การออกมาตรการเข้มงวดในการเช่าซื้อรถยนต์และรถจักรยานยนต์ของสำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ.) ด้วยการกำหนดเพดานดอกเบี้ยจากเดิมเฉลี่ยประมาณ 30% ลดลงมาเหลือ 23% โดยรถยนต์ใหม่ ไม่เกิน 10% ต่อปี ส่วนรถยนต์มือสอง ไม่เกิน 15% ต่อปี และรถจักรยานยนต์ ไม่เกิน 23% ต่อปี หลังจากนี้จะส่งเรื่องเสนอต่อสำนักนายกรัฐมตรี เพื่อประกาศลงราชกิจจานุเบกษาให้มีผลบังคับใช้ภายใน 90 วัน คาดว่าต้นปี 2566

ขณะที่ ธนาคารแห่งประเทศไทย เตรียมออกกฎหมายกำกับดูแลธุรกิจการให้เช่าซื้อและการให้เช่าแบบลีสซิ่งรถยนต์และรถจักรยานยนต์ รวมถึงการควบคุมเพดานดอกเบี้ยในธุรกิจเช่าซื้อ เนื่องจากสัดส่วนหนี้ครัวเรือนไทยเมื่อสิ้นปี 2564 อยู่ที่ 14.6 ล้านล้านบาท คิดเป็นสัดส่วน 90% ต่อจีดีพี และมียอดคงค้างให้เช่าซื้อยานพาหนะ 1.8 ล้านล้านบาท หรือ 12.3% ของหนี้ครัวเรือนทั้งหมด

มาตรการเข้มงวดทางการเงิน ทั้งการกำหนดเพดานดอกเบี้ย การจำกัดวงเงินสินเชื่อบางประเภท และการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายเพื่อสกัดเงินเฟ้อที่ปรับขึ้นสูง นำไปสู่การปรับเพิ่มอัตราดอกเบี้ยในตลาดการเงิน “รศ.ดร.อนุสรณ์ ธรรมใจ” ในฐานะนักเศรษฐศาสตร์ มองว่า แม้มาตรการเข้มงวดทางการเงินจะมีเป้าหมายเพื่อรักษาเสถียรภาพของระบบเศรษฐกิจการเงิน และป้องกันไม่ให้มีการก่อหนี้เกินตัว รวมทั้งไม่ให้มีการเอารัดเอาเปรียบต่อลูกหนี้ แต่มาตรการบางส่วนอาจไม่ได้ช่วยบรรเทาปัญหาในปัจจุบัน และอาจทำให้เกิดปัญหาเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะการกำหนดเพดานดอกเบี้ยเช่าซื้อรถยนต์ และรถจักรยานยนต์ของสคบ. อาจส่งผลให้ผู้มีรายได้น้อยและมีความเสี่ยงทางการเงินสูง เข้าสู่หนี้นอกระบบมากขึ้น

...

“ก่อให้เกิดการเอารัดเอาเปรียบหนักกว่าหนี้ในระบบ เจ้าหนี้นอกระบบสามารถขูดรีดดอกเบี้ยได้อย่างเต็มที่ ในการใช้ความรุนแรงทวงหนี้ และอาจทำให้สถาบันการเงินลดการปล่อยกู้ลูกหนี้ที่มีความเสี่ยงสูง หรือเพิ่มจำนวนเงินดาวน์สูงขึ้น จนทำให้ผู้มีรายได้น้อยไม่สามารถเข้าถึงบริการสินเชื่อในระบบได้ ต้องหันไปกู้เงินนอกระบบดอกเบี้ยสูงกว่ามาก และมีความไม่ปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินเวลามีการทวงหนี้”

เมื่อประกาศดังกล่าวมีผลบังคับใช้ ผู้ประกอบการทั้งหมดต้องปฏิบัติตามหลักเกณฑ์และกฎหมาย เชื่อว่าจะมีการทบทวนเกณฑ์และมีความเข้มงวดในการปล่อยสินเชื่อมากขึ้น อย่างการเพิ่มวงเงินดาวน์เฉลี่ย 10-20% และกลุ่มที่ไม่มีหลักฐานพิสูจน์รายได้อาจเพิ่มเงินดาวน์มากกว่า 20% กระทบต่อการเข้าถึงสินเชื่อของกลุ่มอาชีพอิสระที่มีรายได้ไม่แน่นอน และจะกระทบผู้ประกอบการรายเล็กรายย่อย รวมถึงยอดการปฏิเสธสินเชื่อในระบบสถาบันการเงินอาจพุ่งสูงมากกว่า 30% โดยเฉพาะสินเชื่อจักรยานยนต์ที่มีต้นทุนการดำเนินการและความเสี่ยงสูง

ขณะที่ มาตรการคุมเพดานดอกเบี้ย คุมเพดานค่าธรรมเนียม ลดวงเงินสินเชื่อบัตรเครดิตและสินเชื่อส่วนบุคคลของธนาคารแห่งประเทศไทย ถือว่าได้ผลในการควบคุมการก่อหนี้เกินตัว หรือใช้จ่ายฟุ่มเฟือยในกลุ่มคนอายุน้อยได้ดี ทำให้มีเงินออมเพิ่มขึ้น และปัญหาหนี้เสีย หรือก่อหนี้สินเกินฐานะลดลงบ้าง แต่ได้ทำให้ลูกหนี้บางส่วนหันไปกู้เงินนอกระบบ หรือสินเชื่อจำนำทะเบียนมากขึ้น ซึ่งมีดอกเบี้ยสูงกว่า

ปัญหาหนี้ครัวเรือนและหนี้นอกระบบในไทย ไม่ใช่การขาดวินัยทางการเงินที่จะแก้ด้วยมาตรการเข้มงวดทางการเงิน แต่ต้องทำให้อัตราเศรษฐกิจขยายตัวอย่างเต็มศักยภาพ เพื่อทำให้รายได้มวลรวมสูงขึ้น คนมีงานทำมีรายได้สูงขึ้น โดยรายได้ ผลประโยชน์จากการฟื้นตัวของเศรษฐกิจต้องกระจายไปยังคนส่วนใหญ่ของประเทศที่มีฐานะยากจน และต้องทำให้ประชาชนทั่วไปสามารถเข้าถึงสินเชื่อในระบบ เพื่อการประกอบอาชีพได้ง่ายขึ้นอย่างทั่วถึง

“ครัวเรือนสามารถนำเอาสวัสดิการในอนาคตมาใช้เป็นหลักค้ำประกัน เพื่อขอสินเชื่อในระบบในการประกอบอาชีพได้ และควรใช้เทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ในการค้นหาครัวเรือน หรือบุคคล ที่ต้องการความช่วยเหลือทางการเงิน จะทำให้ต้นทุนการปล่อยสินเชื่อ หรือบริหารจัดการสินเชื่อถูกลง".