 400,000 บาท ส่งให้หน่วยงานอื่น 96 เรื่อง วงเงินโครงการหรือจำนวนเงินที่มีการทุจริต 6,633,510 บาท รวมทั้งหมด 221 เรื่อง วงเงิน 7,033,510 บาท
บริหารบุคคล (บรรจุ/แต่งตั้ง/เลื่อนตำแหน่ง/โยกย้าย/ลงโทษวินัย) ป.ป.ช. ดำเนินการเอง 151 เรื่อง วงเงินโครงการหรือจำนวนเงินที่มีการทุจริต 2,528,400 บาท ส่งให้หน่วยงานอื่น 197 เรื่อง วงเงินโครงการหรือจำนวนเงินที่มีการทุจริต 1,734,268 บาท รวมทั้งหมด 248 เรื่อง วงเงิน 4,262,668 บาท
การขัดกันระหว่างประโยชน์ส่วนตัวกับส่วนรวม ป.ป.ช. ดำเนินการเอง 40 เรื่อง วงเงินโครงการหรือจำนวนเงินที่มีการทุจริต 2,163,769 บาท ส่งให้หน่วยงานอื่น 5 เรื่อง ไม่มีวงเงินโครงการหรือจำนวนเงินที่มีการทุจริต
ฝ่าฝืนจริยธรรม ป.ป.ช. ดำเนินการเองทั้งหมด 87 เรื่อง ไม่มี วงเงินโครงการหรือจำนวนเงินที่มีการทุจริต
จากสถิติ ที่ทาง ป.ป.ช. เก็บไว้ พบว่า คำกล่าวหาในปี 2564 มีแนวโน้มลดลง จากปี 2562-2563 คำกล่าวหาที่เข้าสู่ ป.ป.ช. มากที่สุด คือ การละเว้นหรือ ละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ และหน่วยงานองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ส่วนการดำเนินการของ ป.ป.ช. ที่ชี้มูลความผิด ภายในระยะเวลา 3 ปีงบประมาณ คือ คำกล่าวหา “การจัดซื้อจัดจ้าง” ซึ่งสถิติดังกล่าว สามารถนำข้อมูลมาเป็นแนวทางการป้องกัน
อย่างไรก็ตาม ในรายงานของ ป.ป.ช. ระบุว่า ข้อมูลที่ได้จากการวิเคราะห์แนวโน้มการดำเนินการด้านต่างๆ ของการรับร้องเรียน สามารถวิเคราะห์จากฐานข้อมูลที่มีอยู่เท่านั้น ยังไม่สะท้อนถึงการทุจริตที่เกิดขึ้นได้ทั้งหมด ข้อมูลที่ได้ถือเป็นจุดเริ่มต้น ของการกำหนดแนวทางป้องกัน และข้อมูลบางเรื่องต้องมีการศึกษาเชิงลึกเพิ่มเติม
ทีมข่าวเฉพาะกิจไทยรัฐออนไลน์ รายงาน
อ่านบทความที่น่าสนใจ